จาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามพูดคุยโน้มน้าวให้พ่อตายอมรับผลการเลือกตั้ง ตามรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันเสาร์ (7 พ.ย.) หลังจากก่อนหน้านี้ มีข่าวว่าทีมงานของผู้นำรายนี้กำลังคิดหนักว่าจะให้เป็นคนบอกเขาว่าเขาแพ้เลือกตั้งแก่ โจ ไบเดน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต
สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นรายงานโดยอ้างแหล่งข่าว 2 คน บอกว่า คุชเนอร์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาระดับสูงของทำเนียบขาว เข้าไปพูดเรื่องนี้กับประธานาธิบดีในวันเสาร์ (7 พ.ย.) หลังจากก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ไบเดน ได้รับชัยชนะในศึกเลือกตั้ง
ความเคลื่อนไหวมีขึ้นหลังจาก ทรัมป์ ปฏิเสธยอมรับความพ่ายแพ้ หลังจากเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ช่องหลักๆ ของสหรัฐฯต่างรายงานว่า ไบเดน เป็นฝ่ายคว้าชัย โดยเขายืนกรานว่า “ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ยังห่างไกลจากจุดจบ” และอ้างว่า ไบเดน รีบร้อนประกาศตัวเป็นผู้ชนะอย่างผิดๆ แม้สื่อต่างๆ ฟันธงว่าผู้สมัครจากเดโมแครตคว้าชัยในรัฐตัดสินอย่างเพนซินเวเนีย ซึ่งทำให้อดีตรองประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้ มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งรวมแล้วเกินกว่า 270 เสียง ที่จะกลายเป็นผู้พิชิตศึกเลือกตั้งครั้งนี้
“เราทั้งหมดต่างรู้ว่าทำไม โจ ไบเดน จึงกำลังรีบร้อนเพื่อแสดงตัวอย่างผิดๆ ว่าเป็นผู้ชนะ และทำไมพวกพันธมิตรสื่อของเขาจึงกำลังพยายามหนักเหลือเกินที่จะช่วยเหลือเขา พวกเขาไม่ต้องการให้ความจริงได้รับการเปิดเผย” ทรัมป์กล่าว
“ข้อเท็จจริงง่ายๆ ก็คือ การเลือกตั้งครั้งนี้ยังห่างไกลจากการยุติจบสิ้น” ทรัมป์กล่าว พร้อมบอกว่า "ผมจะไม่หยุดจนกว่าคะแนนเสียงของประชาชนชาวอเมริกาจะถูกนับด้วยความซื่้อสัตย์ อย่างคู่ควรและเป็นไปตามประสงค์ของประชาธิปไตย" ทรัมป์ระบุในถ้อยแถลง พร้อมประกาศว่าการต่อสู้ทางกฎหมายของทีมหาเสียงเกี่ยวกับ “การโกงเลือกตั้ง” จะเริ่มขึ้นอย่างเร็วที่สุดในวันจันทร์ (9 พ.ย.)
จนถึงตอนนี้ส่วนใหญ่แล้ว ทีมหาเสียงของทรัมป์ยังไม่ประสบความสำเร็จใดๆ ในการยื่นคัดค้านต่อศาลเกี่ยวกับแนวทางการนับคะแนนในหลายรัฐ
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า ทีมงานของ ทรัมป์ กำลังคิดหนักว่า ใครจะเป็นคนบอกเขาว่าเขาแพ้เลือกตั้ง หลังจากเส้นทางมุ่งสู่ทำเนียบขาวของ ไบเดน กำลังเด่นชัดมากขึ้นทุกที เพราะมีคะแนนนำในรัฐเพนซิลเวเนีย กับรัฐจอร์เจีย ที่ทรัมป์จะไม่มีโอกาสจะชนะเลยถ้าแพ้ในสองรัฐนี้ ซึ่งความเห็นตอนนั้น ก็คือ การส่ง จาเร็ด คุชเนอร์ กับ อีวานกา ลูกเขยกับลูกสาวคนโปรด และเป็นที่ปรึกษาในทำเนียบขาว เข้าไปคุยเพื่อโน้มน้าวทรัมป์ให้ยอมรับความปราชัย
ส่วนทางพรรครีพับลีกัน ก็กลัวว่า ทรัมป์จะไม่ยอมไปแบบเงียบๆ และกำลังพิจารณาที่จะเข้าไปแทรกแซงด้วยการบอกว่าเขาว่า ถ้าเขายอมไปแบบเงียบๆ ก็จะช่วยเขาในเรื่องธุรกิจและจะให้เขากลับมาสมัครลงแข่งขันในอีก 4 ปีข้างหน้า
(ที่มา: นิวยอร์กโพสต์)