xs
xsm
sm
md
lg

'รัสเซีย'กับ'จีน'ต่างกำลังกว้านซื้อ'ทองคำ'เข้าคลัง

เผยแพร่:   โดย: ดีเอ็ม ชาน


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Gold fever: Russia and China shore up reserves
By DM Chan
11/09/2019

จีนซื้อทองคำเข้าคลังเป็นจำนวน 100 ตันตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา ส่วนรัสเซียซื้อแล้ว 106 ตันภายในปีนี้ พวกนักวิเคราะห์บอกว่า การกว้านซื้อทองอย่างดุดันของ 2 ชาตินี้ เหตุผลเบื้องหลังคือความพยายามที่จะทำลายฐานะความเป็นเจ้าเหนือใครๆ ในโลกของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

เจ้าโลหะสีเหลืองอร่ามนี้ ไม่ได้สร้างเงินสดใดๆ ออกมา, ไม่ได้เจริญเติบโตเป็นพืชพรรณใดๆ ขึ้นมา, ไม่ได้ให้ร่มเงาพักพิงใดๆ , แล้วก็ไม่ได้ให้บริการที่มีคุณประโยชน์เพื่อการใช้สอยใดๆ นอกจากนั้นมันก็ไม่ได้มีฐานะเป็นเงินตราอย่างเป็นทางการมาหลายสิบปีแล้ว นี่เป็นคำพูดของ เบรตต์ อาเรนดส์ (Brett Arends) แห่งมาร์เก็ตวอตช์ (Market Watch) เว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารทางการเงินชื่อดังสัญชาติอเมริกัน

มันไม่ได้มีสภาพเป็น “แหล่งพักพิงที่มีความปลอดภัย” อะไรทั้งสิ้น เนื่องจากตัวมันเองก็ดูเหมือนดิ่งวูบลงมาหรือพุ่งสูงขึ้นไปอยู่เสมอครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่ก็นั่นแหละ เวลานี้เจ้าทองคำเหลืองอร่ามนี่กำลังกลายเป็นของที่น่าเพลิดเพลินสนุกสนาน เนื่องจากราคาของมันกำลังไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างคึกคักเชียวแหละ ด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งไม่มีข้อใดเป็นเหตุผลปกติธรรมดาเลย

เวลานี้ จีน กับ รัสเซีย ต่างกำลังสะสมทองเอาไว้ในคลังมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำลังช่วยขับดันราคาของโลหะมีค่านี้ให้ขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบระยะเวลากว่า 6 ปี ทั้งนี้ตามรายงานของทีวี ฟ็อกซ์บิสซิเนส (Fox Business)

ธนาคารกลางของจีน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (The People’s Bank of China) ซื้อทองเพิ่มเข้าไปในคลังของตนอีกประมาณ 100 ตันนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ขณะที่ธนาคารกลางรัสเซียได้ซื้อโลหะมีค่านี้ไป 106 ตันเฉพาะในปีนี้

“พวกเขาสามารถอ่านคำทำนายอนาคตล่วงหน้าได้” ปีเตอร์ ชิฟฟ์ (Peter Schiff) ซีอีโอ ของ ยูโร แปซิฟิก แคปิตอล (Euro Pacific Capital) บอกกับ ฟ็อกซ์บิสซิเนสส์ พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า ทั้งสองประเทศนี้ “กำลังเตรียมตัวสำหรับโลกที่เงินดอลลาร์จะไม่ใช่สกุลเงินตราเพื่อการสำรองอีกต่อไปแล้ว”

จีนเวลานี้มีทองคำสำรองอยู่ในครอบครองมากกว่า 1,950 ตัน รัสเซียมีมากกว่า 2,200 ตัน และมีเก็บอยู่ในคลังสะสมใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกเมื่อนับกันเป็นรายประเทศ

การกว้านซื้อทองของปักกิ่ง บังเกิดขึ้นในขณะที่แดนมังกรมีความกระตือรื้อล้นลดน้อยลงในการซื้อพันธบัตรของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ดุเดือดบานปลายออกไปทุกที ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปักกิ่งหล่นลงมาเป็นอันดับ 2 ตามหลังญี่ปุ่นแล้วในฐานะประเทศผู้ถือครองหนี้สินสหรัฐฯรายใหญ่ที่สุดของโลก หลังจากที่ได้ครองแชมป์ในเรื่องนี้ตลอดมานับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2017

เวลาเดียวกันนั้น รัสเซียได้เพิ่มการครอบครองทองคำเป็นปริมาณกว่า 4 เท่าตัวในช่วงเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางคำมั่นสัญญาของมอสโกที่ว่าจะเลิกการพึ่งพาอาศัยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ความไม่แน่นอนอันเกิดจากสงครามการค้า และความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของเศรษฐกิจโลก ก็เป็นปัจจัยมีส่วนช่วยขับดันราคาทองให้ขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 6 ปี โดยที่โลหะมีค่าชนิดนี้มีราคาเพิ่มขึ้นเกือบๆ 18% ในปีนี้ และในเดือนที่แล้วก็ทะลุหลัก 1,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นครั้งแรกภายหลังจากเดือนเมษายน 2013

“ราคาของพวกโลหะมีค่าดูทำท่าจะยังคงขยายเพิ่มขึ้นไปอีก กระนั้นก็ดี การที่ราคาขยับสูงในระยะหลังๆ มานี้ก็ยังดูเหมือนจะเกินเลยไป” นี่เป็นข้อเขียนของทีมนักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ ณ แคปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการเงินแห่งนี้คาดการณ์ว่าราคาทองจะเคลื่อนไหวอยู่ระดับแถวๆ 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปตลอดช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้

การที่จีนเข้าซื้อทองคำนั้น มาร์เก็ต วอตช์ ให้ความเห็นว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่มีเหตุผลอันชัดเจน

กล่าวคือ จีนต้องการที่จะทำลายฐานะความเป็นเจ้าเหนือกว่าใครๆ ในระดับโลกของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ --เป็นฐานะความเป็นเจ้าเหนือกว่าใครๆ ซึ่ง อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ชาร์ลส์ เดอ โกล (Charles de Gaulle) เคยเรียกว่า เป็น “อภิสิทธิ์ที่มากเกินไป” ของอเมริกา

จีนยังต้องการที่จะทำให้สกุลเงินตราของตนเอง ซึ่งก็คือ เหรินหมินปี้ หรือ หยวน กลายเป็นผู้เล่นระดับโลกรายหนึ่ง การมีทุนสำรองเป็นทองคำน่าที่จะทำให้โลกมีความมั่นอกมั่นใจมากขึ้นในสกุลเงินตราของจีน

แต่ว่า จีนกับรัสเซียจำเป็นจริงๆ หรือที่จะต้องสะสมโลหะสีเหลืองอร่ามชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น ในการทำลายอำนาจควบคุมระบบการเงินโลกอย่างชนิดดิ้นไม่หลุดของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ?

พวกเขาไม่สามารถที่จะเพียงแค่ออกเงินตราใหม่ๆ ซึ่งหนุนหลังโดยผลผลิตทางเศรษฐกิจของพวกเขา แบบเดียวกับที่ยุโรปเคยทำเมื่อตอนที่พวกเขาออกสกุลเงิน “ยูโร” เมื่อ 20 ปีก่อนหรือ ?

อาจจะได้ หรืออาจจะไม่ได้ ทว่าอย่างไรเสียสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ก็ดูเหมือนจะเป็นหนทางที่พวกเขาคิดว่าจะใช้ได้ผล
กำลังโหลดความคิดเห็น