เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – ซูเอลลา บราเวอร์แมน(Suella Braverman) อัยการสูงสุดอังกฤษคนใหม่เป็นสมาชิกลัทธิเครือข่ายพุทธที่โด่งดัง “ชุมชนชาวพุทธไตรรัตนะ” (Triratna) เป็นที่โด่งดังไปทั่วยุโรปในเวลานี้ แต่ทว่าผู้ก่อตั้งมีปัญหาเรื่องละเมิดทางเพศ
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(15 ก.พ)ว่า ซูเอลลา บราเวอร์แมน(Suella Braverman Suella Braverman)หรือ มิตรา (Mitra)ภายในลัทธิเครือข่ายชุมชนชาวพุทธไตรรัตนะ (Triratna) หรือ ตฺริรตฺน ในภาษาสันสกฤษ
ซึ่งที่ผ่านมาลัทธิเครือข่ายชุมชนชาวพุทธไตรรัตนะ ที่เป็นแพร่หลายไปทั่วยุโรปโดยมีผู้ก่อตั้งเป็นชาวตะวันตกนั้นต้องสั่นสะเทือนจากข้อกล่าวหาเจ้าสำนักผู้ก่อตั้งล่วงละเมิดทางเพศ รวมไปถึงการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
บราเวอร์แมนเป็นหนึ่งในหน้าคณะครม.ชุดใหม่ที่มีการสับเปลี่ยนเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดี(13)ที่ผ่านมา โดยเธอมานั่งแทน เจฟฟรีย์ ค็อกซ์ (Geoffrey Cox) และเป็นการแต่งตั้งที่สร้างความประหลาดใจให้กับหลายคนในอังกฤษ ซึ่งในวันพฤหัสบดี(13) ซาจิด จาวิด(Sajid Javid) ได้ลาออกไปจากการทำหน้าที่รัฐมนตรีการคลังอังกฤษ
สื่ออังกฤษรายงานว่า อัยการสูงสุดอังกฤษคนใหม่ปฎิเสธที่จะแสดงความเห็นถึงการเป็นสมาชิกสำนักไตรรัตนะในคืนก่อนหน้า แต่เป็นที่เข้าใจว่าศูนย์ชุมชนพุทธศาสนาที่เธอไปเป็นประจำราว 1 - 2 ครั้งในแต่ละเดือนนั้นตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนคือ ศูนย์ชาวพุทธกรุงลอนดอน(the London Buddhist Centre) หนึ่งในศูนย์กลางของเครือข่ายลัทธินี้
ตำแหน่งของบราเวอร์แมนในลัทธินี้ยังเป็นที่สงสัยเกี่ยวกับความเชื่อส่วนบุคคลและอาจกระทบต่อการตัดสินใจในฐานะเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกฎหมายของอังกฤษได้ เดอะการ์เดียนชี้
สัปดาห์ที่ผ่านมาหนึ่งในแกนนำระดับสูงของสำนักพุทธไตรรัตนะได้ออกมาแสดงความยินดีต่อการได้รับการแต่งตั้งของเธอผ่านทางเฟซบุ๊ก แต่ในท้ายที่สุดต้องถูกลบออกไป
มาร์ค ดันล็อพ(Mark Dunlop) อดีตสาวกของลัทธิเครือข่ายชาวพุทธแห่งนี้ที่เคยเปิดเผยว่า เคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ก่อตั้งที่ล่วงลับ เดนนิส ลิงวูด( Dennis Lingwood)มานานร่วม 4 ปี แสดงความเห็นว่า อัยการสูงสุดคนใหม่จำเป็นต้องตระหนักข้อกล่าวหาที่มีมาอย่างยาวนานต่อองค์กรที่น่าจะหมายความไปถึงชุมชนชาวพุทธไตรรัตนะ
การล่วงละเมิดของลิงวูดนั้นมีมานานกลายปีที่ได้รับการจดบันทึกไว้เป็นอย่างดีโดยบรรดาสาวกต่างกล่าวว่า คนเหล่านี้ถูกผลักดันให้ต้องมีเพศสัมพันธ์กับเจ้าลัทธิอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ทว่าทางชุมชนชาวพุทธไตรรัตนะยังคงส่งเสริมการเทศนาของลิงวูดรวมไปถึงการใช้ชีวิตของเขาต่อไป ซึ่งทางเว็บไซต์ของสำนักได้มีภาพจำนวนมากเกี่ยวกับผู้ก่อตั้งและข้อเขียนของเขาและย้ำถึงศูนย์กลางของเขาต่อลัทธิไตรรัตน์
เขาได้ใช้ชื่อตามพุทธศาสนาคือ “สังฆรักษิตะ”(Sangharakshita) อ้างอิงจากเว็บไซต์ minimore.com สังฆรักษิตะเป็นชายอังกฤษที่บวชเป็นพระ และได้ออกธุดงค์ไปทั่วอินเดีย
อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ “สถานการณ์พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก” ของอุทิส ศิริวรรณที่ลงใน “ธรรมธารา” วารสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา ฉบับที่ 5 ปี 2560 เรื่องตัวแบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก โดยผู้เขียนได้ให้ทัศนะว่า ว่าเป็น “อกาลิโก” ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องกาลเวลาจริงหรือไม่ โดยได้ยกตัวอย่างไปถึง “ชุมชนชาวพุทธไตรรัตนะ” ที่สังฆรักษิตะผู้ก่อตั้งเข้าใจเข้าถึงและพัฒนาการบูรณาการพุทธศาสนาเข้ากับวัฒนธรรมและสังคมแบบตะวันตก แม้ว่าจะมีกระแสต่อต้านและไม่เข้าใจวิธีคิดวิธีปฏิบัติวิธีทำงานที่อิงกับการจัดการสมัยใหม่
เดอะการ์เดียนรายงานว่า ลิงวูดเสียชีวิตลงในปี 2018 เมื่อมีอายุได้ 93 ปี โดยในปีที่แล้ว ดิออฟเซิร์ฟเวอร์สื่ออังกฤษได้ตีพิมพ์การค้นพบรายงานที่ถูกจัดทำโดยสาวก 9 คนที่เรียกตัวเองว่า อินเตอร์กุลา(Interkula)ที่ได้ค้นพบว่า สมาชิกชุมชนไตรรัตนะจำนวน 423 คนได้ตอบแบบสอบถาม โดยในรายงานระบุว่า 13% เปิดเผยว่าพวกเขาเองหรือคนที่รู้จัก “เคยมีประสบการณ์ทางเพศอย่างไม่เหมาะสม” กับตัวสังฆรักษิตะหรือไม่หรือสาวกในลัทธิทั้งในอดีตหรือเมื่อไม่นานมานี้
พบว่าในเดือนธันวาคม ปี2016 สังฆรักษิตะได้ออกมากล่าวขออภัยด้วยตัวเองต่อความประพฤติที่ไม่เหมาะสมในอดีตที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามโฆษกของสำนักพุทธแห่งนี้ได้ออกมาย้ำว่า ผู้ก่อตั้งไม่เคยถูกกล่าวหาทางกฎหมายหรือถูกลงโทษในความผิดใดๆ
สำหรับตัวบราเวอร์แมนนั้นเธอเคยออกมาเรียกร้องต่ออังกฤษ ให้เรียกอำนาจกลับคืนไม่ใช่แค่จากสหภาพยุโรปแต่ต่อระบบกระบวนการทางยุติธรรมหรือศาล ท้าท้ายกฎหมายสิทธิมนุษยชนและยังวิจารณ์ไปถึงการทบทวนทางกระบวนการทางยุติธรรมที่ล้มเหลวมาตั้งแต่ยุค 60