xs
xsm
sm
md
lg

ยูเอ็นเผย! พลเรือนตายอย่างน้อย 30 คน หลังมะกันทิ้งบอมบ์ถล่ม “โรงงานยาเสพติด” ในอัฟกันเมื่อเดือนพฤษภาคม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี – พลเรือนอย่างน้อย 30 คนเสียชีวิตหลังสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดแหล่งผลิตยาเสพติดหลายแห่งในภาคตะวันตกของอัฟกานิสถานเมื่อเดือนพฤษภาคม ถึงแม้ว่ากองทัพสหรัฐฯ จะโต้แย้งรายงานดังกล่าวในทันทีก็ตาม

ภารกิจช่วยเหลือขององค์การสหประชาชาติในอัฟกานิสถาน (United Nations Assistance Mission in Afghanistan : UNAMA) ทำการสืบสวนเป็นเวลา 4 เดือนเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่กองทัพสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดเป้าหมายหลายสิบแห่งที่พวกเขาระบุว่าเป็นแหล่งผลิตเมทแอมฟีตะมีนของตอลิบาน

ไม่นานหลังการโจมตีในเขตบักวาของจังหวัดฟาเราะห์ และบางส่วนของเขตเดรารัมในจังหวัดนิมรอซ UNAMA ระบุ พวกเขาเริ่มได้รับรายงานการสูญเสียของพลเรือนอย่างมีนัยสำคัญ

หลังจากภารกิจหาข้อเท็จจริงในที่เกิดเหตุบางแห่งและการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวกับผู้ได้รับผลกระทบ 21 คน UNAMA ระบุว่า พวกเขายืนยันได้ว่ามีพลเรือนบาดเจ็บและเสียชีวิต 39 คน (เสียชีวิต 30 คน บาดเจ็บ 5 คน และไม่ระบุ 4 คน” ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 14 คน ผู้หญิง 1 คน เนื่องจากการโจมตีทางอากาศเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม

UNAMA บอกต่อว่า พวกเขาได้รับข้อมูลเชื่อถือได้เกี่ยวกับผู้เสียชีวิตอีก 30 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง และกำลังตรวจสอบเพื่อยืนยันคำอ้างเหล่านี้

กองกำลังสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน (US Forces-Afghanistan : USFOR-A) กล่าวโจมตีรายงานของ UNAMA ตั้งคำถามถึงระเบียบวิธีของหน่วยงานนี้ และยืนกรานว่า การโจมตีดังกล่าวทำลายแหล่งผลิตยาเสพติดอย่างแม่นยำ

“นอกเหนือจากการเก็บรวบรวมภาพในระหว่างการโจมตีอันแม่นนำนั้น USFOR–A ยังทำการประเมินเป้าหมายและพื้นที่โดยรอบอย่างถี่ถ้วนหลังการโจมตี” กองบัญชาการ ระบุในถ้อยแถลง

“การประเมินโดยรวมบ่งชี้ว่า การโจมตีครั้งนั้นไม่ได้ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ”

จุดสำคัญในความเห็นแย้งกันระหว่างยูเอ็นและสหรัฐฯ คือคำนิยามทางกฎหมายของสิ่งที่เรียกว่าเป็นเป้าหมายทางทหารโดยชอบธรรม

ในรายงาน UNAMA ยืนยันว่า แหล่งผลิตยาเสพติดเป็นของและดำเนินงานโดยกลุ่มอาชญากรรม ดังนั้นมันจึงไม่ตรงกับ “คำนิยมของเป้าหมายทางทหารโดยชอบธรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ”

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยืนยันว่า แหล่งผลิตดังกล่าวดำเนินงานและเป็นเจ้าของโดยตอลิบาน ซึ่งใช้เป็น “แหล่งรายได้เพื่อสนับสนุนการก่อความรุนแรงอย่างไม่ยั้งคิดต่อชาวอัฟกานิสถานผู้บริสุทธิ์”

ในปี 2017 และต้นปี 2018 กองทัพสหรัฐฯ ทำการโจมตีแหล่งแปรรูปฝิ่นของตอลิบานหลายครั้ง แต่ความพยายามดังกล่าวแทบไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกระแสรายได้ของตอลิบานและเสี่ยงสร้างความบาดหมางกับประชากรชนบทและเกษตรกรชาวอัฟกานิสถานที่ปลูกฝิ่นเป็นหลัก

หลังจากนั้นกองทัพสหรัฐฯ ได้หันมามุ่งเป้าโรงงานเมทแอมฟีตะมีนมากกกว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บอกเอเอฟพีว่า กองทัพไม่ได้ทำการโจมตีโรงงานเมทแอมฟีตะมีนเพิ่มเติมอีกเลยนับตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 5 พฤษภาคม


กำลังโหลดความคิดเห็น