xs
xsm
sm
md
lg

จีนเดือด! สมาชิกสภานอร์เวย์เสนอชื่อ “ประชาชนฮ่องกง” ชิงโนเบลสันติภาพปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี - จีนออกมาเรียกร้องด้วยความเดือดดาล ขอรัฐบาลต่างชาติหยุดแทรกแซงกิจการภายในของพวกเขาในวันพฤหัสบดี (17 ต.ค.) หลังนักการเมืองนอร์เวย์คนหนึ่งเสนอชื่อ “ประชาชนฮ่องกง” เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

เขตกึ่งปกครองตนเอง “ฮ่องกง” ต้องเผชิญกับการประท้วงของฝ่ายฝักใฝ่ประชาธิปไตยมานานหลายเดือน ความเคลื่อนไหวที่ทางปักกิ่งประณามว่าเป็นพวกก่อจลาจลที่มีกองกำลังต่างชาติคอยเติมเชื้อไฟ

เกิ้ง ฉ่วง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน แถลงสรุปกับสื่อมวลชนว่า “กิจการฮ่องกงเป็นกิจการภายในของจีนแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ หรือบุคคลใดๆ ก็ไม่มีสิทธิแทรกแซง” พร้อมเรียกร้องให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องอยู่บนพื้นฐานของความไม่อคติและดำเนินการต่างๆ ด้วยความรอบคอบ

พวกนักเคลื่อนไหวอ้างว่าสิทธิเสรีภาพภายในฮ่องกำลังถูกจีนกัดกร่อน ซึ่งสวนทางกับข้อตกลงหนึ่งเมื่อ 50 ปีก่อนที่วางกรอบเอาในการส่งมอบเกาะฮ่องกงจากการปกครองของอังกฤษคืนสู่อ้อมอกจีน

“ผมเสนอชื่อประชาชนชาวฮ่องกง ผู้ที่เสี่ยงชีวิตและความปลอดภัยในทุกๆ วันในการยืนหยัดเพื่อเสรีภาพการแสดงออกและประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ให้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2020” กูริ เมลบี สมาชิกรัฐสภานอร์เวย์จากพรรคลิเบรัล เขียนลงทวิตเตอร์เมื่อวันอังคาร (15 ต.ค.)

ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เอฟเทนโพสเทนในวันพุธ (16 ต.ค.) เมลบี กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่พวกเขาทำนั้นส่งผลกระทบไปไกลกว่าฮ่องกงอย่างมาก ไปทั่วภูมิภาคและทั่วโลก”

มีประชาชนชาวฮ่องกงหลายล้านคนไหลบ่าขึ้นสู่ถนนสายต่างๆ ในเมืองตลอดช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ในวิกฤตทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่อังกฤษส่งมอบเกาะแห่งนี้แก่จีนในปี 1997 โดยเบื้องต้นเป็นการประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายหนึ่งซึ่งเปิดทางให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ต่อมาได้ลุกลามบานปลายสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกถอนออกไปแล้ว

ปักกิ่งเคยมีความสัมพันธ์อันตึงเครียดกับคณะกรรมการโนเบลมาก่อน โดยเมื่อปี 2010 มีการมอบรางวัลแก่ หลิว เสี่ยวโป นักเขียนและนักปราชญ์ผู้ขัดขืนรัฐบาลจีน ซึ่งเคยเข้าร่วมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ก่อนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2017

แม้คณะกรรมการโนเบลจะเป็นอิสระจากรัฐบาลนอร์เวย์ แต่ปักกิ่งระงับความสัมพันธ์กับประเทศแถบสแกนดิเนเวียแห่งนี้ ตอบโต้การมอบรางวัลดังกล่าว รวมถึงระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีและปิดกั้นการนำเข้าปลาแซลมอนจากนอร์เวย์

กว่าที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติจะหวนคืนสู่ภาวะปกติต้องจนถึกระทั่งเดือนธันวาคม 2016 หลังออสโลให้สัญญาว่าจะไม่สนับสนุนการกระทำใดๆ ที่บ่อนทำลายผลประโยชน์ของจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น