เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – บริษัทโบอิ้งได้ออกมายืนยันล่าสุดว่า ได้ออกคำสั่งให้เครื่องบินโบอิ้งทั่วโลกสูงสุด 50 ลำห้ามขึ้นบิน เกี่ยวข้องกับปัญหารอยร้าวบริเวณอุปกรณ์ยึดเกาะปีกเข้ากับตัวเครื่องรุ่น 737NG กระทบสายการบินแควนตัส สายการบินโคเรียนแอร์
เอเอฟพีรายงานวันนี้(31 ต.ค)ว่า บริษัทโบอื้งแถลงในวันพฤหัสบดี(31 ต.ค)ได้ออกคำสั่งให้เครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737NG จำนวนสูงสุด 50 ลำทั่วโลกไม่ให้ทำการขึ้นบินหลังตรวจพบรอยร้าวในตัวเครื่อง
ซึ่งสายการบินแควนตัสของออสเตรเลียกลายเป็นสายการบินล่าสุดที่ต้องสั่งห้ามเครื่องบิน 1 ลำห้ามขึ้นบิน พร้อมที่จะทำการตรวจสอบเครื่องบินลำอื่นอีกจำนวน 32 เครื่องอย่างเร่งด่วน แต่ทางสายการบินยังคงยืนยันในความปลอดภัยของผู้โดยสารไม่ต้องเกิดความกังวลด้านความปลอดภัย
การประกาศของแควนตัสเกิดขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่โซลระบุว่า มีเครื่องบินจำนวน 9 ลำในรุ่น737NG ถูกสั่งห้ามขึ้นบินในเกาหลีใต้เมื่อต้นตุลาคม รวมไปถึง 5 ลำของสายการบินโคเรียนแอร์
ปัญหารอยร้าวโบอิ้งชี้ว่าเกิดที่อุปกรณ์ยึดเกาะปีกเข้ากับตัวเครื่องที่เรียกว่า “พิกเคิล ฟอร์ค” (pickle fork) และทำให้ผู้กำกับทางการบินสหรัฐฯออกคำสั่งตรวจสอบในทันทีในช่วงต้นเดือนตุลาคม
หลังจากการแถลงของสายการบินแควนตัส โฆษกบริษัทโบอิ้งได้แถลงกับเอเอฟพีในวันนี้(31)ที่เมืองซิดนีย์ยอมรับว่า มีการตรวจพบรอยร้าวในเครื่องบินไม่ถึง 5% ของ 1000 ลำ ซึ่งได้สั่งการห้ามขึ้นบินและทำการยกซ่อม
สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ FAA ในเบื้องต้นได้ออกคำสั่งตรวจเช็กทันที สำหรับเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737NG ที่ได้ทำการบินไม่ต่ำกว่า 30,000 เที่ยว แต่บริษัทแควนตัสระบุว่า ได้ตรวจพบปัญหาปีกร้าวในเครื่องที่ทำการบินน้อยกว่านั้น โดยหนึ่งในเครื่องที่เกิดปัญหาทำการบินน้อยกว่า 27,000 เที่ยว
ในแถลงการณ์สายการบินแควนตัสกล่าวว่า “ได้มีการนำเครื่องบินออกจากการทำการบินเพื่อการซ่อมบำรุง” และยังชี้ว่าได้ออกคำสั่งให้ตรวจเช็กทันทีสำหรับเครื่องบินรุ่น 737NG เดียวกันนี้ที่เกิดปัญหาอีกจำนวน 32 ลำให้เสร็จสิ้นภายในวันศุกร์(1 พ.ย)”
ทางแควนตัสกล่าวว่า เครื่องบินรุ่นมีปัญหานั้นส่วนมากทำการบินในประเทศออสเตรเลียเป็น เป็นการเดินทางระหว่างเมืองต่างๆ และเที่ยวบินสั้นๆไปนิวซีแลนด์
สายการบินเวอร์จิน แอร์เวย์สของออสเตรเลียได้ทำการตรวจเช็กเครื่องบินโบอิ้ง 737NGของตัวเองเช่นกัน แต่ไม่พบปัญหา อ้างอ้างอิงจากโฆษกผู้กำกับการบินออสเตรเลีย