xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: 'ทรัมป์' สั่งเด้งที่ปรึกษาสายเหยี่ยว ‘จอห์น โบลตัน’ ส่งสัญญาณปรับนโยบายต่างประเทศ-มุ่งเน้นการทูต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นับเป็นความเคลื่อนไหวในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ ที่น่าจับตามอง เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศปลด 'จอห์น โบลตัน' นักการเมืองสายเหยี่ยวชื่อดังออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าอาจจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายของ ทรัมป์ เพื่อมุ่งเน้นเจรจาทางการทูตกับบรรดาชาติคู่อริ

ทรัมป์ ประกาศผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันอังคาร (10 ก.ย.) ว่า “ผมได้บอกกับ จอห์น โบลตัน เมื่อคืนนี้ว่าไม่ต้องการให้เขาทำงานในทำเนียบขาวอีกต่อไป ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำแนะนำของเขาในหลายๆ เรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายคนก็คิดเหมือนกัน”

ผู้นำสหรัฐฯ ยังประกาศจะเสนอชื่อที่ปรึกษาด้านความมั่นคงคนใหม่ภายในสัปดาห์หน้า ขณะที่ โบลตัน ยืนยันว่าตนเป็นฝ่ายขอสละตำแหน่งเอง ไม่ได้ถูก ทรัมป์ ไล่ออกอย่างที่หลายคนเข้าใจ

คำสั่งปลด โบลตัน มีขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่ ทรัมป์ ออกมาสร้างความตกตะลึงเมื่อวันเสาร์ (7) ด้วยการประกาศยกเลิกแผนเจรจาลับกับผู้นำตอลิบาน ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่ "แคมป์เดวิด" สถานที่ตากอากาศของประธานาธิบดีในรัฐแมริแลนด์

โบลตัน เป็นอดีตทหารผ่านศึกที่มักจะเสนอมุมมองที่ก่อความขัดแย้ง ทั้งยังผลักดันให้สหรัฐฯ ใช้นโยบายแข็งกร้าวกับประเทศคู่อริ เช่น เกาหลีเหนือ อิหร่าน และ เวเนซุเอลา เป็นต้น

โบลตัน เคยเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายควบคุมอาวุธและกิจการความมั่นคงระหว่างประเทศในสมัยของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช และผลงานซึ่งเป็นที่ฉาวโฉ่มากที่สุดของเขาก็คือการออกมาสนับสนุนข้อมูลที่ว่าประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรักซุกซ่อนอาวุธทำลายล้างสูง จนมีส่วนทำให้ บุช ตัดสินใจส่งทหารบุกอิรักในปี 2003 และโค่นรัฐบาลซัดดัมได้สำเร็จ ผลจากการบุกอิรักครั้งนั้นทำให้ ซัดดัม ถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอในปี 2006 และสหรัฐฯ ต้องสูญเสียทหารไปราว 4,400 นาย ทว่าจนถึงวันนี้ก็ยังไม่พบอาวุธร้ายแรงตามที่มีการกล่าวหา ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ถูกวิจารณ์ว่าใช้ข่าวกรองปลอมมาเป็นข้ออ้างเข้าไปกอบโกยน้ำมันจากอิรัก

นักการเมืองสายเหยี่ยวผู้นี้ยังถูกมองว่าเป็นต้นเหตุทำให้การประชุมซัมมิตครั้งที่ 2 ระหว่าง ทรัมป์ กับผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือที่กรุงฮานอยเมื่อเดือน ก.พ. ไม่ประสบความสำเร็จ โดยว่ากันว่า โบลตัน เป็นคนรบเร้าให้ ทรัมป์ ยื่นเงื่อนไขให้เกาหลีเหนือยอมส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดให้สหรัฐฯ เพื่อแลกกับการผ่อนคลายคว่ำบาตร ซึ่งก็เป็นที่คาดเดาได้อยู่แล้วว่าเปียงยางคงไม่ยอม และสุดท้ายการประชุมต้องปิดฉากลงด้วยความล้มเหลว

โฆษกรัฐบาลเกาหลีเหนือระบุเมื่อเดือน พ.ค. ว่า โบลตัน “เป็นพวกคลั่งสงครามที่คอยเป่าหูประธานาธิบดีให้ทำสงครามอยู่ตลอด” ขณะที่ตัว ทรัมป์ เองก็ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธ (11) ว่า โบลตันทำผิดพลาดหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือการเสนอให้สหรัฐฯ ใช้ “ลิเบียโมเดล” กับเกาหลีเหนือ

โบลตัน ยังยุให้ ทรัมป์ สั่งปฏิบัติการโจมตีอิหร่านเมื่อเดือน มิ.ย. เพื่อแก้แค้นที่อิหร่านยิงโดรนอเมริกันตกใกล้ช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งปรากฏว่า ทรัมป์ ก็ทำตาม ก่อนจะเปลี่ยนใจยกเลิกคำสั่งในนาทีสุดท้าย หลังจากนั้นผู้นำสหรัฐฯ ก็แสดงท่าทีเปิดกว้างสำหรับการเจรจากับอิหร่านมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ โบลตัน ไม่เห็นด้วย

ปมขัดแย้งล่าสุดซึ่งน่าจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ ทรัมป์ ตัดสินใจขับ โบลตัน ออกจากคณะบริหารก็คือ การที่เขาคัดค้านแผนเชิญผู้นำตอลิบานมาเปิดเจรจาสันติภาพที่แคมป์เดวิด

สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวซึ่งระบุว่า ทรัมป์ ไม่พอใจอย่างยิ่งที่ โบลตัน ปล่อยข่าวว่ารองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ไม่สนับสนุนให้เชิญผู้นำตอลิบานมาที่แคมป์เดวิด และการที่ โบลตัน ทำเช่นนี้เท่ากับหักหน้า ทรัมป์ ด้วยการชี้ว่าแม้แต่รองประธานาธิบดีก็ยังต่อต้านแผนของเขา

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า บรรยากาศก่อนการเจรจาตึงเครียดถึงขั้นที่ ซัลไม คอลิซาด ผู้แทนเจรจาของสหรัฐฯ ไม่ยอมแชร์ร่างข้อตกลงให้ โบลตัน รับทราบ เพราะเกรงว่าอีกฝ่ายจะหาเรื่องขัดขวาง และท้ายที่สุด ทรัมป์ ตัดสินใจล้มเลิกกำหนดการหารือที่แคมป์เดวิด โดยอ้างเรื่องที่ทหารอเมริกันนายหนึ่งเสียชีวิตจากเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในเมืองหลวงอัฟกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

โบลตันไม่เห็นด้วยที่ ทรัมป์ จะเปิดเจรจากับตอลิบาน และเชื่อว่าสหรัฐฯ สามารถถอนทหาร 5,000 นายจากทั้งหมด 14,000 นายออกจากอัฟกานิสถานได้โดยยังคงศักยภาพด้านต่อต้านก่อการร้ายเอาไว้ ทว่าไม่จำเป็นต้องทำข้อตกลงประนีประนอมกับศัตรู

รัฐบาล ทรัมป์ เปลี่ยนตัวคณะบริหารเป็นว่าเล่นภายในช่วงเวลาเพียง 2 ปีเศษ โดยตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือน ม.ค. ปี 2017 ทรัมป์ มีรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมมาแล้ว 2 คน, รัฐมนตรีต่างประเทศ 2 คน, ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) 2 คน และผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารอีก 5 คน

สำหรับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงก็มีการเปลี่ยนตัวมาแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน เริ่มจาก ไมเคิล ฟลินน์, เอช.อาร์. แมคมาสเตอร์ และมาถึง โบลตัน เป็นรายล่าสุด

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยอมรับว่าตนเองมีมุมมองขัดแย้งกับ โบลตัน อยู่หลายเรื่อง แต่ย้ำว่าการปลด โบลตัน ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ จะปรับเปลี่ยนนโยบายการทูตแบบพลิกฝ่ามือ

สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวสำทับว่า ทรัมป์ และบรรดาผู้ช่วยยังคงยึดมั่นในการใช้มาตรการกดดันสูงสุดต่ออิหร่าน แต่กระนั้น พอมเพโอ ก็ยืนยันว่า ทรัมป์ พร้อมพบกับผู้นำอิหร่าน “โดยไม่มีเงื่อนไข” ในระหว่างที่ทั้งคู่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์กเดือนนี้

แฮร์รี คาเซียนิส ผู้อำนวยการอาวุโสของศูนย์เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ (Center for the National Interest) มองว่า ทรัมป์ ตัดสินใจถูกต้องแล้วที่ขับ โบลตัน ออกจากทำเนียบขาว เพราะจะทำให้เขาได้มีโอกาสหาผู้ช่วยคนใหม่ที่ต่อต้านสงคราม สนับสนุนการลดบทบาทในตะวันออกกลาง ส่งเสริมการเจรจากับเกาหลีเหนือ และหันไปเน้นต่อต้านอิทธิพลของจีนมากขึ้น

ร็อบ มัลลีย์ ประธานบริษัทที่ปรึกษา อินเตอร์เนชันแนล ไครซิส กรุ๊ป ชี้ว่า ทรัมป์ อาจปรับเปลี่ยนนโยบายที่มีต่ออัฟกานิสถาน อิหร่าน เกาหลีเหนือ และเวเนซุเอลา หลังจากไม่มีผู้ช่วยที่กระหายสงครามอย่าง โบลตัน คอยเป่าหูอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี มาจิด ทักต์-ราวานชี ผู้แทนของอิหร่านประจำยูเอ็น ยืนยันว่าการจากไปของ โบลตัน ไม่ได้ทำให้อิหร่านคิดจะเปิดเจรจากับสหรัฐฯ เว้นเสียแต่อเมริกาจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด ขณะที่ เซียร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ก็ระบุในทำนองเดียวกันว่า มอสโกไม่ได้คาดหวังว่าความสัมพันธ์กับวอชิงตันจะดีขึ้นเมื่อไม่มีโบลตัน
กำลังโหลดความคิดเห็น