xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ ร้องท้า ‘ผู้เปิดโปง’ บทสนทนากับ ปธน.ยูเครนออกมาเปิดเผยตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ
เอเอฟพี - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (29 ก.ย.) ว่าอยากจะพบบุคคลปริศนาที่อ้างตัวเป็นผู้เปิดโปง (whistleblower) บทสนทนาระหว่างตนกับประธานาธิบดียูเครน จนเป็นเหตุให้สภาผู้แทนราษฎรเริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอน (impeachment) ตนออกจากตำแหน่ง

ทนายความของผู้เปิดโปงรายนี้ระบุในจดหมายที่เผยแพร่ทางซีบีเอสนิวส์ว่า ลูกความของตนเตรียมจะเข้าให้การต่อสภาคองเกรส แต่ยังกังวลเรื่องความปลอดภัยหากถูกเผยตัวตน

ทรัมป์ ออกมาทวีตข้อความตอบโต้กระบวนการอิมพีชเมนต์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากข้อครหาที่ว่า เขาโทรศัพท์ไปกดดันประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนให้ตรวจสอบ โจ ไบเดน ผู้สมัครประธานาธิบดีตัวเต็งของพรรคเดโมแครต ที่อาจกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับเขาในปี 2020

“เช่นเดียวกับชาวอเมริกันทุกคน ผมควรจะมีสิทธิ์ได้พบหน้าผู้กล่าวหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้กล่าวหารายนี้ซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘ผู้เปิดโปง’ ได้อ้างถึงบทสนทนากับผู้นำต่างชาติที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและโกหกหลอกลวง” ทรัมป์ระบุ

ผู้นำสหรัฐฯ ยังกล่าวหา แอดัม ชิฟฟ์ ประธานคณะกรรมการข่าวกรองแห่งสภาผู้แทนราษฎรว่าให้การเท็จต่อสภาคองเกรส เกี่ยวกับสิ่งที่ตนได้พูดกับ เซเลนสกี ผ่านทางโทรศัพท์เมื่อเดือน ก.ค.

“เขาได้เขียนและอ่านสิ่งที่เลวร้าย จากนั้นก็อ้างว่ามันมาจากปากของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ผมขอให้มีการไต่สวน ชิฟฟ์ ข้อหาฉ้อโกงและเป็นกบฏขั้นสูงสุด”

บรรดาผู้ช่วยทรัมป์ พยายามเตะสกัดกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีอย่างเต็มที่ มิหนำซ้ำยังอ้างว่า ทรัมป์ ต่างหากที่ควรถูกยกให้เป็น ‘ผู้เปิดโปง’ เนื่องจากขอให้รัฐบาลยูเครนสอบสวนพฤติกรรมทุจริตของ ไบเดน และบุตรชาย

“บุคคลผู้นี้เป็นตัวทำลายที่จงใจบั่นทอนรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย” สตีเฟน มิลเลอร์ ที่ปรึกษาของทรัมป์ ให้สัมภาษณ์ในรายการฟ็อกซ์นิวส์ ซันเดย์ พร้อมย้ำว่า “การสาวไปให้ถึงต้นตอของคดีทุจริตในยูเครนถือเป็นผลประโยชน์ของอเมริกา”

รูดี จูลิอานี ทนายส่วนตัวของทรัมป์ซึ่งมีชื่อพัวพันกับการทุจริตในยูเครน ก็ได้ให้สัมภาษณ์รายการ This Week ทางสถานีโทรทัศน์เอบีซีว่า ทรัมป์ มีหน้าที่ที่จะต้องขอให้รัฐบาลเคียฟสอบสวนเรื่อง ไบเดน

“ถ้าท่านไม่ขอให้พวกเขาตรวจสอบไบเดน ก็เท่ากับตัวท่านเองฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ” จูลิอานี กล่าว พร้อมชี้ว่าพวกเดโมแครตมีเจตนา “ใส่ร้ายป้ายสี” ผู้นำสหรัฐฯ

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอน ทรัมป์ อย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยกล่าวหาประธานาธิบดีว่า “ใช้อำนาจมาเฟีย” บีบ เซนเลนสกี ให้ช่วยทำลายชื่อเสียง ไบเดน

ทรัมป์ และพันธมิตรเชื่อว่า ไบเดน ซึ่งเคยเป็นรองประธานาธิบดีของ บารัค โอบามา ได้ใช้อิทธิพลกดดันรัฐบาลเคียฟให้ปลดอัยการสูงสุด เพื่อปกป้อง ฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายของตนซึ่งขณะนั้นเป็นบอร์ดบริหารบริษัทก๊าซ บูริสมา โฮลดิงส์ (Burisma Holdings) ที่ถูกครหาว่ามีการทุจริตภายในองค์กร

อย่างไรก็ดี ข้อครหาเกือบทั้งหมดได้ถูกลบล้าง และไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่า ไบเดน พ่อลูกได้กระทำความผิดใดๆ ในยูเครน

บันทึกการสนทนาเมื่อเดือน ก.ค. ชี้ให้เห็นว่า ทรัมป์ พยายามเรียกร้องให้ยูเครนรื้อคดีดังกล่าว และยังบอกด้วยว่าจะให้ จูลิอานี และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม วิลเลียม บาร์ ติดต่อไป

การกระทำเช่นนี้กลายเป็นเหตุผลเพียงพอให้ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งอนุมัติกระบวนการถอดถอนผู้นำสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่ตัวเธอเองก็เกรงว่าเรื่องนี้จะเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากศึกเลือกตั้งในปี 2020

เพโลซี ออกมาเรียกร้องวานนี้ (29) ให้ ทรัมป์ “พูดความจริง และปฏิบัติตามคำสาบานตนที่ได้ให้ไว้ต่อหน้ารัฐธรรมนูญสหรัฐฯ... อย่าทำให้เรื่องนี้เลวร้ายยิ่งไปกว่าที่มันเป็นอยู่”

คณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎร 3 ชุดยังสั่งให้ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวกับกรณี ทรัมป์ กดดันผู้นำยูเครน และออกหมายเรียกเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศหลายคนเข้าให้ปากคำ

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของซีบีเอสพบว่า ชาวอเมริกัน 55% และฐานเสียงเดโมแครต 9 ใน 10 คน สนับสนุนกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม การจะเขี่ย ทรัมป์ ลงจากเก้าอี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต่อให้สภาผู้แทนราษฎรโหวตสนับสนุนญัตติถอดถอน แต่ก็ยังต้องผ่านด่านวุฒิสภาซึ่ง ส.ว. รีพับลิกันครองเสียงข้างมาก และการจะได้คะแนนโหวตจาก ส.ว. ถึง 2 ใน 3 ก็แทบเป็นไปไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น