xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : สหรัฐฯ ผ่าน กม.หนุน ‘ม็อบฮ่องกง’ จีนกร้าวมะกันควรหยุด ‘แทรกแซง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติผ่านร่างกฎหมาย 4 ฉบับซึ่งเป็นการประกาศจุดยืนท้าทายจีนเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา โดย 3 ฉบับเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และอีกฉบับมีเนื้อหาชื่นชมรัฐบาลแคนาดาที่ช่วยจับกุมผู้บริหาร ‘หัวเว่ย’ ตามคำขอของวอชิงตัน

ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับผ่านการรับรองด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ โดยส.ส.ทั้งฝ่ายเดโมแครตและรีพับลิกันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องการแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีน และสนับสนุนชาวฮ่องกงซึ่งออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลนานกว่า 4 เดือน

มาตรการกดดันครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ และจีนอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้า

ร่างกฎหมายฉบับแรกได้แก่ กฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง (Hong Kong Human Rights and Democracy Act) ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ต้องส่งรายงานยืนยันสถานะการปกครองตนเองของฮ่องกงเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เกาะศูนย์กลางการเงินแห่งนี้ยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐฯ ต่อไป

กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องระบุตัวตนและคว่ำบาตรบุคคลใดก็ตามที่พยายามบั่นทอนอำนาจปกครองตนเอง และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงในฮ่องกง

ร่างกฎหมายฉบับที่ 2 คือ กฎหมายปกป้องฮ่องกง (Protect Hong Kong Act) ซึ่งห้ามมิให้สหรัฐฯ ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์หรืออุปกรณ์ควบคุมฝูงชนที่ตำรวจฮ่องกงอาจจะนำไปใช้ปราบปรามผู้ชุมนุมได้

องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) กล่าวหาตำรวจฮ่องกงว่าใช้วิธีการป่าเถื่อนเกินกว่าเหตุกับผู้ชุมนุม ขณะที่ฝ่ายตำรวจยืนยันว่าพวกเขาใช้ความอดทนอดกลั้นถึงที่สุดแล้ว

คริส สมิธ ส.ส.รีพับลิกันซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของร่างกฎหมายชุดนี้ ระบุว่า “วันนี้เราเพียงแต่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีจีน และนาง แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้อย่างซื่อสัตย์ ซึ่งก็คือการรับรองสิทธิและอำนาจในการปกครองตนเองของฮ่องกง”

ทั้งนี้ หากร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้มติรับรองจากวุฒิสภาก็จะถูกส่งต่อไปให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามประกาศใช้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ยืนยันว่า วุฒิสภาจะเปิดอภิปรายและลงมติรับรองร่างกฎหมายว่าด้วยฮ่องกงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

สำหรับร่างกฎหมายฉบับที่ 3 นั้นเป็นการยอมรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ฮ่องกง, ประณามพฤติกรรมแทรกแซงของปักกิ่ง และสนับสนุนสิทธิของพลเมืองฮ่องกงในการออกมาชุมนุมประท้วง ทว่าไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมาย

คณะผู้บริหารฮ่องกงได้แสดงความผิดหวังต่อการผ่านกฎหมายฉบับนี้ และย้ำว่าสภานิติบัญญัติต่างชาติไม่ควรที่จะก้าวก่ายกิจการภายในของฮ่องกง

ร่างกฎหมายฉบับที่ 4 ซึ่งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายเช่นกันเป็นการชื่นชมรัฐบาลแคนาดาที่ปฏิบัติตามคำขอของสหรัฐฯ ในการจับกุมและเนรเทศ เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบุตรสาวผู้ก่อตั้งหัวเว่ย

เมิ่ง วัย 47 ปี ถูกตำรวจแคนาดาควบคุมตัวที่สนามบินแวนคูเวอร์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ปีที่แล้วตามคำขอของสหรัฐฯ ซึ่งได้ตั้งข้อหา เมิ่ง ฐานฉ้อโกงและหลอกลวงสถาบันการเงินบางแห่ง เช่น ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของหัวเว่ยในอิหร่าน ขณะที่ซีเอฟโอหัวเว่ยยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนและคัดค้านการถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ

สหรัฐฯ อ้างว่าหัวเว่ยขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและฝ่าฝืนกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่าน ในขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสหลายคนทั้งฝั่งเดโมแครตและรีพับลิกันเห็นตรงกันว่า บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีนรายนี้เป็นภัยต่อความมั่นคง

กระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาวิจารณ์ร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนฮ่องกงที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และเรียกร้องให้นักการเมืองอเมริกัน “หยุดแทรกแซงกิจการภายในฮ่องกง”
แคร์รี ลัม ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง
เกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังเตือนด้วยว่า หากมาตรการเหล่านี้ถูกประกาศเป็นกฎหมายจะทำให้ความสัมพันธ์ปักกิ่ง-วอชิงตันยิ่งเสื่อมทรามลงไปอีก

วิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีของฮ่องกงมีจุดเริ่มต้นมาจากกระแสคัดค้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่เปิดทางให้มีการส่งพลเมืองฮ่องกงไปดำเนินคดีในศาลบนจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนที่การประท้วงจะลุกลามขยายวงไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย และต่อต้านการครอบงำของจีน

อังกฤษได้ส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนแก่จีนในปี 1997 ภายใต้ข้อตกลงที่ว่าจีนจะต้องใช้สูตร “หนึ่งประเทศ สองระบบ” คือให้สิทธิ์ในการปกครองตนเองขั้นสูง และเปิดโอกาสให้พลเมืองบนเกาะศูนย์กลางการเงินแห่งนี้ได้มีสิทธิเสรีภาพมากกว่าชาวจีนบนแผ่นดินใหญ่ ทว่าคนหนุ่มสาวฮ่องกงกลับรู้สึกว่าเสรีภาพที่พวกเขาหวงแหนกำลังถูกปักกิ่งลิดรอนลงไปเรื่อยๆ

ปักกิ่งปฏิเสธข้อครหาดังกล่าว และโทษรัฐบาลตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และอังกฤษว่าพยายามยุยงปลุกปั่นคนฮ่องกงให้ต่อต้านจีน

ปัญหาฮ่องกงยังนับเป็นวิกฤตท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นำแดนมังกรในปี 2012

สี กล่าวเอ่ยเตือนเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วว่า ผู้ใดก็ตามที่คิดแบ่งแยกดินแดนจีนจะต้องถูก “บดขยี้” เป็นจุณ

สถานการณ์ในฮ่องกงยังส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ โดยตำรวจฮ่องกงเผยว่าเมื่อคืนวันอาทิตย์ (13) ที่ย่านเกาลูนมีผู้ประท้วงนำระเบิดประกอบเองและควบคุมจากระยะไกลมาใช้โจมตีตำรวจเป็นครั้งแรก ทว่าโชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ผู้ประท้วงฮ่องกงยังพยายามขอให้สหรัฐฯ ช่วยกดดันจีนอีกแรง ขณะที่ ส.ว. เท็ด ครูซ จากพรรครีพับลิกันได้เดินทางไปเยือนฮ่องกงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว นับเป็นการเยือนของนักการเมืองระดับสูงสุดของสหรัฐฯ ตั้งแต่เหตุจลาจลทางการเมืองในฮ่องกงปะทุขึ้นเมื่อ 4 เดือนก่อน

ครูซ ก็วิจารณ์จีนว่าพยายามนำระบอบเผด็จการมาใช้กับฮ่องกง ขณะที่ จอช ฮอว์ลีย์ ส.ว.อเมริกันอีกคนที่ไปเยือนฮ่องกงก็เตือนว่า เกาะศูนย์กลางการเงินแห่งนี้เสี่ยงที่จะกลายเป็น “รัฐตำรวจ”

นาง ลัม ตอบโต้เสียงวิจารณ์เหล่านี้อย่างเผ็ดร้อน โดยระบุว่านักการเมืองต่างชาติบางคนอ้างว่าผู้ประท้วงออกมาเรียกร้องเสรีภาพอย่างสันติ และทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เมื่อมีการใช้ความรุนแรง ซึ่งถือว่ามองข้ามข้อเท็จจริง

ผู้บริหารฮ่องกงยืนยันว่าฝ่ายบริหารจะไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่ผู้ประท้วงซึ่งใช้ความรุนแรง เพราะมีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
กำลังโหลดความคิดเห็น