xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำเอกวาดอร์ประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉิน’ หลังประชาชนลุกฮือประท้วงน้ำมันแพง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ชาวเอกวาดอร์ซึ่งไม่พอใจที่รัฐบาลยกเลิกนโยบายอุดหนุนเชื้อเพลิงปะทะกับตำรวจปราบจลาจลในกรุงกีโต เมื่อวันที่ 3 ต.ค.
เอเอฟพี - ประธานาธิบดี เลนิน โมเรโน แห่งเอกวาดอร์ประกาศภาวะฉุกเฉินวานนี้ (3 ต.ค.) หลังมีประชาชนจำนวนมากออกมาเดินขบวนคัดค้านที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการอุดหนุนเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น

ตำรวจเอกวาดอร์ยิงแก๊สน้ำตาเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่พยายามขว้างปาก้อนหินและระเบิดเพลิงใส่เจ้าหน้าที่ ใกล้ๆ กับทำเนียบรัฐบาลในกรุงกีโต

โมเรโน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าจะเป็นต้องใช้วิธีนี้ “เพื่อรักษาความปลอดภัยแก่พลเมือง และป้องกันเหตุจลาจล”

การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษของเอกวาดอร์เกิดขึ้นจากความไม่พอใจของภาคขนส่งซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาน้ำมันแพง แต่ก็มีกลุ่มนักศึกษาและประชาชนภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วมด้วย

ระบบขนส่งสาธารณะหลายพื้นที่กลายเป็นอัมพาต ขณะที่การปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจทำให้ถนนหลายสายถูกปิด

ออสวัลโด จาร์ริน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเอกวาดอร์ ระบุว่า ขณะนี้มีตำรวจบาดเจ็บไปแล้ว 21 นาย และมีผู้ชุมนุม 277 คนถูกจับฐานทำลายทรัพย์สิน

ราคาน้ำมันในเอกวาดอร์ขยับพุ่งขึ้นทันทีถึง 120% วานนี้ (3) หลังรัฐบาลยกเลิกมาตรการพยุงราคา ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งของข้อตกลงกู้เงิน 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่รัฐบาลเอกวาดอร์ทำไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเดือน มี.ค.

ทั้งนี้ รัฐบาลเอกวาดอร์ใช้งบประมาณไปกับการพยุงราคาน้ำมันสูงถึง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

การประกาศภาวะฉุกเฉินจะช่วยให้รัฐบาลสามารถจำกัดการเคลื่อนไหวของพลเมือง, ส่งทหารลงพื้นที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามจุดต่างๆ และควบคุมสื่อมวลชน โดยจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 60 วัน และสามารถต่ออายุได้อีก 30 วัน

รัฐบาลได้สั่งปิดโรงเรียนจนถึงวันศุกร์ (4) ขณะที่รถประจำทางและแท็กซี่หยุดให้บริการในกรุงกีโตและเมืองใหญ่อื่นๆ

สหภาพแรงงานต่างๆ และองค์กรชนพื้นเมืองก็ประกาศจะออกมาเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน

โมเรโน ประกาศกร้าวว่าจะไม่ยอมให้ผู้ประท้วง “สร้างความวุ่นวาย” และเรียกร้องให้คนเหล่านี้ “หยุดทำลายทรัพย์สินและก่อความรุนแรง”

เอกวาดอร์มีการเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศถึง 7 คนในช่วงระหว่างปี 1996-2007 โดยมีประธานาธิบดี 3 คนที่ต้องยอมลาออกเนื่องจากถูกประท้วงขับไล่


กำลังโหลดความคิดเห็น