xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปติดๆ! ระงับทดลองแอนติบอดีรักษาโควิด-19 กังวลความปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การทดลองทางการแพทย์ขั้นสุดท้ายสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2 การทดลองถูกระงับภายในเวลาห่างกันไม่ถึง 24 ชั่วโมง สืบเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย โดยล่าสุดเป็นของบริษัท อีไล ลิลลี่ ก่อความผิดหวัง 2 ครั้งติดๆ แก่บรรดานักวิทยาศาสตร์ในการสู้รบอันยืดเยื้อกับโรคระบาดใหญ่

อีไล ลิลลี่ ผู้ผลิตยาชื่อดังสัญชาติสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (13 ต.ค.) ระงับการทดลองขั้น 3 การรักษาโดยแอนติบอดีที่สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการของพวกเขา ในคนไข้โควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวโรงพยาบาล สืบเนื่องจากเกิดเหตุการณ์หนึ่งซึ่งไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใดๆ

ก่อนหน้านี้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ยักษ์ใหญ่เวชภัณฑ์สัญชาติสหรัฐฯ เพิ่งระงับการทดลองขั้น 3 ว่าที่วัคซีนของพวกเขาหลังพบอาการป่วยไม่ทราบสาเหตุในอาสาสมัครรายหนึ่งเช่นกัน

ถือเป็นเรื่องปกติที่การทดลองทางคลินิกขั้นสุดท้ายจะเจอกับปัญหา ด้วยข้อเท็จจริงคือการทดลองขั้น 3 ออกแบบมาสำหรับเพิ่มจำนวนอาสาสมัครผู้เข้าร่วมเป็นหลายพันหรือหลายหมื่นคน เพื่อกระตุ้นผลกระทบข้างเคียงต่างๆ ซึ่งบางทีอาจเกิดขึ้นยากมากๆ

เมื่อเดือนที่แล้ว แอสตราเซเนกา บริษัทสัญชาติอังกฤษ กลายเป็นผู้พัฒนาวิจัยรายแรกของโลกที่ประกาศระงับการทดลองทางคลินิกวัคซีนโควิด-19 หลังคนไข้รายหนึ่งในอังกฤษ มีอาการอักเสบที่ไขสันหลัง

แม้นับตั้งแต่นั้นว่าที่วัคซีนของแอสตราเซเนกา ได้กลับสู่การทดลองแล้วในอังกฤษ, บราซิล, แอฟริกาใต้ และอินเดีย แต่ในสหรัฐฯ ยังคงระงับการทดลอง ในเหตุผลที่ยังไม่ชัดเจน

เอริค โทโปล แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสคริปป์ส เขียนบนทวิตเตอร์ว่า เขารู้สึกประหลาดใจที่ได้ยินข่าวคราวความกังวลด้านความปลอดภัยในวิธีการรักษาโดยแอนติบอดี ของอีไล ลิลลี สืบเนื่องจากการทดลองขั้นต้นๆ ไม่พบว่ามันก่อผลกระทบข้างเคียงรุนแรงใดๆ “หวังว่ามันจะเป็นการหยุดพักช่วงสั้นๆ และหวังว่าเราจะได้รายละเอียดต่างๆ อย่างรวดเร็ว”

ส่วนโฆษกของบริษทระบุในถ้อยแถลงว่า “ลิลลี สนับสนุนการตัดสินใจของคณะกรรมการเฝ้าระวังข้อมูลความปลอดภัยอิสระ (DSMB) ที่เป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อรับประกันความปลอดภัยของคนไข้ที่เข้าร่วมในการศึกษาครั้งนี้”

การศึกษาเริ่มต้นขึ้นในเดือนสิงหาคม ตามแหล่งทดลองต่างๆ มากกว่า 50 แห่งในสหรัฐฯ, เดนมาร์ก และสิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายเกณฑ์อาสาสมัครเข้าร่วมให้ได้ 10,000 คน

แนวทางการรักษาโดยแอนติบอดีที่สร้างในห้องปฏิบัติการ กลายเป็นข่าวพาดหัวโด่งดังเมื่อไม่นานที่ผ่านมา หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวชื่นชมยาของบริษัท รีเจนเนอรอน (Regeneron) ที่ทำให้เขามีอาการดีขึ้นจากการป่วยติดเชื้อโควิด-19

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้ง อีไล ลิลลี และ รีเจนเนอรอน ต่างยื่นคำร้องถึงองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ ขออนุมัติใช้แนวทางการรักษาของพวกเขาในกรณีฉุกเฉิน

สารภูมิต้านทานโมโนโคลน เป็นแอนติบอดีที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นเองในห้องปฏิบัติการโดยเลียนแบบกระบวนการสร้างแอนติบอดีในร่างกายของมนุษย์ ทั้งนี้ โมโนโคลนอล แอนติบอดี ถือเป็นหนึ่งในยาต้านที่ถูกนำไปใช้ในการรักษาในหลายโรค อาทิ โรคมะเร็งบางชนิด ต้านการอักเสบ บางส่วนยังอยู่ในระหว่างพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคอีโบลา และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ

การระงับการทดลองในคนไข้โควิด-19 อยู่บนพื้นฐานของผลกระทบของแอนติบอดีที่ทาง ลิลลี พบในคนไข้ที่หายป่วยรายหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ลิลลี ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับความกังวลด้านความปลอดภัยหรือมีอาสาสมัครมากน้อยแค่ไหนที่ได้รับผลกระทบ

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น