xs
xsm
sm
md
lg

3 นักเศรษฐศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องความยากจน คว้ารางวัลโนเบลประจำปีนี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>เอสเธอร์ ดูโฟล (ซ้าย กับ อภิจิต บาเนอร์จี (ขวา) พูดกับผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันเอ็มไอที ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันจันทร์( 14 ต.ค.) ภายหลังราชบัณฑิตสภาทางวิทยาศาสตร์ของสวีเดนประกาศว่า ทั้ง 2 เป็น 3 ผู้ร่วมได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้</i>
เอพี/เอเอฟพี – 3 นักวิจัยสัญชาติอเมริกัน เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2019 ร่วมกันเมื่อวันจันทร์ (14 ต.ค.) จากผลงานบุกเบิกในการศึกษาว่าอะไรที่ใช้ได้ผลและอะไรที่ใช้ไม่ได้ผลในการต่อสู้เพื่อลดความยากจนในทั่วโลก

ผู้ชนะได้รางวัลในปีนี้ คือ อภิจิต บาเนอร์จี (Abhijit Banerjee) กับ เอสเธอร์ ดูโฟล (Esther Duflo) ศาสตราจารย์ 2 สามีภรรยาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และ ไมเคิล เครเมอร์ (Michael Kremer) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ดูโฟล ซึ่งเกิดที่ฝรั่งเศส ปัจจุบันอายุ 46 ปี ทำให้กลายเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดซึ่งได้รับรางวัลสาขานี้ รวมทั้งยังเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ที่ชนะ โดยคนแรกคือ เอลินอร์ ออสตรอม เมื่อปี 2009

ทั้ง 3 คนซึ่งทำงานร่วมกันอยู่ เป็นผู้ปฏิวัติแขนงวิชาเศรษฐศาสตร์พัฒนาการ ด้วยการบุกเบิกการทดลองภาคสนามซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจอันลึกซึ้งในทางปฏิบัติว่าผู้คนที่ยากจนมีการตอบสนองอย่างไรต่อเรื่องการศึกษา, การดูแลรักษาสุขภาพ, และโปรแกรมอื่นๆ ซึ่งมุ่งหมายที่จะยกระดับพวกเขาให้ก้าวพ้นจากภาวะยากจน

“ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้นำเอากระบวนวิธีใหม่ๆ มาใช้ เพื่อให้ได้คำตอบต่างๆ ที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับวิธีการซึ่งดีที่สุดในการต่อสู้กับความยากจนในทั่วโลก” คณะกรรมการตัดสินของราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์ของสวีเดนระบุในประกาศผลการตัดสิน

ขณะที่ ดูโฟล กล่าวในการแถลงข่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ซึ่งจัดโดยทางราชบัณฑิตยสภา ชี้ถึงความสำคัญของการวิจัยภาคสนามว่า “หากไม่มีการใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการทำความเข้าใจความสลับซับซ้อนของชีวิตของคนยากจน และทำไมพวกเขาจึงได้เลือกอย่างที่พวกเขาเลือกแล้ว ... มันก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะออกแบบวางแผนกระบวนวิธีที่ถูกต้องขึ้นมาได้”

ตัวอย่างเช่น ผลงานการศึกษาของพวกเขาในเขตชนบทที่เคนยา และที่อินเดีย พบว่า การจัดหาหนังสือแบบเรียน, เลี้ยงอาหารกลางวันในโรงเรียน, ตลอดจนหาครูมาสอนเพิ่มมากขึ้นนั้น ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนมีการเรียนรู้เพิ่มขึ้นสักเท่าใดเลย

การทำให้งานที่ครูมอบหมายให้นักเรียนทำ มีความสอดคล้องกับตัวนักเรียนมากยิ่งขึ้น, การทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักเรียนผู้มีความจำเป็นมากที่สุด, การทำให้ครูต้องมีความรับผิดชอบชนิดที่อาจถูกไล่เรียงเอาผิดได้ --ตัวอย่างเช่น ด้วยการทำสัญญาจ้างพวกเขาเพียงแค่ระยะสั้น—กลับมีประสิทธิภาพมากกว่าในหมู่ประเทศซึ่งบ่อยครั้งทีเดียวที่พวกครูไม่แยแสในการไปปรากฏตัวเพื่อทำงาน โดยที่ประกาศของทางราชบัณฑิตยสภาระบุว่าผู้ได้รับรางวัลปีนี้ได้เสนอแนะให้ใช้โปรแกรมครูติวเตอร์เพื่อมุ่งปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเวลานี้กำลังให้ประโยชน์แก่เด็กๆ ชาวอินเดียราว 5 ล้านคนทีเดียว
<i>ไมเคิล เครเมอร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็น 1 ใน 3 ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ร่วมกัน (ภาพนี้ได้รับจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) </i>
เครเมอร์และผู้ร่วมวิจัยคนอื่นๆ พบว่า การให้บริการดูแลรักษาสุขภาพแบบฟรีๆ สามารถที่จะสร้างความแตกต่างได้อย่างใหญ่โต กล่าวคือ มีผู้ปกครองเพียงแค่ 18% เท่านั้นที่ให้ลูกหลานของพวกตนกินยาถ่ายพยาธิ ถ้าหากพวกเขาต้องจ่ายเงินค่ายาเหล่านี้ ถึงแม้มันจะได้รับการอุดหนุนจนกระทั่งมีราคาถูกมาก นั่นคือไม่ถึง 1 ดอลลาร์ แต่ปรากฏว่า 75% ทีเดียวที่หายามาให้ลูกหลานได้กินถ้าหากว่าได้มาฟรีๆ ทั้งนี้เวลานี้องค์การอนามัยโลกก็มีข้อเสนอแนะ ให้จ่ายยาฟรีในพวกพื้นที่ซึ่งโรคเนื่องจากพยาธิ มีการระบาดในอัตราสูง

บาเนอร์จี, ดูโฟล, และผู้ร่วมวิจัยคนอื่นๆ พบว่าคลินิกให้วัคซีนในลักษณะคลินิกเคลื่อนที่ในอินเดีย สามารถเพิ่มอัตราการมีภูมิคุ้มกันโรคได้อย่างมากมายน่าตื่นใจ เมื่อเปรียบเทียบกับการมีแค่ศูนย์สาธารณสุขแบบดั้งเดิมซึ่งบ่อยครั้งมักอยู่ในภาวะขาดแคลนบุคลากร นอกจากนั้น อัตราการมีภูมิคุ้มกันจะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก ถ้าพวกผู้ปกครองได้รับถั่ว 1 ถุงเป็นโบนัสสำหรับการนำลูกหลานของพวกเขามารับวัคซีน

บาเนอร์จี กับ ดูโฟล ยังพบว่าพวกโปรแกรมให้สินเชื่อแบบไมโครเครดิต ซึ่งปล่อยเงินกู้จำนวนไม่มากที่มุ่งกระตุ้นส่งเสริมคนยากจนให้เริ่มต้นธุรกิจ แทบไม่ได้มีผลในทางช่วยเหลือคนยากจนในเมืองไฮเดอราบัดของอินเดียเลย และการศึกษาซึ่งกระทำในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา, เอธิโอเปีย, โมร็อกโก, เม็กซิโก, และมองโกเลีย ก็แสดงผลลัพธ์ในทำนองเดียวกันนี้

ถึงแม้มีความก้าวหน้าไปอย่างมหาศาลก็ตามที แต่ปัญหาความยากจนของโลกก็ยังคงเป็นความท้าทายที่ใหญ่โต ราชบัณฑิตสภาสวีเดนระบุ โดยชี้ว่าเวลานี้ยังคงมีผู้คนกว่า 700 ล้านคนมีชีวิตอยู่ในสภาพที่ยากจนสุดขีด เด็กๆ 5 ล้านคนเสียชีวิตก่อนอายุครบ 5 ขวบ บ่อยครั้งจากโรคต่างๆ ซึ่งสามารถที่จะป้องกันหรือรักษาได้อย่างง่ายๆ และด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง เด็กๆ ราวครึ่งหนึ่งของโลกออกจากโรงเรียนโดยไม่ได้รู้หนังสือในระดับพื้นฐาน หรือมีทักษะทางคณิตศาสตร์ในระดับพื้นฐาน

บาเนอร์จี ซึ่งเกิดที่อินเดีย ยังคงเดินทางกลับบ้านเกิดบ่อยๆ เพื่อร่วมสร้างผลงานให้แก่ศูนย์วิจัยระหว่างประเทศที่ใช้ชื่อว่า Poverty Action Lab (ห้องแล็ปปฏิบัติการด้านความยากจน) ซึ่งเขากับดูโฟลร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาในปี 2003
กำลังโหลดความคิดเห็น