xs
xsm
sm
md
lg

FOCUS: วิกฤตการเมืองฮ่องกงทำคน'บ้านแตก' พ่อแม่ลูกแบ่งข้างจะเลือก'ปักกิ่ง' หรือ'ตะวันตก'

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>(ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2019) “เจน” หญิงสาวชาวฮ่องกงวัย 24 ปี โพสให้ถ่ายภาพภายหลังจากให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีในฮ่องกง  เธอเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า กระแสการประท้วงในฮ่องกงกำลังก่อให้เกิดความแตกแยกภายในครอบครัว </i>
เอเอฟพี/MGRออนไลน์ – วิกฤตการเมืองกำลังสร้างรอยร้าวลึกในหลายครอบครัวของฮ่องกง จากอุดมการณ์คนละขั้วของฝ่ายพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ที่มักเห็นดีเห็นงามกับปักกิ่งรวมทั้งอานิสงส์ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน กับคนรุ่นหนุ่มสาวที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตยแบบตะวันตก

ตัวอย่างเช่น “เจน” หญิงสาววัย 24 ปี เธอปิดเงียบไม่ให้แม่ทราบ เรื่องไปร่วมชุมนุมประท้วงมาหลายสัปดาห์ โดยโกหกแม่ว่า ในเป้มีแต่หนังสือ ไม่ใช่เสบียงและอุปกรณ์การประท้วง จนกระทั่งวันหนึ่งความแตกแยกด้านอุดมการณ์ลุกลามจนเธอต้องย้ายออกจากบ้าน

ขณะที่ผู้คนเรือนล้านในฮ่องกง เข้าร่วมการชุมนุมเดินขบวนที่ดำเนินต่อเนื่องมาจนครบ 100 วันแล้ว เพื่อประท้วงเสรีภาพครึ่งๆ กลางๆ ภายใต้การปกครองของปักกิ่ง “เจน” พบว่า ตัวเองทะเลาะกับแม่รุนแรงขึ้น

“ทุกครั้งที่ทะเลาะกัน แม่จะไม่พูดกับฉันตลอดอาทิตย์ แฟลตฮ่องกงเล็กเท่ารูหนู เราสองคนแม่ลูกมีแค่ผนังกั้น เพราะอย่างนั้นฉันเลยจำใจต้องย้ายออกมา” เจน เล่า

“เราอยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิต เรามีกันแค่สองคน แต่แม่ไม่สนับสนุนฉัน ฉันรู้สึกอ่อนแอไม่มีแรง”

เจน บอกว่า เธอเป็นพวกสายกลาง ไม่ใช่พวกที่อยู่แถวหน้าปะทะกับตำรวจหรือเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และยังบอกว่า เธอพยายามอธิบายเป้าหมายในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย แต่แม่ไม่ยอมฟัง

“แม่เชื่อแต่สิ่งที่จีนพูด แม่เชื่อว่าผู้ประท้วงรับเงินมาจากต่างชาติและเป็นพวกนักเลงหัวไม้ แม่ไม่เคยเชื่อฉันเลย”

ทั้งนี้ การประท้วงขนาดใหญ่ของฮ่องกงที่ดำเนินเรื่อยมาโดยบางครั้งลุกลามเป็นความรุนแรงนั้น มีหนุ่มสาวเป็นกลุ่มพลังหลัก

ชนวนเหตุการประท้วงคือการคัดค้านความพยายามของรัฐบาลท้องถิ่นในการแก้ไขกฎหมายที่จะอนุญาตให้ส่งผู้ร้ายไปรับการพิจารณาคดีในจีน แล้วต่อมาได้พัฒนาเป็นการเรียกร้องเสรีภาพตามแบบประชาธิปไตยตะวันตก และการสอบสวนการใช้ความรุนแรงของตำรวจ

นอกจากนั้นยังมีความไม่พอใจที่ปักกิ่งแทรกซึมเข้าควบคุมกิจการของฮ่องกงที่บัดนี้มีฐานะเป็นเขตบริหารพิเศษของจีน รวมทั้งยังไม่ยอมประนีประนอมกับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง คล้ายๆ กับเมื่อตอนที่หนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2014 ซึ่งในที่สุดก็ฝ่อไปเองโดยไม่ประสบความสำเร็จอะไร

ทั้งนี้ผลการวิจัยของนักวิชาการฮ่องกงพบว่า กว่าครึ่งของผู้ประท้วงระลอกล่าสุดนี้เป็นกลุ่มคนอายุระหว่าง 20-30 ปี และ 77% จบปริญญา

นอกจากนั้นผลสำรวจของมหาวิทยาลัยฮ่องกงยังพบว่า จำนวนคนฮ่องกงที่ประกาศตัวว่า ภาคภูมิใจที่เป็นพลเมืองจีนยังลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เหลือเพียง 27% และยิ่งน้อยลงไปอีกสำหรับคนอายุ 18-29 ปีคือ มีแค่ 10% เท่านั้น

ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ประกอบด้วยคนทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่พวก “ผมสีดอกเลา”

ในทางกลับกัน กลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนปักกิ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยและมีจำนวนน้อยกว่า

ผู้ประท้วงหนุ่มสาวจำนวนมากบอกว่า มีอุดมการณ์ไม่ลงรอยกับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่มักคิดว่า ฮ่องกงเจริญรุ่งเรืองขึ้นมากนับจากอังกฤษส่งคืนให้จีนในปี 1997 หรือไม่ก็วิตกในสิ่งที่ผู้นำเผด็จการในปักกิ่งอาจกระทำถ้าการประท้วงยังดุเดือดเข้มข้น
<i>(ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2019) “คริส” หนุ่มฮ่องกงที่เพิ่งเรียนจบและเริ่มงานด้านการเงินในธนาคารชั้นนำแห่งหนึ่ง  ขณะเข้าร่วมการชุมนุมเดินขบวนที่สถานกงสุลสหรัฐฯในฮ่องกง  ทั้งนี้ขณะที่คนรุ่นหนุ่มสาวในเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนแห่งนี้ ออกมาเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยฝักใฝ่ตะวันตก  คนรุ่นพ่อแม่จำนวนมากกลับเห็นดีเห็นงามกับทางปักกิ่ง </i>
สำหรับผู้ประท้วงหนุ่มสาวหลายคน การต่อสู้บนท้องถนนตามติดไปจนถึงโต๊ะอาหารในบ้าน

“แรกๆ เรายังนั่งกินกันเงียบๆ มันกดดันจนตอนนี้ผมเลือกที่จะไม่กลับบ้านจนกว่าจะแน่ใจว่า พ่อแม่เข้านอนแล้ว” คริส ที่เรียนจบเมื่อเร็วๆ นี้และเริ่มงานด้านการเงินในธนาคารชั้นนำแห่งหนึ่งเล่า

“ผมคิดว่า อาจเป็นเพราะการศึกษา พ่อแม่ผมเรียนจบจากจีนที่ไม่เคยสอนเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพ” เขายังเล่าว่า พ่อแม่แอบลงเรือหนีไปฮ่องกงในช่วงทศวรรษ 1990 เพราะต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“สิ่งที่พวกท่านต้องการคือความมั่นคงและฐานะความเป็นอยู่ที่ดี แต่ผมต้องการมากกว่านั้นและจะต่อสู้เพื่อให้ได้มา”

เขายังเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ครอบครัวที่เคยอยู่กันอย่างปกติสุขกลับกลายเป็นอยู่คนละข้าง เขารู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง จะพูดกับเพื่อนร่วมงานก็ไม่ไว้ใจ พูดกับพ่อแม่ก็โดนตวาดใส่

จูเลีย นักศึกษาวัย 19 ปี บอกว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่าในครอบครัวมีอุดมการณ์ที่ต่างขั้วกันมาก จนกระทั่งฤดูร้อนปีนี้ และเสริมว่า พ่อแม่ไม่ระแคะระคายว่า เธอเผชิญหน้ากับตำรวจปราบจลาจลเป็นประจำ

และหลังจากทะเลาะกันใหญ่โตเรื่องที่เธอสนับสนุนการประท้วง พ่อแม่ขู่ว่า จะเลิกให้เงินจูเลีย

“พวกท่านขู่ฉัน และในที่สุดฉันก็ตัดบัตรเครดิตทิ้งและเริ่มโกหกทุกอย่าง” และเสริมว่า ตอนนี้เธอทำงานพาร์ตไทม์ส่งเสียตัวเอง

ขณะเดียวกัน เจนย้ายไปอยู่บ้านเพื่อนหญิงของเธอที่แม้พ่อแม่จะไม่เห็นด้วยกับการประท้วงแต่ก็พยายามอย่างลำบากยากเย็นที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับความโน้มเอียงทางการเมืองของกันและกัน

“เราไม่เคยคุยกันเรื่องการเมือง ส่วนใหญ่เราคุยกันเรื่องแมวเท่านั้น แต่ฉันยังรู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่เปราะบางมาก” เธอทิ้งท้ายขำๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น