xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: ‘ทรัมป์’ก่อตั้ง‘หน่วยบัญชาการอวกาศ’ขึ้นมาแล้ว แต่ยังต้องรอต่อไปสำหรับ‘กองทัพอวกาศ’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>ทหารสหรัฐฯคลี่ธงของหน่วยบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่  ข้างๆ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์, รองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์ (ที่2จากซ้าย), และรัฐมนตรีกลาโหมอเมริกัน มาร์ก เอสเพอร์  ในพิธีประกาศจัดตั้งหน่วยบัญชาการแห่งนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่สวนกุหลาบ ของทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันพฤหัสบดี (29 ส.ค.) </i>
หลังจากป่าวร้องมาระยะหนึ่งแล้วว่า อวกาศเป็นเขตแดนซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการป้องกันชาติ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศจัดตั้ง “หน่วยบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ” (US Space Command) ขึ้นอย่างเป็นทางการ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อรักษาฐานะความเหนือล้ำกว่าประเทศใดๆ ของอเมริกันใน “ชัยภูมิซึ่งอยู่สูงที่สุดนี้” อย่างไรก็ดี นี่ยังไม่ใช่ “กองทัพอวกาศ” ((Space Force) ตามที่ทรัมป์ใฝ่ฝันมานาน

“นี่เป็นวันแห่งการปักหมุดแสดงหลักหมายครั้งสำคัญ” ทรัมป์กล่าวในพิธีเปิดตัวหน่วยบัญชาการทหารอวกาศ ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณสวนกุหลาบ ของทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันพฤหัสบดี (29 ส.ค.) ที่ผ่านมา นี่ “เป็นวันซึ่งแสดงถึงการยอมรับว่าอวกาศเป็นส่วนศูนย์กลางในความมั่นคงแห่งชาติและการป้องกันของอเมริกา” เขาระบุ

เขาบอกว่า หน่วยบัญชาการอวกาศ ซึ่งมีนายทหารยศพลอากาศเอกเป็นผู้บัญชาการ จะ “ให้ความมั่นใจว่าความเหนือล้ำกว่าใครๆ ในอวกาศของอเมริกา จะไม่มีทางเกิดคำถามขึ้นมาเป็นอันขาด และจะไม่มีทางถูกคุกคามเป็นอันขาด”

อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่ใช่กองทัพอวกาศ

กองทัพอวกาศ ซึ่งได้กลายเป็นมุกเด็ดเสียงเรียกปรบมือสนั่นได้ทุกทีสำหรับทรัมป์ ในการรณรงค์หาเสียงครั้งต่างๆ ของเขา ยังคงไม่ได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติขั้นสุดท้ายจากรัฐสภา

หน่วยบัญชาการอวกาศ มีฐานะเป็นหน่วยบัญชาการกำลังสู้รบรวม (unified combatant command หรือ UCC) หน่วยที่ 11 ของสหรัฐฯ เท่าเทียมกับ หน่วยบัญชาการกลาง (Central Command หรือ CENTCOM) ซึ่งบังคับบัญชาทหารสหรัฐฯทั้งหมดในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน, หน่วยบัญชาการอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Command หรือ INDOPACOM) ที่รับผิดชอบทหารสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งสหรัฐฯในยุคคณะบริหารทรัมป์เปลี่ยนไปเรียกเป็นอินโด-แปซิฟิก, ตลอดจน หน่วยบัญชาการไซเบอร์ (Cyber Command หรือ CYBERCOM) ที่รับผิดชอบเรื่องสงครามไซเบอร์

การหันมาเน้นหนักที่อวกาศโดยถือว่าเป็นปริมณฑลทางการทหารปริมณฑลหนึ่งเช่นนี้ เป็นการสะท้อนความวิตกกังวลในสหรัฐฯ เกี่ยวกับจุดอ่อนของดาวเทียมทั้งที่ใช้ทางการทหารและที่ใช้เชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อผลประโยชน์ของอเมริกัน ทว่ามีความอ่อนไหวอาจถูกก่อกวนขัดขวางจากอาวุธต่อสู้ดาวเทียมของจีนและรัสเซีย

บทบาทของหน่วยบัญชาการอวกาศแห่งใหม่นี้ คือการดำเนินปฏิบัติการต่างๆ เป็นต้นว่า การทำให้ดาวเทียมเพื่อการนำร่อง (อย่างเช่นระบบ จีพีเอส) และเพื่อการสื่อสาร สำหรับกองทหารและผู้บังคับบัญชาในสนาม สามารถทำงานได้, การแจ้งเตือนภัยเมื่อมีการยิงขีปนาวุธจากนอกประเทศ นี่ย่อมแตกต่างไปจากกองทัพอวกาศ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นกองทหารสู้รบที่มีบทบาทหน้าที่เด่นชัด ทำนองเดียวกับกองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, เหล่านาวิกโยธิน, และหน่วยยามฝั่ง

การพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐฯเพื่ออนุมัติการก่อตั้งกองทัพอวกาศนั้น กำลังมีความคืบหน้าไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางความสงสัยข้องใจของสมาชิกรัฐสภาบางคนจากทั้งฝ่ายพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ขณะที่ร่างกฎหมายซึ่งพิจารณากันอยู่ในสภาล่างและในสภาสูง ยังมีประเด็นเนื้อหาที่แตกต่างกันอยู่บ้าง และความพยายามที่จะรอมชอมปรับให้ร่างทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกัน จะเริ่มขึ้นเมื่อรัฐสภากลับมาประชุมกันอีกภายหลังช่วงหยุดพักในเดือนสิงหาคม

เมื่อตอนที่ จิม แมตทิส ยังเป็นรัฐมนตรีกลาโหมอยู่ เพนตากอนมีท่าทีลังเลที่จะต้อนรับแนวความคิดว่าด้วยกองทัพอวกาศ นายใหญ่เพนตากอนคนแรกในยุคของทรัมป์ผู้นี้เริ่มแรกทีเดียวมองว่ามันอาจจะสิ้นเปลืองเงินทองอย่างมหาศาล และไม่ใช่การใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ทว่า มาร์ก เอสเพอร์ ผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากแมตทิส กลับแสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันทั้งในเรื่องการก่อตั้งกองทัพอวกาศ และการก่อตั้งหน่วยบัญชาการที่มุ่งบังคับบัญชาเรื่องอวกาศ

“เพื่อให้มั่นใจในเรื่องการพิทักษ์คุ้มครองผลประโยชน์ในอวกาศของอเมริกา เราจะต้องปรับแต่งทั้งเรื่องโฟกัส, พลังงาน, และทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นทั้งหลายให้เข้ากับภารกิจนี้ และนี่แหละคือสิ่งที่หน่วยบัญชาการอวกาศจะต้องทำกัน” เอสเพอร์กล่าวในวันพุธ (28) ที่ผ่านมา

“ในฐานะที่เป็นหน่วยบัญชาการกำลังสู้รบรวมหน่วยหนึ่ง หน่วยบัญชาการอวกาศสหรัฐฯคือก้าวต่อไปที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการมุ่งสู่การก่อตั้งกองทัพอวกาศที่เป็นอิสระ ในฐานะที่เป็นเหล่าทัพเพิ่มขึ้นมาอีกเหล่าหนึ่ง” เขากล่าวต่อ
<i>พลอากาศเอก จอห์น เรย์มอนด์ (ขวา) ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ  ถ่ายภาพคู่กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  ในพิธีประกาศจัดตั้งหน่วยบัญชาการแห่งนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่สวนกุหลาบ ของทำเนียบขาว</i>
ทางด้าน ไคทลิน จอห์นสัน (Kaitlyn Johnson) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันอวกาศ ของศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) คลังความคิด (think tank) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน บอกว่า เธอมองเห็นว่ารัฐสภาน่าที่จะอนุมัติการจัดตั้งกองทัพอวกาศ ในร่างงบประมาณกลาโหมประจำปีงบประมาณ 2020 แต่ยังไม่ถึงขั้นมั่นใจแน่ๆ

หลังจากนั้น กำลังคนในหน่วยบัญชาการอวกาศ จะถูกกองทัพอวกาศแต่งตั้งมอบหมายโดยตรงให้ไปทำภารกิจต่างๆ ทำนองเดียวกับคนในกองทัพบกและเหล่าทัพอื่นๆ ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานในองค์กรระดับรองๆ ลงมา อย่างเช่น หน่วยบัญชาการกลาง, หน่วยบัญชาการทางยุทธศาสตร์ (Strategic Command)

เหมือนอย่างเหล่าทัพอื่นๆ ของฝ่ายทหาร กองทัพอวกาศจะมีผู้บังคับบัญชาเป็นนายทหารยศพลเอก ซึ่งจะได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งนั่งร่วมโต๊ะประชุมของคณะเสนาธิการทหารร่วม ทรัมป์นั้นต้องการให้กองทัพอวกาศ “แยกออกไปต่างหากแต่มีความเท่าเทียม” กับเหล่าทัพอื่นๆ แต่เป็นที่คาดหมายกันว่าในที่สุดแล้วคงไม่ถึงกับแยกไปเป็นกองทัพเอกเทศ หากแต่ถือเป็นเหล่าทัพอิสระซึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอากาศ ทำนองเดียวกับที่เวลานี้เหล่านาวิกโยธินเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเรือ

สำหรับการจัดตั้งหน่วยบัญชาการอวกาศขึ้นมา เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดการแข่งขันขัดแย้งทางการเมืองน้อยกว่า โดยที่มีฉันทามติกันว่านี่คือขั้นตอนตรงไปตรงมาที่สุดในบรรดาก้าวเดินทั้งหลายซึ่งเสนอกันออกมา ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับการป้องกันอวกาศ

“ก้าวเดินเช่นนี้ทำให้เราอยู่บนเส้นทางในการธำรงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ต่อไป” พลเอก โจเซฟ ดันฟอร์ด ประธานของคณะเสนาธิการทหารร่วม กล่าวในการประชุมของสภาอวกาศแห่งชาติ (National Space Council) เขายังรับรองสนับสนุนให้ก่อตั้งกองทัพอวกาศขึ้นมา โดยกล่าวว่าการมีเหล่าทัพนี้จะทำให้ “เกิดความแตกต่างขึ้นมาอย่างลึกซึ้ง”

เบื้องต้นทีเดียว การเปิดหน่วยบัญชาการอวกาศขึ้นมา จะแทบไม่ส่งผลกระทบในทางปฏิบัติ ในเรื่องวิธีการที่ฝ่ายทหารจัดการกับความรับผิดชอบด้านอวกาศของตน โดยที่ในปัจจุบัน กองบัญชาการอวกาศแห่งกองทัพอากาศ (Air Force Space Command) เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับภารกิจด้านอวกาศทางทหารถึงกว่าสามในสี่ส่วน เป็นที่คาดหมายกันว่าสิ่งที่จะต้องทำก็เพียงแต่ส่งมอบหน้าที่เหล่านี้ไปให้หน่วยบัญชาการแห่งใหม่อย่างช้าๆ

จอห์นสัน ผู้เชี่ยวชาญของ CSIS บอกว่า การที่คณะบริหารทรัมป์ให้ความสนใจสนใจมากเกี่ยวกับอวกาศ ทำให้เกิดการพูดอย่างเกินเลยความจริงกันอยู่เหมือนกัน เกี่ยวกับขนาดขอบเขตของความเปลี่ยนแปลงที่จะปรากฏขึ้น ในความเคลื่อนไหวเพื่อก่อตั้งหน่วยบัญชาการอวกาศและกองทัพอวกาศขึ้นมานี้

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ “อาจจะดูเหมือนเตะตามากและน่าตื่นเต้นมาก” แต่มันไม่ใช่เช่นนั้นหรอก เธอกล่าว

“จริงๆ แล้ว มันแค่เป็นการจัดองค์กรขึ้นมาใหม่สำหรับภาระหน้าต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้วภายในกองทัพ” เธอบอก

พลอากาศเอก จอห์น “เจย์” เรย์มอนด์ (Air Force Gen. John "Jay" Raymond) จะทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการคนแรกของหน่วยบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ปัจจุบันเขาคือผู้บัญชาการของกองบัญชาการอวกาศแห่งกองทัพอากาศอยู่แล้ว

(เก็บความและเพิ่มเติมจากเรื่อง Trump declares new Space Command key to American defense ของสำนักข่าวเอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น