เอเจนซีส์ – อเมริกาประกาศถอนทหารที่เหลือ 1,000 คนออกจากตอนเหนือของซีเรีย ขณะที่ตุรกีขยายพื้นที่โจมตีปราบปรามพวกเคิร์ดในบริเวณดังกล่าว ด้านกองกำลังเคิร์ดแก้เกมด้วยการประกาศจับมือรัฐบาลซีเรียเพื่อดึงกองทหารซีเรียเข้ามา ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรีย รวมถึงรัสเซียและอิหร่าน และสะท้อนอิทธิพลที่เสื่อมถอยของสหรัฐฯ
พัฒนาการเช่นนี้สะท้อนว่า อิทธิพลของวอชิงตันในสงครามการสู้รบที่ซีเรียเสื่อมโทรมหนัก ขณะเดียวกันจากความผิดพลาดทางนโยบายของอเมริกาก็กำลังปล่อยให้อัสซาดกลับมาผงาดอีกครั้งในภาคเหนือของซีเรีย หลังจากถอยร่นจากอาณาบริเวณดังกล่าวในช่วงสงครามกลางเมืองนาน 8 ปีที่พวกกลุ่มกบฏพยายามโค่นล้มรัฐบาลดามัสกัส
สถานการณ์ล่าสุดยังบ่งชี้ชัยชนะสำหรับรัสเซียและอิหร่านที่หนุนหลังอัสซาดมาตั้งแต่ปี 2011 ถึงแม้ฝ่ายตะวันตกรวมทั้งสหรัฐฯได้รณรงค์ต่อต้านรัฐบาลซีเรียในดามัสกัสเรื่อยมา ในข้อหาใช้ความรุนแรงปราบปรามการประท้วงอย่างสันติเพื่อยุติการผูกขาดอำนาจของตระกูลอัสซาดที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นนำซีเรียเข้าสู่สงครามกลางเมืองเต็มตัว
ขณะเดียวกัน การกลับมาของทหารซีเรียซึ่งหนุนหลังโดยอิหร่านและรัสเซียในบริเวณชายแดนติดกับตุรกี โดยที่กองทหารสหรัฐฯถอนออกไปนั้น ยังหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสถานการณ์บานปลายขยายตัว หากกองทัพซีเรียปะทะกับกองทหารตุรกีโดยตรง
จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งนี้เริ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้วเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจถอนกำลังทหารหน่วยรบพิเศษราว 50 คน จากที่มั่น 2 แห่งทางภาคเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ซึ่งถูกมองว่า เป็นการเปิดทางให้ตุรกีเปิดปฏิบัติการทางทหารบุกโจมตีใหญ่เพื่อปราบปรามนักรบเคิร์ดในพื้นที่ดังกล่าว
ตุรกีนั้นต้องการกวาดล้างกลุ่มนักรบชาวเคิร์ดในซีเรียที่ใช้ชื่อว่า วายพีจี โดยที่วายพีจีนี่เองเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (เอสดีเอฟ) พันธมิตรสำคัญของวอชิงตันในการทำลายรัฐอิสลามของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรีย แต่อังการามองว่า กลุ่มนี้เป็นพวกเดียวกับกลุ่มชาวเคิร์ดแบ่งแยกดินแดนในตุรกี ซึ่งทางอังการาประทับตราว่าเป็นพวกผู้ก่อการร้าย
ในวันอาทิตย์ (13) ประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดอันของตุรกี บอกว่า กองทหารตุรกีและกองกำลังชาวซีเรียที่ตุรกีหนุนหลังอยู่ หลังจากเริ่มบุกเข้าภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซีเรียแล้ว กำลังขยายการโจมตีตั้งแต่เมืองโคบานีทางตะวันตกจนถึงเมืองฮาซากาทางตะวันออก ตามแผนการที่จะรุกคืบเข้าสู่ดินแดนซีเรียเป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร เพื่อก่อตั้งเป็นเขตปลอดภัยขึ้นมา และนำเอาพวกผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 3.6 ล้านคนซึ่งพำนักอยู่ในตุรกีเวลานี้ไปอยู่ในเขตปลอดภัยนี้ โดยล่าสุดกำลังของฝ่ายตุรกีสามารถควบคุมเมืองราส อัล เอน เมืองเล็กๆ ที่ทรงความสำคัญของฝ่ายเคิร์ดเอาไว้ได้แล้ว
วันเดียวกัน ไมค์ เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่า อเมริกาตัดสินใจถอนกำลังราว 1,000 นายทางเหนือของซีเรียหลังจากรู้ว่า ตุรกีขยายพื้นที่และยกระดับการโจมตี รวมทั้งรู้ว่า เอสดีเอฟเล็งตกลงกับรัสเซียและซีเรียเพื่อร่วมกันสู้รบกับตุรกี
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น คณะบริหารของเอสดีเอฟที่นำโดยกลุ่มเคิร์ด ซึ่งมองว่าตัวเองถูกอเมริกาหักหลัง ได้ประกาศว่า ทำข้อตกลงเพื่อให้กองทัพซีเรียส่งกำลังไปประจำตลอดแนวชายแดนติดกับตุรกีเพื่อช่วยรับมือการโจมตีของอังการาและกลุ่มกบฏซีเรียที่ตุรกีหนุนหลังอยู่ รวมทั้งปลดปล่อยดินแดนที่ถูกอังการาเข้ายึด เช่น อาฟริน โดยล่าสุดมีรายงานว่า กองทัพซีเรียกำลังเคลื่อนพลมุ่งหน้าชายแดนติดกับตุรกีแล้วในวันจันทร์ (14)
ในอีกด้านหนึ่ง การบุกหนักของตุรกีทางตอนเหนือของซีเรีย ยังทำให้ชาติตะวันตกกังวลว่า เอสดีเอฟอาจไม่สามารถควบคุมนักรบไอเอสหลายพันคนที่กำลังถูกขังคุกอยู่ ตลอดจนครอบครัวไอเอสอีกนับหมื่นในค่ายใกล้ๆ และทำให้กลุ่มก่อการร้ายนี้สามารถหลบหนีและอยู่รอดต่อไป
คณะบริหารเอสดีเอฟที่นำโดยเคิร์ด เผยว่ามีนักรบต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับไอเอส 785 คนหลบหนีจากค่ายในเอน อิสซา แต่ซีเรียน อ็อบเซอร์วาทอรี ฟอร์ ฮิวแมน ไรต์ส กลุ่มติดตามสถานการณ์สงครามที่มีฐานอยู่ในอังกฤษ แย้งว่า นักรบไอเอสหนีไปได้แค่ราว 100 คน ขณะที่แอร์โดอันยืนยันว่า ทั้งสองข่าวเป็นข้อมูลผิดๆ ที่ต้องการยั่วยุฝ่ายตะวันตก
ทางด้านทรัมป์ทวิตกำชับตุรกีและเคิร์ดไม่ให้ปล่อยสมาชิกไอเอสหนีรอด พร้อมบีบสหภาพยุโรป (อียู) ให้รับพวกไอเอสที่เป็นพลเมืองของตนเองกลับประเทศ
การบุกซีเรียของอังการายังทำให้นานาชาติพากันเตือนว่า พลเรือนจำนวนมากในบริเวณเกิดการสู้รบกัน กำลังถูกบังคับให้ทิ้งถิ่นฐาน และภายในอเมริกาเองมีการวิจารณ์ทรัมป์อย่างรุนแรงว่า ทอดทิ้งนักรบเคิร์ด ทำให้เจ้ารีบตัวแก้ต่างว่า สหรัฐฯ ควรถอนตัวจากสงครามไม่รู้จบในตะวันออกกลางเพื่อปกป้องพรมแดนของตัวเอง
ตุรกีในขณะนี้อาจจะถูกอเมริกา ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เช่นเดียวกันแซงก์ชัน เว้นแต่จะยุติการบุกซีเรีย
เยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสมาชิกนาโต ได้ระงับการส่งออกอาวุธให้ตุรกีแล้ว และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินเมื่อวันอาทิตย์เพื่อหารือทางเลือกของปารีสสำหรับสถานการณ์นี้