xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: แม้การผลิตของซาอุดีฯป่วนหนักจากการถูกโจมตี แต่โลกไม่น่าต้องเจอปัญหาน้ำมันขาดแคลนและแพงลิ่ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>ภาพถ่ายเมื่อวันศุกร์ (20 ก.ย.) ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นส่วนหนึ่งของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงกลั่นน้ำมันอับกอยก์ ของซาอุดีอาระเบีย ภายหลังถูกโจมตีในตอนเช้ามืดวันที่ 17 ก.ย.  ทั้งนี้การถูกโจมตีคราวนี้ ทำให้การผลิตของซาอุดีอาระเบียลดลงไปราวครึ่งหนึ่ง และส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งพรวด </i>
ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งพรวดขึ้นมาอย่างฉับพลันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้หลายคนนึกคิดไปถึงภาวะการขาดแคลนเชื้อเพลิงซึ่งเป็นเสมือนฝันร้ายสยดสยองอย่างที่ได้เคยเกิดขึ้นมาสองสามครั้งในอดีต แต่สำหรับคราวนี้พวกนักวิเคราะห์บอกว่า เราไม่น่าจะได้เห็นภาพรถยนต์ในที่ต่างๆ ทั่วโลกต้องเข้าคิวเป็นแถวยาวเหยียดเพื่อเติมน้ำมันหรอก

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็คือ การถล่มโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันซึ่งทรงความสำคัญยิ่งในซาอุดีอาระเบียเมื่อวันที่ 14 กันยายน ทำให้ประเทศที่เป็นซัปพลายเออร์หลักของโลกแห่งนี้ ผลิตน้ำมันออกมาได้เพียงแค่ราวครึ่งเดียวของปริมาณปกติของตน

ข่าวนี้ส่งผลให้น้ำมันดิบชนิด “เบรนต์” เหินฟ้ามีราคาสูงขึ้นถึง 15% ในเวลาชั่ววันเดียว

ต่อจากนั้นราคาก็มีการขยับลดต่ำลงมาบ้าง จนถึงเมื่อวันศุกร์ (20 ก.ย.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการซื้อขายในสัปดาห์ที่แล้ว ราคาอยู่แถวๆ บาร์เรลละ 65 ดอลลาร์

พิจารณาจากเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันซึ่งกำลังอยู่ในอาการชะลอตัว ขณะที่น้ำมันดิบซึ่งผลิตกันออกมาทั่วโลกก็ยังคงมีปริมาณเหลือล้น ดังนั้นลู่ทางโอกาสที่มันจะไต่ขึ้นไปถึงบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ จึงดูไม่น่าจะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดเมื่อดูจากในเวลานี้

แฮร์รี ชีลินกุยเรียน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ ของธนาคาร บีเอ็นพี ปาริบาส์ อธิบายว่า โลกในเวลานี้ โดยสาระสำคัญแล้วมีการเตรียมตัวที่ดีขึ้นมากมายในการรับมือกับภาวะช็อกในเรื่องน้ำมัน เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงทศวรรษ 1970

ทั้งนี้ เมื่อครั้งปี 1973 หลังจากองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียม (โอเปก) ประกาศมาตรการห้ามส่งออกให้แก่พวกชาติพันธมิตรของอิสราเอล ในระหว่างที่กำลังเกิด “สงครามยมคิมปูร์” ระหว่างบรรดาชาติอาหรับกับอิสราเอล และเมื่อครั้งปี 1979 ภายหลังจากการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ปรากฏว่าราคาน้ำมันดิบกระโจนขึ้นโด่งทะลุฟ้าภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน ทำให้เศรษฐกิจของพวกประเทศพัฒนาแล้วทางโลกตะวันตก รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มีทรัพยากรน้ำมันของตนเอง ต่างย่ำแย่ไปตามๆ กัน
<i>ภาพถ่ายเมื่อวันศุกร์ (20 ก.ย.) ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นส่วนหนึ่งของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ่อน้ำมันและโรงแปรรูปน้ำมันคูไรส์ ของซาอุดีอาระเบีย ภายหลังถูกโจมตีในตอนเช้ามืดวันที่ 17 ก.ย. </i>
พึ่งพาอาศัยน้ำมันลดน้อยลง

“ปัจจุบัน ภาวะช็อกทางด้านน้ำมัน ยากนักหนาที่จะสามารถส่งผลกระทบซึ่งสร้างความวิบัติในระดับเดียวกันนั้นขึ้นมาอีก” เนื่องจากประเทศต่างๆ ต่างมีประสบการณ์ต่างมีความคุ้นเคยกับเหตุการณ์แบบนี้แล้ว ทีมนักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารคอมเมอร์ซแบงก์ อธิบายเอาไว้ในรายงานสั้นฉบับหนึ่งที่ส่งถึงลูกค้า

ขณะเดียวกัน “พวกธนาคารกลางจะไม่แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ภาวะช็อกจากการขาดแคลนซัปพลายเช่นนี้ ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมากมาย เพราะคิดไปว่าจะต้องสู้รบปรบมือกับอัตราเงินเฟ้อที่กำลังสูงขึ้นเสียก่อน” รายงานสั้นชิ้นนี้ระบุ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเวลานี้ยังพึ่งพาอาศัยน้ำมันลดน้อยลงกว่าในอดีต

ตัวอย่างเช่น การบริโภคน้ำมันในสหรัฐฯ ได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 17.3 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อปี 1973 เป็น 20.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2018 เท่ากับว่าเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 18% แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (จีดีพีหักอัตราเงินเฟ้อ) ของประเทศนี้มีการขยายตัวเติบโตพรวดพราดถึง 230%

ในเยอรมนีก็ทำนองเดียวกัน เมื่อถึงปี 2018 ครัวเรือนต่างๆ ใช้จ่ายในเรื่องเชื้อเพลิงคิดเป็นอัตราส่วนแค่ 2.6% ของรายรับของพวกเขาเท่านั้น

ประเทศจำนวนมากทีเดียว ยังได้ก้าวไปไกลแล้วจากสภาพที่เดิมเคยบริโภคน้ำมันอย่างมากมาย เรื่องนี้ต้องขอบคุณทั้งการขนส่งและอุตสาหกรรมมากแขนงซึ่งมีการปรับปรุงยกระดับการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ เวลาเดียวกันก็มีแหล่งพลังงานตัวเลือกอื่นๆ ที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น แก๊สธรรมชาติ หรือพวกพลังงานหมุนเวียนทั้งหลาย

กระทั่งเมื่อตอนที่ราคาน้ำมันขึ้นไปสูงจนอยู่เหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอยู่นาน ในช่วงระหว่างปี 2011 ถึง 2014 มันก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจตามที่ต่างๆ ของโลกพังทลายลงมา นอกจากนั้นแล้ว โลกในเวลานี้ยังได้ลดการพึ่งพาอาศัยเหล่าผู้ผลิตรายยักษ์เพียงไม่กี่รายอีกด้วย
<i>ป้ายขนาดใหญ่แสดงราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลของปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ในเมืองวาเลนซุเอลา ซึ่งเป็นชานเมืองทางตอนเหนือของกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันอังคาร (17 ก.ย.)  ทั้งนี้ราคาน้ำมันโลกได้พุ่งพรวดตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันและบ่อน้ำมันในซาอุดีอาระเบียในวันเดียวกันนั้น </i>
ตั้งแต่วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรกในปี 1973 แล้ว มันก็ได้นำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ขึ้นเมื่อปี 1974 ซึ่งได้ตั้งเงื่อนไขข้อกำหนดให้บรรดาประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ทั้งหลาย จะต้องสำรองน้ำมันเอาไว้ให้ได้อย่างน้อยที่สุดเท่ากับปริมาณการนำเข้าสุทธิน้ำมันดิบของตนในระยะเวลา 90 วัน

ชิลินกุยเรียนชี้ว่า ในอีกด้านหนึ่ง เวลานี้การผลิตน้ำมันของโลกยังได้กระจายออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากตะวันออกกลาง เป็นต้นว่า การผลิตน้ำมันในทะเลเหนือซึ่งกระทำมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980, การสำรวจหาแหล่งน้ำมันใต้ทะเลลึกบริเวณนอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกและบราซิล, และการสกัดเอาน้ำมันดิบจากแหล่งทรายน้ำมันในแคนาดา

สหรัฐฯ ซึ่งเคยต้องพึ่งพาน้ำมันนำเข้าอย่างมหาศาลมาเป็นเวลายาวนาน บัดนี้ได้กลายเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่รายหนึ่ง โดยที่สำคัญต้องขอบคุณความสามารถในการสกัดเอาน้ำมันดิบจากแหล่งหินน้ำมัน ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยทำให้สิ่งต่างๆ ยังคงสามารถเดินหน้าไปอย่างราบรื่น ถึงแม้เกิดเหตุการณ์ซึ่งเป็นตัวก่อกวนใหญ่ต่อการผลิตน้ำมัน อย่างการโจมตีสิ่งปลูกสร้างสำคัญทางด้านน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย

อลัน เกลเดอร์ ผู้ชำนาญการเรื่องผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นแล้ว ของ วู้ด แมคเคนซี ถึงขั้นมองว่า จากสภาพที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ประเทศเฉกเช่นซาอุดีอาระเบีย บางทีอาจจะไม่ตัดสินใจระงับการส่งออกน้ำมันของตนโดยสมัครใจอีกแล้ว “เนื่องจากตนเองอาจสูญเสียฐานะในการเป็นซัปพลายเออร์ที่ไว้วางใจได้ไปเลย” หากกระทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภาวะช็อกด้านน้ำมันที่ก่อให้เกิดผลพวงในทางวิบัติหายนะติดตามมา ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นได้อีกแล้ว แต่ แอนดรูว์ เลโบว์ ผู้ชำนาญการตลาดน้ำมันของกลุ่มวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ “คอมโมดิตี้ รีเสิร์ช กรุ๊ป” ก็เตือนว่า เราไม่สามารถพูดได้หรอกว่าความเสี่ยงในเรื่องนี้อยู่ในระดับเหลือเท่ากับศูนย์แล้ว

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเกิดสงครามใหญ่ระเบิดขึ้นมาซึ่งมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ” เขาบอกโดยย้ำว่า ช่องแคบฮอร์มุซเป็นช่องทางเดินเรือทะเลที่ผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมซึ่งขนส่งทางทะเลถึงจำนวนราวหนึ่งในสามของทั้งหมดทีเดียว จะต้องแล่นผ่าน

ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของคอมเมอร์ซแบงก์ กล่าวเตือนทำนองเดียวกันว่า “ไม่ควรประมาณการให้ต่ำเกินไป” เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จากภาวะช็อกด้านน้ำมัน

พวกเขาชี้ว่า เราต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ จำนวนมากกำลังต้องต่อสู้ดิ้นรนกับปัญหาต่างๆ มากมายอยู่แล้ว เวลาเดียวกันพวกธนาคารกลางทั้งหลายก็แทบไม่เหลือช่องทางสำหรับการยักย้ายถ่ายเทใดๆ นัก ในการเข้าช่วยเหลือประคับประคองพวกประเทศที่เศรษฐกิจจะถูกกระทบหนักจากภาวะช็อกด้านน้ำมัน

(เก็บความจากเรื่อง Despite Saudi turmoil, new oil shock unlikely
ของสำนักข่าวเอเอฟพี)

กำลังโหลดความคิดเห็น