xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘จักรพรรดินารูฮิโตะ’ ทรงครองราชย์ บรมราชาภิเษกงดงามสมพระเกียรติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แดนอาทิตย์อุทัยได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัชสมัยใหม่อย่างแท้จริง เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิพระองค์ที่ 126 อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณีเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติกว่า 2,000 คนจาก 180 ประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือ ‘โซกุอิ โนะ เร’ ที่จัดขึ้น ณ พระราชวังอิมพีเรียลในสัปดาห์นี้ ถือได้ว่าสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะได้ทรงประกาศสถานะของพระองค์ต่อชาวโลกอย่างเป็นทางการ แม้การผลัดแผ่นดินจะเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่พระองค์ทรงรับสืบราชบัลลังก์จากสมเด็จพระราชบิดา จักรพรรดิอากิฮิโตะ ซึ่งสละราชย์ในเดือน เม.ย. ก็ตาม

รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเทียบเชิญสมาชิกราชวงศ์ต่างแดนและผู้นำรัฐบาลทั่วโลกให้เดินทางมาร่วมในพระราชพิธีอันสำคัญยิ่งนี้ ซึ่งรวมถึงเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แห่งอังกฤษ, สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และสมเด็จพระราชินีเจ็ตซุน เปมา แห่งภูฏาน, สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัลโบลเกียห์แห่งบรูไน, สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย, นาย เอแลน เชา รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ และนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา เป็นต้น

จักรพรรดินารูฮิโตะได้มีพระราชดำรัสในวโรกาสที่ทรงขึ้นครองราชย์ เน้นย้ำถึงการเป็น “จักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นสัญลักษณ์ของชาติ และศูนย์รวมจิตใจของประชาชน” ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชบิดาเมื่อครั้งที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี 1990

"ข้าพเจ้าจะดำรงตนตามรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติภารกิจตามความรับผิดชอบในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศ และเอกภาพแห่งประชาชนชาวญี่ปุ่น ตลอดจนปรารถนาให้ประชาชนมีความผาสุกและขอให้บังเกิดสันติภาพแก่โลก ข้าพเจ้าจะนึกถึงประชาชนและอยู่เคียงข้างประชาชน ด้วยสติปัญญาและความอุตสาหะอย่างไม่ย่อท้อของประชาชนชาวญี่ปุ่น ข้าพเจ้าหวังอย่างจริงใจว่าประเทศญี่ปุ่นจะพัฒนาก้าวหน้า ตลอดจนสร้างสัมพันธ์และสันติภาพแห่งประชาคมนานาชาติ รวมถึงสวัสดิภาพและความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติ"

จักรพรรดินารูฮิโตะทรงเป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์แรกที่เสด็จพระราชสมภพในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และทรงดำรงสถานะจักรพรรดิตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ปีนี้ หลังการสละบัลลังก์ของจักรพรรอากิฮิโตะ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 200 ปี

เนื่องจากญี่ปุ่นเพิ่งเผชิญมหันตภัยไต้ฝุ่น ‘ฮากิบิส’ ที่ซัดถล่มตอนกลางของประเทศจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 80 คน สำนักพระราชวังจึงได้ประกาศเลื่อนการจัดริ้วขบวนฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะไปเป็นช่วงเดือน พ.ย. เพื่อให้รัฐบาลได้ทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และฟื้นฟูบ้านเมืองที่เสียหาย

พระราชพิธีในวันอังคาร (22) เริ่มต้นจากการที่สมเด็จพระจักรพรรดิทรงประกอบพิธีกราบทูล ‘อามาเตราสุ’ เทพีแห่งดวงอาทิตย์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นองค์ต้นตระกูลของจักรพรรดิผู้ปกครองแดนอาทิตย์อุทัย ในการนี้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงฉลองพระองค์แบบบุรุษชั้นสูงที่เรียกว่า ‘โซกุไต’ (Sokutai) ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ พระอัครมเหสี ทรงฉลองพระองค์กิโมโน ‘จูนิฮิโตเอะ’ (Junihitoe) ซึ่งประกอบด้วยผ้าถึง 12 ชั้น

จากนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิเสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งมัตสึโนะมะ หรือพระที่นั่งต้นสน และประทับบนบัลลังก์ดอกเบญจมาศทาคามิคุระ สูง 6.5 เมตร โดยมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์อันได้แก่พระขรรค์และอัญมณีวางอยู่ข้างพระองค์

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ในฐานะผู้แทนชาวญี่ปุ่นได้กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล ความว่า "พวกเราชาวญี่ปุ่นซึ่งมองดูสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของชาติและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประชาชน จะตั้งใจอีกครั้งด้วยความพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อสร้างยุคสมัยที่วัฒนธรรมใหม่จะถือกำเนิดขึ้นและเจริญงอกงาม ชาติญี่ปุ่นซึ่งสงบสันติและเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิจะก้าวไปสู่อนาคตที่สดใส เมื่อประชาชนต่างรวมจิตใจไว้ด้วยกันในวิถีทางที่งดงามกลมกลืน"

จากนั้นนายกฯ นำกล่าวคำว่า ‘บันไซ’ 3 ครั้ง ซึ่งมีความหมายว่า ขอให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงพระเจริญ

สมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีได้พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการแก่ผู้เข้าร่วมพระราชพิธีในช่วงค่ำวันอังคาร (22) จากนั้นมีการพระราชทานเลี้ยงน้ำชาแก่สมาชิกราชวงศ์ต่างชาติในช่วงบ่ายวันพุธ (23)

แม้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะนำความปลาบปลื้มมาสู่พสกนิกรชาวญี่ปุ่น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต้องหวนกลับมาคิดเรื่อง ‘องค์รัชทายาท’ ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไปในภายหน้า

จักรพรรดินารูฮิโตะทรงมีพระราชธิดาอยู่เพียงพระองค์เดียวคือ เจ้าหญิงไอโกะ วัย 17 พรรษา ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลไม่สามารถที่จะสืบราชบัลลังก์ได้ และหากไม่มีการแก้ไขกฎข้อนี้ อนาคตของราชวงศ์ญี่ปุ่นก็จะต้องฝากเอาไว้กับพระราชภาติยะคือ “เจ้าชายฮิซาฮิโตะ” วัย 13 พรรษา พระโอรสในเจ้าชายอากิชิโนะ ซึ่งเวลานี้ทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 ถัดจากพระบิดา

การประสูติของเจ้าชายฮิซาฮิโตะในปี 2006 ถูกยกให้เป็น “ปาฏิหาริย์” ครั้งใหญ่สำหรับราชวงศ์ญี่ปุ่นซึ่งว่างเว้นการกำเนิดของเจ้านายที่เป็นชายมานานถึง 41 ปี และทำให้ข้อเสนอแก้ไขกฎมณเฑียรบาลเพื่อให้เจ้านายสตรีขึ้นครองราชย์ต้องยุติลงไป

อย่างไรก็ดี เจ้าชายฮิซาฮิโตะยังทรงเป็นราชินิกุลชายเพียงพระองค์เดียวในรุ่นของพระองค์ ดังนั้นหลายฝ่ายจึงอดกังวลไม่ได้ว่า วันหนึ่งราชวงศ์ญี่ปุ่นซึ่งสืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมานานถึง 2,000 ปีอาจถึงกาลล่มสลายเพราะไร้ผู้สืบทอด

จากผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า ชาวญี่ปุ่นมากกว่า 70% สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาล เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้านายสตรีสามารถสืบราชบัลลังก์ได้เช่นกัน ขณะที่โพลของสถานีโทรทัศน์ NHK เมื่อปลายเดือน ก.ย. พบว่า 74% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,539 คนสนับสนุนให้สตรีขึ้นครองบัลลังก์เป็นจักรพรรดินีได้ และ 71% เห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะเลือกผู้สืบเชื้อสายทางฝั่งสตรีขึ้นเป็นรัชทายาท







กำลังโหลดความคิดเห็น