รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (16 ต.ค.) ว่าตนไม่ขัดข้องหากรัสเซียจะช่วยซีเรียทำสงครามกับตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรนาโต พร้อมปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการถอนทหารอเมริกันออกจากสมรภูมิและทอดทิ้งชาวเคิร์ด ยันเป็นการตัดสินใจที่ “ยอดเยี่ยม” ในทางยุทธศาสตร์
ระหว่างการประชุมที่ทำเนียบขาว ทรัมป์ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักเรื่องการสั่งถอนที่ปรึกษาทหารออกจากภาคเหนือซีเรียหันมาตอกกลับ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต โดยเรียกเธอว่า “นักการเมืองเกรด 3” (third-rate politician) หลังถูกอีกฝ่ายวิจารณ์ว่า “สติแตก” (meltdown)
ผู้นำสหรัฐฯ สั่งถอนกองกำลังออกจากพื้นที่ก่อนที่ตุรกีจะเปิดปฏิบัติการบุกซีเรียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทำให้วอชิงตันถูกประณามว่าทอดทิ้งพันธมิตรเคิร์ดซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการทำสงครามกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส)
การถอนตัวอย่างกะทันหันของสหรัฐฯ ยังนำไปสู่ปฏิบัติการช่วงชิงดินแดนระหว่างรัสเซียและตุรกี ซึ่งกลายเป็น 2 มหาอำนาจต่างชาติที่เข้าไปมีอิทธิพลอย่างสูงในพื้นที่ และยังเป็นโอกาสให้ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรียส่งทหารกลับเข้าไปยังพื้นที่ตอนเหนือซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังเคิร์ดมานาน นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองปะทุขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน
ศูนย์สังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนซีเรียซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของสงครามซีเรีย รายงานว่า เวลานี้ทหารซีเรียและรัสเซียได้เคลื่อนพลเข้าสู่เมืองโคบานี (Kobani) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญตรงแนวชายแดน และมีแนวโน้มจะเกิดความขัดแย้งที่ลุกลามขยายวงกว้างออกไป
ระหว่างให้สัมภาษณ์และเปิดแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดี เซอร์จิโอ มัตตาเรลลา แห่งอิตาลี ทรัมป์ระบุว่ากองกำลังเคิร์ด “ไม่ใช่เทวดา” และซีเรียกับตุรกีอาจจำเป็นต้องแก้ไขข้อพิพาทกันเอาเอง
“คุณต้องย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในอดีต จริงอยู่ที่ว่าพวกเขา (เคิร์ด) ต่อสู้ร่วมกับเรา แต่เราเองก็จ่ายเงินสนับสนุนพวกเขามากมาย ซึ่งนั่นก็โอเคแล้ว” ทรัมป์ กล่าว “พวกเขาทำดีเวลาที่สู้ร่วมกับเรา แต่ก็ไม่ได้ดีอะไรนักเวลาที่ไม่ได้สู้เพื่อเรา”
ทรัมป์ ยังอ้างว่า คำสั่งถอนทหารเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามดึงสหรัฐฯ ออกจาก “สงครามที่ไม่มีวันจบ” และพาทหารอเมริกันกลับบ้าน ทว่าเจ้าหน้าที่บางคนกลับระบุว่าทหารเหล่านี้อาจเพียงแค่ถูกย้ายไปประจำการในสถานที่อื่น เช่น อิรัก เป็นต้น
“ทหารอเมริกันไม่ตกอยู่ในอันตราย ซึ่งอันที่จริงพวกเขาก็ไม่ควรอยู่แล้ว ในขณะที่ 2 ประเทศต่อสู้ช่วงชิงดินแดนซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรา” ทรัมป์ ระบุ
“ผมมองว่าสถานการณ์ชายแดนตุรกี-ซีเรียเวลานี้ยอดเยี่ยมในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐฯ ซีเรียอาจจะได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซีย ซึ่งก็ไม่เป็นไร... ฉะนั้นตอนนี้คุณมีซีเรีย คุณมีตุรกี พวกเขาจะต้องตกลงกันเอง หรืออาจถึงขั้นสู้รบกัน แต่ทหารสหรัฐฯ จะต้องไม่ถูกฆ่าเพราะสิ่งนี้”
หลังจากที่คุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกีเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ทรัมป์ ก็ตัดสินใจล้มเลิกนโยบายปกป้องชาวเคิร์ดที่สหรัฐฯ ใช้มานานถึง 5 ปี โดยสั่งถอนหน่วยรบพิเศษราว 50 นายและทหารอีกราวๆ 1,000 นายออกจากภาคเหนือซีเรีย
ลินด์ซีย์ เกรแฮม ส.ว.รีพับลิกันซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้สนับสนันตัวเอ้ของทรัมป์ ยอมรับว่า นี่คือ “ความผิดพลาด” ที่เลวร้ายกว่าเมื่อครั้งที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา สั่งถอนทหารออกจากอิรักเมื่อปี 2011 เสียอีก
ทำเนียบขาวพยายามแสดงให้เห็นว่า ทรัมป์ เองก็ห้ามปรามผู้นำตุรกีอยู่เหมือนกัน โดยเผยแพร่จดหมายที่ ทรัมป์ ส่งถึง แอร์โดอัน เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ซึ่งในนั้นผู้นำสหรัฐฯ เขียนว่า “อย่าเป็นคนก้าวร้าว อย่าทำอะไรโง่ๆ!”
วอชิงตันประกาศมาตรการคว่ำบาตรลงโทษตุรกีในวันจันทร์ (14) แต่ก็ไม่วายถูกวิจารณ์ว่า แค่การขึ้นภาษีศุลกากรเหล็กและระงับเจรจาการค้านั้นไม่ได้ทำให้ฝ่ายตุรกีสะดุ้งสะเทือน
ทรัมป์ ยังได้ส่งผู้ช่วยระดับสูงอย่างรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ ไปเยือนตุรกีในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือฉุกเฉินและโน้มน้าวให้ แอร์โดอัน ยุติการโจมตีซีเรีย โดยผู้นำสหรัฐฯ ขู่ว่าหากการเจรจาไม่เป็นผล “เศรษฐกิจตุรกีก็จะถูกทำลาย” ด้วยมาตรการคว่ำบาตรและบทลงโทษทางภาษีของอเมริกา
ล่าสุด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศตุรกียืนยันว่า รัฐบาลอังการาได้เตรียมหาวิธีตอบโต้สหรัฐฯ เอาไว้แล้ว