รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ระบุวานนี้ (10 ก.ย.) ว่าผู้นำจีนยื่นข้อเสนอให้มะนิลาถือหุ้นใหญ่ในโครงการสำรวจก๊าซธรรมชาติที่แหล่ง “รีดแบงค์” (Reed Bank ) โดยแลกกับการเพิกเฉยต่อคำพิพากษาของศาลกรุงเฮกกรณีทะเลจีนใต้ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อปักกิ่ง
ดูเตอร์เต อ้างว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เอ่ยกับตนระหว่างการหารือเมื่อเร็วๆ นี้ว่า หากรัฐบาลฟิลิปปินส์ทำเป็นเพิกเฉยต่อคำพิพากษาเมื่อปี 2016 ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) จีนก็จะยอมเป็นเพียงหุ้นส่วนรายย่อยในโครงการสำรวจก๊าซที่แหล่งรีดแบงค์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ (EEZ)
“ไม่ต้องไปสนใจคำพิพากษา” ดูเตอร์เต อ้างคำพูดของ สี ขณะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อค่ำวันอังคาร (10)
“ละทิ้งข้ออ้างของคุณเสีย และอนุญาตให้ทุกฝ่ายร่วมมือกับบริษัทของจีน พวกเขาต้องการเข้าไปสำรวจ ถ้ามีอะไรขัดข้อง เรายินดียกประโยชน์ให้ฝ่ายคุณ 60% และพวกเขาจะได้แค่ 40% นี่คือคำสัญญาจาก สี จิ้นผิง” ดูเตอร์เต กล่าว
ในการแถลงข่าววันนี้ (11) หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ไม่ได้เอ่ยถึงรายละเอียดการพูดคุยระหว่างประธานาธิบดีทั้งสอง แต่อ้างถ้อยคำของ สี ซึ่งระบุว่า การร่วมมือกันจะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าในการสำรวจและนำทรัพยากรทางทะเลมาใช้ประโยชน์
หัว ระบุด้วยว่า ผู้นำฟิลิปปินส์แสดงท่าทีเต็มใจที่จะเร่งรัดโครงการสำรวจก๊าซและน้ำมันในทะเล รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาต่างๆ กับจีน และในส่วนของ “สถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง” บางอย่างนั้นก็จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ปี 2016 ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮกได้อ้างมาตราที่ 287 ภาคผนวกที่ 7 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ตัดสินว่า การที่จีนอ้าง “สิทธิทางประวัติศาสตร์” เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดโดยอิงกับแผนที่เส้นประ 9 เส้นนั้นไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และการขัดขวางไม่ให้ฟิลิปปินส์เข้าไปแสวงหาประโยชน์จากแหล่งไฮโดรคาร์บอนและแหล่งปลาชุมที่อยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของฟิลิปปินส์เอง ก็ถือเป็นการละเมิดอธิปไตย
ศาลยังได้วินิจฉัยคัดค้านคำกล่าวอ้างของจีน โดยระบุว่าหมู่เกาะสแปรตลีย์นั้นไม่มีพื้นที่ที่เป็น “เกาะ” ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนั้นปักกิ่งจึงไม่มีสิทธิ์นำไปอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ส่วนการถมทะเลสร้างเกาะเทียมนั้นก็ก่อให้เกิดความเสียหายอันไม่อาจซ่อมแซมได้กับสภาพแวดล้อมทางทะเล และยังเป็นการทำลายภูมิประเทศดั้งเดิมของพื้นที่แถบนั้น
รัฐบาลจีนยืนยันเรื่อยมาว่า “ไม่ยอมรับ ไม่มีส่วนร่วม และจะไม่ปฏิบัติตาม” คำพิพากษานี้
ดูเตอร์เต พยายามที่จะผูกมิตรกับ สี และหลีกเลี่ยงการท้าทายกิจกรรมของจีนในทะเลจีนใต้ โดยหวังว่าความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีนนับพันๆ ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ หากฟิลิปปินส์ยอมตกลงเพิกเฉยต่อคำตัดสินของศาลกรุงเฮกและร่วมมือกับปักกิ่ง ก็จะส่งผลเสียร้ายแรงต่อประเทศผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ โดยเฉพาะเวียดนามและมาเลเซีย ซึ่งเคยถูกหน่วยยามฝั่งจีนรุกล้ำเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะหลายครั้งหลายหน
ดูเตอร์เต ยังไม่ประกาศชัดเจนว่าเขายอมรับข้อเสนอของ สี หรือไม่ แต่ระบุเพียงว่ารัฐบาลของเขา “จะมองข้ามคำพิพากษาส่วนที่ว่าด้วยเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”
ศาลกรุงเฮกตัดสินว่าฟิลิปปินส์มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะเข้าไปสำรวจและใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติรีดแบงค์ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งฟิลิปปินส์เพียงราวๆ 140 กิโลเมตร
สำหรับแหล่งก๊าซมาลัมปายา (Malampaya) ซึ่งเป็นแหล่งเดียวที่ฟิลิปปินส์เข้าไปใช้ประโยชน์แล้วคาดว่าจะหมดลงภายในปี 2024
การสำรวจหาแหล่งพลังงานร่วมกับจีนเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในฟิลิปปินส์มานานหลายสิบปี แต่ที่ยังไม่คืบหน้าไปไหนเนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ และความร่วมมือลักษณะนี้อาจถูกมองว่าเป็นการยอมรับข้ออ้างของอีกฝ่าย หรือแม้กระทั่งขายอธิปไตยของชาติ
ทีโอโดร ล็อกซิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ ANC วันนี้ (11) ว่า ข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์จะไม่มีการระบุชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของก๊าซธรรมชาติ
“มันมีความชัดเจน และเราจะไม่ผ่อนปรนจุดยืนทางกฎหมายในการทำข้อตกลงฉบับนี้”
รัฐมนตรีผู้นี้ยังย้ำว่า การเพิกเฉยต่อคำพิพากษาของศาลกรุงเฮกนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากศาลระหว่างประเทศได้มีคำตัดสินไปแล้ว “ซึ่งถือเป็นที่สุด และมีผลบังคับ”