xs
xsm
sm
md
lg

ฮูตีอ้างเป็นคนถล่มโรงกลั่นน้ำมันซาอุฯ อุปทานน้ำมันโลกหด 5% คาดราคาพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเจนซีส์ – กลุ่มกบฎฮูตีในเยเมนที่มีอิหร่านหนุนหลัง ประกาศตัวเป็นผู้โจมตีโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งของซาอุดีอาระเบียเมื่อวันเสาร์ (14 ก.ย.) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะยานขึ้น เช่นเดียวกับความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ขณะที่ริยาดลั่นพร้อมและมีศักยภาพในการเผชิญหน้าและจัดการกับการรุกรานของกลุ่มก่อการร้าย ด้านอเมริกามั่นใจงานนี้ไม่ใช่ฮูตีแต่เป็นฝีมืออิหร่าน ย้ำพร้อมร่วมมือเพื่อรับประกันความมั่นคงของซาอุฯ

โฆษกกองทัพฮูตีแถลงโดยไม่แสดงหลักฐานว่า โดรน 10 ลำของตนเข้าโจมตีโรงกลั่นน้ำมันสองแห่งสำคัญทางภาคตะวันออกของซาอุฯ คืออับเคกและคูเรส ที่อยู่ห่างจากกรุงซานาของเยเมนกว่า 1,000 กิโลเมตรเมื่อช่วงเช้ามืดวันเสาร์

การโจมตีทำให้เกิดระเบิดไฟลุกท่วมและควันพวยพุ่งทั่วบริเวณ อารัมโกต้องระงับการผลิตในโรงกลั่นทั้งสองแห่งชั่วคราว โดยแถลงการณ์จากอารัมโก รัฐวิสาหกิจน้ำมันของซาอุฯ ระบุว่า การโจมตีดังกล่าวจะทำให้ผลผลิตน้ำมันของริยาดหายไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) หรือมากกว่า 5% ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากมีการโจมตีสถานที่ผลิตและจัดเก็บน้ำมัน รวมถึงเรือบรรทุกน้ำมันของซาอุฯ ทั้งในประเทศและในอ่าวเปอร์เซียหลายครั้งช่วงก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้ถือว่า ร้ายแรงที่สุดเนื่องจากทำให้การผลิตน้ำมันของซาอุฯ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก หยุดชะงักเป็นการชั่วคราว ซึ่งปัจจุบัน ริยาดส่งออกน้ำมันกว่า 7 ล้านบีพีดี และเป็นซัปพลายเออร์ที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของตลาดมานานหลายปี

ขณะเดียวกัน แม้กลุ่มฮูตีประกาศว่าเป็นผู้ลงมือโจมตี แต่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ระบุทางทวิตเตอร์ไม่มีหลักฐานว่าการโจมตีดังกล่าวมาจากเยเมน แต่เป็นอิหร่านที่เปิดการโจมตีแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่ออุปทานน้ำมันของโลก

ทางด้านมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซาลมาน ผู้ปกครองโดยพฤตินัยของซาอุฯ กล่าวกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างหารือทางโทรศัพท์ว่า ริยาดพร้อมและมีศักยภาพในการเผชิญหน้าและจัดการกับการรุกรานของกลุ่มก่อการร้าย

อเมริกาประณามการโจมตีล่าสุด และทรัมป์กล่าวกับมกุฎราชกุมารซาอุฯ ว่าวอชิงตันพร้อมร่วมมือเพื่อรับประกันความมั่นคงของริยาด

ขณะเดียวกัน ริก เพอร์รี รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐฯ แถลงว่า พร้อมนำคลังน้ำมันสำรองเชิงกลยุทธ์ออกมาใช้หากจำเป็น และกระทรวงฯ จะทำงานร่วมกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ประสานนโยบายพลังงานของประเทศอุตสาหกรรม หากจำเป็นต้องมีมาตรการระดับโลก

ซาอุฯ ผู้นำกลุ่มพันธมิตรชาติมุสลิมนิกายสุหนี่ที่เข้าแทรกแซงเยเมนในปี 2015 เพื่อขับไล่กบฏฮูตี กล่าวหาอิหร่าน ซึ่งเป็นชาติมุสลิมนิกายชีอะต์และศัตรูสำคัญว่า อยู่เบื้องหลังการโจมตีหลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่เตหะรานปฏิเสธเช่นเดียวกับข้อกล่าวหาติดอาวุธให้ฮูตี

พันเอก เตอร์กี อัล-มัลกี โฆษกกลุ่มพันธมิตรที่ริยาดเป็นแกนนำและได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก แถลงว่า ได้เริ่มการสอบสวนหาตัวผู้ที่วางแผนและก่อเหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของซาอุฯ ครั้งนี้แล้ว และเสริมว่า กลุ่มพันธมิตรจะดำเนินการเพื่อต่อต้านภัยคุกคามต่อความมั่นคงของพลังงานและเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก

อามิน นัสเซอร์ ประธานบริหารอารัมโกเผยว่า สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมและไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการโจมตี ผู้เห็นเหตุการณ์ยังเผยว่า ดูเหมือนบริษัทสามารถดับไฟในอับเคกได้แล้วตั้งแต่ช่วงค่ำวันเสาร์

ขณะที่เจ้าชายอับดุลลาซิส บิน ซาลมาน รัฐมนตรีพลังงานซาอุฯ กล่าวว่า อารัมโกจะเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมภายใน 48 ชั่วโมง และจะนำน้ำมันสำรองออกมาชดเชยส่วนที่ขาดหายไป โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนนำหุ้นออกขายต่อสาธารณชนครั้งแรก (ไอพีโอ) ซึ่งคาดว่า จะเป็นการทำไอพีโอที่มีมูลค่าสูงสุดของโลก

เจสัน บอร์ดอฟฟ์ ผู้บริหารศูนย์นโยบายพลังงานโลก มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเคยทำงานให้สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวว่า อับเคกอาจเป็นสถานที่ผลิตน้ำมันที่สำคัญที่สุดของโลก และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมากที่จะเกิดการตอบโต้ที่จะดันให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้นอีก

แอนดริว เมอร์ริสัน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เรียกร้องให้ฮูตีหยุดคุกคามพื้นที่พลเรือน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์ของซาอุฯ

การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นการโจมตีครั้งล่าสุดด้วยขีปนาวุธและโดรนของฮูตีต่อซาอุฯ ซึ่งแม้ถูกสกัดเป็นส่วนใหญ่แต่ยังสามารถเข้าถึงเป้าหมายที่รวมถึงแหล่งน้ำมันเชย์บาห์เมื่อเดือนที่แล้ว และสถานีสูบน้ำมันในเดือนพฤษภาคม โดยทั้งสองเหตุการณ์ทำให้เกิดไฟไหม้ แต่ยังทำการผลิตได้ตามปกติ

คัมรัน โบการี ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์เพื่อนโยบายโลกในวอชิงตัน ชี้ว่า เหตุการณ์ล่าสุดเป็นสถานการณ์ใหม่สำหรับชาวซาอุฯ ที่ไม่เคยต้องหวาดกลัวว่า โรงงานน้ำมันของตนจะถูกโจมตีทางอากาศ

ทั้งนี้ ตะวันออกกลางเริ่มตึงเครียดมากขึ้นหลังจากอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่าง 6 ชาติมหาอำนาจกับอิหร่าน และฟื้นมาตรการแซงก์ชันเตหะรานเมื่อปีที่แล้ว

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยังขัดขวางความพยายามของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในการยุติสงครามในเยเมนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคนและประชาชนนับล้านอดอยากยากแค้น โดยสงครามนี้ถูกมองว่า เป็นสงครามตัวแทนระหว่างริยาดกับเตหะราน
กำลังโหลดความคิดเห็น