เอเจนซีส์ - นักวิทยาศาสตร์ระบุในวันพฤหัสบดี (5 ก.ย.) ว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดในล็อกเนสส์ของสก็อตแลนด์อาจเป็นแค่ปลาไหลตัวโต หลังจากได้วิเคราะห์ร่องรอยดีเอ็นเอในน้ำ
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ผลการวิเคราะห์ทำให้ต้องตัดทิ้งเรื่องที่ว่าอาจมีสัตว์ขนาดใหญ่อย่างไดโนเสาร์ในนั้น
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ นีล เจมเมลล์ นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอทาโกของนิวซีแลนด์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า พบดีเอ็นเอปลาไหลจำนวนมากในทะเลสาป
"ปลาไหลมีความอุดมสมบูรณ์มากในทะเลสาบ ตัวอย่างจากทุกส่วนของทะเลสาปเต็มไปด้วยปลาไหล ปริมาณที่แท้จริงของมันก็ค่อนข้างทำให้แปลกใจ"
"เราไม่สามารถทิ้งความเป็นไปได้ที่ว่าอาจมีปลาไหลยักษ์ในล็อกเนสส์ แต่เราก็ไม่รู้ว่าตัวอย่างเหล่านี้ที่เรารวบรวมมานั้น ได้มาจากสัตว์ร้ายตัวยักษ์หรือแค่สัตว์ธรรมดา ดังนั้นเราจึงยังไม่รู้อะไร"
เจมเมลล์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะมีแนวคิดเรื่องปลาไหลยักษ์มานานหลายสิบปี แต่ก็ไม่มีใครเคยจับตัวที่ขนาดยักษ์ได้เลยสักตัวในทะเลสาบ
ทั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศได้นำตัวอย่างที่เรียกว่าดีเอ็นเอสภาพแวดล้อม (eDNA) ไปตรวจเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว
การใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง eDNA นั้นได้รับการยอมรับอย่างดีในฐานะที่เป็นเครื่องมือตรวจสอบสิ่งมีชีวิตในทะเล อาทิ ปลาวาฬและฉลาม
เมื่อใดก็ตามที่สิ่งมีชีวิตเคลื่อนที่ผ่านสภาพแวดล้อม มันจะทิ้งส่วนเล็กๆ ของดีเอ็นเอจากผิวหนัง เกล็ด ขน อุจจาระ และปัสสาวะ
ดีเอ็นเอพวกนี้ใช้เพื่อระบุสิ่งมีชีวิตนั้น โดยการเปรียบเทียบลำดับที่ได้รับ กับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของลำดับทางพันธุกรรมที่รู้จักจากสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันนับแสน
ทีมของเจมเมลล์มีนักวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส