เอเอฟพี - ผลการศึกษาล่าสุดชี้สงครามนิวเคลียร์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานจะทำให้มีผู้คนล้มตายทันทีกว่า 100 ล้านคน กระตุ้นวิกฤตความอดอยากครั้งใหญ่ และทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกลดต่ำลงจนถึงระดับเดียวกับ ‘ยุคน้ำแข็ง’
ทีมนักวิจัยได้สร้างแบบจำลองสถานการณ์เพื่อศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยสมมติให้มีกลุ่มติดอาวุธบุกเข้าโจมตีอาคารรัฐสภาอินเดียในปี 2025 และสังหารผู้นำประเทศไปเกือบหมด ทำให้อินเดียตอบโต้ด้วยการส่งกองกำลังรถถังเข้าไปยังดินแดนแคชเมียร์ฝั่งปากีสถาน
เพื่อป้องกันตนเอง รัฐบาลอิสมาบัดตัดสินใจนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมายิงถล่มผู้รุกราน กระทั่งเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ และเกิดกลุ่มควันสีดำหนาทึบลอยขึ้นปกคลุมชั้นบรรยากาศระดับสูงของโลก
เมื่อดูจากจำนวนประชากรของทั้ง 2 ชาติในปัจจุบัน รวมถึงความเป็นไปได้ที่เมืองศูนย์กลางขนาดใหญ่จะตกเป็นเป้าโจมตี นักวิจัยคาดคะเนว่าจะมีผู้เสียชีวิตทันทีราว 2 ล้านคน และบาดเจ็บอีก 1.5 ล้านคน หากมีการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ 100 กิโลตัน หรือมากกว่าที่สหรัฐฯ ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น 6 เท่า
อย่างไรก็ตาม จะมีผู้คนอีกมากมายที่ล้มตายลงจากพายุเพลิง (firestorms) ซึ่งจะปลดปล่อยเถ้าถ่านราว 16-36 ล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศ
ฝุ่นคาร์บอนเหล่านี้จะแพร่กระจายไปทั่วโลกในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์ ทำให้อากาศร้อนขึ้นและดึงกลุ่มควันให้ลอยตัวสูงขึ้นไปอีก ผลที่ตามมาคือแสงอาทิตย์ส่องลงมายังพื้นโลกได้น้อยลง 20-35% และทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกลดลงเฉลี่ย 2-5 องศาเซลเซียส ขณะที่ปริมาณฝนหรือลูกเห็บก็จะลดลง 15-30%
สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือวิกฤตขาดแคลนอาหารทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปอีก 1 ทศวรรษ
“ผมหวังว่างานวิจัยของเราคงจะช่วยให้ผู้คนตระหนักว่าพวกเขาจะนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ไม่ได้ เพราะมันคืออาวุธที่จะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกเรา” อลัน โรบ็อค อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยรัตเจอร์ส ซึ่งร่วมเรียบเรียงงานวิจัยชิ้นนี้เพื่อเผยแพร่ลงวารสาร Sciences Advances ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
“สองประเทศซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์น้อยกว่ามหาอำนาจอื่นๆ ก็ยังเป็นภัยคุกคามต่อโลกได้ถึงขนาดนี้ มันจึงไม่ใช่สิ่งที่พวกเราควรละเลย”
ผลการศึกษาชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ ในขณะที่ความสัมพันธ์อินเดีย-ปากีสถานย่ำแย่ลงอีกครั้งจากข้อพิพาทดินแดนแคชเมียร์
ปัจจุบันอินเดียและปากีสถานครอบครองหัวรบนิวเคลียร์อยู่ฝ่ายละประมาณ 150 ลูก และคาดว่าจะเพิ่มเป็นกว่า 200 ลูกภายในปี 2025
รัฐบาลอินเดียได้ประกาศยกเลิกสถานะเขตปกครองตนเองของแคชเมียร์ฝั่งอินเดียเมื่อเดือน ส.ค. จนนำมาสู่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของพลเมืองแคชเมียร์ซึ่งส่วนใหญ่นับถืออิสลาม ขณะที่นายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน แห่งปากีสถานก็ออกมาขู่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ข้อพิพาทดินแดนที่ปะทุขึ้นมาใหม่อาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์