เอเอฟพี - องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุวันนี้ (21 ส.ค.) ว่า ‘ไมโครพลาสติก’ ที่เจือปนอยู่ในน้ำประปาหรือน้ำดื่มยังไม่สูงถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินความเสี่ยงในอนาคต
รายงานฉบับแรกของ WHO ที่ว่าด้วยผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพของมนุษย์เน้นหนักไปที่อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กซึ่งปะปนอยู่ในน้ำประปาและน้ำดื่มบรรจุขวด
บรูซ กอร์ดอน ผู้ประสานงานฝ่ายกิจการน้ำและสุขอนามัยของ WHO ระบุว่า ผลการประเมินพบว่าความเสี่ยงยังอยู่ในระดับ “ต่ำ” แต่ก็ยากจะที่จะสรุปชี้ชัดลงไป เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณไมโครพลาสติกที่เจือปนในน้ำดื่มยังคงมีจำกัด และผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือก็มีอยู่น้อยมาก
WHO เรียกร้องให้นักวิจัยทำการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับไมโครพลาสติกและผลกระทบที่จะเกิดต่อมนุษย์ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ทั่วโลกลดการใช้พลาสติกเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และลดความเสี่ยงที่ผู้คนจะบริโภคไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย
WHO ระบุว่า ไมโครพลาสติกที่มีขนาดใหญ่กว่า 150 ไมโครเมตรจะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ทว่าอนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็กยิ่งกว่านั้น โดยเฉพาะ ‘นาโนพลาสติก’ จะก่อให้เกิดอันตรายได้มากกว่า
“เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพ เพราะมันมีอยู่ทุกที่ รวมถึงในน้ำที่พวกเราดื่มเข้าไป” มาเรีย ไนรา ผู้อำนวยการแผนกสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของ WHO ระบุในถ้อยแถลง
รายงานฉบับนี้ยังเตือนว่า หากขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราปัจจุบัน ไมโครพลาสติกจะกลายเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงและกว้างขวางต่อระบบนิเวศในช่วง 1 ศตวรรษข้างหน้า และมีโอกาสที่จะปะปนเข้าสู่ร่างกายมนุษย์มากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำให้มีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบกรอง (filtration) ก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งจะสามารถกำจัดไมโครพลาสติกได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
WHO ชี้ว่า มาตรการบำบัดน้ำเสียยังช่วยลดปริมาณแบคทีเรียก่อโรค และสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดโรคท้องร่วงชนิดรุนแรงได้