รอยเตอร์ – เหล่าผู้นำ G7 รูดม่านการประชุมประจำปีท่ามกลางจุดยืนที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงทั้งเรื่องข้อพิพาททางการค้า เบร็กซิต ไปจนถึงวิธีรับมือไฟป่าที่กำลังเผาผลาญแอมะซอน แม้แต่ผู้นำบรัสเซลส์ยังออกปากว่า นี่จะเป็นบททดสอบอันยากลำบากอีกครั้งเกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของกลุ่มพันธมิตรที่เคยใกล้ชิดกัน
ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ ต้องการให้การประชุมสุดยอดนาน 3 วันที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อค่ำวันเสาร์ (24 ส.ค.) ในเมืองเบียร์ริตซ์ เป็นโอกาสที่กลุ่ม G7 จะได้แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหลังจากที่ขัดแย้งกันมาหลายปี
มาครงกำหนดวาระการประชุมสำหรับชาติสมาชิกที่ประกอบด้วยฝรั่งเศส อังกฤษ แคนาดา เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และอเมริกา ครอบคลุมการปกป้องระบอบประชาธิปไตย ความเท่าเทียมทางเพศ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ประมุขแดนน้ำหอมยังเชิญผู้นำหลายประเทศในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริการ่วมหารือด้วย
อย่างไรก็ตาม ความหวังฟื้นความปรองดองของมาครงดูทีท่าเป็นไปได้ยาก แม้แต่โดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรปยังออกปากว่านี่จะเป็นบททดสอบอันยากลำบากอีกครั้งเกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของโลกเสรีและผู้นำ G7 และอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะฟื้นกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองที่เคยร่วมมือกันใกล้ชิด
ซัมมิต G7 ที่แคนาดาปีที่ผ่านมาปิดฉากลงอย่างดุเดือด หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ออกจากที่ประชุมไปก่อนและไม่ยอมรับแถลงการณ์สุดท้าย
สำหรับปีนี้ทรัมป์เดินทางถึงฝรั่งเศสหนึ่งวันหลังจากประกาศขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีนมูลค่า 550,000 ล้านดอลลาร์ อีก 5% เพื่อตอบโต้ปักกิ่ง
มาครงหยิบยกปัญหานโยบายต่างประเทศ อาทิ ลิเบีย ซีเรีย และเกาหลีเหนือ หารือกับทรัมป์ระหว่างอาหารเที่ยงวันเสาร์ โดยผู้นำฝรั่งเศสเผยว่า ตนกับทรัมป์เห็นตรงกันเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการป้องกันไม่ให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์
ด้านทรัมป์ทวิตในเวลาต่อมาว่า เป็นการหารือที่ดีที่สุดกับมาครง พร้อมแสดงความหวังว่า การประชุมกับผู้นำโลกในช่วงค่ำจะราบรื่นอย่างมาก
รอยยิ้มของทั้งคู่ไม่สามารถอำพรางความขัดแย้งในประเด็นต่างๆ มากมาย โดยก่อนเดินทางถึงฝรั่งเศส ทรัมป์ขู่ซ้ำว่าจะรีดภาษีไวน์ฝรั่งเศสตอบโต้ที่ปารีสสั่งเก็บภาษีบริการดิจิตอล ซึ่งเขามองว่าพุ่งเป้าหมายเล่นงานบริษัทอเมริกันโดยไม่เป็นธรรม
คณะผู้แทนของอเมริกายังไม่พอใจที่มาครงกำหนดวาระการประชุม G7 โดยเน้นที่ประเด็นเฉพาะบางอย่าง ทั้งที่ผู้นำหลายคนกังวลกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอย
สถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ในซัมมิตนี้ยังรวมถึงความเป็นจริงใหม่ๆ ที่อังกฤษซึ่งกำลังจะถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ต้องเผชิญ นั่นคืออิทธิพลที่ลดลงในยุโรปและการที่ต้องพึ่งพิงอเมริกามากขึ้น
บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ จะต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างการไม่ทำให้ลอนดอนแปลกแยกจากพันธมิตรยุโรป รวมทั้งต้องไม่ทำให้ทรัมป์ขุ่นเคืองซึ่งอาจมีผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้าในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มต้นซัมมิต จอห์นสันและทัสก์ต่างโทษกันไปมากรณีที่อังกฤษอาจถอนตัวจากอียูในวันที่ 31 ตุลาคมนี้โดยไม่มีข้อตกลง ทางผู้นำอังกฤษยังคงยืนกรานให้อียูตัดประเด็นแบ็กสต็อปออกจากสนธิสัญญาการถอนตัว ซึ่งหมายถึงข้อตกลงเปิดพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือของสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ที่เป็นสมาชิกอียูต่อไปตามเดิมหลังเบร็กซิต
แม้มีข้อขัดแย้งเรื่องเบร็กซิต แต่นักการทูตไม่คิดว่า จอห์นสันจะจับมือทรัมป์เพื่อคัดง้างกับอีก 5 ชาติสมาชิกที่เหลือ เนื่องจากนโยบายต่างประเทศของอังกฤษเป็นไปในแนวทางเดียวกับยุโรปเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ประเด็นการค้า อิหร่าน จนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในทางกลับกัน จอห์นสันให้สัมภาษณ์ว่า จะแนะนำให้ทรัมป์ยุติสงครามการค้าที่กำลังบ่อนทำลายเสถียรภาพเศรษฐกิจทั่วโลก
นอกจากนั้น แม้ผู้นำอียูกดดันประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโรของบราซิลอย่างหนักให้เร่งดับไฟป่าในแอมะซอน แต่อังกฤษและเยอรมนีไม่เห็นด้วยที่มาครงบีบบราซิลด้วยการขัดขวางข้อตกลงการค้าระหว่างอียูกับกลุ่มเมอร์โคซูร์ที่ประกอบด้วยบราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย และปารากวัย
นอกจากเผชิญศึกภายในห้องประชุมแล้ว ยังมีรายงานว่า มีนักเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนบาสก์ของสเปน และผู้ประท้วง “เสื้อกั๊กเหลือง” ของฝรั่งเศส หลายพันคนร่วมเดินขบวนอย่างสันติบริเวณชายแดนระหว่างสเปนกับฝรั่งเศสเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำ G7 เร่งแก้ปัญหาต่างๆ