เอเอฟพี - รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เกาหลีใต้เตรียมยื่นร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ในวันนี้ (11 ก.ย.) กรณีที่ญี่ปุ่นใช้มาตรการคุมเข้มส่งออกสินค้าไฮเทคไปยังแดนโสมขาว ซึ่งฝ่ายเกาหลีใต้เชื่อว่า “มีเหตุจูงใจทางการเมือง”
ข้อพิพาทการทูตระหว่างสองเพื่อนบ้านทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศคุมเข้มส่งออกเคมีภัณฑ์ 3 ชนิดที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิตชิปและหน้าจอความละเอียดสูง จนส่งผลกระทบต่อบริษัทไฮเทคชั้นนำของเกาหลีใต้อย่างซัมซุงและแอลจี
ทั้งนี้ นโยบายของญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นการแก้เผ็ดที่ศาลเกาหลีใต้พิพากษาให้บริษัทชั้นนำแดนปลาดิบต้องชดใช้ค่าเสียหายหลายล้านดอลลาร์แก่ชาวเกาหลีที่ถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ความบาดหมางยังลุกลามบานปลายจนถึงขั้นที่ทั้ง 2 ชาติต่างถอดอีกฝ่ายออกจากบัญชีประเทศคู่ค้าที่ได้รับความไว้วางใจ และโซลตัดสินใจไม่ต่อสัญญาแบ่งปันข่าวกรองทางทหารกับญี่ปุ่น
“การที่ญี่ปุ่นควบคุมส่งออกเคมีภัณฑ์ 3 ชนิดเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งเชื่อมโยงกับคำสั่งของศาลสูงสุดเกาหลีใต้กรณีแรงงานทาส” ยู มยุงฮี รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เกาหลีใต้ ระบุในงานแถลงข่าววันนี้ (11)
“การเจาะจงเล่นงานเกาหลีใต้เช่นนี้ถือว่าละเมิดกฎระเบียบของ WTO ซึ่งห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติทางการค้า”
ยู ยังอ้างด้วยว่า เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตหน้าจอและเมมโมรีชิปรายใหญ่ มาตรการกีดกันของญี่ปุ่นจึง “ก่อให้เกิดความไม่แน่นอน” ต่อระบบเศรษฐกิจโลก
สำหรับกระบวนการไกล่เกลี่ยนั้นจะเริ่มจากการที่เกาหลีใต้ร้องขออย่างเป็นทางการให้ญี่ปุ่นเปิดหารือทวิภาคีในเวที WTO เพื่อขอให้ยุติมาตรการควบคุมส่งออก และหากเจรจาไม่สำเร็จ เกาหลีใต้ก็จะร้องขอให้ WTO ตั้งคณะผู้พิจารณาขึ้นเพื่อตัดสินข้อพิพาท
เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นอ้างว่าจำเป็นต้องควบคุมการส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้เนื่องจาก “สูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจ” ขณะเดียวกันก็กล่าวหาว่าฝ่ายโซลบริหารจัดการสินค้าเปราะบางที่ส่งออกจากญี่ปุ่นอย่างไม่เหมาะสม
การกระทำของญี่ปุ่นทำให้ผู้บริโภคแดนกิมจิโกรธแค้น และรณรงค์ต่อต้านการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ของแดนปลาดิบ ตั้งแต่รถยนต์ เบียร์ เครื่องเขียน เรื่อยไปจนถึงทัวร์ท่องเที่ยวแดนอาทิตย์อุทัย
แม้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ และต้องเผชิญภัยคุกคามจากจีนและเกาหลีเหนือเช่นเดียวกัน ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างโตเกียว, ปักกิ่ง และเกาหลีทั้งสองยังคงถูกครอบงำด้วยปมขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ในยุคที่ญี่ปุ่นสยายอิทธิพลยึดดินแดนรอบข้างเป็นอาณานิคมเมื่อต้นศตวรรษที่ 20
รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่า ข้อพิพาทในยุคสงครามไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานทาสหรือสตรีเพื่อการผ่อนคลาย (comfort women) ได้ยุติลงแล้วตั้งแต่ตอนที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทำข้อตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ระดับปกติเมื่อปี 1965 โดยญี่ปุ่นยอมจ่ายค่าชดเชยเป็นวงเงินรวม 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งในรูปของเงินสดและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
อย่างไรก็ตาม โซลได้ออกมาปฏิเสธข้ออ้างนี้ และย้ำว่าข้อตกลงฟื้นฟูสัมพันธ์ในปี 1965 ไม่ได้ทำให้บุคคลเสียสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าชดเชย