xs
xsm
sm
md
lg

‘เลขาฯยูเอ็น’สวมบทเข้มเตรียมเปิดประชุม‘ซัมมิตภูมิอากาศ’วันจันทร์ ขณะรายงานฉบับใหม่ชี้ รอบ 5 ปีมานี้‘ร้อนที่สุด’เป็นประวัติการณ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ พูดกับสื่อมวลชนเรื่องโลกร้อน ขณะเข้าร่วมการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี7 ที่เมืองเบียร์ริตซ์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ทั้งนี้เขาจะเป็นประธานการประชุม “ซัมมิตเพื่อการปฏิบัติการด้านภูมิอากาศ” ที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ ในนิวยอร์ก วันจันทร์ (23 ก.ย.) นี้ </i>
เอพี/เอเจนซีส์ – เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส ประกาศว่า มนุษยชาติกำลังสงครามกับดาวเคราะห์ดวงนี้ ดังนั้นเขาจึงไม่มีแผนจะปล่อยให้ผู้นำโลกคนไหนก็ได้ขึ้นพูดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ณ การประชุมพิเศษที่เป็น “ซัมมิตเพื่อการปฏิบัติการ” ในวันจันทร์ (23 ก.ย.) นี้

เฉพาะผู้ที่มีแผนการใหม่ๆ, เฉพาะเจาะจง, และห้าวหาญเท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้ขึ้นเวที และได้รับความสนใจจากโลกที่กำลังร้อนขึ้นทุกทีได้ กูเตียร์เรส บอก

ดังนั้น ได้โปรดนั่งลงเถอะบราซิล นั่งลงเถอะ ซาอุดีอาระเบีย แล้วก็นั่งลงเถอะ โปแลนด์

“คนที่สามารถขึ้นพูดได้ ก็เฉพาะถ้าพวกเขามาพร้อมกับขั้นตอนต่างๆ ในเชิงบวก นี่เหมือนกับเป็นตั๋วสำหรับขึ้นเวทีอย่างหนึ่ง” เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น กล่าว “สำหรับข่าวร้ายๆ นั้น อย่ามาเลย”

ราวกับว่าเป็นการตอกย้ำความสาหัสร้ายแรงของปัญหานี้ องค์การอุตุนิยมโลก ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษสังกัดสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงานทางวิทยาศาสตร์ฉบับหนึ่งในวันอาทิตย์ (22) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 5 ปีที่สิ้นสุดปี 2019 ทั้งการที่อุณหภูมิสูงขึ้น, ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น, และมลพิษคาร์บอน ล้วนแล้วแต่เพิ่มทวีขึ้นทั้งนั้น

ข้อเสนอของบราซิล, ของโปแลนด์, และของซาอุดีอาระเบีย ในเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นพวกเขาจะไม่ถูกบรรจุเอาไว้ในกำหนดการประชุมซัมมิตของวันจันทร์ (23) สำหรับสหรัฐฯนั้นยิ่งถึงขนาดไม่ได้มายุ่งเกี่ยวอะไรด้วย ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ยูเอ็นผู้หนึ่ง ซึ่งพูดโดยขอให้สงวนนาม

อย่างไรก็ดี มาตรฐานขนาดนี้ใช่ว่าจะสูงมากจนปีนข้ามกันไม่ไหว เพราะยังคงมีพวกผู้นำจาก 64 ชาติ, สหภาพยุโรป, บริษัทและแบงก์จำนวนสิบกว่าแห่ง, นครและรัฐบางแห่ง จะมาเสนอแผนการของพวกเขา ณ การประชุมซัมมิตเพื่อการปฏิบัติการด้านภูมิอากาศ” (Climate Action Summit) ของเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นคราวนี้

กูเตียร์เรสต้องการให้ชาติต่างๆ มีสถานะเป็นกลางในเรื่องคาร์บอนภายในปี 2050 --พูดง่ายๆ ก็คือ ชาติเหล่านี้จะไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก (ที่เป็นตัวจับความร้อนให้อยู่ในบรรยากาศของโลก) ให้มากเกินกว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกซึ่งต้นไม้พืชพรรณทั้งหลาย และบางทีอาจจะเทคโนโลยีด้วย สามารถขจัดได้ในแต่ละปี ทั้งนี้ในวันอาทิตย์ (22) มี 87 ประเทศทั่วโลกให้คำมั่นสัญญาที่จะลดปริมาณคาร์บอนลงเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องเช่นนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านอุณหภูมิโลกที่เข้มงวดกวดขันที่สุดของประชาคมระหว่างประเทศ

เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ยังต้องการให้ประเทศต่างๆ ให้คำมั่นสัญญาที่จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินแห่งใหม่ๆ อีกภายหลังปี 2020 แล้ว และลดปริมาณมลพิษคาร์บอนลงให้ได้ 45% ภายในศตวรรษหน้า ขณะที่วัตถุประสงค์ของการประชุมซัมมิตในปีนี้ ก็คือให้มีข้อเสนอสีเขียวฉบับใหม่ออกมา 1 ปีก่อนหน้าปี 2020 ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายตามที่ระบุเอาไว้ในข้อตกลงภูมิอากาศปารีสปี 2015
<i>ก้อนหินถูกนำมาเรียงเป็นตัวอักษร RIP (rest in peace สู่สุคติ)  ระหว่างพิธีรำลึกซึ่งจัดขึ้นต่อหน้าธารน้ำแข็ง “ที่กำลังตาย” ของภูเขาปิโซล ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันอาทิตย์ (22 ก.ย.) พิธีนี้มีองค์การต่างๆ หลายหลากเข้าร่วม เพื่อเน้นย้ำถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และธารน้ำแข็งแห่งต่างๆ ที่กำลังละลายเนื่องจากโลกร้อนขึ้น </i>
บรรดาผู้นำทั่วโลกได้เคยตกลงกันไว้ในปี 2009 ที่จะรักษาไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าโลกก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม จากนั้นในปี 2015 พวกเขาได้เพิ่มเป้าหมายขั้นที่สองซึ่งทำได้ยากเย็นยิ่งขึ้นไปอีก ตามคำเรียกร้องรบเร้าของพวกชาติที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กๆ นั่นคือ รักษาไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ดี รายงานฉบับใหม่ล่าสุดขององค์การอุตุนิยมโลกแสดงให้เห็นว่า เวลานี้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นไปแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงหมายความว่า เป้าหมายต้องอยู่ที่การจำกัดไม่ให้สูงขึ้นไปเกินกว่าปัจจุบัน 0.9 องศาเซลเซียส หรือหากจะทำให้ได้ตามเป้าหมายขั้นที่สอง ก็ต้องไม่ให้สูงขึ้นไปเกิน 0.4 องศาเซลเซียส

ความพยายามในการลดมลพิษคาร์บอน ก็จำเป็นจะต้องเพิ่มทวีขึ้น 3 เท่าตัว จึงจะสามารถประคับประคองไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินขีด 2 องศาเซลเซียส และจะต้องเพิ่มทวีขึ้นเป็น 5 เท่าตัวทีเดียวจึงจะสามารถทำไม่ให้เกินขีด 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้าโลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ตามรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก

รายงานฉบับนี้ยังบอกด้วยว่า ช่วง 5 ปีหลังสุด (ปี 2015-2019) คือช่วง 5 ปีที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกเก็บสถิติกันมา และกระทั่งร้อนขึ้น 0.2 องศาเซลเซียส จากระยะครึ่งแรกของทศวรรษนี้ (ปี 2011-2015) ซึ่งต้องถือเป็นการพุ่งพรวดขึ้นไปมากทีเดียวในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีเช่นนี้

“มีการยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ผลกระทบต่างๆ ในเรื่องภูมิอากาศกำลังปรากฏให้เห็นอย่างหนักหน่วงยิ่งกว่า และรวดเร็วยิ่งกว่าการประเมินทางภูมิอากาศครั้งก่อนๆได้บ่งชี้เอาไว้ แม้กระทั่งการประเมินเพียงเมื่อ 1 ทศวรรษก่อนหน้านี้” รายงานความยาว 28 หน้าฉบับนี้บอก

ถ้าโลกสามารถรักษาให้อุณหภูมิสูงขึ้นตามเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็นไปตามเป้าหมาย 2 องศาเซลเซียสแล้ว ก็จะมีผู้คนจำนวนน้อยลง 420 ล้านคนที่จะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน และจะมีผู้คนจำนวนน้อยลง 10 ล้านซึ่งจะเผชิญความเสี่ยงจากการที่ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง ซินเธีย โรเซนสเวก นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศขององค์การนาซา พูดเมื่อวันอาทิตย์ (22) ณ การประชุมวาระหนึ่งของยูเอ็น

ยังจะมีรายงานระหว่างประเทศฉบับใหญ่กว่านี้ ซึ่งพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและมหาสมุทรตลอดจนธารน้ำแข็ง โดยมีกำหนดเผยแพร่ออกมาในวันพุธ (25) นี้ ซึ่งคณะผู้เขียนคือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change)

“รายงานฉบับใหม่ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความก้าวหน้าให้มากขึ้นอีกในเรื่องการลดไอเสียของคาร์บอนไดออกไซด์” นาตาลี มาโฮวัลด์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศขอมหาวิทยาลัยคอร์เนล กล่าว “หวังใจว่า การประชุมซัมมิตภูมิอากาศยูเอ็นครั้งล่าสุดนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้นอีก”
กำลังโหลดความคิดเห็น