xs
xsm
sm
md
lg

WWF ชี้ ‘มาเลเซีย’ เป็นตัวการก่อ ‘ขยะพลาสติกในทะเล’ รายใหญ่ที่สุดของเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เปิดเผยผลวิเคราะห์ซึ่งพบว่าชาวมาเลเซียเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในเอเชีย พร้อมฝากข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ให้จำกัดปริมาณถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และร่วมมือกับบริษัทต่างๆ เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิล

รายงานว่าด้วยขยะพลาสติกที่ WWF เผยแพร่วันนี้ (17 ก.พ.) สรุปจากการเก็บข้อมูลทั้งในจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งเป็น 6 ชาติที่ก่อขยะพลาสติกราว 60% จากทั้งหมด 8 ล้านตันที่ถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรของโลกในแต่ละปี

การศึกษาชิ้นนี้มุ่งเน้นไปที่การใช้ถุงพลาสติกในครัวเรือน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นขยะในทะเลมากที่สุด โดยพบว่าในปี 2016 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีฐานข้อมูลเชื่อถือได้ ทั้ง 6 ชาติมีการใช้ถุงพลาสติกรวมกันประมาณ 27 ล้านตัน

WWF คาดการณ์ว่าปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงมหาสมุทรจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวระหว่างปี 2010 ถึง 2050 ซึ่งหมายความว่าภายในกลางทศวรรษนี้ขยะพลาสติกจะมีน้ำหนักมากกว่าปลาทั้งหมดในทะเลรวมกัน

ขณะเดียวกัน ปริมาณคาร์บอนที่เชื่อมโยงกับพลาสติกตั้งแต่กระบวนการผลิตเรื่อยไปจนถึงการเผาทำลายก็พุ่งแตะ 890 ล้านตันในปี 2019 มากกว่ายอดการปล่อยคาร์บอนของไทย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์รวมกันเสียอีก

จากการวิเคราะห์โดยอาศัยข้อมูลการใช้พลาสติกต่อหัวประชากรในระยะเวลา 1 ปีพบว่า “มาเลเซีย” เป็นประเทศที่ก่อขยะพลาสติกสูงที่สุด คืออยู่ที่ราวๆ 16.8 กิโลกรัมต่อคน ส่วน "ไทย" ตามมาเป็นที่ 2 ด้วยสัดส่วน 15.5 กิโลกรัมต่อคน

โทมัส ชุลดต์ ผู้ประสานงาน WWF ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอธิบายว่า สาเหตุที่ชาวมาเลเซียใช้พลาสติกมากที่สุดก็เนื่องจากพวกเขามีฐานะทางเศรษฐกิจดีเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาค

“ชาวมาเลเซียนิยมสั่งอาหารให้ไปส่งตามบ้าน ซึ่งต้องใช้ถุงพลาสติกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภควันต่อวันอีกหลายอย่างที่คนจะซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ต” ชุลดต์ ซึ่งประจำการอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์

หลายประเทศในเอเชียมีขนาดเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตามชายฝั่งทะเลก็มีเมืองใหญ่ที่ประชากรหนาแน่นอยู่เป็นจำนวนมาก ทว่าระบบจัดเก็บขยะและโครงสร้างพื้นฐานกลับไม่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวทันกับการขยายตัวอย่างฉับพลันเหล่านี้

ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดก่อให้เกิด “สถานการณ์ขั้นเลวร้าย” ที่นำไปสู่การทิ้งขยะมหาศาลลงสู่ทะเล

หลังจากที่จีนเริ่มแบนการนำเข้าขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นปี 2018 ประเทศผู้ส่งออกขยะรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ และยุโรปก็เริ่มเบนเข็มมาสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเตือนว่า ปัญหาขยะพลาสติกล้นทะเลนอกจากจะกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประมง และการขนส่งทางเรือแล้ว ยังทำให้สัตว์น้ำนานาชนิดต้องล้มตาย และหวนกลับเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ในที่สุด

ชุลดต์ เรียกร้องให้มาเลเซียและประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียออกกฎหมายจำกัดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และแนะนำให้มาเลเซียทำงานร่วมกับภาคเอกชนและองค์กรสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้น้อยลง รวมถึงให้ทุนสนับสนุนกระบวนการรีไซเคิลขยะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกว่า 30 ประเทศทั่วโลกเริ่มทำกันไปแล้ว

ล่าสุด กระทรวงสิ่งแวดล้อมมาเลเซียยังคงปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในประเด็นนี้

ปีที่แล้วรัฐบาลมาเลเซียได้เปิดตัวโครงการ Malaysia Plastics Pact เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรีไซเคิลขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะมีการเผยแพร่รายงานในราวเดือน มี.ค.

ขยะส่วนใหญ่ในมาเลเซียมักถูกรวบรวมไปทิ้งตามบ่อขยะโดยไม่มีการแยกประเภท ซึ่งทำให้สิ่งของเหลือทิ้งเหล่านี้ถูกลมพายุพัดปลิวไปตกในแม่น้ำลำคลองและไหลออกสู่ทะเล

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมพยายามรณรงค์ให้ชาวมาเลเซียสร้างนิสัยในการคัดแยกขยะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลได้อีกทางหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น