xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘ทรัมป์’ หมดหวังซื้อเกาะ ‘กรีนแลนด์’ เดนมาร์กยัน ‘ไม่ได้มีไว้ขาย’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภูเขาน้ำแข็งซึ่งลอยอยู่กลางทะเลในเมืองคูลูซุก (Kulusuk) บนเกาะกรีนแลนด์
กลายเป็นข่าวฮือฮาทั่วโลกเมื่อจู่ๆ ผู้นำสหรัฐฯ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ก็ประกาศว่าอยากจะซื้อ ‘เกาะกรีนแลนด์’ ซึ่งมีสถานะเป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์ก และแม้ข้อเสนอดังกล่าวจะถูกรัฐบาลแดนโคนมปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย แต่ก็บ่งบอกถึงความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของเกาะซึ่งปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งแห่งนี้ ทั้งในแง่เส้นทางเดินเรือใหม่ที่เป็นผลพวงมาจากภาวะโลกร้อน รวมไปถึงท่าทีของ ‘จีน’ ที่ตั้งเป้าสยายอิทธิพลสู่ภูมิภาคอาร์กติก

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์เนิลเป็นสื่อเจ้าแรกที่ออกมาเปิดเผยว่า ทรัมป์ กำลังสนใจเกาะกรีนแลนด์ และถึงขั้นเคยถามที่ปรึกษาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่สหรัฐฯ จะขอซื้อมัน

ผู้นำสหรัฐฯ ออกมายอมรับเมื่อวันอาทิตย์ (18) ว่าสนใจที่จะซื้อเกาะกรีนแลนด์จริง แต่ย้ำว่าเรื่องนี้ “ไม่ใช่เป้าหมายหลัก” ของรัฐบาล และไม่เกี่ยวข้องกับแผนไปเยือนเดนมาร์กในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่สหรัฐฯ จะพิจารณาแลกเปลี่ยนดินแดนของอเมริกากับกรีนแลนด์ ทรัมป์ก็ตอบว่า “หลายอย่างสามารถดำเนินการได้” โดยเฉพาะกรณีนี้ถือเป็นข้อตกลงอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี ทรัมป์ ได้ประกาศยกเลิกแผนเดินทางเยือนเดนมาร์กเอาดื้อๆ ในวันอังคาร (20) หลังโคเปนเฮเกนแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ขายกรีนแลนด์ให้สหรัฐฯ อย่างแน่นอน

“จากที่นายกรัฐมนตรี เมตเต เฟรเดอริกเซน ได้กล่าวว่าเธอไม่มีความสนใจที่จะพูดคุยเรื่องการขายเกาะกรีนแลนด์ ผมจึงตัดสินใจเลื่อนการหารือซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าออกไปก่อน” ทรัมป์ ทวีตข้อความเมื่อวันอังคาร (20 ส.ค.)

“ความตรงไปตรงมาของท่านนายกรัฐมนตรีช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และความพยายามของทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และเดนมาร์กลงไปได้มาก ผมต้องขอบคุณท่านด้วย และหวังว่าจะได้นัดพบกันอีกครั้งในอนาคต!”

เฟรเดริกเซน กล่าวขณะไปเยือนเกาะกรีนแลนด์เมื่อวันอาทิตย์ (18) ว่า ไอเดียของ ทรัมป์ นั้น “ไร้สาระ” (absurd) ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของกรีนแลนด์ก็ยืนยันเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (16) ว่า เกาะแห่งนี้พร้อมที่จะพูดคุยเรื่องธุรกิจเสมอ แต่ไม่ยินดีขายดินแดนให้ใคร

การยกเลิกแผนเดินทางของผู้นำสหรัฐฯ สร้างความประหลาดใจต่อราชวงศ์เดนมาร์กซึ่งเชื้อเชิญ ทรัมป์ ให้ไปเยือนอย่างเป็นทางการในวันที่ 2-3 ก.ย. ขณะที่ มาร์ติน ลิเดการ์ด อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเดนมาร์ก ชี้ว่าการกระทำของ ทรัมป์ เป็น “ละครตลกทางการทูต” ทั้งยังวิจารณ์ผู้นำสหรัฐฯ ว่าเป็นคน “พิลึก” ที่ชอบแสดงความเกรี้ยวกราดเหมือนเด็กๆ

เกาะซึ่งมีพื้นที่ราว 2 ล้านตารางกิโลเมตรและถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งถึง 80% แห่งนี้เป็นอาณานิคมของเดนมาร์กมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 18 ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ราว 57,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองอินูอิต

การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่เพิ่มอัตราเร็วขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะโลกร้อนส่งผลให้น่านน้ำอาร์กติกกลายเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ที่สำคัญ และทำให้เกาะกรีนแลนด์ถูกหมายตาโดยชาติมหาอำนาจที่ต้องการช่วงชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์

หลายฝ่ายเชื่อว่ากรีนแลนด์มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าซุกซ่อนอยู่อย่างมหาศาล ทั้งน้ำมัน แร่ธาตุ รวมถึงพวกสินแร่หายากที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิตสินค้าเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่า ‘แรร์เอิร์ธ’

กลุ่มทุนซึ่งมีรัฐบาลจีนหนุนหลังได้ยื่นซองประกวดราคาเพื่อคว้าสัญญาก่อสร้างสนามบินนานาชาติ 3 แห่งบนเกาะกรีนแลนด์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อทั้งโคเปนเฮเกนและวอชิงตัน และต่อมาก็ถูกยับยั้งเมื่อกรีนแลนด์เลือกที่จะรับเงินทุนจากรัฐบาลเดนมาร์ก รวมถึงคำสัญญาสนับสนุนจากเพนตากอน

ฮีทเธอร์ คอนลีย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เชื่อว่า ทรัมป์ คงไม่ได้หวังว่าเดนมาร์กจะยอมขายเกาะกรีนแลนด์ให้จริงๆ ทว่าข้อเสนอของเขาก็บ่งบอกว่าน่านน้ำอาร์กติกมีความสำคัญในแง่ภูมิยุทธศาสตร์มากเพียงใดในสายตาสหรัฐฯ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาเคยใช้กรีนแลนด์เป็นฐานติดตามความเคลื่อนไหวของเรือและเรือดำน้ำนาซีที่ล่องผ่าน “เส้นทางอาร์กติก” (Arctic Avenue) ซึ่งเป็นเสมือนประตูเข้าสู่มหาสมุทรแอนแลนติกเหนือ

สหรัฐฯ เข้าไปสร้างฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งไว้ที่เมืองทูลี (Thule) ทางตอนเหนือของกรีนแลนด์ในปี 1943 ทำให้เมืองนี้เป็นเสมือนแนวป้องกันการโจมตีจากรัสเซียในยุคสงครามเย็น

ปัจจุบันฐานทัพแห่งนี้มีทั้งสถานีเรดาร์และระบบเตือนภัยขีปนาวุธ โดยอยู่ในความดูแลของนาโต

การสิ้นสุดของสงครามเย็นในทศวรรษ 1990 ทำให้สหรัฐฯ คลายความสนใจต่อภูมิภาคอาร์กติกลงไปมาก แต่เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกเริ่มละลายและเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ รัสเซียก็เริ่มแผ่สยายอิทธิพลมากขึ้น ส่วนจีนแม้ไม่ใช่ประเทศอาร์กติก แต่ก็เข้าไปทำกิจกรรมในแถบขั้วโลกเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ และยังเข้าเป็นรัฐผู้สังเกตการณ์ในสภาอาร์กติก (Arctic Council) ตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งทำให้ประเทศอาร์กติกส่วนใหญ่รู้สึกหวาดระแวงเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ในระยะยาวของจีน

จีนเริ่มส่งนักวิทยาศาสตร์เข้าไปสำรวจแถบอาร์กติกตั้งแต่ปี 2004 และมีบริษัทจีนแห่งหนึ่งที่ได้สัมปทานทำเหมืองแรร์เอิร์ธในกรีนแลนด์ โดยร่วมกับหุ้นส่วนสัญชาติออสเตรเลีย

เดือน ม.ค. ปีที่แล้ว รัฐบาลปักกิ่งได้ประกาศนโยบายบุกเบิกเส้นทางเดินเรือใหม่ในแถบอาร์กติก หรือที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมขั้วโลก” (Polar Silk Road) เพื่อมาต่อยอดโครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

ทรัมป์ ไม่ใช่ผู้นำอเมริกันคนแรกที่พยายามซื้อกรีนแลนด์ โดยเมื่อปี 1867 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็เคยแสดงท่าทีสนใจเกาะใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้มาแล้ว และต่อมาในปี 1946 ประธานาธิบดี แฮร์รี เอส. ทรูแมน ก็เคยเสนอซื้อเกาะกรีนแลนด์จากเดนมาร์กด้วยทองคำมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือไม่ก็แลกกับดินแดนบางส่วนของรัฐอะแลสกา
กำลังโหลดความคิดเห็น