xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ซัมมิต UN ร้อนฉ่า!! ‘เกรตา ทุนเบิร์ก’ สวดยับผู้นำโลก กล้าดียังไงทิ้งปัญหา ‘โลกร้อน’ ให้เด็ก-ตัวเองพูดแต่เรื่องเงิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บรรยากาศการประชุมซัมมิตด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ร้อนระอุเป็นพิเศษ เมื่อ เกรตา ทุนเบิร์ก (Greta Thunburg) นักกิจกรรมวัยทีนชาวสวีเดน ขึ้นเวทีประณามผู้นำโลกว่าทรยศหักหลังคนรุ่นเธอด้วยการไม่พยายามแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ประเทศมหาอำนาจรายใหญ่ๆ ที่เป็นตัวการก่อภาวะโลกร้อนก็ยังให้คำมั่นสัญญาที่ต่ำกว่าความคาดหวัง

สุนทรพจน์ของ ทุนเบิร์ก มีความยาวเพียงแค่ 4 นาทีเศษ แต่เต็มไปด้วยถ้อยคำเชือดเฉือนสะเทือนอารมณ์ และยังย้ำคำถามต่อผู้นำทั่วโลกว่า “คุณกล้าดียังไง” ถึง 4 ครั้งด้วยกัน

ด้วยวัยเพียงแค่ 16 ปี ทุนเบิร์ก ได้กลายเป็นกระบอกเสียงของคนหนุ่มสาวหลายล้านคนที่หันมาแยกประเภทขยะ, ทำความสะอาดชายหาด, ปฏิเสธการรับประทานเนื้อสัตว์หรือนั่งเครื่องบิน และโหวตเลือกพรรคที่มีนโยบายปกป้องสิ่งแวดล้อม

เด็กสาวรายนี้เริ่มการต่อสู้อย่างเงียบๆ ในเดือน ส.ค. ปี 2018 โดยปฏิเสธที่จะไปโรงเรียนในช่วง 3 สัปดาห์แรก จากนั้นก็บุกเดี่ยวไปประท้วงที่อาคารรัฐสภาสวีเดนทุกๆ วันศุกร์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงผลพวงของภาวะโลกร้อน

การ ‘สไตรค์’ ของเธอได้ปลุกคนหนุ่มสาวทั่วโลกให้หันมาตื่นตัวกับปัญหาสภาพอากาศ และเวลานี้บัญชีทวิตเตอร์และอินสตาแกรมของ เกรตา ทุนเบิร์ก มีผู้ติดตามมากกว่า 6 ล้านคน

ทุนเบิร์ก ใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการล่องเรือใบข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อมาร่วมการประชุมซัมมิตสภาพอากาศที่นิวยอร์ก เนื่องจากไม่ต้องการนั่งเครื่องบินซึ่งจะก่อก๊าซเรือนกระจก

คำแปลสุนทรพจน์ฉบับเต็มของเธอมีดังนี้

“สิ่งที่ฉันจะบอกก็คือพวกเราจะจับตาดูคุณ

มันผิดไปหมดทุกอย่าง ฉันไม่ควรต้องมาอยู่ที่นี่ ฉันควรจะได้ไปโรงเรียนในอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทร แต่พวกคุณทั้งหมดกลับมาฝากความหวังไว้ที่เยาวชนอย่างพวกเรา คุณกล้าดียังไง!

พวกคุณพรากความฝันและวัยเด็กของฉันด้วยคำสัญญาที่ว่างเปล่า ฉันยังถือว่าเป็นคนหนึ่งที่โชคดี แต่มีผู้คนอีกจำนวนมากมายที่กำลังทุกข์ทรมาน ล้มตาย และระบบนิเวศทั้งหมดกำลังจะล่ม เราอยู่ในจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่พวกคุณกลับพูดถึงแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ และเทพนิยายของการเติบโตทางเศรษฐกิจชั่วนิรันดร์ พวกคุณกล้าดียังไง!

วิทยาศาสตร์ได้บอกเอาไว้อย่างชัดเจนมานานกว่า 30 ปีแล้ว พวกคุณกล้าดียังไงที่ละเลยมัน และมาที่นี่เพื่อพูดพวกคุณทำดีพอแล้ว ในขณะที่การเมืองและหนทางแก้ปัญหาที่จำเป็นยังไม่มีให้เห็น

พวกคุณบอกว่าได้ยินสิ่งที่เราพูดและเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ไม่ว่าฉันจะเสียใจหรือโกรธเพียงใด ฉันก็ยังไม่อยากจะเชื่อ เพราะถ้าถ้าพวกคุณเข้าใจสถานการณ์จริงๆ แต่ยังไม่คิดทำอะไรเลย พวกคุณก็เลวทราม และด้วยเหตุนี้ฉันจึงปฏิเสธที่จะเชื่อ

แนวคิดยอดนิยมในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายใน 10 ปี จะทำให้เรามีโอกาสเพียง 50% ที่จะบรรลุเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5% และป้องกันความเสี่ยงในการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่มนุษย์ไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป

พวกคุณอาจพอใจกับตัวเลข 50% แต่มันยังไม่ครอบคลุมถึงจุดหักเห (tipping points), ช่องโหว่ในด้านการตอบสนอง และภาวะโลกร้อนแฝงที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ หรือมุมมองด้านความเที่ยงธรรมและความเป็นธรรมทางสภาพอากาศ

พวกเขายังฝากความหวังให้คนรุ่นฉันกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายแสนล้านตันออกจากชั้นบรรยากาศด้วยเทคโนโลยีที่ยังไม่มีอยู่จริง ฉะนั้นความเสี่ยง 50% จึงเป็นสิ่งที่พวกเราซึ่งต้องอยู่เผชิญผลลัพธ์ของมันไม่อาจยอมรับได้

คุณกล้าดียังไงที่แสร้งทำเหมือนว่าปัญหานี้จะแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยวิธีปฏิบัติแบบเดิมๆ และเทคนิคบางอย่าง? ด้วยระดับการปล่อยก๊าซในปัจจุบันและต้นทุนคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหลืออยู่ เราอาจจะใช้มันหมดภายในเวลาไม่ถึง 8 ปีครึ่งด้วยซ้ำ

คงจะไม่มีการเสนอทางออกหรือแผนรับมือกับตัวเลขเหล่านี้ในวันนี้ เพราะมันสร้างความลำบากใจเกินไป และพวกคุณก็ไม่มีวุฒิภาวะมากพอที่จะกล่าวถึงมันในแบบที่มันเป็น

พวกคุณทำให้เราผิดหวัง แต่คนหนุ่มสาวเริ่มที่จะเข้าใจถึงการทรยศหักหลังของพวกคุณแล้ว สายตาของคนรุ่นต่อๆ ไปกำลังจับจ้องพวกคุณอยู่ และถ้าคุณยังเลือกที่จะทำให้พวกเราผิดหวัง ฉันบอกเลยว่าเราจะไม่มีวันอภัยให้คุณ เราจะไม่ปล่อยให้คุณรอดตัวไปได้ เราขอยื่นคำขาดที่นี่วันนี้ โลกกำลังตื่นขึ้นและการเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึง ไม่ว่าคุณจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม ขอบคุณ”

แม้สุนทรพจน์ของ ทุนเบิร์ก จะเป็นกระแสฮือฮาทั่วโลก แต่ยังไม่อาจกระตุ้นให้ผู้นำประเทศคนใดลุกขึ้นมาเสนอแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียซึ่งเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 ของโลก บอกแต่เพียงว่าจะสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนให้มากกว่าเดิม 2 เท่า ขณะที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนซึ่งเป็นชาติผู้ก่อมลพิษอันดับ 1 ก็เสไปพูดเรื่องความร่วมมือพหุภาคี (multilateralism) โดยมีเจตนาจิกกัดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานในทำเนียบขาวใหม่ๆ

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างแสดงท่าทีผิดหวังกับปฏิกิริยาตอบสนองของผู้นำทั่วโลก

“ฉันคิดว่าข้อเรียกร้องที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของ เกรตา ให้ทุกฝ่ายใช้สติรับฟัง และลงมือแก้ไขปัญหาด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ยังคงไม่ได้รับความสนใจ” เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ อินเทอร์เนชันแนล ระบุ

ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์อื้ออึงจากชาวเน็ตกรณีที่ ทรัมป์ ทวีตข้อความเมื่อค่ำวันจันทร์ (23) ว่า เกรตา ทุนเบิร์ก “ดูเป็นเด็กสาวที่มีความสุขอย่างยิ่ง และคาดหวังอนาคตที่ดีงามสดใส น่าชื่นชมจริงๆ!”

คำพูดดังกล่าวถูกมองว่ามีเจตนาล้อเลียนนักกิจกรรมวัยใสที่ป่วยเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger syndrome) หรือออทิสติกอย่างอ่อนๆ และเรียกกระแสตอบโต้จากชาวเน็ตมากกว่า 16,000 ข้อความในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง

แม้เด็กสาวจะถูกยกให้เป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ที่กล้าลุกขึ้นมาสู้กับปัญหาโลกร้อน แต่ก็มีเสียงเย้ยหยันจากผู้ใหญ่บางคนที่เห็นเธอเป็นเพียงหุ่นเชิดของลัทธิ eco-evangelism ขณะที่บางคนเตือนว่าคำพูดเผ็ดร้อนของ ทุนเบิร์ก บดบังความสำคัญของข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ ปิดกั้นนวัตกรรม และไม่ได้คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ เท่าที่ควร

ทุนเบิร์ก ประกาศบนเวทีประชุม เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม เมื่อเดือน ม.ค. ว่า “ฉันอยากให้พวกคุณหวาดกลัว ฉันอยากให้พวกคุณได้รับรู้ถึงความกลัวที่ฉันเผชิญอยู่ทุกวัน” ซึ่งคำพูดนี้ทำให้เธอถูกวิจารณ์ว่าจงใจสร้างกระแสดราม่ามากกว่าโต้แย้งอย่างมีเหตุมีผล

ดูเหมือนสาวน้อยจะรับรู้และพยายามปรับวิธีการพูดเสียใหม่ โดยเธอกล่าวต่อสภาคองเกรสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “ฉันไม่ได้อยากให้พวกคุณฟังฉัน แต่ขอให้ฟังนักวิทยาศาสตร์”
กำลังโหลดความคิดเห็น