xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านหลายพันแห่หนีเมืองปาปัวของอินโดฯ หลังสถานการณ์ความไม่สงบลุกลาม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี - ชาวบ้านผู้หวาดกลัวหลายพันคนในจังหวัดปาปัวของอินโดนีเซีย ตะเกียกตะกายขึ้นเครื่องบินทหารในวันศุกร์(27ก.ย.) อพยพหลหนีความไม่สงบภายในตัวเมือง ซึ่งลุกลามบานปลายกลายเป็นสถานการณ์ความรุนแรงครั้งนองเลือดที่สุดในรอบหลายปีในภูมิภาคแถบนี้

ความโกรธแค้นที่ถูกพลเมืองจากส่วนอื่นๆของอินโดนีเซียเหยียดเชื้อชาติของชนพื้นเมืองปาปัว ได้โหมกระพือการประท้วงที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นที่ภูมิภาคที่ยากจนแห่งนี้ เช่นเดียวกับเสียงเรียกร้องรอบใหม่ของการปกครองตนเอง

สถานการณ์ความรุนแรงปะทุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่เมืองวาเมนา ซึ่งมีประชาชนหลายสิบคนและทหารเสียชีวิต ด้วยเจ้าหน้าที่เผยว่าบางส่วนถูกเผาทั้งเป็นขณะมีการวางเพลิงอาคารหลังหนึ่ง ส่วนคนอื่นๆถูกแทงระหว่างเหตุชุลมุนวุ่นวาย

กองทัพเปิดเผยว่าชาวบ้านเมืองวาเมนา ส่วนใหญ่เป็นผู้ย้ายถิ่นฐานมาจากส่วนอื่นๆของประเทศ ได้อพยพหลบหนีออกนอกพื้นที่แล้วในวันศุกร์(27ก.ย.) ขณะที่อีกราวๆ 1,500 คน รวมตัวกันที่สนามบินท้องถิ่นแห่งหนึ่งในความพยายามหลบหนี พร้อมเผยต่อวามีประชาชนอย่างน้อย 2,500 คนที่ลงทะเบียนขึ้นเครื่อง

"ชีวิตของเราอยู่ในความเสี่ยง" เดโบรา ซิบิว ชาวบ้านคนหนึ่งที่ขึ้นเครื่องบินกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนในสุมาตราบอกกับเอเอฟพี "บ้านของฉันถูกไฟไหม้, แผงขายของถูกจุดไฟเผา แม้แต่สำนักงานราชการก็ถูกไฟไหม้" เธอกล่าว

สถานการณ์ความรุนแรงที่โหมกระพือรอบใหม่ในสัปดาห์นี้ มีขึ้นหลังจากกลุ่มนักศึกษาชาวปาปัวในสุราบายา เมืองใหญ่สุดอันดับ 2 ของอินโดนีเซียบนเกาะชวา ถูกล้อเลียนและโจมตีด้วยฝูงม็อบที่ตะโกนเหยียดเชื้อชาติและชาติพันธุ์อย่างหยาบคาย ขณะที่ฝูงม็อบเหล่านี้กล่าวหาพวกนักศึกษาชาวปาปัวดูหมิ่นธงชาติอินโดนีเซีย

วิคตอร์ เยโม โฆษกคณะกรรมการแห่งชาติเวสต์ปาปัว(KNPB) กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ระบุว่าความรุนแรงมีต้นตอจากครูคนหนึ่งพูดจาเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาตืใส่พวกนักเรียนภายในเมือง แต่ทางตำรวจปาปัวอ้างหลังจากตรวจสอบข้อมูลจากคณะครูและโรงเรียนแล้ว ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง

คนปาปัวส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวคริสเตียนและชนกลุ่มน้อยเมลานีเซียน ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมเพียงเล็กน้อยกับพลเมืองอินโดนีเซียอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

พวกเขากลายเป็นคนกลุ่มน้อยในปาปัว หลังจากมีการโยกย้ายถิ่นฐานกันภายในต่อเนื่องนานปลายปีของคนจากพื้นที่อื่นๆของประเทศมายังปาปัว ภูมิภาคที่อุดมไปด้วยแร่ และเป็นที่ตั้งของเหมืองทองคำใหญ่ที่สุดของโลก

มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างประปรายมานานหลายทศวรรษในอดีตอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์แห่งนี้ หลังจาการ์ตาทวงปาปัวคืนมาในช่วงทศวรรษ 1960

ปาปัว ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียหลังการลงประชามติที่ได้รับการสนับสนุนจากยูเอ็นแต่เต็มไปด้วยข้อถกเถียงและถูกมองอย่างกว้างขวางว่ามีการโกงในปี 1969 และนับตั้งแต่นั้นจังหวัดแห่งนี้ก็ถูกห้อมล้อมด้วยความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนระดับท้องถิ่นมาตลอด ขณะที่จาการ์ตาปฏิเสธพิจารณาจัดทำประชามติอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น