เอเอฟพี - กฎหมายใหม่ของสิงคโปร์เพื่อต่อสู้กับข่าวปลอมมีผลบังคับใช้แล้วในวันนี้ (2 ต.ค.) ถึงแม้ว่าจะได้รับเสียงวิจารณ์จากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่และนักเคลื่อนไหวที่ระบุว่า มันเป็นความพยายามสร้างความหวาดกลัวเพื่อปิดปากผู้เห็นต่าง
กฎหมายฉบับนี้ทำให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ต้องขึ้นคำเตือนข้างๆ โพสต์ที่ทางการมองว่าเป็นเรื่องโกหก และในกรณีร้ายแรง ก็ต้องลบมัน
เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และกูเกิล ที่ต่างมีสำนักงานใหญ่ประจำเอเชียในสิงคโปร์ ได้รับข้อยกเว้นชั่วคราวจากข้อกำหนดในกฎหมายเพื่อให้พวกเขามีเวลาปรับตัว
หากการกระทำถูกตัดสินว่าเป็นภัยและสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของสิงคโปร์ บริษัทอาจถูกปรับเงินสูงสุด 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในขณะที่บุคคลอาจรับโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี
รัฐบาลสิงคโปร์ที่ถูกวิจารณ์มานานเรื่องการจำกัดเสรีภาพของพลเมือง ยืนกรานว่ามาตรการเหล่านี้มีความจำเป็นเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายข่าวปลอมที่อาจสร้างความแตกแยกในสังคมและบั่นทอนความเชื่อมั่นในสถาบันต่างๆ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้เรียกเสียงคัดค้านจากกลุ่มสิทธิต่างๆ ที่กลัวว่ามันอาจปิดกั้นการถกเถียงในอินเตอร์เน็ต บริษัทเทคโนโลยี และองค์การสื่อต่างๆ
นักข่าวและนักเคลื่อนไหว เคียร์สเต็น ฮาน บรรณาธิการบริหารของสำนักข่าวอิสระ นิว นาราติฟ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้น่ากังวลอย่างยิ่งยวด
“มันเป็นกฎหมายกว้างๆ ที่ยากจะคาดเดาว่าจะถูกนำไปใช้อย่างไร สิ่งที่เป็นความกังวลตอนนี้คือผลกระทบจากความหวาดกลัวและความพยายามเซ็นเซอร์ตัวเองเพิ่มเติม” เธอบอกเอเอฟพี
หลังจากกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาในเดือนพฤษภาคม กูเกิล ระบุว่า พวกเขาเป็นกังวลว่ากฎหมายฉบับนี้จะ “ทำลายนวัตกรรมและการเติบโตของระบบนิเวศข้อมูลดิจิตอล”
กลุ่มนักวิชาการเกือบ 100 คนทั่วโลกก็แสดงความกังวลต่อกฎหมายนี้เช่นกัน และเตือนก่อนหน้านี้ว่า มันอาจคุกคามเสรีภาพด้านวิชาการ
นักเคลื่อนไหวหลายคนกลัวว่า กฎหมายนี้อาจถูกใช้เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างในการเลือกตั้งครั้งหน้าในสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะถูกจัดภายในอีกไม่กี่เดือน