เอเจนซีส์ - อิหร่านเตือนสหรัฐฯว่า ตนจะตอบโต้เอาคืน “ทันที” ถ้าหากเตหะรานตกเป็นเป้าหมายถูกเล่นงาน สืบเนื่องจากเหตุการณ์โจมตีโรงงานสิ่งปลูกสร้างด้านน้ำมัน 2 แห่งของซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ริยาดเตรียมแถลงข่าวในวันพุธ (18 ก.ย.) โดยคาดกันว่ามุ่งโชว์หลักฐานมัดอิหร่านเป็นตัวการอยู่เบื้องหลังการถล่มโจมตีที่เกิดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วน ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็กำลังเดินทางไปยังซาอุดีฯ เพื่อหารือแนวทางในการตอบโต้ ซึ่งสื่ออเมริกันรายงานว่า อาจรวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ หรือโจมตีโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันหรือกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน
สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอ ของทางการอิหร่านรายงานในวันพุธ (18) ว่า อิหร่านได้ส่งบันทึกชิ้นหนึ่งไปให้แก่สหรัฐฯ โดยผ่านคณะนักการทูตของสวิตเซอร์แลนด์ในกรุงเตหะรานตั้งแต่วันจันทร์ (16) เพื่อย้ำว่าเตหะรานปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันที่อิบกอยก์ และบ่อน้ำมันพร้อมสิ่งปลูกสร้างด้านแปรรูปน้ำมันที่คูไรส์ ของซาอุดีอาระเบียเมื่อตอนเช้ามืดวันเสาร์ (14) ทั้งนี้สวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของสหรัฐฯในอิหร่าน ในช่วงที่ประเทศทั้งสองตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกันมายาวนานหลายสิบปี
“ถ้ามีการปฏิบัติการต่อต้านอิหร่านใดๆ ก็ตามเกิดขึ้นมา การปฏิบัติการดังกล่าวก็จะเผชิญกับการตอบโต้ของอิหร่านในทันที” ไออาร์เอ็นเออ้างข้อความในบันทึกดังกล่าว พร้อมบอกด้วยว่าการตอบโต้ของอิหร่านนั้นจะไม่จำกัดเฉพาะแค่ต่อแหล่งที่มาของภัยคุกคาม ซึ่งบ่งชี้ว่าเตหะรานจะสร้างความเสียหายให้มากกว่าที่ตนเองได้รับ
สำหรับซาอุดีอาระเบียซึ่งสู้รบกับกบฎฮูตีในเยเมนที่อิหร่านให้การสนับสนุนมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ที่ผ่านมาแม้ระบุว่า อาวุธที่ใช้ในการโจมตีโรงงานสิ่งปลูกสร้างด้านน้ำมันทั้ง 2 แห่งของตน เป็นอาวุธผลิตในอิหร่าน แต่ยังไม่ได้ระยุกล่าวหาเตหะรานโดยตรง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมซาอุดีฯมีกำหนดแถลงข่าวในช่วงบ่ายวันพุธ (18) ตามเวลาท้องถิ่น (ประมาณ 21.30 น. ตามเวลาไทย) เพื่อแสดงผลการสอบสวนขั้นสุดท้ายและหลักฐานจากบริเวณที่ถูกโจมตี ซึ่งรายงานข่าวกล่าวว่าเป็นสิ่งที่พิสูจน์ยืนยันว่า อิหร่านมีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อการร้ายดังกล่าวที่ทำให้ผลผลิตน้ำมันของซาอุดีฯ ขาดหายไปทันทีถึงครึ่งหนึ่ง และส่งให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งทะยาน
เมื่อคืนวันอังคาร (17) เจ้าชายอับดุลลาซิส บิน ซัลมาน รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีฯ แถลงว่า คณะเจ้าหน้าที่สอบสวนนานาชาติจากสหประชาชาติ จะเข้าร่วมการสอบสวนการโจมตีด้วย พร้อมกันนี้เขายืนยันว่า กำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดีฯจะกลับคืนสู่ระดับปกติได้ในปลายเดือนนี้
ขณะเดียวกัน พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งออกเดินทางจากสหรัฐฯตั้งแต่วันอังคาร มีกำหนดพบกับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ของซาอุดีฯ ในวันพุธ เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้การโจมตีซึ่งอเมริกาเชื่อว่า มาจากอิหร่าน
ด้านรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ย้ำคำพูดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ว่า อเมริกาไม่อยากทำสงครามกับใคร แต่ก็ได้ล็อกเป้าและบรรจุกระสุนพร้อมปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและพันธมิตรแล้ว
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้หนึ่งเผยว่า คณะบริหารของทรัมป์มีข้อสรุปแล้วว่า การโจมตีเมื่อวันเสาร์ (14) เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธจากอิหร่าน และจะนำหลักฐานไปแสดงในการประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นในสัปดาห์หน้า
เวลาเดียวกัน ฝ่ายข่าวของเครือข่ายทีวีเอ็นบีซี รายงานว่า คณะบริหารของทรัมป์กำลังพิจารณาการตอบโต้ ซึ่งรวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ หรือการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันหรือกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน
ท่าทีที่แข็งกร้าวของอเมริกาเกิดขึ้นขณะที่อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ประกาศว่า จะไม่เจรจากับวอชิงตันในทุกระดับ เว้นแต่สหรัฐฯ กลับมายอมรับข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำร่วมกับเตหะรานและมหาอำนาจอีก 5 ชาติเมื่อปี 2015
ทางด้านทรัมป์ระบุว่า ไม่คิดจะพบกับประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานีของอิหร่าน ระหว่างการประชุมยูเอ็นในสัปดาห์หน้าเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น รูฮานียังปฏิเสธข้อกล่าวหาของซาอุดีฯ และอเมริกาเรื่องการโจมตีโรงกลั่นและบ่อน้ำมันของริยาด โดยบอกว่า เป็นความพยายามเพิ่มความกดดันสูงสุดด้วยการใส่ร้ายป้ายสี พร้อมโทษวอชิงตันและพันธมิตรในอ่าวเปอร์เซียว่า เป็นต้นเหตุสงครามในเยเมน
ทั้งนี้ กลุ่มกบฎฮูตีได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบในการโจมตีเมื่อวันเสาร์ ทว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ผู้หนึ่ง แย้งว่า ฮูตีอ้างว่า ใช้โดรน 10 ลำโจมตี ทว่าจุดเกิดเหตุแห่งหนึ่งได้ถูกโจมตีอย่างน้อยถึง 17 ครั้ง และอีกแห่งถูกโจมตี 2 ครั้งด้วยขีปนาวุธแบบทิ้งตัว
นอกจากนั้นโดรนและขีปนาวุธที่ใช้ในการโจมตียังเป็นประเภทที่ซับซ้อนกว่าที่คาดไว้เดิม รวมทั้งเมื่อพิจารณาจากระยะทางไกลขนาดนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะยิงมาจากเยเมน
เจ้าหน้าที่คนเดิมเพิ่มเติมว่า การโจมตีมีที่มาจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน
อย่างไรก็ดี พวกผู้สังเกตการณ์ระบุว่า ประสบการณ์อันเลวร้ายในเยเมนที่แม้ซาอุดีฯมีอาวุธเหนือชั้นกว่า แต่ยังไม่สามารถกำจัดกบฎฮูตีได้สำเร็จ ทำให้ริยาดคิดหนักในการเข้าสู่สงครามความขัดแย้งครั้งใหม่ที่มีขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก
เจ้าชายคาลิด บิน บันดาร์ เอกอัครราชทูตซาอุดีฯ ประจำลอนดอน ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุโทรทัศน์บีบีซีว่า แม้เกือบเป็นที่แน่นอนแล้วว่า อิหร่านอยู่เบื้องหลังการโจมตี แต่ริยาดพยายามไม่ตอบโต้เร็วเกินไปเพราะสิ่งสุดท้ายที่ต้องการคือการเพิ่มความขัดแย้งในตะวันออกกลาง