รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ในวันพุธ (21 ส.ค.) แสดงความขุ่นเคืองต่อคำแถลงปฏิเสธขายเกาะกรีนแลนด์ของนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ระบุ “น่ารังเกียจ” พร้อมอ้างการซื้อดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์กแห่งนี้เป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น
“ผมคิดว่าคำแถลงของนายกรัฐมนตรีนั้น...น่ารังเกียจ” ทรัมป์บอกกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว ก่อนออกเดินทางไปร่วมกิจกรรมหนึ่งเกี่ยวกับทหารผ่านศึกในเคนทักกี “มันเป็นถ้อยแถลงที่ไม่เหมาะสม”
ทรัมป์กล่าวต่อว่า “แทนที่จะเรียกไอเดียนี้ว่าไร้สาระ นายกรัฐมนตรีเมตเตอ เฟรเดอริกเซน ควรบอกกับผมตรงๆว่าประเทศของเธอไม่สนใจขาย”
ความเห็นของเฟรเดอริกเซน กระตุ้นให้ในวันอังคาร (20 ส.ค.)ทรัมป์ยกเลิกแผนเดินทางเยือนเดนมาร์ก ซึ่งกำหนดเอาไว้ในช่วงเดือนกันยายน
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เป็นสื่อแห่งแรกที่รายงานว่าทรัมป์แสดงความสนใจกรีนแลนด์ เขตปกครองตนเองของเดนมาร์กที่พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง โดยขอให้บรรดาที่ปรึกษาตรวจสอบดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่อเมริกาจะขอซื้อดินแดนดังกล่าว
วอลล์สตรีท เจอร์นัลสำทับว่า ทรัมป์ซึ่งเป็นเคยเป็นนักอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่มาก่อน สนใจใคร่รู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและความเกี่ยวข้องทางภูมิรัฐศาสตร์ของกรีนแลนด์
ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอาทิตย์ (18 ส.ค.) ว่าเมื่อเร็วๆ นี้เขาได้พูดคุยหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะซื้อเกาะใหญ่ที่สุดของโลกจริง แต่ไม่ถึงกับกำหนดเป็นเป้าหมายหลักของคณะบริหารของเขา และการเยือนเดนมาร์กก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย
ครั้นเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะพิจารณาแลกเปลี่ยนดินแดนของอเมริกากับกรีนแลนด์ ทรัมป์ตอบว่า หลายอย่างสามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะกรณีนี้ถือเป็นข้อตกลงอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่
แลร์รี คุดโลว์ ที่ปรึกษาทำเนียบขาวยอมรับว่ากรีนแลนด์เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์และอุดมไปด้วยแร่มีค่ามากมาย
ต่อมาในวันอังคาร (20 ส.ค.) ทรัมป์ยืนยันว่าสหรัฐฯ ขบคิดถึงความเป็นไปได้ในการซื้อเกาะกรีนแลนด์มานานแล้ว และโดยส่วนตัวเขามองว่ามันเป็นความคิดที่ดี
กรีนแลนด์เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและอาร์กติก มีพื้นที่ 1.7 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่ง 80% ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง
ว่ากันว่า ใต้แผ่นน้ำแข็งเหล่านี้อาจมีน้ำมันและแร่ธาตุซ่อนอยู่ หากสามารถขุดเจาะขึ้นมาใช้ได้จะทำให้อนาคตกรีนแลนด์เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีการค้นพบน้ำมันในน่านน้ำกรีนแลนด์ และความหนาของแผ่นน้ำแข็งหมายความว่า การสำรวจทำได้เฉพาะบริเวณชายฝั่งเท่านั้น
ทรัมป์ไม่ใช่ผู้นำอเมริกันคนแรกที่พยายามซื้อเกาะใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ เมื่อปี 1946 อเมริกาเคยเสนอซื้อกรีนแลนด์ด้วยเงิน 100 ล้านดอลลาร์ หลังจากเพ้อฝันกับไอเดียการแลกเปลี่ยนดินแดนในอะแลสกากับกรีนแลนด์
นอกจากนั้น ในปี 1951 เดนมาร์กยังทำข้อตกลงยอมให้อเมริกาเข้าไปสร้างฐานทัพและสถานีเรดาร์ในกรีนแลนด์ และกองทัพอากาศสหรัฐฯ ยังคงมีฐานทัพในดินแดนดังกล่าวหนึ่งแห่งในขณะนี้