xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯยังอาจถูกลากเข้าสู่สงคราม แม้สายเหยี่ยวสุดโต่งอย่าง‘โบลตัน’ถูกปลดแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จอห์น เฟฟเฟอร์

<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 29 ส.ค. 2019)  ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ จอห์น โบลตัน ขณะตอบคำถามผู้สื่อข่าวระหว่างไปเยือนเบลารุส  ทั้งนี้เขาถูกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปลดออกจากตำแหน่งในวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา  แต่ใช่ว่าแนวความคิดเหยี่ยวร้ายคลั่งสงครามในแบบของเขา จะหมดอิทธิพลจากทำเนียบขาวในยุคของทรัมป์แล้ว </i>
The Threat of Bolton Has Receded — But Not the Threat of War
By John Feffer
18/09/2019

ถึงแม้ จอห์น โบลตัน ซึ่งขึ้นชื่อลือชาในเรื่องมีแนวคิดแบบเหยี่ยวร้ายคลั่งสงคราม ได้ถูกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปลดออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติแล้ว แต่แท้ที่จริงโลกทัศน์แบบฮึกเหิมก้าวร้าวของโบลตัน คือระบบปฏิบัติการพื้นฐานของคณะบริหารทรัมป์

จอห์น โบลตัน ได้ทุ่มเทใช้ความพยายามของเขาอย่างดีที่สุดแล้ว

ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติผู้นี้ก้าวเข้าไปร่วมงานกับคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ในสภาพที่ทำนายคาดการณ์กันได้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าเขาเป็นเหยี่ยวร้ายคลั่งสงครามและมีความกระหายในอำนาจอย่างไม่มีทางบรรเทาบันยะบันยังลงได้ เขาดำเนินการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพกลไกด้านความมั่นคงแห่งชาติเพื่อทำให้ตัวเขามีช่องทางเข้าถึงตัวประธานาธิบดีได้อย่างสูงสุด อย่างน้อยที่สุดก็ในช่วงแรกๆ แหละ เขายินดีแสดงบทบาทเป็นผู้ช่วยที่ซื่อสัตย์ภักดีคอยให้ความช่วยเหลือร่วมมือกับทรัมป์ แล้วก็เฉกเช่นเดียวกับในช่วงเวลาตอนที่เขาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านการควบคุมอาวุธในคณะบริหารของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช โบลตันค่อยๆ แอบฝังแอบวางพวกลูกระเบิดแสวงเครื่อง (improvised explosive device ใช้อักษรย่อว่า IED) เอาไว้ภายใน แทนที่จะโยนระเบิดมาจากภายนอก

แต่เมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็เหมือนกับนิทานเรื่องแมงป่องกับกบ แมงป่องซึ่งว่ายน้ำไม่เป็น ขอร้องให้กบช่วยพามันข้ามแม่น้ำ โดยเกลี้ยกล่อมจนกบไว้วางใจว่ามันจะไม่ทำร้ายกบระหว่างทางอย่างแน่นอน เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับมันต้องจมน้ำตายไปด้วย ทว่าพอข้ามแม่น้ำมาได้ครึ่งทาง แมงป่องก็กลับใช้หางต่อยปล่อยพิษใส่หลังกบที่มันกำลังโดยสารอยู่จนได้ เนื่องจากมันอดใจไม่ไหว โบลตันก็เช่นเดียวกันไม่สามารถทรยศต่อธรรมชาติของตัวเขาเอง

ในความกระหายที่จะเริ่มเปิดศึกทำสงครามกับเวเนซุเอลา, เกาหลีเหนือ, และอิหร่าน โบลตันเที่ยวพูดจาแสดงความเห็นออกมาอย่างไม่เหมาะสมสอดคล้องกับจังหวะเวลา ซึ่งกลายเป็นการปะทะอย่างเปิดเผยกับเจ้านายของเขาต่อหน้าสาธารณชน รวมทั้งบางทีอาจจะมีการปล่อยข้อมูลข่าวสารให้รั่วไหลออกไปถึงสื่อมวลชน [1] อีกด้วย เมื่อถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ ฐานะของเขาก็อยู่ในสภาพที่รักษาเอาไว้ไม่ได้ และเขาก็ประสบชะตากรรมอย่างเดียวกับผู้ที่ร่วมมือทำงานกับทรัมป์จำนวนมาก นั่นคือถูกไล่ออกจากตำแหน่งด้วยข้อความที่โพสต์ทางทวิตเตอร์

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันในอีกทางหนึ่งแล้ว โบลตันถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยแล้วในสิ่งซึ่งเขาตั้งใจที่จะทำ เขาเจาะรูเล็กๆ ที่มีฤทธิ์เดชสามารถทำลายการเจรจาหารือกับเกาหลีเหนือได้ ด้วยการกล่าวอ้างอิงถึงตัวอย่างของลิเบียในกระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ [2] (เปียงยางนั้นทราบเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบอบปกครองของ โมอัมมาร์ กัดดาฟี ในลิเบีย ภายหลังกัดดาฟียินยอมทำตามแรงกดดันของฝ่ายตะวันตก ด้วยการยุติโครงการนิวเคลียร์ของตนเอง) เขายังทำให้แน่ใจได้ว่ากองทหารสหรัฐฯจะยังคงประจำอยู่ทั้งในซีเรีย [3] และในอัฟกานิสถาน [4] เขาทำให้ (ประธานาธิบดี) นิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา หวาดกลัวอย่างจับจิตจับใจว่าอาจจะถูกทำรัฐประหารโค่นอำนาจ แล้วเขายังขันเกลียวกระชับเพิ่มแรงกดดันใส่อิหร่านจนกระทั่งถึงจุดที่เกือบๆ จะกลายเป็นความขัดแย้งสู้รบขึ้นมา

ในเวลานี้ จากการที่ทรัมป์กำลังประกาศว่า สหรัฐฯ “ล็อกเป้าโหลดกระสุน” แล้ว สืบเนื่องจากเหตุการณ์โจมตีโรงกลั่นน้ำมันและบ่อน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย จนกระทั่งกระทบกระเทือนซัปพลายน้ำมันที่ออกสู่ตลาดโลก เรื่องนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องเป็นที่ยินดีชื่นชอบของโบลตัน เมื่อพบเห็นว่าความฝันอันคึกคักฮึมเหิมที่สุดของเขา ซึ่งก็คือ การเปิดสงครามกับอิหร่าน มีลู่ทางโอกาสที่จะได้รับการเติมเต็มเสียที อันที่จริงเขาเกือบๆ จะผลักดันให้ประธานาธิบดีทรัมป์เข้าสู่การปฏิบัติการทางทหารเล่นงานฝ่ายเตหะรานอยู่รอมร่อแล้วในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อตอนที่ทรัมป์ออกมาปูดข่าวด้วยตัวเองว่าเขาหยุดยั้งไม่เดินหน้าเปิดฉากโจมตี เพียงแค่ 10 นาทีก่อนหน้ากำหนดการที่มันจะเริ่มต้นขึ้น [5]

สำหรับในครั้งล่าสุดนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะถึงขั้นสติแตกควบคุมตัวเองไม่ได้ก็มีความเป็นไปได้ ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณผลงานของโบลตันผู้จากไปอย่างไม่สู้น่ารักเท่าใด

หรือบางทีทรัมป์อาจจะยึดมั่นอยู่กับแบบแผนที่เขาได้เคยทำมาครั้งแล้วครั้งเล่า นั่นคือเริ่มต้นด้วยการพูดข่มขู่คุกคามอย่างประหลาดพิกล ชวนมึนตีบ จากนั้นก็หันมาเสนอเปิดการเจรจาด้วย ในระยะหลังๆ มานี้ คณะบริหารทรัมป์ดูเหมือนกำลังลดระดับถ้อยคำวาจาของตนลงมา บางที โบลตันเดอะสกอร์เปียน อาจจะทำได้เพียงแค่พยายามต่อยปล่อยพิษใส่ตัวเองจนสำเร็จเท่านั้น

เหตุการณ์ล่าสุด

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ได้กล่าวหาอิหร่านตั้งแต่ตอนแรกๆ ว่า เป็นตัวการโจมตีใส่สิ่งปลูกสร้างทางด้านน้ำมันของ ซาอุดี อารัมโค (Saudi Aramco) รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ทั้งที่ อับกอยก์ (Abqaiq) และที่ คูไรส์ (Khurais) มีรายงานว่าคณะเจ้าหน้าที่สอบสวนของซาอุดีฯและของสหรัฐฯได้วินิจฉัยแล้ว [6] ว่า การโจมตีในวันที่ 14 กันยายนครั้งนี้ มีต้นทางมาจากฐานทัพของอิหร่านแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ พรมแดนติดต่อกับอิรัก ทว่ากองกำลังอาวุธซึ่งออกมาประกาศอ้างความรับผิดชอบในการโจมตีแล้วมีอยู่รายเดียวคือพวกกบฏฮูตี ซึ่งกำลังทำสงครามในเยเมนอยู่กับกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยซาอุดีฯ มาเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว

เมื่อพิจารณาจากโฉมหน้าภายนอกแล้ว ฝ่ายที่น่าจะเป็นผู้ร้ายตัวก่อการโจมตีย่อมน่าจะเป็นพวกฮูตี ตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พวกเขาก็ได้เปิดฉากการโจมตีทางอากาศครั้งแล้วครั้งเล่า [7] โดยมุ่งเล่นงานพวกสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ของซาอุดีฯ เป็นต้นว่า การใช้โดรน (อากาศยานไร้คนขับ) เข้าโจมตีบ่อน้ำมันเชย์บาห์ (Shaybah oil field) ในวันที่ 16 สิงหาคม, การใช้ขีปนาวุธโจมตีท่าอากาศยานจีซาน (Jizan airport) ในวันที่ 26 สิงหาคม, การใช้โดรนโจมตีเมืองหลวงริยาดในวันที่ 27 สิงหาคม, และการใช้โดรนโจมตีที่ประสบความล้มเหลวในวันที่ 3 กันยายน

นอกจากนั้น อย่างที่ เคต คีเซอร์ (Kate Kizer) แห่งองค์การ “วินวิตเอาต์วอร์” (Win Without War ชนะโดยไม่ต้องทำสงคราม) ได้ชี้เอาไว้ [8] ฝ่ายซาอุดีฯกับฝ่ายฮูตีกำลังสู้รบกันมาระยะหนึ่งในลักษณะของเกมโจมตีถล่มทางอากาศตอบโต้กัน การโจมตีครั้งล่าสุดใส่สถานที่ทางด้านน้ำมันของซาอุดีอาระเบียนี้ สามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้กันเช่นนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเป็นการแก้เผ็ดจากการที่ซาอุดีฯโจมตีทางอากาศใส่คุกธามาร์ (Dhamar prison) ซึ่งสังหารผู้คนไป 100 คนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

อย่างไรก็ดี การตอบโต้แก้เผ็ดนั้น ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมกัน การรณรงค์ของซาอุดีฯได้สังหารชาวเยเมนไปนับพันนับหมื่น ขณะที่การโจมตีของฝ่ายฮูตีส่งผลมากที่สุดก็คือทำให้วัตถุข้าวของได้รับความเสียหาย และมีพลเรือนล้มตายไป 4 คน [9]

พวกที่ชี้นิ้วโบ้ยไปที่อิหร่าน หยิบยกเหตุผลขึ้นมารองรับว่า การโจมตีคราวล่าสุดนี้เกิดขึ้นในจุดที่ห่างไกลจากพรมแดนติดต่อกับเยเมน ทว่าบ่อน้ำมันคูไรส์ (1 ใน 2 เป้าหมายของการโจมตีครั้งล่าสุดนี้) และบ่อน้ำมันเชย์บาห์ (ถูกโจมตีเมื่อกลางเดือนสิงหาคม) ต่างอยู่ในระยะห่างจากพรมแดนเยเมนพอๆ กัน

การโจมตีครั้งล่าสุดนี้ยังประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นมาก จากการโจมตีอย่างแม่นยำซึ่งได้สร้างความเสียหายถึงขนาดบังคับให้การผลิตน้ำมันของซาอุดีฯต้องหดหายไปอย่างน้อยก็ชั่วคราวคิดเป็นปริมาณมากกว่าครึ่งทีเดียว กระนั้นฝ่ายฮูตีก็ได้เพิ่มสมรรถนะในการโจมตีของพวกเขาให้สูงขึ้นอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว โดยเข้าโจมตีท่าอากาศยานของซาอุดีฯที่ จีซาน และที่อับฮา (Abha) ในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน รวมแล้ว 17 ครั้ง [10] พวกเขาได้รับอาวุธบางส่วนจากอิหร่าน แต่ก็มีขีปนาวุธในยุคโซเวียตจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน [11] โดยที่บางส่วนได้มาจากเกาหลีเหนือ พวกเขาเวลานี้ยังมีระบบป้องกันภัยทางอากาศใช้งานด้วย

เวลาเดียวกันนั้น มันออกจะยากลำบากที่จะจินตนาการได้ว่ารัฐบาลอิหร่านเปิดฉากการโจมตีใหญ่เช่นนี้ แพล็บเดียวหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ได้พูดจากับทรัมป์ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะได้พบปะหารือกับประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์กสัปดาห์นี้ กระทั่งถ้าหากพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายอิหร่านมีความลังเลที่จะนั่งลงพูดจากับทรัมป์ ซึ่งก็มีเหตุผลหลายประการที่สามารถเข้าใจได้อยู่หรอกว่าทำไมพวกเขามีท่าทีเช่นนั้น แต่การเข้าโจมตีซาอุดีอาระเบียในวันก่อนหน้าการประชุมยูเอ็น ก็ดูไม่ค่อยมีเหตุผลในเชิงยุทธศาสตร์สักเท่าใด

ในอีกด้านหนึ่ง อิหร่านได้ให้คำมั่นสัญญา [12] ว่า ถ้าหากตนไม่สามารถส่งออกน้ำมันของตนได้แล้ว ก็จะก่อกวนขัดขวางตลาดน้ำมันทั่วโลก แน่นอนทีเดียวว่าคณะบริหารทรัมป์ได้ทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันของอิหร่านอยู่ในภาวะโซซัดโซเซ ทั้งจากการแซงก์ชั่นโดยตรงและการออกแรงบีบคั้นกดดันประเทศอื่นๆ ให้ยุติการนำเข้าน้ำมันอิหร่าน เวลาเดียวกันนั้น ฝ่ายซาอุดีฯ ตกอยู่ในสภาพที่มองไม่เห็นเลยว่าอาวุธโจมตีกำลังเคลื่อนเข้ามาถึงอยู่รอมร่อแล้ว [13] ซึ่งบ่งชี้ว่ามันไม่ได้มีต้นตอมาจากทางทิศใต้ อันเป็นจุดโฟกัสในการป้องกันภัยทางอากาศของซาอุดีฯ ทว่าขีปนาวุธและโดรนเหล่านี้กำลังเคลื่อนที่เข้ามาโดยบินในระยะต่ำๆ ดังนั้นจึงอาจจะหลบหลีกระบบป้องกันภัยทางอากาศได้สำเร็จก็เป็นได้ นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้เช่นกันที่อาวุธเหล่านี้อาจจะถูกปล่อยออกมาจากที่ตั้งหลายๆ แห่ง

แน่นอนทีเดียว มันอาจจะไม่ได้เป็นสถานการณ์แบบถ้าไม่เป็นอย่างนี้ก็ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่งหรอก อิหร่านเป็นผู้จัดหาการสนับสนุนบางอย่างบางประการให้แก่ฝ่ายฮูตี ดังนั้น กระทั่งถ้าหากว่าพวกฮูตีเป็นผู้รับผิดชอบการโจมตีครั้งนี้จริงๆ พวกเขาก็น่าที่จะได้รับไฟเขียวจากเตหะรานก่อนสำหรับการโจมตีที่มีความสำคัญขนาดนี้ หรือว่าบางที กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน (Iran’s Revolutionary Guard Corps) ซึ่งแต่ไหนแต่ไรก็ไม่ได้เคยชื่นชอบอะไรนักหนาในเรื่องการรอมชอมกับสหรัฐฯ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการทำให้แน่ใจได้ว่าการพบปะหารือระดับสูงใดๆ ก็ตามที เคียงข้างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาตินั้น จะต้องไม่เกิดขึ้นมา

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหนแน่ก็ตามที จวบจนกระทั่งถึงวันจันทร์ (16 ก.ย.) คณะบริหารทรัมป์ก็กำลังถอยห่างออกจากถ้อยคำวาจาแบบแสดงความเป็นปรปักษ์กับอิหร่านอย่างโจ่งแจ้ง [14] การขาดหายไปของโบลตันอาจจะมีผลอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นไปได้มากกว่าก็คือ มันสะท้อนสถานการณ์ที่เป็นจริงซึ่งกำลังเกิดขึ้นในอ่าวเปอร์เซีย

บริบทภายใต้สถานการณ์ใหญ่

เมื่อตอนที่ซาอุดีอาระเบียเปิดฉากทำสงครามของตนในเยเมนในปี 2015 นั้น สถาปนิกของการรณรงค์คราวนี้ ซึ่งก็คือ เจ้าชายมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) ดูเหมือนคิดว่ามันจะเป็นของกล้วยๆ [15] แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกฮูตีกลับดำเนินการต่อต้านขัดขืนอย่างเหนียวแน่นเหลือเกิน

กบฏกลุ่มนี้ ศรัทธาในรูปแบบหนึ่งของอิสลามนิกายชีอะต์ ที่มีความแตกต่างตัดแย้งกับชาวซาอุดีฯที่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดทีเดียวเป็นอิสลามนิกายสุหนี่ ตลอดจนแตกต่างตัดแย้งกับพวกตัวแทนของซาอุดีฯที่เป็นชาวสุหนี่ในเยเมน พวกเขายังคงสามารถควบคุมเมืองหลวงซานา [16] ตลอดจนที่ราบสูงทางภาคเหนือ และพื้นที่แถบหนึ่งของชายฝั่งทะเลแดงเอาไว้ได้ พวกเขามีความรู้สึกมั่นอกมั่นใจจนถึงขนาดที่ในระยะหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เริ่มต้นจัดตั้งคณะทูตของตนเองขึ้น โดยที่คณะทูตชุดแรกของพวกเขาถูกส่งไปประจำที่อิหร่าน

แต่พัฒนาการซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดในระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ความแตกแยกกันภายในกลุ่มพันธมิตรต่อต้านฮูตี นั่นคือระหว่างซาอุดีอาระเบีย กับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ยูเออีนั้นมุ่งเน้นหนักมากกว่าไปที่เรื่องการปิดล้อมสกัดกั้นอิทธิพลของอิหร่าน แทนที่จะโฟกัสอยู่กับการผลักดันให้อิทธิพลนี้ถอยหลังกลับไป –และแน่นอนทีเดียวว่า ยูเออีไม่ได้ต้องการทำสงครามกับเตหะราน

ย้อนหลังไปในเดือนกรกฎาคม ยูเออีประกาศว่าจะถอนทหารของตนออกจากเยเมน [17] แต่ยังคงให้ความสนับสนุน [18] กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่อยู่ทางภาคใต้ของเยเมนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในกลางเดือนสิงหาคม ได้ยกกำลังเข้ายึดครองเมืองท่าเอเดน จากกองกำลังส่วนที่ซาอุดีฯหนุนหลังอยู่

ถึงแม้เยเมนต้องเผชิญกับความลำบากทุกข์ยากต่างๆ ทั้ง ภัยอดอยาก, ภัยแล้ง, โรคอหิวาต์ระบาด อยู่แล้ว แต่นั่นดูเหมือนยังไม่เพียงพอ เวลานี้สงครามกลางเมืองของพวกเขาทำท่าจะยิ่งบานปลายซับซ้อนจนกลายเป็นการพิพาทกันระหว่างหลายๆ กลุ่มหลายๆ ฝ่ายซึ่งยากแก่การไกล่เกลี่ยปรองดองมากขึ้นไปอีก

ในสถานการณ์เช่นนี้ พวกฮูตีอาจจะรู้สึกมีความมั่นอกมั่นใจมากขึ้นว่าพวกเขาสามารถบังคับให้ฝ่ายซาอุดีฯต้องเจริญรอยตามตัวอย่างของยูเออี มันไม่ใช่ว่าเป็นเพราะเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน จำเป็นที่จะต้อง “ยอมตัดขาดทุน” แล้วหรอก แต่เนื่องจากสงครามนี้กำลังกลายเป็นภัยคุกคามแผนการต่างๆ อันใหญ่โตมโหฬารของพระองค์ที่จะเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบีย

การที่ริยาดจะทุ่มเทเงินทองเข้าไปในหล่นโคลนข้างๆ บ้าน (ด้วยความช่วยเหลือจากผู้เสียภาษีอากรในสหรัฐฯ [19]) ย่อมเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การที่ริยาดจะนำเอากิจการน้ำมันและแก๊ส ซึ่งเป็นตัวทำเงินอย่างมากมายมหาศาล คิดเป็นประมาณ 50% ของจีดีพีซาอุดฯ และเป็นประมาณ 70% ของรายได้จากการส่งออกของราชอาณาจักรแห่งนี้ [20] ไปอยู่ภายใต้พิสัยการยิงของข้าศึกศัตรู นั่นย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากนั้นแล้ว จากการที่ประสบความล้มเหลวอย่างน่าเศร้า โดยไม่สามารถปราบปรามเอาชนะเยเมน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกได้สำเร็จ ซาอุดีอาระเบียก็อาจจะต้องหันมาขบคิดพิจารณาอีกครั้ง ในเรื่องที่จะเผชิญหน้ากับอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการทหารในระดับค่อนข้างใหญ่โตทีเดียว

ขณะเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ก็กำลังพบว่ามันเป็นเรื่องลำบากยากเย็นยิ่งขึ้นไปอีกที่สหรัฐฯจะยุติการเกี่ยวข้องพัวพันในสงครามต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ การเจรจากับกลุ่มตอลิบานตกอยู่ในภาวะชะงักงัน ทำให้เวลานี้เรื่องการถอนทหารสหรัฐฯออกไปจากอัฟกานิสถานจึงไม่ใช่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมองเห็นได้อยู่รำไรอีกต่อไปแล้ว ไม่เพียงแต่ทหารสหรัฐฯยังคงต้องอยู่ในซีเรียต่อไปเท่านั้น หากยังจะต้องมีการส่งเพิ่มเติมเข้าไปอีกในไม่ช้าไม่นานต่อจากนี้ [21] และถึงแม้รัฐสภาแสดงความประสงค์ที่จะให้สหรัฐฯถอนตัวออกมาจากเยเมน แต่ท่านประธานาธิบดีก็ยังคงวีโต้ไม่เอาด้วยกับร่างกฎหมายนี้

แม้กระทั่ง ทรัมป์คนทึ่ม (thick-headed Trump) ก็ควรที่จะสามารถรับรู้ข่าวสารนี้ได้แล้ว กล่าวคือ หากเกิดสงครามกับอิหร่าน มันก็จะทำให้การสู้รบขัดแย้งที่กล่าวมาเหล่านี้กลายเป็นเพียงแค่การออกไปเดินเล่นในป่าเท่านั้นเอง พวกที่ปรึกษาของเขายังกำลังเตือนเขาว่าสงครามเช่นนี้จะสร้างความเสียหายหนักให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้โอกาสที่เขาจะได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งมืดมนลงไป นี่บางทีอาจจะเป็นคำเตือนเพียงอย่างเดียวที่ทรัมป์สามารถเข้าอกเข้าใจได้

หลังจากโบลตัน

ไมค์ พอมเพโอ ก็ไม่ได้เป็นคนกระหายสงครามน้อยไปกว่า จอห์น โบลตัน เลย เขายังเคยมีความสงสัยข้องใจยิ่งเสียกว่าโบลตันนักหนาในเรื่องที่ว่าทรัมป์มีความเหมาะสมที่จะเป็นประธานาธิบดีหรือ โดยบุคคลผู้ที่จะขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในอนาคตนี้ ได้เคยเปิดเผยถึงความข้องใจเช่นนี้ ระหว่างไปรณรงค์หาเสียงช่วย มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) ในช่วงการเลือกตั้งไพรมารี เพื่อหาตัวผู้ที่จะได้เป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016

แต่ความสงสัยข้องใจเหล่านี้เวลานี้ได้สูญหายไปหมดแล้ว อย่างที่ ซูซาน แกลสเซอร์ (Susan Glasser) เขียนเอาไว้ในคอลัมน์ “โปรไฟล์” (Profile) ของเธอในนิตยสาร “นิวยอร์กเกอร์” (New Yorker) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ใช้หัวเรื่องว่า “The Secretary of Trump” [22] กล่าวคือ พอมเพโอนั้นโดยสาระสำคัญแล้วมีลักษณะความเป็นคนของบริษัท เป็นคนของกลุ่มที่ตนเองสังกัด เขามีความพากเพียรอย่างสูงที่จะทำให้ทัศนะความคิดเห็นของตนสอดคล้องเข้ากันได้กับของประธานาธิบดีของเขา

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าทรัมป์ตัดสินใจไม่เปิดการโจมตีอิหร่าน พอมเพโอก็จะกระทำตามโดยไม่มีการประท้วงต่อต้านใดๆ

เวลาเดียวกันนี้ ประธานาธิบดีผู้นี้ก็ได้คัดเลือกตัวบุคคลที่จะเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่ของเขาแล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากลำบากที่จะหาใครสักคนซึ่งเป็นผู้นิยมการใช้กำลังทหารอย่างไม่บันยะบันยังเหมือนอย่างโบลตัน กระนั้นทรัมป์ก็ใช้ความอุตสาหะเจาะลึกลงไปภายในฝูงเหยี่ยวร้ายของเขา เพื่อเฟ้นหาใครสักคนที่มีความคลั่งไคล้อย่างไม่ย่นระย่อ กับ การอุทิศตนยอมรับใช้เยี่ยงทาส ผสมผสานกันอย่างลงตัวโดดเด่น

ในรายชื่อซึ่งอยู่ในบัญชีฉบับคัดสรรแล้วของเขา มีอาทิ เฟรด เฟลตซ์ (Fred Fleitz) [23] หัวหน้าเจ้าหน้าที่คนก่อนของโบลตัน ซึ่งเวลานี้เป็นผู้นำของ “ศูนย์เพื่อนโยบายความมั่นคง” (Center for Security Policy) คลังความคิด (think tank) ที่มีแนวทางหวาดกลัวระแวงสงสัยอิสลาม และอุทิศตนให้แก่การแพร่กระจายพวกทฤษฎีสมควบคิดทั้งหลาย จากนั้นก็มี คีธ เคลล็อกก์ (Keith Kellogg) พลโทเกษียณอายุซึ่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และก็เป็นผู้มีบทบาทแกนกลางในความพยายามที่จะยุยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในเวเนซุเอลา [24] รวมทั้งยังมีความโดดเด่นอย่างน่าสงสัยข้องใจ จากการเคยทำหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานของ พอล เบรเมอร์ (Paul Bremer) ในสำนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ยึดครองของสหรัฐฯในอิรัก (U.S. occupation authority in Iraq)

แต่ผู้ที่ได้รับการผงกศีรษะตกลงจริงๆ จากทรัมป์ กลับเป็น นักเจรจาต่อรองช่วยตัวประกัน โรเบิร์ต โอไบรเอน (Robert O’Brien) นี่ดูเหมือนเป็นการเลือกตัวบุคคลที่มีความเหมาะสมทางด้านการทูตและปลอดภัยไร้ปัญหา โอไบรเอนเป็นนักกฎหมายที่ครั้งหนึ่งเคยทำงานอยู่ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง โอไบรเอนก็เป็นผู้คัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านอย่างดุเดือดเลือดพล่าน โดยที่เขาขนานนามให้ข้อตกลงนี้ว่า เป็น “การประจบเอาใจอย่างโจ่งแจ้ง” (rank appeasement) เมื่อตอนที่มีการประกาศแต่งตั้ง จอห์น โบลตัน อดีตเพื่อนร่วมงานของเขา ให้นั่งตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาตินั้น เขาได้พูดเอาไว้ [25] ดังนี้:

ถ้าคุณเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และคุณต้องการทำให้ทีมงานของคุณสามารถเจรจาต่อรองได้ล่ะก้อ บุคคลที่เป็นนักกฎหมายผู้ยอดเยี่ยมที่สุดที่จะหาได้ บุคคลที่เป็นมืออาชีพดีที่สุดด้านนโยบายการต่างประเทศที่จะหาได้ ก็คือ จอห์น โบลตัน เขาจะเป็นผู้ยกระดับความจริงจัง, ประสบการณ์, ความรอบรู้อย่างลึกซึ้ง, แต่เวลาเดียวกันก็มีทักษะความเชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรองอย่างดึงดันและเหนียวแน่นเข้มแข็ง

ผมหมายความว่า ฝ่ายอิหร่านนั้นเป็นนักเจรจาต่อรองที่ดีมาก พวกเขาสามารถทำให้เรากลายเป็นคนตามล้างตามเช็ดให้พวกเขา ด้วยข้อตกลง (นิวเคลียร์) อิหร่าน ฝ่ายเกาหลีเหนือก็กำลังทำอย่างเดียวกันนี้มาหลายปีแล้ว และทำให้ประธานาธิบดีหลายต่อหลายคนกลายเป็นคนตามล้างตามเช็ดให้พวกเขา แต่ไม่มีใครที่จะสามารถทำให้ จอห์น โบลตัน กลายเป็นคนตามล้างตามเช็ดได้หรอก ในการเจรจาต่อรองกัน


เมื่อมี โอไบรเอน เข้ามาร่วมในทีมงาน คณะบริหารทรัมป์ก็สามารถที่จะพึ่งพาอาศัยเพื่อสืบต่อดำเนินนโยบายแบบศัตรูอย่างโจ่งแจ้ง ต่อกลุ่มประเทศที่ถูกเลือกสรรแล้วว่าเป็นพวกจัณฑาล อย่างเช่นอิหร่าน, ต่อพวกชาติพันธมิตรที่ไม่ยอมยืนเข้าแถวทำตามกฎเกณฑ์ที่สหรัฐฯต้องการ, และต่อแนวความคิดพหุนิยมโดยทั่วไป โบลตันจะไม่ได้เป็นผู้กุมบังเหียนเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ และไม่มีโอกาสใช้ความพยายามที่จะดันประธานาธิบดีทรัมป์ให้หันไปทางนี้หันไปทางนั้นอีกต่อไปแล้ว

แต่โลกทัศน์แบบฮึกเหิมก้าวร้าวของโบลตัน ซึ่งทั้งโอไบรเอนและพอมเพโอต่างเห็นดีเห็นงามด้วยนั้น ก็ยังคงเป็นระบบปฏิบัติการพื้นฐานของคณะบริหารทรัมป์อยู่นั่นเอง

จดจำไว้ให้จงดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้อยู่ห่างเพียงแค่ 10 นาทีจากการทำสงครามกับใครสักรายหนึ่งอยู่เรื่อยๆ นั่นแหละ

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก Foreign Policy In Focus (FPIF) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://fpif.org/the-threat-of-bolton-has-receded-but-not-the-threat-of-war/

จอห์น เฟฟเฟอร์ เป็นผู้อำนวยการของ Foreign Policy In Focus (FPIF) และเป็นผู้เขียนนวนิยายแนวดิสโทเปียเรื่อง Frostlands โดยที่ FPIF เป็นโครงการหนึ่งของ สถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies หรือ IPS) คลังความคิดหัวก้าวหน้า ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน

เชิงอรรถ
[1] https://theweek.com/speedreads/864129/among-john-boltons-fatal-demerits-suspected-leaking
[2] https://fpif.org/the-bolton-administration-has-already-begun/
[3] https://www.washingtonpost.com/world/national-security/bolton-promises-no-troop-withdrawal-from-syria-until-isis-contained-kurds-safety-guaranteed/2019/01/06/ee219bba-11c5-11e9-b6ad-9cfd62dbb0a8_story.html
[4] https://www.wsj.com/articles/afghan-government-praises-trump-suspension-of-u-s-taliban-negotiations-11567956075
[5] https://abcnews.go.com/Politics/president-trump-ordered-military-strike-iran-reversed-sources/story?id=63853570
[6] https://www.cnn.com/2019/09/17/middleeast/saudi-attack-iran-base-intl/index.html
[7] https://www.meforum.org/59323/saudi-arabia-is-losing-yemen-to-iran
[8] https://twitter.com/KateKizer/status/1173212192667328518?s=20
[9] https://www.bbc.com/news/world-middle-east-49733558
[10] https://www.al-monitor.com/pulse/originals/2019/07/yemen-houthis-drone-attacks-saudi-arabia-uae-iran.html
[11] https://nationalinterest.org/blog/buzz/houthis-have-arsenal-ballistic-and-cruise-missiles-some-north-korea-81176
[12] https://www.theguardian.com/commentisfree/2019/sep/18/iran-saudi-attack-nuclear-deal-us
[13] https://www.washingtonpost.com/world/2019/09/17/billions-spent-us-weapons-didnt-protect-saudi-arabias-most-critical-oil-sites-crippling-attack/
[14] https://www.aljazeera.com/news/2019/09/trump-avoid-war-iran-190916195626441.html
[15] https://www.theamericanconservative.com/articles/washington-has-become-an-accomplice-to-murder/
[16] https://www.ecfr.eu/mena/yemen
[17] https://foreignpolicy.com/2019/08/01/why-the-united-arab-emirates-is-abandoning-saudi-arabia-in-yemen/
[18] https://www.theguardian.com/world/2019/sep/09/saudi-arabia-and-uae-in-joint-bid-to-end-further-yemen-conflict
[19] https://www.theatlantic.com/politics/archive/2018/12/pentagon-refueling-controversy-saudi-led-war-yemen/577666/
[20] https://www.opec.org/opec_web/en/about_us/169.htm
[21] https://www.cnn.com/2019/09/12/politics/us-troops-syria-turkey/index.html
[22] https://www.newyorker.com/magazine/2019/08/26/mike-pompeo-the-secretary-of-trump
[23] https://rightweb.irc-online.org/profile/frederick-fleitz/
[24] https://www.reuters.com/article/us-usa-trump-nationalsecurity/short-list-to-replace-bolton-includes-some-familiar-white-house-faces-idUSKCN1VW2LF
[25] https://www.hughhewitt.com/robert-c-obrien-long-time-colleague-of-ambassador-john-bolton-on-president-trumps-selection-of-bolton-for-the-nsa/
กำลังโหลดความคิดเห็น