xs
xsm
sm
md
lg

‘ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย’เดินหมากเด็ด เสนอขาย ‘โนว-ฮาว 5 จี’ของตนให้บริษัทตะวันตก จะได้เลิกระแวงเรื่องความมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: บีบีซีนิวส์

<i>(ภาพจากแฟ้ม) เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตะวันตก เมื่อเดือนมกราคม 2019 </i>
Huawei chief offers to share 5G know-how for a fee
By BBC News
12/09/2019

ประธานผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย เหริน เจิ้งเฟย ให้สัมภาษณ์สื่อดังของโลกตะวันตก เสนอที่จะขายโนว-ฮาว ด้าน 5 จี ซึ่งครอบคลุมทั้งการอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตร , ไลเซนซ์, ซอร์สโค้ด, บลูพรินต์ทางเทคนิค, และความรู้ทางวิศวกรรมการผลิต ที่หัวเว่ยมีอยู่ในปัจจุบัน ให้แก่บริษัทตะวันตก อันจะทำให้บริษัทนั้นๆ สามารถนำไปเปลี่ยนแปลงโค้ดของซอฟต์แวร์ได้ตามใจ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องหรือเพื่อปิด “ประตูหลัง” ใดๆ ที่ทึกทักกันว่าถูกวางซ่อนเอาไว้ในอุปกรณ์ของหัวเว่ย

เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ประธานผู้บริหารของหัวเว่ย ประกาศข้อเสนอที่จะขาย โนว-ฮาว 5 จี ในปัจจุบันของตน ให้แก่บริษัทตะวันตกสักรายหนึ่ง เพื่อเป็นหนทางออกในการคลี่คลายความห่วงกังวลซึ่งสหรัฐฯและชาติอื่นๆ ป่าวร้องอยู่ ที่ระบุว่าการทำธุรกิจของหัวเว่ยมีปัญหาเรื่องความมั่นคงปลอดภัย

ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยผู้นี้กล่าวว่า ผู้ซื้อที่เป็นบริษัทตะวันตกดังกล่าว จะมีอิสรเสรีที่จะ “เปลี่ยนแปลงโค้ดของซอฟต์แวร์” ได้ตามใจ

นี่จะเปิดทางให้สามารถแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดใดๆ ก็ตาม หรือปิด “ประตูหลัง” ใดๆ ก็ตามที่ทึกทักกันว่าถูกวางซ่อนอยู่ในอุปกรณ์ของหัวเว่ย โดยที่หัวเว่ยจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ด้วย

สหรัฐฯกับออสเตรเลียนั้น ได้สั่งห้ามไม่ให้เครือข่ายเทเลคอมของประเทศพวกตน ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย ขณะที่อังกฤษยังอยู่ระหว่างการชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียเพื่อตัดสินใจ

สำหรับหัวเว่ย ได้ปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อบรรดาข้อกล่าวหาที่ว่า บริษัทจะช่วยเหลือรัฐบาลจีนในการเป็นสปายล้วงความลับจากระบบสื่อสารของประเทศอื่นๆ ที่ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย หรือก่อกวนสร้างความติดขัดให้แก่ระบบดังกล่าว พร้อมกันนั้นหัวเว่ยยังยืนยันเรื่อยมาว่า ตนเองเป็นวิสาหกิจเอกชนที่ผู้ถือหุ้นคือพสกพนักงานลูกจ้างของบริษัท

ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่ง นั่นคือ ศาสตราจารย์ สตีฟ จาง (Prof Steve Tsang) แห่งวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา (School of Oriental and African Studies ใช้อักษรย่อว่า SOAS) ของมหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยแสดงความสงสัยข้องใจในข้ออ้างของหัวเว่ยที่ว่าตนเองมีอิสระ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.soas.ac.uk/blogs/study/huawei-why-the-controversy/) แสดงความคิดเห็นว่า ข้อเสนอในครั้งนี้ของหัวเว่ย ซึ่งเท่ากับเป็นการไปช่วยเหลือธุรกิจของอีกประเทศหนึ่งให้สามารถแข่งขันกับตนเอง ควรต้องถือว่าเป็น “ข้อเสนอที่พิเศษโดดเด่นผิดธรรมดา”

“บางทีคำอธิบายของเรื่องนี้ก็คือ หัวเว่ยเกิดความตระหนักยอมรับว่า บริษัทไม่น่าจะสามารถลอดข้ามผ่านพ้นความพยายามต่างๆ ของคณะบริหารทรัมป์ ซึ่งกำลังผลักดันลงไป ในเรื่องการลดขนาดขอบเขตการดำเนินงานของหัวเว่ยให้เหลือน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกาเหนือ, ยุโรปตะวันก, และออสเตรเลีย” ศาสตราจารย์จาง กล่าว

“แต่มันก็เป็นเรื่องยากลำบากอยู่ ที่จะได้เห็น โนเกีย หรือ อิริคสัน มีความสนใจที่จะซื้อมัน (โนว-ฮาว 5 จีของหัวเว่ย) แล้วมันก็เป็นเรื่องยากลำบากเช่นกันที่จะได้เห็นบริษัทอเมริกันสักรายหนึ่ง สามารถทำให้คณะบริหารทรัมป์เกิดความมั่นอกมั่นใจขึ้นมาอีกว่า มัน (โนว-ฮาว 5 จีของหัวเว่ยที่บริษัทอเมริกันแห่งดังกล่าวซื้อมาและเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้หมดข้อกังวลด้านความมั่นคงแล้ว) เป็นเทคโนโลยีอเมริกันชั้นดีเยี่ยมอย่างจริงแท้แน่นอน

“และถ้าพวกเขาไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ ทำไมพวกเขาจึงจะต้องการใช้จ่ายเงินเป็นหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในบางสิ่งบางอย่างซึ่งจะกลายเป็นของล้าสมัยไปอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว”

เสาะแสวงหา‘ความสมดุล’

เหริน เจิ้งเฟย ประกาศข้อเสนอนี้ออกมา ระหว่างให้สัมภาษณ์ นิตยสาร “อีโคโนมิสต์” (Economist) และหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ (New York Times)

สิ่งที่เสนอขายนี้ครอบคลุมทั้งเรื่อง การเข้าถึงอย่างต่อเนื่องในสิทธิบัตรต่างๆ , ไลเซนซ์ต่างๆ, โค้ด, พิมพ์เขียวทางเทคนิคต่างๆ , และความรู้ทางวิศวกรรมการผลิต ในด้าน 5 จี ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันของหัวเว่ย

“(หัวเว่ย) กำลังเปิดกว้างสำหรับการแชร์เทคโนโลยีต่างๆ และเทคนิคต่างๆ ในด้าน 5 จี กับเหล่าบริษัทสหรัฐฯ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถสร้างอุตสาหกรรม 5 จี ของพวกเขาเองขึ้นมา” นิวยอร์กไทมส์อ้างคำพูดของเหริน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2019/09/10/opinion/huawei-trump-china-trade.html)

“นี่จะเป็นการสร้างสถานการณ์ที่มีความสมดุลกัน ระหว่างจีน, สหรัฐฯ, และยุโรป”

ขณะพูดกับนิตยสารอีโคโนมิสต์ เหรินกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “การจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์อย่างให้มีความสมดุลกัน จะเป็นสิ่งที่ช่วยนำไปสู่ความอยู่รอดของหัวเว่ย” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.economist.com/business/2019/09/12/ren-zhengfei-may-sell-huaweis-5g-technology-to-a-western-buyer)

ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกให้แก่หัวเว่ยผู้หนึ่ง ได้ออกมาแถลงยืนยันแล้วว่า การอ้างอิงคำพูดของเหรินเหล่านี้มีความถูกต้อง และไอเดียในเรื่องนี้ ก็เป็น “ข้อเสนอจริงๆ” ของทางบริษัท

ในปัจจุบัน เมื่อพูดกันถึงการคัดเลือกเครือข่ายซึ่งจะใช้ติดตั้งบนสถานีฐานที่ตั้งเสาอากาศ 5 จี และอุปกรณ์อื่นๆ โนเกีย กับ อิริคสัน ของยุโรป เป็นทางเลือกหลักๆ นอกเหนือจากหัวเว่ย

ทางเลือกอื่นๆ ยังมี ซัมซุง ของเกาหลีใต้ และ แซดทีอี ของจีน

แต่สำหรับพวกบริษัทอเมริกันนั้น ขณะที่บริษัทอย่าง ซิสโก้ (Cisco), เดลล์ อีเอ็มซี (Dell EMC), และ ฮิวเล็ตต์ แพคการ์ด เอนเตอร์ไพรซ์ (Hewlett Packard Enterprise) ได้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 5 จี ทว่าสหรัฐฯขาดไร้บริษัทผู้ชำนาญการด้านโครงสร้างพื้นฐาน-อุปกรณ์ 5 จี ของตนเอง

ในการขายโนว-ฮาว 5 จีเช่นนี้ สิ่งที่หัวเว่ยจะได้ผลประโยชน์นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมการใช้ไลเซนซ์แล้ว บริษัทยังอาจจะสามารถยืนยันให้วอชิงตันบังเกิดความมั่นใจ และยกเลิกมาตรการจำกัดขัดขวางต่างๆ ซึ่งในเวลานี้เป็นตัวกีดกันไม่ให้หัวเว่ยสามารถซื้อเทคโนโลยีที่โยงใยเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯมาใช้งานเองได้

ตัวอย่างผลกระทบอย่างหนึ่งจากการถูกจำกัดเช่นนี้ก็คือ สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ซึ่งหัวเว่ยกำลังเตรียมจะนำออกเปิดตัวในช่วงต่อไปของเดือนนี้ จะเผชิญปัญหาไม่สามารถใช้กับพวกแอปเด็ดๆ ของกูเกิล อย่างเช่น ยูทูป (YouTube) หรือ เพลย์สโตร์ (Play Store)

การทำข้อตกลงในลักษณะนี้ยังจะช่วยรับประกันว่า หัวเว่ยจะสามารถทำให้เทคโนโลยีด้าน 5 จีของตนถูกนำไปใช้งานเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น เวลานี้ 5 จีสนับสนุนเทคนิคการทำโค้ดดิ้งสำหรับการถ่ายทอดข้อมูล (coding techniques for data transmission) ที่แตกต่างกันอยู่ 2 วิธี โดยที่เทคนิคนี้จะช่วยในเรื่องการแก้ไขปัญหาการแทรกแซงรบกวน

สำหรับหัวเว่ย ได้พัฒนาเทคนิคการทำโค้ดดิ้งที่เรียกกันว่า “โพลาร์ โค้ดส์” (polar codes) ซึ่งบริษัทบอกว่าจะทำให้พวกแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุปกรณ์ 5 จี มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นกว่าอีกเทคนิคหนึ่งที่เรียกกันว่า “โลซ เดนซิตี้ พาริตี้ เช็ค” (low density parity check) ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของพวกบริษัทตะวันตกจำนวนมาก

หากเทคนิค โพลาร์ โค้ดส์ กลายเป็นที่ยอมรับนำไปใช้งานกันอย่างกว้างขวางแล้ว หัวเว่ยก็จะได้ค่าธรรมเนียมใช้สิทธิบัตรเพิ่มมากขึ้นจากพวกบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ที่เลือกใช้เทคนิคนี้

ปัญหากฎหมายข่าวกรองแห่งชาติของจีน

อย่างไรก็ตาม มีผู้ติดตามเฝ้ามองหัวเว่ยรายหนึ่ง ชี้ว่าข้อเสนอนี้ของเหริน น่าจะประสบความล้มเหลว

โฮซุค ลี-มาคิยามะ (Hosuk Lee-Makiyama) จากศูนย์ยุโรปเพื่อเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ (European Centre for International Political Economy) ให้ความเห็นกับบีบีซี ว่า “หัวเว่ยเข้าใจผิดแล้วเกี่ยวกับปัญหาที่อยู่เบื้องลึกลงไป”

“ประเด็นปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่ว่าหัวเว่ยในฐานะเป็นผู้ขายรายหนึ่งมีความน่าเชื่อถือไว้วางใจได้หรือไม่ แต่มันเป็นเรื่องข้อผูกพันทางกฎหมายที่รัฐบาลจีนบังคับให้หัวเว่ยต้องทำตาม

“กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติของประเทศจีน (China's National Intelligence Law) กำหนดให้พวกธุรกิจจีนและพลเมืองจีนทั้งหลายต้องยินยอมส่งมอบข้อมูลใดๆ หรือ ‘เครื่องมือสื่อสาร’ ใดๆ ที่พวกเขาอาจจะสามารถเข้าถึงได้ โดยที่มีบทกำหนดลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด”

“อุปกรณ์ใดๆ หรือซอฟต์แวร์ใดๆ ซึ่งหัวเว่ยให้ไลเซนซ์แก่บริษัทสหรัฐฯสักรายหนึ่ง จะยังคงตกอยู่ใต้ข้อผูกมัดดังกล่าวนี้ และไม่มีทางเลยที่บริษัทผู้ได้รับไลเซนซ์ หรือพวกสำนักงานข่าวกรอง จะสามารถติดตามตรวจสอบโค้ดที่มีเป็นจำนวนล้านๆ ไลน์ เพื่อหาว่ามีการแอบใช้ประตูหลังหรือไม่”

ทว่า ศาสตราจารย์จางเห็นว่า ข้อเสนอนี้ยังควรต้องถือว่าเป็น “ความเคลื่อนไหวที่ฉลาดหลักแหลม”

เขาอธิบายว่า แม้กระทั่งในกรณีที่ข้อเสนอนี้ของหัวเว่ยถูกปฏิเสธไปในท้ายที่สุด แต่มันก็ยังคงสาธิตให้เห็นว่า บริษัทกำลังแสดงออกถึงความจริงใจที่จะก้าวเดินเป็นช่วงไกลๆ อย่างเป็นพิเศษทีเดียว เพื่อพยายามและเพื่อเอาชนะใจให้ได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายตะวันตก”

(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.bbc.com/news/technology-49673144)
กำลังโหลดความคิดเห็น