xs
xsm
sm
md
lg

I ROBOT!! หุ่นยนต์กำลังกลายเป็น “ฮีโร่” พันธุ์ใหม่ในสงครามไวรัส แบ่งเบาภาระ-ปกป้องแพทย์พยาบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพที่เผยแพร่โดย คลาวด์ไมด์ส เมื่อวันอังคาร (7 เม.ย.) แต่ถ่ายไว้ตอนต้นเดือนมีนาคม 2020  ขณะผู้คนกำลังรอชมการปฏิบัติงานของหุ่นยนต์ตัวหนึ่งของบริษัท  ระหว่างช่วงการทดลองที่โรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ของจีน
เอเอฟพี - จากที่เคยถูกกล่าวหาว่า ขโมยงานจากมนุษย์ วันนี้หุ่นยนต์กลายมาเป็นที่พึ่งพาในสงครามต่อสู้กับไวรัสโคโรนา จากความสามารถในการทำงานอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และไม่ต้องกลัวว่าจะติดเชื้อ

หุ่นยนต์ทีมหนึ่งเคยรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชั่วคราวในเมืองอู่ฮั่น จุดเริ่มต้นของการระบาดของโควิด-19 เมื่อปลายปีที่แล้ว

หนึ่งในหุ่นยนต์เหล่านั้น คือ “คลาวด์จิงเจอร์” ทั้งเสิร์ฟอาหาร วัดไข้ และสื่อสารกับผู้ป่วย

คาร์ล จ้าว ประธานคลาวด์ไมด์ส ซึ่งมีฐานการดำเนินงานทั้งในปักกิ่งและแคลิฟอร์เนีย บอกว่า หุ่นยนต์เหล่านั้นให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สามารถพูดคุยและให้ความบันเทิงด้วยการเต้น และแม้แต่นำผู้ป่วยออกกำลังกาย และเสริมว่า โรงพยาบาลสนามอัจฉริยะได้รับการดูแลจัดการทั้งหมดโดยหุ่นยนต์

ทีมแพทย์ขนาดเล็กจะควบคุมหุ่นยนต์ในโรงพยาบาลสนามจากระยะไกล ขณะที่ผู้ป่วยสวมแถบรัดข้อมือที่รวบรวมข้อมูลความดันโลหิตและข้อมูลสำคัญอื่นๆ

แม้คลินิกอัจฉริยะดูแลผู้ป่วยเพียงไม่กี่วัน แต่บ่งชี้อนาคตที่หุ่นยนต์จะรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อ เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์

เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เข้าร่วมในการสาธิตของเจ้า “ซาฟี” หุ่นยนต์อินเตอร์แอคทีฟ  เมื่อวันจันทร์ (6 เม.ย.) ซึ่งจะนำมาติดตั้ง ณ หอแยกผู้ป้วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลสแตนลีย์เมดิคอล ในเมืองเจนไน ประเทศอินเดีย
ขณะนี้ ผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งในไทย อิสราเอล และอีกหลายประเทศ ก็ได้รับบริการจากหุ่นยนต์ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อให้แพทย์สอบถามอาการผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หุ่นยนต์บางตัวสามารถตรวจร่างกายขั้นพื้นฐาน เช่น ฟังเสียงปอดขณะที่ผู้ป่วยหายใจ

โรงพยาบาลอเล็กซานเดอร์ในสิงคโปร์เตรียมใช้หุ่นยนต์ชื่อว่า บีมโปร ส่งยาและอาหารให้ผู้ป่วยโควิด-19 หรือผู้สงสัยติดเชื้อในแผนกกักกันโรค

แพทย์และพยาบาลสามารถควบคุมหุ่นยนต์ด้วยคอมพิวเตอร์จากนอกห้อง และพูดคุยกับผู้ป่วยผ่านหน้าจอและกล้อง

อเล็กซานเดอร์ ยิป ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมสุขภาพของโรงพยาบาลแห่งนี้ ยังเผยว่า หุ่นยนต์ช่วยลดจุดที่บุคลากรทางการแพทย์มีการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ถูกกักกันโรค จึงลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานแถวหน้าเหล่านี้

ทางด้านศูนย์การควบคุมและการป้องกันโรค (ซีดีซี) ของอเมริกา สำทับว่า สามารถส่งหุ่นยนต์ไปสแกนหาไวรัส เช่น ตอนที่เข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยในห้องพักบนเรือสำราญ “ไดมอนด์ปรินเซสส์” หลังอพยพผู้โดยสารที่ติดเชื้อลงจากเรือ

นอกจากนั้น โรงพยาบาลหลายแห่งยังใช้หุ่นยนต์จัดการฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในห้องต่างๆ รวมทั้งห้องโถง และที่จับบริเวณประตู

ภาพที่เผยแพร่โดย ชาร์ก โรโบติกส์ บริษัทในฝรั่งเศสเมื่อวันอังคาร (7 เม.ย.) แสดงให้เห็นหุ่นยนต์ “ไรโน” ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อช่วยต่อสู้ไวรัสโคโรนา ด้วยการสเปรย์ฟองฝอยขนาดจิ๋วๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ต่างๆ
บริษัท ซีเน็กซ์ ของอเมริกา พบว่า หุ่นยนต์สำหรับฆ่าเชื้อภายในห้อง ซึ่งบริษัทตั้งชื่อว่า ไลต์สไตร๊ก์ มีดีมานด์เพิ่มขึ้นอย่างมากจากทั่วโลกในช่วงที่ไวรัสโคโรนาระบาด โดยขณะนี้มีการนำไปใช้ในสถานพยาบาลกว่า 500 แห่ง และบริษัทยังได้รับการติดต่อจากศูนย์ดูแลผู้ป่วยเร่งด่วน โรงแรม หน่วยงานรัฐบาล และบริษัทยา

ที่ฝรั่งเศส ชาร์ก โรโบติกส์ เริ่มทดสอบเครื่องฆ่าเชื้อตั้งแต่เดือนที่แล้ว และขณะนี้มีออร์เดอร์หลั่งไหลมาแล้ว

เลสลีย์ โรบอห์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสมาคมเทคโนโลยีผู้บริโภคของอเมริกา ชี้ว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการเร่งรัดพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ โดยที่จุดสนใจกันในเวลานี้อยู่ที่ประโยชน์ที่จะได้รับ มากกว่าเรื่องต้นทุน

เขาสำทับว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เซ็นเซอร์ และความสามารถอื่นๆ ที่ติดตั้งในหุ่นยนต์อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้น รวมทั้งอินเทอร์เน็ตที่จะใช้ต่อเชื่อมกับหุ่นยนต์ก็ต้องมีความเร็วสูงขึ้น

นวัตกรรมที่เตรียมเผยโฉมเร็วๆ นี้ ยังรวมถึงการใช้โดรนติดตั้งเซ็นเซอร์และกล้องเพื่อสแกนหาผู้ติดเชื้อท่ามกลางฝูงชน ซึ่งเป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลียร่วมกับดราแกนฟลาย ผู้ผลิตโดรนของแคนาดา และอาจนำไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของระบบเตือนภัยล่วงหน้า หรือระบบรวบรวมข้อมูลสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อในประชากรจำนวนมาก

นอกจากนั้น ทีมนักวิจัยที่นำโดย จาวาอัน สิงห์ ชาล ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย กำลังพัฒนาอัลกอริธึมคอมพิวเตอร์ที่สามารถค้นหาคนที่ไอหรือจามในอาคารผู้โดยสารสนามบิน ตลอดจนวัดชีพจรและอุณหภูมิในระยะไกล
กำลังโหลดความคิดเห็น