xs
xsm
sm
md
lg

สีจิ้นผิง ‘แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง’ ในการประชุมซัมมิตกับนายกฯอินเดีย ท่ามกลางความตึงครียดสหรัฐฯ-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์

<i>นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย (ขวา) จับมือกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ระหว่างที่ไปชมโบราณสถานแห่งหนึ่งของเมืองมามัลละปุราม รัฐทมิฬนาฑู ทางภาคใต้ของอินเดีย เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม อันเป็นวันแรกที่ผู้นำทั้งสองประชุมซัมมิตกันอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่สอง </i>
Xi, Modi agree to trim trade deficit, boost mutual trust amid US-China tensions
By Kunal Purohit, The South China Morning Post
12 Oct, 2019

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กับนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี พบปะหารือกันรวม 7 ชั่วโมงระหว่างการประชุมซัมมิตที่ภาคใต้ของอินเดียเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายแถลงว่าสามารถตกลงทั้งเรื่องการค้าและอื่นๆ หลายประเด็น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นความสำเร็จในการบรรลุชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะทำได้ ขณะเดียวกับที่ไม่แตะต้องพวกประเด็นปัญหาอันใหญ่โตยืดเยื้อทั้งหลาย

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน และนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย มาถึงบทสรุปการประชุมซัมมิตอย่างไม่เป็นทางการของพวกเขาเมื่อวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยการให้คำมั่นสัญญาที่จะเอาชนะความไม่สมดุลทางการค้าที่มีอยู่ พร้อมกับกล่าวชื่นชมใน “นโยบายการต่างประเทศของกันและกันที่มีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง” ทั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณแสดงถึงความพยายามที่จะมุ่งโฟกัสไปยังผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีอยู่ร่วมกัน แทนที่จะเป็นพวกประเด็นปัญหาซึ่งขัดแย้งโต้เถียงกันมาอย่างยาวนาน

โมดี กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะ “มีความรู้สึกไว” ต่อความกังวลห่วงใยทั้งหลายของอีกฝ่ายหนึ่ง และไม่ปล่อยให้ความแตกต่างซึ่งมีอยู่บานปลายขยายตัวจนกลายเป็นข้อพิพาท ขณะที่ สี เรียกร้องให้มีการสื่อสารกันเพื่อ “ลดทอนบรรเทาความระแวงสงสัยต่างๆ” ตลอดจนเพื่อให้อินเดียกับจีนเพิ่มพูนความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันในทางยุทธศาสตร์” ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (ซีซีทีวี)

ความปรารถนาของผู้นำทั้งสองที่จะมองให้ไกลออกไปจากความขุ่นข้องหมองใจทั้งหลายในสายสัมพันธ์ทางการทูต อันรวมทั้งการทะเลาะกันเกี่ยวกับพรมแดนที่ดำรงอยู่มายาวนานหลายทศวรรษแล้ว ตลอดจนการที่จีนมีความผูกพันทางทหารอันใกล้ชิดกับปากีสถาน ซึ่งเป็นศัตรูตัวใหญ่ของอินเดีย เช่นนี้ บังเกิดขึ้นขณะที่ปักกิ่งกำลังพัวพันยุ่งเหยิงอยู่ในสงครามขึ้นภาษีศุลกากรกับวอชิงตัน ซึ่งส่งผลสั่นคลอนเศรษฐกิจไปทั่วโลก

ในการส่งสัญญาณให้เห็นว่า ปักกิ่งมีความยินดีที่จะแก้ไขเรื่องอินเดียกำลังขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมหาศาล การหารือของผู้นำทั้งสองในคราวนี้ได้เห็นชอบที่จะให้มี “การสนทนาระดับสูงด้านเศรษฐกิจและการค้า” (High Level Economic and Trade Dialogue) ระหว่างสองประเทศขึ้นมา

โดยที่รองนายกรัฐมนตรี หู ชุนหวา (Hu Chunhua) ของจีน กับรัฐมนตรีคลัง นิรมาลา สิธารามาน (Nirmala Sitharaman) ของอินเดีย จะพบปะกันเป็นประจำเพื่อหารือถึงวิธีการต่างๆ ในการเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนสองทาง วีเจย์ โกคาเล (Vijay Gokhale) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ระบุในการแถลงสรุปแก่สื่อมวลชน

อินเดียนั้นเสียเปรียบดุลการค้าจีนเป็นมูลค่า 53,000 ล้านดอลลาร์ เกือบเป็นหนึ่งในสามของการขาดดุลการค้าทั้งหมดของแดนภารตะทีเดียว นอกจากนั้นนิวเดลียังกำลังถูกกดดันให้ต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าผูกพันกับ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership ใช้อักษรย่อว่า RCEP) ที่มีปักกิ่งเป็นผู้นำหรือไม่ โดยข้อตกลงนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะก่อตั้งเขตการค้าในเอเชียและแปซิฟิกที่ประกอบด้วยประเทศต่างๆ 16 รายและจะกลายเป็นเขตการค้าซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกขึ้นมา ให้สำเร็จก่อนสิ้นสุดปีนี้

การเจรจาต่อรองกันกำลังดำเนินอยู่ โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ทว่าพวกผู้ผลิตภายในประเทศของอินเดียยังคงพากันคัดค้าน เนื่องจากหวาดกลัวว่าข้อตกลงนี้จะเปิดทางให้สินค้าแดนมังกรยิ่งไหลทะลักเข้าสู่แดนภารตะ เมื่อวันศุกร์ (11 ต.ค.) รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลอินเดียได้ปฏิเสธไม่รับพวกมาตราในข้อตกลงนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องอี-คอมเมิร์ซ

โกคาเลกล่าวในการบรรยายสรุปให้สื่อมวลชนฟังว่า โมดี กับ สี ได้หารือกันสั้นๆ เกี่ยวกับ RCEP ระหว่างซัมมิตอย่างไม่เป็นทางการคราวนี้ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองมามัลละปุรัม (Mamallapuram ยังรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า มหาบาลีปุรัม Mahabalipuram) เมืองโบราณริมชายฝั่งทางอินเดียตอนใต้ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเจนไน (Chennai ชื่อเดิมคือ มัทราส Madhas) เมืองเอกของรัฐทมิฬนาฑูราว 50 กิโลเมตร

“นายกฯโมดีกล่าวว่า อินเดียกำลังตั้งหน้ารอคอยให้เกิด RCEP ขึ้นมา ทว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ RCEP จะต้องมีความสมดุล เป็นความสมดุลที่จะต้องรักษาเอาไว้ในการค้าที่เป็นตัวสินค้า, การค้าในภาคบริการและการลงทุนต่างๆ” ปลัดกระทรวงการต่างประเทศแดนภารตะบอก พร้อมกับเสริมด้วยว่า สีได้เห็นชอบที่จะหารือกันต่อไปอีกเกี่ยวกับความห่วงกังวลในประเด็นนี้ของฝ่ายอินเดีย

ทางด้านสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีนรายงานว่า สีมีข้อเสนอแนะรวม 6 ข้อเกี่ยวกับวิธีการที่จีนกับอินเดียจะสามารถปรับปรุงสายสัมพันธ์ให้กระเตื้องดีขึ้นต่อไปอีก เป็นต้นว่า การประเมินกันและกันอย่างถูกต้อง, และการยกระดับความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายทหารของทั้งสองประเทศ นอกเหนือจากการสนทนากันทางเศรษฐกิจและการค้าแล้ว จีนยังยินดีต้อนรับพวกบริษัทด้านเวชภัณฑ์และด้านไอทีของอินเดียเข้าไปลงทุนในแดนมังกรด้วย สีบอก

“เราควรที่จะมองข้อพิพาทต่างๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยให้ข้อพิพาทเหล่านี้มาส่งผลกระทบกระเทือนความร่วมมือกัน

“ทั้งสองฝ่ายควรที่จะหาวิธีการอันเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อเป็นทางออกสำหรับข้อพิพาททางชายแดนต่างๆ โดยเป็นทางออกซึ่งต่างฝ่ายต่างยอมรับได้ ... (และ) จัดการด้วยความระมัดระวังในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์แกนกลางของแต่ละฝ่าย และใช้มาตรการที่เหมาะสมมาควบคุมพวกประเด็นปัญหาซึ่งยังไม่สามารถที่จะแก้ไขคลี่คลายได้ในทันที” รายงานของซีซีทีวีอ้างคำกล่าวของประธานาธิบดีแดนมังกร

สำหรับโกคาเล ยังบอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันที่จะเดินหน้าการสนทนาที่กำลังดำเนินอยู่ในเรื่องพรมแดนซึ่งสองฝ่ายพิพาทกัน โดยผ่านทางคณะผู้แทนพิเศษ ทั้งนี้จีนกับอินเดียได้จัดการเจราจากันมากว่า 20 รอบแล้วเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทด้านพรมแดนของประเทศทั้งสอง โดยที่ข้อพิพาทนี้ได้เคยเป็นชนวนทำให้แดนมังกรกับแดนภารตะทำสงครามกันมาแล้วในปี 1962 เวลานี้ได้มีการจัดตั้งกลไกต่างๆ ขึ้นมาเพื่อรักษาสันติภาพตามแนวชายแดนระหว่างกันความยาว 4,000 กิโลเมตร ซึ่งเรียกขานกันว่า “เส้นควบคุมตามความเป็นจริง” (Line of Actual Control)

โกคาเลยังยืนยันว่า ผู้นำทั้งสอง –ซึ่งพบเจรจากันรวมทั้งสิ้น 7 ชั่วโมงในวันศุกร์ที่ 11 ต.ค. และวันเสาร์ที่ 12 ต.ค. โดยที่ช่วงเวลาจำนวนมากทีเดียวเป็นการหารือกันแบบตัวต่อตัว— ไม่ได้มีการหารือในเรื่องแคชเมียร์ ซึ่งเป็นดินแดนที่ปัจจุบันอินเดียกับปากีสถานแบ่งกันปกครอง ทว่าศัตรูที่ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์คู่นี้ ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิเหนือดินแดนนี้ทั้งหมด

ตั้งแต่ที่อินเดียประกาศยกเลิกสิทธิการปกครองตนเองของแคชเมียร์ส่วนที่ตนเองควบคุมอยู่ในเดือนสิงหาคมปีนี้ พร้อมกับประกาศมาตรการที่เป็นการปิดกั้นการติดต่อกับโลกภายนอกของดินแดนส่วนนี้ ทางปากีสถานก็ได้ล็อบบี้เหล่าพันธมิตรของตน ซึ่งก็รวมทั้งจีนผู้เป็นเพื่อนมิตรที่ผ่านแดดผ่านฝนมาด้วยกันอย่างยาวนาน ให้สนับสนุนเรื่องที่ปากีสถานคัดค้านความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของอินเดีย นิวเดลีนั้นได้แสดงปฏิกิริยาไม่พอใจอย่างมากต่อความเคลื่อนไหวของปักกิ่งที่นำเอาเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสหประชาชาติ สองวันก่อนหน้าซัมมิตที่มามัลละปุรัม สีได้เป็นเจ้าบ้านต้อนรับการไปเยือนของนายกรัฐมนตรี อิมรัน ข่าน แห่งปากีสถาน และได้ยืนยันรับรองกับผู้นำปากีสถานว่าจีนให้ความสนับสนุนประเด็นปัญหาแกนกลางทั้งหมดทุกๆ ประเด็น โดยคำแถลงของฝ่ายจีนเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ทำให้อินเดียขุ่นเคือง

โกคาเลบอกว่า ผู้นำทั้งสอง “ย้ำเน้นถึงความสำคัญของการมีนโยบายการต่างประเทศที่เป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง”

“ประธานาธิบดีสีกล่าวว่า ทั้งสองประเทศจำเป็นที่จะต้องมีการสนทนากันให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อที่จะได้เข้าใจจุดยืนทัศนะของกันและกันในประเด็นปัญหาใหญ่ๆ ทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค” โกคาเล ระบุ

ผู้นำทั้งสองยังหารือกันเรื่องการก่อการร้าย โดยที่ในคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งออกโดยฝ่ายนิวเดลีในเวลาต่อมาบอกว่า ทั้งสองฝ่ายจะใช้ความพยายามต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าประชาคมระหว่างประเทศได้เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่กรอบโครงแผนแม่บทของตน “ในการต่อสู้ปราบปรามการฝึกอบรม, การอุดหนุนทางการเงิน, และการสนับสนุนต่างๆ แก่พวกกลุ่มผู้ก่อการร้ายตลอดทั่วโลก และบนพื้นฐานของการไม่แบ่งแยกจำแนก”

ทั้งนี้ คณะทำงานเฉพาะกิจพหุภาคีเพื่อการปฏิบัติการด้านการเงิน (multilateral Financial Action Task Force) ที่มีจีนเป็นผู้นำ ซึ่งดำเนินการสอบสวนติดตามเรื่องความพยายามของปากีสถานในการยุติการให้ความอุดหนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายมาระยะหนึ่งแล้วนั้น ได้รับการคาดหมายว่าจะมีคำตัดสินออกมาในเร็ววันนี้ว่า จะบรรจุชื่อปากีสถานเข้าไว้ในบัญชีดำของทางคณะทำงานชุดนี้ เคียงข้างอิหร่านและเกาหลีเหนือหรือไม่ ประเทศใดหากถูกขึ้นบัญชีดำนี้ ก็อาจถูกนานาชาติใช้มาตรการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด และถูกขับออกจากพวกสถาบันการเงินระหว่างประเทศทั้งหลาย โดยทั้งสองอย่างนี้น่าจะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างแรงต่อปากีสถาน ซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่แล้ว

โกคาเล เสริมว่าเนื่องจากในปี 2020 จะเป็นวาระครบรอบ 70 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ อินเดียกับจีนตกลงจะจัดรายการต่างๆ รวม 70 รายการในปีหน้าเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนกับประชาชน นอกจากนั้นโมดียังตอบรับคำเชื้อเชิญของสี สำหรับซัมมิตอย่างไม่เป็นทางการคราวต่อไปซึ่งจะจัดขึ้นในจีน

เห็นได้ชัดว่า ผู้นำทั้งสองมองผลของซัมมิตที่อินเดียครั้งนี้ในแง่บวก โดยที่ สี พูดถึงการหารือกับโมดีว่า เป็นการพูดคุยอย่าง “ตรงไปตรงมา” และเป็นแบบเพื่อนมิตร ส่วน โมดี ก็ยกย่องการพบปะหารือที่เขาเรียกขานว่า “เจนไน คอนเนกต์” (Chennai Connect) คราวนี้ ว่าเป็นหลักหมายหนึ่งที่แสดงถึงยุคใหม่แห่งความร่วมมือกันระหว่างประเทศทั้งสอง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากให้ความเห็นว่า พวกเขาจะต้องขอเฝ้าติดตามต่อไปอีก เพื่อดูว่ากลไกระดับสูงด้านการค้าที่ประกาศออกมาหมาดๆ คราวนี้ จะมีผลจริงๆ ขนาดไหน

นรายานี บาซู (Narayani Basu) ผู้เป็นทั้งนักเขียนหนังสือ, นักวิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ, และนักเฝ้ามองจีน ซึ่งตั้งฐานอยู่ในนิวเดลี กล่าวว่า เธอรู้สึกว่าซัมมิตคราวนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างสามารถประกาศว่าประสบชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ ได้

“(ถ้าหากเน้น) การหารือในประเด็นที่โต้แย้งกันอยู่ ย่อมจะกลายเป็นการสร้างความพ่ายแพ้ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของซัมมิตครั้งนี้ แนวความคิดเบื้องหลังของซัมมิตลักษณะนี้จะต้องมีอยู่ว่า ถึงแม้มีประเด็นปัญหาที่สร้างความแตกแยกแตกต่างกันอย่างใหญ่โตมโหฬาร แต่ทั้งสองประเทศก็ยังคงสามารถบรรลุถึงพวกชัยชนะที่สามารถไปถึงได้อย่างง่ายๆ นี่แหละคือสิ่งที่ซัมมิตคราวนี้ดูเหมือนกำลังพยายามทำให้มันออกมา”

แต่ในแง่ของผลลัพธ์อันแท้จริงแล้ว เธอบอกว่าเธอยังคงสงสัยข้องใจ

“ฉันไม่คิดว่ามีความก้าวหน้าอะไรมากมายเลยในสายสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ นับตั้งแต่ซัมมิตครั้งที่แล้วในเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ด้วยเหตุนี้เอง สำหรับในครั้งนี้ จึงมีความระมัดระวังกันมากขึ้น และมีความระแวงสงสัยกันยิ่งขึ้น ถ้าหากจะเดินหน้าไปสู่ซัมมิตแบบนั้น” เธอกล่าว โดยอ้างอิงถึงการประชุมสุดยอดครั้งแรกระหว่าง สี กับ โมดี เมื่อปีที่แล้ว ที่เมืองอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย ทางภาคกลางของจีน

ระหว่างการเยือนภาคใต้อินเดียของสีคราวนี้ซึ่งกินเวลารวมทั้งสิ้น 24 ชั่วโมง โมดีได้นำผู้นำจีนไปเที่ยวชมโบราณสถานต่างๆ ของทางศาสนาซึ่งมีอายุเก่าแก่ย้อนหลังไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 และที่ 8 ในเมืองมามัลละปุรัม เมื่อตอนที่พวกผู้นำในภูมิภาคแถบนี้มีสายสัมพันธ์ทางการค้ากับมณฑลต่างๆ ของจีน โมดียังได้อวดเครื่องหัตถกรรมและรูปแบบศิลปะต่างๆ ฝีมือของช่างท้องถิ่น และได้มอบของขวัญให้แก่ สี เป็น ภาพเหมือนของสีทำด้วยผ้าไหมทอมือ, ตะเกียง, และภาพเขียน

ทางด้าน สี ก็มอบของขวัญให้โมดี เป็นจานกระเบื้องเคลือบที่มีภาพเหมือนของนายกรัฐมนตรีอินเดียอยู่ตรงกลาง

ในวันศุกร์ (11 ต.ค.) นิวเดลีประกาศว่าจะผ่อนคลายระเบียบการออกวีซ่าให้แก่พลเมืองจีนที่มาเยือนอินเดีย โดยที่ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปจะพิจารณาให้วีซ่าประเภทเข้าอินเดียได้หลายครั้งและมีกำหนดเวลาใช้ได้ถึง 5 ปีด้วย ในปัจจุบัน วีซ่าส่วนใหญ่เป็นประเภทเข้าอินเดียได้ครั้งเดียวและปกติแล้วมีกำหนดเวลาแค่ระหว่าง 30 วันถึง 60 วันเท่านั้น นอกจากนั้นรัฐบาลอินเดียระบุว่าจะลดค่าธรรมเนียมในการออกวีซ่าอีกด้วย เป็นต้นว่า วีซ่าประเภทเข้าออกได้หลายครั้งจะคิดค่าธรรมเนียม 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ

การผ่อนคลายเช่นนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นส่งเสริม “การแลกเปลี่ยนระดับประชาชนต่อประชาชนระหว่างสองประเทศ และเพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเลือกอินเดียเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยว” คำแถลงของรัฐบาลอินเดียบอก

สี ออกจากเมืองเจนไนในตอนบ่ายวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม และเดินทางต่อไปเนปาล ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างอินเดียกับจีน เขาจะเป็นประธานาธิบดีจีนคนแรกซึ่งไปเยือนเนปาลในรอบ 22 ปีที่ผ่านมา และคาดหมายกันว่าจะมีการลงนามในข้อตกลงจำนวนมากกับนายกรัฐมนตรี เค.พี. ชาร์มา โอลี ของเนปาล โดยรวมไปถึงดีลเรื่องการขยายเส้นทางเชื่อมต่อรถไฟตามที่วางแผนกันไว้ จากดินแดนทิเบตที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงและห่างไกลของจีน ไปยังกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล

เส้นทางเชื่อมต่อด้วยรถไฟเส้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการค้าอันใหญ่โตมโหฬารของปักกิ่ง นั่นคือ โครงการข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า BRI) ซึ่งเนปาลได้เข้าร่วมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน

ปัจจุบันมีกว่า 120 ประเทศแล้วที่ลงนามเข้าร่วมในข้อริเริ่ม BRI รวมทั้งปากีสถาน ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างโครงการต่างๆ เป็นชุดใหญ่มูลค่าสูงถึงราว 46,000 ล้านดอลลาร์ ภายใต้แผนการก่อตั้งเขตระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor ใช้อักษรย่อว่า CPEC) อินเดียนั้นมองเมินไม่เอาด้วยกับ BRI รวมทั้งยังตั้งคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสของข้อตกลงให้เงินทุนต่างๆ ซึ่งจีนทำกับประเทศที่เข้าร่วม

(ข้อเขียนนี้ได้นำเอารายงานข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์มาเพิ่มเติมด้วย)
<i>กองทัพบกอินเดียจัดฝึกซ้อมการสู้รบในเขตภูเขาครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดมา ในรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งอยู่ติดพรมแดนจีน เพียง 1 สัปดาห์ก่อนหน้าการมาเยือนแดนภารตะของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง </i>
หมายเหตุผู้แปล

[1] ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะเดินทางไปยังอินเดียเพื่อประชุมซัมมิตกับนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร ได้โพสต์ข้อเขียนเรื่อง Mamallapuram beckons China’s Xi Jinping ซึ่งมุ่งชี้ถึงสภาพความสัมพันธ์อินเดีย-จีน ที่กำลังเลวร้ายลงเป็นอย่างมาก จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ทำไมพวกนักวิเคราะห์จึงมองกันว่า ซัมมิตมามัลละปุรัม เป็นเพียงความพยายามในการบรรลุชัยชนะเล็กๆ ซึ่งสองฝ่ายสามารถเอื้อมถึงในเวลานี้ และหลีกเลี่ยงไม่แตะต้องประเด็นปัญหาใหญ่ๆ ที่ดำรงอยู่มายาวนานและมองไม่เห็นทางที่จะแก้ไขคลี่คลายได้ในเร็ววัน


ความหมางเมินของอินเดียกับจีน ก่อนหน้า‘สีจิ้นผิง’ประชุมซัมมิตกับ‘โมดี’
โดย เอ็ม เค ภัทรกุมาร

Mamallapuram beckons China’s Xi Jinping
By M.K. Bhadrakumar
06/10/2019

เมืองท่าโบราณแห่งมามัลละปุรัม (Mamallapuram) บนชายฝั่งโคโรมันเดล (Coromandel Coast) ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งการประชุมซัมมิตอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายกรัฐมตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน อาจจะจัดขึ้นที่นี่ กำลังคึกคักยุ่งเหยิงไปด้วยกิจกรรมต่างๆ พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบกำลังวุ่นวายกับการจัดเส้นทางเดินรถใหม่, ปลูกต้นไม้, และจัดการเคลื่อนย้ายพวกขายของเร่ให้ออกจากบริเวณใกล้ๆ โบราณสถานต่างๆ ของเมือง บางที สี อาจจะเดินทางมาถึงในวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม และเดินทางจากไปในวันรุ่งขึ้น

(หมายเหตุผู้แปล: กำหนดการเยือนของประธานาธิบดีจีนคราวนี้ ไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผยกันอย่างชัดเจน ดังที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมว่า:
กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการพบปะหารือกัน (ระหว่าง โมดี กับ สี) ในเมืองมามัลละปุรัม ซึ่งอยู่ในรัฐทมิฬนาฑู และมีชื่อเสียงในเรื่องวัดวาฮินดูและสถาปัตยกรรมที่ทรงความสำคัญทางประวัติศาสตร์
แต่กระทรวงก็ได้เปิดให้สื่อมวลชนลงทะเบียนสำหรับการทำข่าว “การประชุมซัมมิตอย่างไม่เป็นทางการอินเดีย-จีนครั้งที่ 2” ส่วนพวกเจ้าหน้าที่จีนได้ไปสำรวจตรวจตราเมืองชายทะเลแห่งนี้มาหลายสัปดาห์แล้ว


(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nst.com.my/world/2019/10/527844/chinas-xi-and-indias-modi-hold-summit-week-amid-strains)

หวังใจว่า สี จะได้พบเห็นถนนหนทางที่สะอาดสะอ้านเปล่งประกาย, โบราณสถานต่างๆ ซึ่งเพิ่งได้รับการเช็ดล้างใหม่ๆ, และพืชพรรณเขียวขจีสดใสสองข้างถนนไปสู่สถานที่จัดประชุมซัมมิต เมืองท่ามามัลละปุรัม เคยเป็นจุดเชื่อมโยงการค้ากับจีนยุคโบราณ เคยมีการค้นพบเหรียญกษาปณ์จีนที่เมืองนี้ด้วย

กระนั้นก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ดูเหนือจริงด้วยเหมือนกัน กล่าวคือ ไม่ค่อยมีความกระจ่างชัดเจนว่า สี จะมาเยือนแน่นอนหรือไม่? หากเกิดขึ้นมาได้จริงๆ ซัมมิตคราวนี้ก็ถือว่าเป็นดอกไม้ดอกงดงามที่สุดสำหรับการดำเนินการทางการทูตส่วนตัวของนายกฯโมดี โดยเป็นการติดตามการประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการหนแรกที่เมืองอู่ฮั่น ทางภาคกลางของจีน เมื่อเดือนเมษายน 2018

อย่างไรก็ตาม ซัมมิตมามัลละปุรัม กำลังจะเกิดขึ้นมาโดยที่ปราศจาก “จิตวิญญาณแห่งอู่ฮั่น” (Wuhan spirit) (โปรดดูคำอธิบายของผู้แปลตอนท้ายข้อเขียนชิ้นนี้) พัฒนาการต่างๆ ของสถานการณ์ที่ต่อเนื่องเป็นชุดใหญ่ กำลังส่งผลกระทบกระเทือนความสัมพันธ์อินเดีย-จีน และทำให้บรรยากาศดูหมองหม่นมืดมัว มันมากมายเสียจนกระทั่งบางทีการมาเยือนของ สี คราวนี้ อาจบังเกิดผลแค่เป็นการเติมเต็มอย่างพอเป็นพิธี สำหรับบางเศษเสี้ยวของคำมั่นสัญญาผูกพันต่างๆ ที่ได้ทำกันไว้ในปีที่แล้ว แต่เวลานี้คำมั่นสัญญาเหล่านั้นกำลังล่องลอยห่างไกลออกไปทุกที

นับตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม วันแห่งเวรแห่งกรรมเมื่อสถานะของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามอำเภอใจฝ่ายเดียวของเดลี พัฒนาการต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นชุดใหญ่ซึ่งกำลังส่งผลกระทบกระเทือนความสัมพันธ์อินเดีย-จีน ก็ปรากฎออกมาให้เห็นเป็นลำดับ กระบวนวิธีของอินเดียในการรับมือจัดการกับจีนนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปเสียแล้ว

ขอให้พิจารณาพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ดูเถอะ การเดินทางมาเยือนอินเดียตามที่ได้วางแผนตกลงกันเอาไว้แล้วของ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ (State Councilor จีนถือว่าตำแหน่งนี้ของตนเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี -ผู้แปล) และรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ระหว่างวันที่ 9 -10 กันยายน เพื่อพูดจาหารือเรื่องพรมแดนกับ อาจิต โดวัล (Ajit Doval) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของแดนภารตะ ได้ถูกยกเลิกไปเนื่องจากฝ่ายอินเดียมี “ความขัดข้องเกี่ยวกับกำหนดการ” บางประการ และต้องการให้เลื่อนการพบปะนี้ออกไปก่อน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.indiatoday.in/india/story/chinese-foreign-minister-wang-yi-to-skip-india-visit-1595174-2019-09-04)

ในวันที่ 17 กันยายน กองทัพอินเดียจัด “การฝึกแบบบูรณาการ” (integrated exercise) ขึ้นเป็นครั้งแรกในเขตอีสเทิร์นลาดัค (Eastern Ladakh) พื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อนซึ่งติดต่อกับชายแดนจีน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อมุ่งทดสอบและปรับปรุงสมรรถนะสู้รบทำสงครามของกองทัพ การซ้อมรบอย่างใหญ่โตชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอาณาบริเวณนี้ในครั้งนี้ มีการใช้ทั้งทหารราบ, กำลังยานเกราะ, ขบวนรถถังที-72, พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์หลายหลาก เป็นต้นว่า ปืนใหญ่ และอากาศยานไร้คนขับ นอกจากนั้นยังมีการใช้ทรัพย์สินด้านการบินของกองทัพบกอีกด้วย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://economictimes.indiatimes.com/news/defence/indian-army-conducts-massive-exercise-near-china-border-in-eastern-ladakh/articleshow/71189626.cms?from=mdr)

ในวันที่ 26 กันยายน เดลีส่งสัญญาณอย่างชนิดชัดเจนแน่นอนไปยังปักกิ่ง ด้วยการที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียได้เข้าร่วมการประชุมที่ยกระดับสู่ระดับรัฐมนตรีของกลุ่มที่เรียกขานกันว่า “คว็อด” (Quad ชื่อเต็มๆ กลุ่มนี้คือ Quadrilateral Security Dialogue การสนทนาความมั่นคง 4 ฝ่าย ประกอบด้วยสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และอินเดีย) ในนครนิวยอร์ก

กลุ่มคว็อดถูกรับรู้เข้าใจกันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติว่า เป็นคำรหัสสำหรับหมายถึง ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯที่มุ่งปิดล้อมควบคุมการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน การอัปเกรดกลุ่มคว็อดขึ้นเป็นการหารือระดับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศครั้งนี้ อลิซ เวลส์ (Alice Wells) รักษาการผุ้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียใต้และเอชียกลาง บรรยายเอาไว้ว่า เป็นการสาธิตให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของประเทศทั้งสี่ “ในกระบวนการของการทำให้การรวมตัวของ 4 หุ้นส่วนอินโด-แปซิฟิกที่มีความคิดคล้ายๆ กันนี้กลายเป็นสถาบันขึ้นมา”

ในวันที่ 3 ตุลาคม ขณะเหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์ สี ก็จะเดินทางมาเยือนแล้ว การซ้อมรบที่ใช้ชี่อรหัสว่า “ฮิม วีเจย์” (Him Vijay) ได้เปิดฉากขึ้นในรัฐอรุณาจัลประเทศ (หมายเหตุผู้แปล – อรุณาจัลประเทศเป็นรัฐที่อยู่ทางด้านตะวันออกสุดของอินเดีย ดินแดนผืนใหญ่ของรัฐนี้ถูกทางการจีนอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตน โดยเรียกว่า “ทิเบตใต้” ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Arunachal_Pradesh) โดยมีกลุ่มสู้รบ (Three Battle Groups) 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วยกำลังทหารราว 4,000 คนเข้าร่วม ขณะที่รายการฝึกในการซ้อมรบครั้งนี้ มีทั้ง การเรียกระดมพล, การโจมตีในพื้นที่ภูเขา, และการโจมตีทางอากาศ ส่วนประกอบต่างๆ ของกำลังหน่วยทหารรบพิเศษได้ถูกระดมเข้าทำการซ้อมรบคราวนี้เช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีการฝึกใช้ฝูงเฮลิคอปเตอร์ขนย้ายกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังพื้นที่สูง ซึ่งบางบริเวณอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 15,000 ฟุต “ยุทธการฮิม วีเจย์” ได้รับการระบุว่า เป็นการฝึกสู้รบแถบภูเขาครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดกันมาของกองทัพบกอินเดีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.newindianexpress.com/nation/2019/oct/03/armys-biggest-mountain-combat-exercise-him-vijay-begins-in-arunachal-pradesh-2042800.html)

ในวันที่ 6 ตุลาคม ขณะเหลืออีกเพียง 5 วันก่อนที่ สี จะมาถึงอินเดีย รัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นได้ประกาศจากสถานที่ลี้ภัยของพวกเขาในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ว่า ทะไลลามะ จะทรงเป็นผู้เลือกทายาทที่จะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์ และ “ไม่มีชาติใด, รัฐบาลใด, หน่วยองค์กรใด, หรือบุคคลใด สามารถที่จะอวดอ้างได้ว่าเป็นผู้ที่ทราบเรื่องการกลับชาติมาเกิดนี้” พูดกันอย่างง่ายๆ ก็คือ ธรรมศาลากำลังบลัฟฟ์กลับปักกิ่ง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aninews.in/news/world/asia/tibetan-govt-passes-resolution-on-reincarnation-of-dalai-lama20191006062329/)

มีเหตุผลทีเดียวที่จะระบุว่า จุดยืนของจีนในประเด็นปัญหาแคชเมียร์เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นเหตุผลอธิบายถึงสิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นชุดใหญ่เหล่านี้ซึ่งปรากฏขึ้นมาภายในระยะเวลาเพียงแค่เดือนเดียว

หัวใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า นับตั้งแต่การประชุมซัมมิตที่เมืองอู่ฮั่นปีที่แล้ว แผ่นเปลือกโลกที่อยู่ข้างใต้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนได้เกิดการพลิกตัวไหลเลื่อนอย่างแรง ทำให้ความตึงเครียดต่างๆ กำลังเพิ่มสูงขึ้น และไม่มีทางเลยที่จะปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า พวกผู้วางนโยบายของอินเดียกำลังพยายามหาทางฉวยใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เดลีนั้นวาดหวังเสมอมาให้สหรัฐฯมีนโยบายแบบแข็งกร้าวต่อจีน เนื่องจากคิดว่าจะเป็นการส่งเสริมเพิ่มพูนสถานะของอินเดียในสมการคาดคำนวณของวอชิงตัน ในฐานะที่แดนภารตะเป็นตัวที่สามารถถ่วงน้ำหนักการก้าวผงาดของจีนได้

ด้วยเหตุนี้เอง การดำเนินการทางการทูตของอินเดียต่อจีนจึงต้องมีการขบคิดพิจารณากันใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น มันเป็นเรื่องซึ่งสามารถเกิดขึ้นมาได้ทีเดียวแหละ การที่ประเทศหนึ่งจะรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องลดระดับความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กับอีกประเทศหนึ่ง ในช่วงจังหวะเวลาที่แน่นอนหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้ดีไปกว่าการกล่าวอ้างสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ของภูมิภาคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างรุนแรง

อินเดียกำลังโอ้อวดว่า ตนเองกำลังหวนกลับไปใช้ “การทูตแบบเบ่งกล้าม” กับประเทศจีน พวกผู้บังคับบัญชาทหารระดับอาวุโสทั้งหลาย ซึ่งไม่เพียงชอบพูดจาอะไรเวอร์ๆ เท่านั้น แถมยังไม่เคยที่จะลดเลิกการพูดถึงธุรกิจแห่งสงครามเหมือนกับเป็นแค่การปล่อยมุกตลกคะนองโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ อีกด้วย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://economictimes.indiatimes.com/news/defence/if-china-crossed-into-grey-zone-100-times-we-did-the-double-eastern-army-commander/articleshow/70860390.cms) ต่างกำลังพากันออกมาแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์กับปักกิ่ง เสมือนว่าเป็นคิวที่ถูกกำหนดวางแผนเอาไว้ พูดง่ายๆ ก็คือ เดลีได้หวนกลับไปสู่โหมดก่อนหน้า (เหตุการณ์ประจันหน้ากันระหว่างกำลังทหารอินเดียกับจีนเมื่อปี 2017 ณ ที่ราบสูง) ดอกลัม (Doklam) (pre-Doklam mode)

จุดยืนของจีนว่าด้วยแคชเมียร์ หรือการที่จีนวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของอินเดียในเรื่องรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นเหตุผลเพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ได้ จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ก่อนหน้าการประกาศยกเลิกฐานะการปกครองตนเองของจัมมูและแคชเมียร์ในวันที่ 5 สิงหาคมนั้น ได้เริ่มมีการวางแผนกันอยู่เบื้องหลังมาก่อนระยะหนึ่งแล้ว โดยเป็นไปได้ว่าว่าจะทำกันตั้งแต่ก่อนหน้าการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 แล้วด้วยซ้ำ การโยก ราชนาถ ซิงห์ (Rajnath Singh) ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย ไปครองกระทรวงกลาโหม และการแต่งตั้ง เอส จัยซางการ์ (S Jaishankar) ให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ภายหลังการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรอก กระนั้นก็ตาม สามารถที่จะกล่าวได้ว่า จุดยืนของจีนว่าด้วยจัมมูและแคชเมียร์ และการที่เดลีเกี้ยวพาราสีอยู่กับกลุ่ม “คว็อด” นั้น ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกัน ทว่าเกิดขึ้นในจังหวะเวลาใกล้เคียงกัน

ขณะเดียวกันนั้น สายสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเดลีกับปักกิ่งได้เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ อินเดียถูกเอ่ยถึงอย่างเจาะจงเป็นพิเศษ ในตอนที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสถานะของจัมมูและแคชเมียร์ เช่นเดียวกับในคำแถลงร่วมที่ออกในกรุงอิสลามบัดภายหลังการไปเยือนปากีสถานของรัฐมนตรีต่างประเทศหวัง อี้ ตลอดจนตอนที่ หวัง กล่าวพาดพิงถึงจัมมูและแคชเมียร์เอาไว้ในคำปราศรัยต่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติของเขา (ดูเพิ่มเติมได้ตามลำดับที่ https://www.mea.gov.in/response-to-queries.htm?dtl/31720/Official_Spokespersons_response_to_a_query_on_comments_made_by_the_Chinese_Spokesperson_on_the_issue_of_JampK_today และ https://www.mea.gov.in/response-to-queries.htm?dtl/31810/Official_Spokespersons_response_to_a_query_on_reference_to_Jammu_amp_Kashmir_in_Joint_Statement_issued_after_visit_of_Chinese_Foreign_Minister_to_Paki และ https://www.mea.gov.in/response-to-queries.htm?dtl/31881/Official_Spokespersons_response_to_a_query_regarding_a_reference_made_by_Chinese_Foreign_Minister_to_Jammu_amp_Kashmir_and_Ladakh_in_his_address_at_th)

แล้วอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ดีก่อนที่ สี จะมาเยือนอินเดีย เดลีได้ยื่น “คำประท้วงอย่างแข็งขัน” ต่อฝ่ายปักกิ่ง เกี่ยวกับคำพูดแสดงความเห็นของเอกอัครราชทูตจีคนประจำปากีสถานตามที่สื่อรายงานข่าวเอาไว้ ซึ่งมีผลเท่ากับปักกิ่งแสดงความสนับสนุนสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ และความยุติธรรมสำหรับประชาชนชาวแคชเมียร์ และจะ “ยืนหยัดอยู่กับปากีสถานสำหรับสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://indianexpress.com/article/india/china-on-kashmir-lockdown-india-pakistan-6055722/)

การประชุมซัมมิตมามัลละปุรัม ดูจะเป็นหนึ่งในโอกาสอันหาได้ยาก เมื่อทั้งสองฝ่ายถูกมัดตรึงให้ต้องดำเนินการแลกเปลี่ยนระดับสูง ซึ่งกำหนดวางแผนกันขึ้นมาภายใต้สภาวการณ์ที่แตกต่างออกไปในเมทริกซ์ที่แตกต่างออกไป สิ่งที่อินเดียปรารถนาจะทำในวันนี้ดูเหมือนจะเป็นการหาทางฉวยใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์กับจีนซึ่งกำลังเย็นชาเลวร้ายลงเรื่อยๆ เพื่อไปต่อลมหายใจชุบชีวิตใหม่ให้แก่ความเป็นหุ้นส่วนที่ยังไปไม่ถึงไหนเสียที ระหว่างตนเองกับสหรัฐอเมริกา

(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://indianpunchline.com/mamallapuram-beckons-chinas-xi-jinping/)

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก

[2] “จิตวิญญาณแห่งอู่ฮั่น” (Wuhan spirit)

กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ได้ออกคำแถลงสรุปการประชุมซัมมิตอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกระหว่างนายกรัฐมนตรีโมดี กับประธานาธิบดี สี ที่เมืองอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2018 เอาไว้ ซึ่งขอเก็บความนำมาเสนอ ดังนี้:

วัตถุประสงค์ของการพบปะครั้งนี้คือ เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะกันในประเด็นปัญหาต่างๆ ทั้งระดับทวิภาคีและที่มีความสำคัญระดับโลก รวมทั้งเพื่ออธิบายแจกแจงวิสัยทัศน์และการจัดลำดับความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาแห่งชาติของแต่ละฝ่าย ภายในบริบทของสถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันและในอนาคต

ผู้นำทั้งสองเชื่อว่าการปรากฏขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกันของอินเดียและจีน ในฐานะที่เป็น 2 ระบบเศรษฐกิจใหญ่ และ 2 มหาอำนาจสำคัญซึ่งมีอำนาจอิสระในทางยุทธศาสตร์และในการตัดสินใจ เป็นเรื่องที่มีผลอย่างสำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ความสัมพันธ์ที่สันติ, มีเสถียรภาพ, และมีความสมดุลระหว่างสองประเทศนี้ จะเป็นปัจจัยบวกสำหรับเสถียรภาพท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ ในระดับโลกในปัจจุบัน ผู้นำทั้งสองยังเห็นพ้องกันที่จะบริหารจัดการความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อเหนี่ยวนำการพัฒนาและความมั่งคั่งรุ่งเรืองของภูมิภาค และสร้างเงื่อนไขต่างๆ สำหรับ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” (Asian Century) เพื่อบรรลุจุดหมายปลายทางเช่นนี้ ผู้นำทั้งสองตัดสินใจที่จะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ ความเป็นหุ้นส่วนกันอย่างใกล้ชิดเพื่อการพัฒนา (Closer Development Partnership) ในลักษณะที่ให้ประโยชน์แก่กันและกันและมีความยั่งยืน

ผู้นำทั้งสองได้ทบทวนพัฒนาการต่างๆ ในความสัมพันธ์อินเดีย-จีน จากทัศนะมุมมองทางยุทธศาสตร์และระยะยาว และเห็นพ้องกันว่าทั้งสองฝ่ายสามารถจัดการกับความแตกต่างกันที่มีอยู่โดยผ่านการหารืออย่างสันติ ภายในบริบทของความสัมพันธ์โดยรวม, ยึดมั่นในความสำคัญของการเคารพในความอ่อนไหว, ความห่วงกังวล, และความมุ่งมาดปรารถนาของแต่ละฝ่าย

ผู้นำทั้งสองแสดงความสนับสนุนการทำงานของคณะผู้แทนพิเศษว่าด้วยปัญหาพรมแดนอินเดีย-จีน, เน้นย้ำความสำคัญของการธำรงรักษาสันติภาพและความสงบราบรื่นในทุกๆ พื้นที่ของเขตชายแดนอินเดีย-จีน เพื่อบรรลุจุดหมายเช่นนี้ ผู้นำทั้งสองได้ออกคำชี้แนะเชิงยุทธศาสตร์แก่ฝ่ายทหารของแต่ละฝ่าย ให้เพิ่มพูนการสื่อสารกันเพื่อสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งได้สั่งการให้ฝ่ายทหารของแต่ละฝ่ายปฏิบัติตามมาตรการในการสร้างความเชื่อมั่นกันและกัน

ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะผลักดันการค้าและการลงทุนทวิภาคีในลักษณะที่มีความสมดุลและยั่งยืน นอกจากนั้นยังหารือกันถึงวิธีต่างๆ ในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนกับประชาชน

ผู้นำทั้งสองเน้นย้ำความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ ด้วยการปรึกษาหารือกันในทุกๆ เรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน

ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องกันในเรื่องการสร้างคุณูปการให้แก่สันติภาพและความรุ่งเรืองไพบูลย์ของโลก โดยผ่านการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสอง และจะแสดงบทบาทเป็นเครื่องจักรสำหรับการเติบโตของทั่วโลกต่อไปอีกในอนาคต ผู้นำทั้งสองเน้นย้ำความสำคัญของการสร้างระเบียบเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง, หลายขั้ว, พหุนิยม, และต้อนรับฝ่ายต่างๆ เข้ามีส่วนร่วม ซึ่งเอื้ออำนวยให้ประเทศต่างๆ สามารถดำเนินการพัฒนาของตนเอง

ผู้นำทั้งสองมีทัศนะร่วมกันในเรื่องวิสัยทัศน์ด้านนโยบายการต่างประเทศซึ่งมุ่งบรรลุถึงความมั่งคั่งไพบูลย์และความมั่นคงของทั่วโลก และเห็นพ้องที่จะมีคุณูปการแก่การแก้ไขความท้ายทายระดับโลกต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, การพัฒนาอย่างยั่งยืน, ความมั่นคงด้านอาหาร เป็นต้น

ผู้นำทั้งสองมองเห็นภัยคุกคามร่วมอันเกิดจากการก่อการร้าย และเน้นย้ำคัดค้านการก่อการ้ายในทุกรูปแบบ

(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://mea.gov.in/press-releases.htm?dtl/29853/IndiaChina_Informal_Summit_at_Wuhan )
กำลังโหลดความคิดเห็น