xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยยอมรับ ‘ความสนับสนุนด้านการเงิน’ จากแบงก์ตะวันตก ‘ไม่ค่อยราบรื่นนัก’

เผยแพร่:   โดย: ผู้รวบรวมข่าวให้เอเชียไทมส์, จากปักกิ่ง

<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 17 มิ.ย. 2019)  ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของหัวเว่ย เหริน เจิ้งเฟย (ที่ 2 จากขวา) พูดในวงอภิปรายถกเถียง ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทในเมืองเซินเจิ้น ครั้งก่อน  ทั้งนี้ในเวทีเสวนาเช่นนี้เมื่อวันพฤหัสบดี (26 ก.ย.) เหรินพูดถึงผลกระทบจากการแซงก์ชั่นของวอชิงตัน และอนาคตของหัวเว่ย </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Huawei founder: financing in West ‘not smooth’
By AT Contributor, Beijing
27/09/2019

เหริน เจิ้งเฟย ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย ยอมรับว่า ความสนับสนุนด้านการเงินที่เคยใช้บริการจากพวกแบงก์ตะวันตก เวลานี้ไม่ค่อยราบรื่นนัก และบริษัทได้เปลี่ยนมาใช้พวกแบงก์ภายในประเทศ เขากล่าวด้วยว่า หัวเว่ยกำลังจะเริ่มผลิตสถานีฐานระบบ 5 จีแบบที่ไม่มีส่วนประกอบสหรัฐฯเลย ขณะที่บอกว่าการแซงก์ชั่นของวอชิงตัน ทำให้รายรับของบริษัทหายไป 10,000 ล้านดอลลาร์ แต่เชื่อว่าหัวเว่ยจะพลิกฟื้นกลับมาเติบโตได้ใหม่ในปี 2022

ผู้ก่อตั้ง หัวเว่ย กลุ่มบริษัทเทคยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนที่กำลังสู้ศึกหนัก กล่าวยอมรับในวันพฤหัสบดี (26 ก.ย.) ที่ผ่านมาว่า การหาความสนับสนุนทางการเงินของหัวเว่ย จากพวกแบงก์ทางตะวันตก อยู่ในสภาพที่ “ไม่ค่อยราบรื่นมากนัก” แต่เขายืนยันว่า กลุ่มบริษัทแ ห่งนี้จะสามารถกลับพลิกฟื้นเติบโตได้ใหม่ในปี 2022 แม้ถูกเล่นงานหนักจากการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯก็ตามที

ท่ามกลางสงครามการค้าอันมีขอบเขตกว้างขวางยิ่งกับปักกิ่ง วอชิงตันได้เพิ่มชื่อยักษ์ใหญ่เทคจีนรายนี้เข้าไปใน “บัญชีดำ” ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งกำลังกลายเป็นตัวสกัดกั้นไม่ให้บริษัทสามารถเข้าถึงพวกส่วนประกอบและซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯที่ทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวด

ระหว่างเข้าร่วมวงอภิปรายแสดงความคิดเห็นซึ่งจัดขึ้นโดยหัวเว่ย ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทในเมืองเซินเจิ้น ทางตอนใต้ของจีนคราวนี้ เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ยอมรับว่า การกีดกันแซงก์ชั่นของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบกระเทือนการหาความสนับสนุนทางการเงินของกลุ่มบริษัทแห่งนี้

“ในอดีตที่ผ่านมา เราเคยได้รับความสนับสนุนทางการเงินจากพวกธนาคารทางตะวันตก แต่เวลานี้ท่อส่งความสนับสนุนด้านการเงินจากพวกธนาคารตะวันตกกำลังชะลอตัวตัวไม่ค่อยราบรื่นนัก” เหริน บอก

“ดังนั้น เราจึงเปลี่ยนแปลงหันมาพยายามใช้พวกธนาคารภายในประเทศ” เขากล่าวกับผู้ฟังการอภิปรายถกเถียงคราวนี้

นิตยสารข่าวธุรกิจ “ไฉซิน” (Caixin) ของจีนรายงานเอาไว้ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายนนี้ว่า หัวเว่ยวางแผนจะระดมหาเงินให้ได้สักราว 30,000 ล้านหยวน (4,000 ล้านดอลลาร์) ในการออกตราสารหนี้ภายในประเทศครั้งแรกของบริษัท

เหรินกล่าวในวันพฤหัสบดี (26 ก.ย.) ว่า เขาไม่แน่ใจว่าตัวเลขดังกล่าวถูกต้องหรือไม่

ยักษ์ใหญ่เทครายนี้เป็นผู้นำโลกในด้านอุปกรณ์สื่อสารไร้สายระบบ 5จี และเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนระดับท็อปรายหนึ่ง

เหรินกล่าวว่า บริษัทกำลังเพิ่มพูนการผลิตสถานีฐานระบบ 5 จี

เขาบอกกับเหล่านักวิชาการและพวกผู้สื่อข่าวในวงอภิปรายคราวนี้ว่า บริษัทจะเริ่มต้นการผลิตสถานีฐาน 5 จีที่ไม่มีส่วนประกอบสหรัฐฯใดๆ เลย ในลักษณะการผลิตแมสโปรดักชั่นในเดือนหน้า

“เราได้ดำเนินการทดสอบเมื่อเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน และตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป เราจะเริ่มต้นการผลิตสเกลใหญ่” เหรินกล่าว พร้อมกับเสริมว่า ในตอนต้นบริษัทจะเริ่มด้วยการทำสถานีฐาน 5จี ที่ปลอดส่วนประกอบสหรัฐฯ 5,000 สถานีต่อเดือน

ในปีหน้า การผลิตทั้งปีคาดหมายว่าจะทะลุหลัก 1.5 ล้านหน่วย เปรียบเทียบกับ 600,000 หน่วยซึ่งประมาณการว่าจะผลิตได้ตลอดทั้งปีนี้ โดยรวมทั้งพวกที่มีส่วนประกอบสหรัฐฯ และพวกที่ไม่มี

วิลล์ จาง (Will Zhang) ประธานบริหารด้านยุทธศาสตร์บริษัท (president of corporate strategy) ได้บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การทำงานของสถานีฐานที่ปลอดส่วนประกอบสหรัฐฯนั้น “ไม่ได้เลวไปกว่า” พวกที่มีส่วนประกอบสหรัฐฯ และบริษัท “ยังมีเรื่องเซอร์ไพรซ์ด้านบวกอีก” แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียด

ขณะที่เหรินกล่าวว่า หัวเว่ยยังคงปรารถนาที่จะใช้ส่วนประกอบสหรัฐฯอยู่ถ้าหากเป็นไปได้ เพราะบริษัท “มีความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึก” กับพวกซัปพลายเออร์สหรัฐฯที่คบค้ากันมายาวนาน

เหรินกล่าวในวงอภิปรายว่า “พวกบริษัทตะวันตกจำนวนมากทีเดียว เวลานี้ได้รับผลิตภัณฑ์ของเราที่ไม่ได้มีส่วนประกอบสหรัฐฯในนั้นเลย ไปเรียบร้อยแล้ว” และระบุว่าพวกลูกค้ามีความเชื่อถือไว้วางใจหัวเว่ยในการเป็นซัปพลายเออร์

เหรินบอกว่า การดำเนินงานต่างๆ ของบริษัทยังคงอยู่ในสภาพเดินเครื่องเต็มสูบ แต่ก็เสริมว่า ธุรกิจของหัวเว่ย “จะไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างใหญ่โตอะไร” ในปีหน้า

“ภายในสิ้นปีหน้า ผู้คนจะมองเห็นและเชื่อว่าหัวเว่ยรอดชีวิตอยู่ได้ต่อไปจริงๆ” เขากล่าว

“ในปี 2022 และหลังจากนั้น ทุกๆ คนจะเห็นหัวเว่ยพลิกฟื้นกลับมาเติบโตใหม่ พวกเขาได้แก้ไขเอาชนะความยากลำบากต่างๆ และเริ่มต้นที่จะเติบโตอีก” เหริน บอก

บริษัทซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้ ได้แถลงผลประกอบการล่าสุดแบบสมัครใจเองเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ยอดขายของหัวเว่ยได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่คาดหมายในครึ่งแรกของปี 2019

เจ้าพ่อวงการเทคผู้นี้ซึ่งเมื่อก่อนเคยหลีกเลี่ยงไม่ค่อยยอมออกสื่อ ในเวลานี้กลับมีท่าทีเปิดกว้างมากขึ้น ขณะที่หัวเว่ยต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออนาคตของตนเอง

สหรัฐฯนั้นแสดงความหวาดหวั่นว่า อุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจบรรจุไว้ด้วยช่องโหว่ด้านความมั่นคง ซึ่งเปิดทางให้จีนเข้าสืบความลับจากการสื่อสารโทรคมนาคมในทั่วโลก หรือกระทั่งขัดขวางให้การสื่อสารชะงักงันได้ตามความต้องการ

บริษัทได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ของสหรัฐฯครั้งแล้วครั้งเล่า

ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายนนี้ เหรินได้ให้สัมภาษณ์สื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำของโลกตะวันตกว่า เขาเปิดกว้างพร้อมที่จะขายพวกเทคโนโลยี 5 จีของบริษัท โดยครอบคลุมรวมถึงการอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรต่างๆ , โค้ด, พิมพ์เขียวต่างๆ, และโนวฮาวด้านการผลิต ให้แก่เหล่าบริษัทตะวันตก ในลักษณะคิดค่าธรรมเนียมกันครั้งเดียวจบ ทั้งนี้เงื่อนไขเช่นนี้จะทำให้บริษัทผู้ซื้อสามารถนำเอาไปดัดแปลงเพื่อทำให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะของตนเอง และสหรัฐฯจะได้คลายข้อระแวงกังขาในเรื่องอันตรายต่อความมั่นคง

ในวันพฤหัสบดี (26 ก.ย.) เขายังย้ำข้อเสนอเรื่องนี้อีก โดยเฉพาะต่อบริษัทสหรัฐฯ ที่ว่าหัวเว่ยมีความยินดีที่จะขายไลเซนส์เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายระบบ 5 จีของบริษัทให้แก่บริษัทสหรัฐฯสักรายหนึ่ง โดยที่เขาไม่ได้หวาดหวั่นเลยว่าจะเป็นการสร้างคู่แข่งขันรายหนึ่งที่อาจจะเป็นคู่แข่งซึ่งน่ากลัวมากขึ้นมา

ข้อเสนอนี้สามารถรวมไปถึงโนวฮาวด้านการออกแบบชิปก็ยังได้ เหรินกล่าวต่อ

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจของหัวเว่ยในปีนี้ เหรินบอกว่า เขาคิดว่าการถูกวอชิงตันแซงก์ชั่นจะทำให้รายรับหายไปประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์

ในปีที่แล้ว บริษัทเพิ่งรายงานว่าสามารถทำรายรับต่อปีได้เกินกว่าหลัก 100,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก

บริษัทยังต้องเผชิญศึกหนักในการประคับประคองรักษาส่วนแบ่งสมาร์ทโฟนในตลาดนอกประเทศจีน

โดยที่เครื่องรุ่นใหม่ๆ ของบริษัท เป็นต้นว่า เมต 30 (Mate 30) ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็วๆ นี้ ไม่สามารถติดตั้งแอปป์ของบริษัทสหรัฐฯอย่างกูเกิล ดังนั้นจึงไม่มี กูเกิล เพลย์ สโตร์ (Google Play Store) ซึ่งเป็นช่องทางสำหรับเข้าถึงพวกแอปป์และเกมหลายแสนรายการของบรรดาผู้พัฒนาที่นำมาเสนออยู่ในแอป์สำคัญตัวนี้ ตลอดจนการสั่งซื้อภาพยนตร์, หนังสือ, และดนตรี

ยูสเซอร์ยังจะไม่สามารถดาวน์โหลดพวกแอป์ยอดนิยม อย่างเช่น กูเกิล แมปส์ และ ยูทูบ

(หมายเหตุผู้แปล: รายงานข่าวชิ้นนี้ของเอเชียไทมส์ มาจากสำนักข่าวเอเอฟพี โดยที่ผู้แปลได้เพิ่มข้อมูลบางส่วนจากสำนักข่าวรอยเตอร์เข้าไปด้วย)
กำลังโหลดความคิดเห็น