เอเจนซีส์ – ผู้บัญชาการทหารเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ รับ กังวลมากที่ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ปีนเกลียวกันท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากจีนและเกาหลีเหนือ ขณะที่เมื่อต้นสัปดาห์ เพิ่งมีรายงานของมหาวิทยาลัยชั้นนำแดนจิงโจ้เตือนว่า กองทัพอเมริกาไม่ได้เป็นที่หนึ่งในย่านแปซิฟิกอีกต่อไป มิหนำซ้ำยังอาจปกป้องพันธมิตรจากภัยคุกคามของพญามังกรไม่ได้ด้วยซ้ำ
พลเอกเดวิด เบอร์เกอร์ กล่าวเมื่อวันพุธ (21 ส.ค.) ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ ว่า ทุกฝ่ายควรกังวลเมื่อปรากฏความท้าทายบางอย่างต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของกลุ่มพันธมิตร เพราะทุกประเทศล้วนมีข้อมูลที่ประเทศอื่นต้องการ
ปัจจุบัน วอชิงตันอยู่ท่ามกลางสองพันธมิตรสำคัญในเอเชีย ที่พิพาทกันหนักเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยแรงงานเกาหลีซึ่งถูกบังคับทำงานระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเรื่องนี้กำลังบานปลายจนกลายเป็นความบาดหมางทางการค้า แถมล่าสุดโซลยังขู่ยกเลิกความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลทางทหารให้โตเกียว ซึ่งจำเป็นสำหรับการรับมือภัยคุกคามจากนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
คำขู่ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากต้นเดือนที่แล้วญี่ปุ่นจำกัดการส่งออกวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตชิปและจอแสดงผลให้เกาหลีใต้โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ตามด้วยการถอดโสมขาวออกจากกลุ่มประเทศที่ได้รับความอนุเคราะห์ทางการค้า
ทั้งนี้ ข้อตกลงการรักษาข้อมูลทางทหารร่วมซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2016 และจะได้รับการต่ออายุอัตโนมัติในวันเสาร์ (24) นี้ เว้นแต่มีพันธมิตรชาติหนึ่งชาติใดคัดค้านนั้น เป็นสิ่งซึ่งส่งเสริมสนับสนุนการรวบรวมและการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองทางทหารระหว่างอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
เบอร์เกอร์แสดงความเชื่อมั่นว่า โซลและโตเกียวจะสะสางความขัดแย้งระหว่างกันได้ เนื่องจากต่างตระหนักเช่นเดียวกับวอชิงตันเกี่ยวกับภัยคุกคามในเอเชีย ซึ่งในระยะสั้นนั้นมาจากเกาหลีเหนือ ส่วนภัยคุกคามเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวต่อเสถียรภาพของภูมิภาคนี้คือจีน
การแสดงความคิดเห็นคราวนี้มีขึ้นก่อนที่ ทาโร โคโนะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น จะพบหารือกับคัง คยอง-ฮวา รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างต่างเดินทางไปร่วมประชุมสามเส้ากับจีนที่ปักกิ่งในวันพุธ
นอกเหนือจากความรู้สึกวิตกเรื่องการบาดหมางระหว่างสองพันธมิตรหลักในเอเชียแล้ว เมื่อต้นสัปดาห์นี้ยังมีรายงานจากศูนย์ศึกษาสหรัฐฯ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ที่เตือนว่า อเมริกาไม่ได้เป็นหนึ่งทางการทหารในย่านแปซิฟิกอีกต่อไป มิหนำซ้ำยังอาจปกป้องพันธมิตรจากภัยคุกคามของจีนไม่ได้ด้วยซ้ำ
รายงานดังกล่าวที่เผยแพร่ออกมาในวันจันทร์ (19) ระบุว่า กองทัพอเมริกันเป็นกองกำลังอาวุธที่กำลังเสื่อมถอยลง ใช้จ่ายเกินตัวทั้งด้านกำลังพลและงบประมาณ และไม่มีความพร้อมในการเผชิญหน้ากับจีน
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยทำให้หลายฝ่ายกังวลอย่างมากว่า วอชิงตันจะปกป้องพันธมิตรหรือไม่ ถ้าหากเผชิญการรุกรานจากจีน แต่รายงานของมหาวิทยาลัยชั้นนำของออสเตรเลียฉบับนี้บ่งชี้ว่า แม้อเมริกาอยากช่วยก็อาจช่วยไม่ได้
รายงานระบุว่า วอชิงตันล้มละลายด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากหมกมุ่นทำสงครามในตะวันออกกลางมาหลายสิบปี นอกจากนี้ยังมีการแตกแยก และการขาดแคลนงบประมาณสนับสนุนพันธมิตรในแปซิฟิก
ตรงข้ามกับรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เพิ่มงบประมาณการทหารถึงราว 75% เป็น 178,000 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงระบบกลาโหมขั้นสูง ที่สำคัญยังลงทุนในระบบขีปนาวุธที่แม่นยำและระบบต่อต้านการแทรกแซง ซึ่งทำให้กองทัพอเมริกันยากที่จะเข้าถึงบริเวณที่มีปัญหาอย่างรวดเร็ว
รายงานของมหาวิทยาลัยซิดนีย์เสริมว่า ฐานทัพ สนามบิน ท่าเรือ และที่ตั้งทางทหารเกือบทั้งหมดของอเมริกาและพันธมิตรในย่านแปซิฟิกตะวันตก ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและกำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรง
จีนอาจใช้ความได้เปรียบที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เข้ายึดไต้หวัน หมู่เกาะที่มีข้อพิพาทกับญี่ปุ่น หรือทะเลจีนใต้ ก่อนที่กองกำลังอเมริกันจะทันเดินทางไปถึงเสียอีก
ดังนั้น หากการประเมินนี้ถูกต้อง ก็จะมีนัยสำคัญอย่างมากสำหรับออสเตรเลีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งล้วนพึ่งพิงการรับประกันความปลอดภัยจากอเมริกา
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การติดตั้งขีปนาวุธภาคพื้นดินและการเปลี่ยนบทบาทของหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ จะมีความสำคัญต่อการรับมือจีน รวมถึงมาตรการป้องกันร่วมภายในภูมิภาค โดยที่ญี่ปุ่นและออสเตรเลียต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น