xs
xsm
sm
md
lg

สลด! ลุงมะกันกิน ‘ยาฆ่าเชื้อตู้ปลา’ หวังต้านโควิด-19 สุดท้ายดับอนาถ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - แพทย์สหรัฐฯ ออกมาเตือนประชาชนอย่าหายารับประทานเองเพื่อรักษาโควิด-19 หลังพบชายสูงวัยในรัฐแอริโซนาเสียชีวิต ส่วนภรรยาล้มป่วยอาการสาหัส จากการกินสารเคมีสำหรับฆ่าเชื้อในตู้ปลา ซึ่งมีองค์ประกอบคล้ายกับยาต้านเชื้อมาลาเรียที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อ้างว่าอาจใช้รักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้

ทรัมป์ แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและเอ่ยย้ำอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ (23 มี.ค.) ว่ายาคลอโรควิน (Chloroquine) ซึ่งใช้ต้านเชื้อมาลาเรียอาจสามารถรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้

แม้ผลการทดสอบเบื้องต้นจะพบว่าคลอโรควินและไฮดร็อกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquin) แสดงประสิทธิผลในการต่อต้านไวรัสโคโรนา แต่ยาทั้ง 2 ตัวนี้มีผลข้างเคียงที่รุนแรง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่อยากนำไปใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 จนกว่าจะมีผลวิจัยยืนยันถึงประสิทธิภาพของมัน

ทั้งนี้ คลอโรควินฟอสเฟต (chloroquine phosphate) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในยาต้านมาลาเรียยังถูกนำไปผลิตเป็นสารเคมีสำหรับฆ่าเชื้อโรคและสาหร่ายในตู้ปลาด้วย

รายงานข่าวระบุว่า สองสามีภรรยาวัย 60 ปี เกรงว่าตนเองจะติดเชื้อโควิด-19 และไปเห็นโฆษณาทางออนไลน์ว่าผลิตภัณฑ์สำหรับฆ่าเชื้อตู้ปลาอาจใช้ต้านไวรัสตัวนี้ได้

ดร. แดเนียล บรูกส์ จากศูนย์ข้อมูลด้านพิษวิทยาและเภสัชแบนเนอร์ (Banner Poison and Drug Information Center) ระบุว่า ความเข้าใจดังกล่าว “ผิดอย่างสิ้นเชิง และอันตรายอย่างยิ่ง”

บรูกส์ คาดว่า สามีภรรยาคู่นี้น่าจะกินสารดังกล่าวในปริมาณเทียบเท่ากับการรับยาต้านเชื้อมาลาเรีย “หลายวัน” ในคราวเดียว และเริ่มมีอาการผิดปกติหลังผ่านไปเพียง 30 นาที โดนฝ่ายสามีเสียชีวิตหลังถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉินได้ไม่นาน ส่วนภรรยานั้นแพทย์ปั๊มหัวใจช่วยไว้ได้ทัน และกำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

“เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 เราเข้าใจว่าประชาชนจึงพยายามคิดหาวิธีใหม่ๆ เพื่อป้องกันหรือรักษาตนเองจากไวรัสชนิดนี้ แต่การหายามารับประทานเองนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง” บรูกส์ กล่าว พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมแพทย์งดสั่งยาคลอโรควินให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล

ทรัมป์ ทวีตข้อความเมื่อวันเสาร์ (21) ว่า การใช้ยาไฮดร็อกซีคลอโรควินร่วมกับยาปฏิชีวนะอะซิโธรมัยซิน (azithromycin) “มีโอกาสที่จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงการแพทย์” แต่ก็ถูก แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐฯ ออกมาเบรกว่าจำเป็นต้องมีทดลองอย่างเข้มข้นเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยเสียก่อน

นักวิจัยทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันและตัวยาที่จะรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งระหว่างนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงได้รับการรักษาไปตามอาการ
กำลังโหลดความคิดเห็น