(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
HK’s GDP stalls as Guangzhou, Singapore soar past
By KG Chan
17/10/2019
เศรษฐกิจฮ่องกงกำลังย่ำแย่ทำท่าตกลงสู่ภาวะถดถอย โดยเป็นผลพวงของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และกระแสการประท้วงอย่างยืดเยื้อในเขตบริหารพิเศษแห่งนี้เอง สภาพเช่นนี้ทำให้ในปีนี้อันดับของฮ่องกงในรายชื่อนครในแ ดนมังกรซึ่งมีขนาดของจีดีพีสูงที่สุดหล่นลงไปอยู่อันดับ 5 หลังจากปีที่แล้วก็ถูกสิงคโปร์ ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญระดับนานาชาติ แซงเลยหน้าไปเล็กน้อย ทว่าถ้าวัดกันที่ตัวเลขจีดีพีเฉลี่ยต่อหัวประชากรแล้ว ก็จะถูกสิงคโปร์ทิ้งห่างถึง 40% ทีเดียว
ฮ่องกงน่าจะจมถลำลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคไปเรียบร้อยแล้วนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจของเขตพิเศษแห่งนี้ซึ่งประสบความยากลำบากจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ --ที่เป็น 2 คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของนครแห่งนี้— อยู่แล้ว แถมยังต้องถูกตีกระหน่ำเพิ่มขึ้นอีกจากความไม่สงบในนครซึ่งยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 4
ในรอบครึ่งแรกของปี 2019 เศรษฐกิจของฮ่องกงอยู่ในอาการโซซัดโซเซแล้ว โดยสามารถขยายตัวได้เพียงแค่ 0.5% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นฝีก้าวที่เชื่องช้าที่สุดนับตั้งแต่ตอนประสบภาวะถดถอยในปี 2009 จากนั้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ทั้งจำนวนผู้เดินทางมาเยือนและยอดการค้าปลีกต่างตกลงฮวบฮาบ ขณะที่การส่งออกยังคงทรุดตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอารมณ์ความรู้สึกทั้งของภาคธุรกิจ, การลงทุน, และผู้บริโภค ต่างดำดิ่งลงลึกกันทั่วหน้า
เหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์เดลี่) หนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ออกมาเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า อิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจของฮ่องกงนั้นกำลังหดหายลดทอนลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับพวกนครที่กำลังบูมจำนวนหนึ่งบนแผ่นดินใหญ่ หรือกับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นนครรัฐที่มีฐานะเป็นคู่แข่งขันรายสำคัญ
ในการจัดอันดับเมืองต่างๆ ในความปกครองของจีนโดยใช้เกณฑ์ผลผลิตทางเศรษฐกิจในรอบปี ฮ่องกงทำท่าจะหล่นลงไปอยู่อันดับ 5 ในปีนี้ ขณะที่ กว่างโจว มีหวังจะแซงหน้าขึ้นไปได้ เนื่องจากเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งและเป็นข้อต่อที่กำลังรุ่งเรืองของการค้า, การพาณิชย์, และอุตสาหกรรมการผลิตในบริเวณภาคใต้ของจีนแห่งนี้ สามารถยืนท้าทายลมปะทะระดับโลกทั้งหลาย และทำอัตราเติบโตได้อย่างเข้มแข็งในระดับ 7.1% ต่อปี จนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในมียอดอยู่ที่ 1.17 ล้านล้านหยวน (165,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในรอบครึ่งปีแรกของปี 2019
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำนวนผู้โดยสารและตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ที่เข้าออกสนามบินและท่าเรือของกว่างโจวนั้น ต่างแซงหน้าฮ่องกงไปแล้วในระหว่างเวลาดังกล่าว
นี่หมายความว่า เวลานี้นครใหญ่ของจีนซึ่งคุยอวดได้ว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตกว่าฮ่องกงไปเรียบร้อยแล้ว จะประกอบด้วย เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, เซินเจิ้น, และกว่างโจว
ขณะเดียวกัน ขนาดเศรษฐกิจของฮ่องกงเมื่อเปรียบเทียบกับยอดจีดีพีโดยรวมของทั่วทั้งประเทศจีน ก็ได้หล่นวูบลงมาจากจากที่เคยขึ้นไปสูงสุดคือเท่ากับ 27% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศโดยรวมของจีนเมื่อปี 1993 แต่มาถึงปี 2017 ก็ถอยกรูดจนเหลือไม่ถึง 3% นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ข้อเขียนชิ้นนี้ในเหรินหมินรึเป้าตั้งข้อสังเกต
ในปี 1997 ตอนที่อังกฤษส่งมอบนครแห่งนี้กลับคืนมาอยู่ในอำนาจอธิปไตยของจีนนั้น จีดีพีของฮ่องกงยังมีขนาดเท่ากับประมาณ 20% ของแผ่นดินใหญ่ และใหญ่กว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งทั่วทั้งมณฑล ทั้งนี้ในสมัยที่รุ่งเรืองที่สุด นครแห่งนี้ในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ได้แสดงบทบาทที่สำคัญยิ่ง ด้วยการเป็นคนกลางเรื่องการค้าและการลงทุนของจีน กับส่วนอื่นๆ ของโลก
มีความคิดเห็นกันด้วยว่า แม้กระทั่งพวกนครของแผ่นดินใหญ่ที่ถือเป็นนครชั้นสองระดับรองๆ ลงมาอีก เป็นต้นว่า ฉงชิ่ง (จุงกิง), เทียนจิน (เทียนสิน), ซูโจว, อู่ฮั่น, เฉิงตู, และ หนานจิง (นานกิง) ก็อาจพากันวิ่งเลยหน้าฮ่องกง จนกระทั่งทำให้นครแห่งนี้ตกจากอันดับท็อป 10 ไปเลยภายในช่วงทศวรรษหน้า ขณะที่ศูนย์กลางชุมชนเมืองบนแผ่นดินใหญ่เหล่านี้ต่างกำลังมีเศรษฐกิจที่เติบโตขยายตัว เนื่องจากมีการลงทุนที่คึกคักเข้มแข็ง และฐานประชากรของพวกเขาก็มีความมั่นคง
เมื่อปีที่แล้ว สิงคโปร์ได้แซงหน้าฮ่องกงในเรื่องจีดีพีเป็นครั้งที่สองในรอบ 10 ปี ถึงแม้นำไปไม่มากไม่มาย นั่นคือ 364,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 362,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ต้องไม่ลืมว่าสิงคโปร์มีประชากร 5 ล้านคน เปรียบกับฮ่องกงซึ่งมี 7 ล้านคน ดังนั้นเมื่อดูที่ตัวเลขจีดีพีเฉลี่ยต่อหัวประชากรแล้ว ของสิงคโปร์จะอยู่ในระดับสูงกว่าของฮ่องกงราวๆ 40% ทีเดียว ทั้งนี้ตามตัวเลขของเหรินหมินรึเป้า
จวบจนถึงเวลานี้ สิงคโปร์ยังคงสามารถหลีกเลี่ยงไม่ตกลงสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ซึ่งมีคำจำกัดความทางวิชาการว่าหมายถึงอัตราเติบโตของเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อยู่ในสภาพติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาสขึ้นไป ทั้งนี้เศรษฐกิจของนครรัฐแห่งนั้นในไตรมาส 3 ขยายตัวได้ 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และอยู่ในระดับโตได้ 0.6% เมื่อเปรียบกับไตรมาสก่อนหน้า
สิงคโปร์อยู่ในฐานะที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากความปั่นป่วนวุ่นวายในฮ่องกง เนื่องจากพวกคนมั่งคั่งร่ำรวยระดับอัลตร้าริชของฮ่องกง พากันมองหาสถานที่ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า สำหรับนำทรัพย์สินของพวกเขาไปจอดพักเอาไว้ ส่วนพวกบรรษัทนานาชาติก็เริ่มต้นตัดแยกแบ่งการดำเนินงานบางส่วนออก และโยกย้ายไปไว้ที่ศูนย์ธุรกิจและการเงินซึ่งมีเสถียรภาพมากกว่า
สิงคโปร์ในปีนี้ยังสามารถน็อกเอาต์สหรัฐฯ แซงขึ้นสู่อันดับหนึ่งในรายงานความสามารถในการแข่งขันประจำปี 2019 ที่จัดทำโดย เวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม (World Economic Forum) สำหรับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ก็ยังถือว่าทำได้ไม่เลว โดยวิ่งขึ้นมาอยู่ในอันดับสาม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.weforum.org/reports/how-to-end-a-decade-of-lost-productivity-growth)