(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Decline of the West, divide of the ‘Eastern West’
By Andrew Salmon
07/08/2019
ไม่มียุคใดที่ทั้งศรัทธาความเชื่อต่อธรรมาภิบาลและระบบต่างๆ ของฝ่ายตะวันตกพากันตกต่ำ โดยเวลาเดียวกันนั้น อำนาจและความเชื่อมั่นในกลุ่มพลังต่างๆ ซึ่งเป็นฝ่ายปรปักษ์ต่อตะวันตก กลับพุ่งขึ้นพรวดพราด ฝ่ายตะวันตกที่รวมถึง “ฝ่ายตะวันออกที่กลายเป็นตะวันตก” จะสามารถต่อสู้กับจีน-รัสเซีย ในการช่วงชิงอำนาจซึ่งกำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นทุกทีได้หรือไม่ เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจน
การพังครืนล่มสลายของฝ่ายตะวันตก เป็นสิ่งที่กำลังถูกทำนายพยากรณ์กันซ้ำแล้วซ้ำเล่า และขณะที่มันอาจจะยังไม่ใช่สิ่งซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นมาอยู่รอมร่อ กระนั้นเราก็ย่อมสามารถมองเห็นความเสื่อมถอยของมันกันเรียบร้อยแล้ว เป็นเรื่องยากลำบากที่เราจะสามารถชี้ให้เห็นถึงยุคสมัยอื่นๆ ซึ่งทั้งศรัทธาความเชื่อต่อธรรมาภิบาลและระบบต่างๆ ของฝ่ายตะวันตกพากันตกต่ำ โดยเวลาเดียวกันนั้นอำนาจและความเชื่อมั่นในกลุ่มพลังต่างๆ ซึ่งเรียงแถวแสดงความเป็นปรปักษ์ต่อฝ่ายตะวันตกก็กลับพุ่งพรวดพราด เฉกเช่นที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้
ถ้าเช่นนั้นแล้ว อะไรบ้างที่ประกอบกันขึ้นเป็น “ฝ่ายตะวันตก” (The West) ?
พวกสมาชิกที่เป็นแกนหลักเลย แน่นอนทีเดียวว่า คือผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในซีกโลกตะวันตก (Western Hemisphere) โดยที่สำคัญโดดเด่นย่อมเป็นยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ แต่คำว่า “ฝ่ายตะวันตก” ไม่ได้เป็นเพียงคำบรรยายในเชิงภูมิศาสตร์เท่านั้น มันยังหมายถึงเนื้อหาองค์รวมในทางสถาบันและค่านิยมต่างๆ อีกด้วย เหตุฉะนี้คำว่าพวกประเทศ “ตะวันตก” จึงมีความสอดคล้องอย่างกว้างๆ กับ ธรรมาภิบาลการปกครองแบบประชาธิปไตย, ทุนนิยมแบบเน้นตลาด, และหลักนิติธรรม, พรั่งพร้อมด้วยวิถีชีวิตอันมั่งคั่งร่ำรวย, ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง, และค่านิยมต่างๆ แบบเสรีนิยม
เมื่อพิจารณาจากคำจำกัดความหลวมๆ เช่นนี้แล้ว ประเทศจำนวนมากในยุโรปตะวันออก และหลายๆ ส่วนของโลกที่เป็นถิ่นพำนักอาศัยของพวกที่พูดภาษาอังกฤษ –โดยที่โดดเด่นย่อมเป็นออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็จะถูกมองว่าเป็น “ฝ่ายตะวันตก” ด้วย และจากเหตุผลอย่างเดียวกันนี้ ไต้หวัน, เกาหลีใต้, และญี่ปุ่น ก็สามารถกล่าวอ้างได้เหมือนกันว่าเป็นชาติ “ฝ่ายตะวันตก” ถึงแม้ในทางภูมิศาสตร์, วัฒนธรรม, และเผ่าพันธุ์แล้ว พวกเขาเหล่านี้เป็น “ฝ่ายตะวันออก”
แล้วเมื่อใดกันที่ฝ่ายตะวันตกเสื่อมโทรมถดถอย ?
ทำไมฝ่ายตะวันตกไม่ชนะ
มันเริ่มต้นขึ้นในตะวันออก ด้วยสงครามเวียดนามและยุคสมัยที่ประกอบอยู่กับสงครามคราวนั้น ความล้มเหลวของอเมริกันที่ไม่สามารถประสบชัยชนะในสงครามคราวนั้น ได้ก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจอันใหญ่โตมโหฬารในระดับชาติ มิหนำซ้ำยังสมทบเพิ่มความซับซ้อนเข้ามาอีกด้วยกรณีวอเตอร์เกต (Watergate) [1] ประชาชนที่ครั้งหนึ่งเคยเคารพเชื่อฟังรัฐบาลได้เปลี่ยนผันกลับไปเป็นไม่มีความไว้เนื้อใจ ความไม่เชื่อถือเช่นนี้ยังขยายไปยังเสาหลักต่างๆ ที่ถือเป็น “คลังแสงแห่งอำนาจของระบอบประชาธิปไตย” อันได้แก่ กองทัพ, เครือข่ายการรวมตัวกันระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายอุตสาหกรรม (military-industrial complex), และประชาคมข่าวกรอง (intelligence community)
สงครามเวียดนามทำให้เป็นที่ประจักษ์ถึงข้อจำกัดต่างๆ แห่งอำนาจของอเมริกัน ไม่เพียงเท่านั้น ทุกวันนี้ มันยังไม่ได้จำกัดอยู่แค่สหรัฐฯเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว หากแต่สำหรับฝ่ายตะวันตกโดยรวมในวงกว้างอีกด้วย ซึ่งกำลังบาดเจ็บจากลัทธิพ่ายแพ้ปราชัย (โดยเฉพาะในเมื่อฝ่ายตะวันตกยังคงไม่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตรนานาชาติรูปแบบต่างๆ ภายหลังเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 11 กันยายน 2001)
การต้านทานของชาวอิรักและชาวอัฟกานิสถาน ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่ามีความหยุ่นตัวมากกว่าที่เคยคาดหมายกันเอาไว้ จิตวิญญาณแห่งการสู้รบของพวกเขา สำแดงความเหนือล้ำกว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ระดับยอดเยี่ยมตลอดจนกองทหารไฮเทคมืออาชีพของฝ่ายตะวันตก ความปั่นป่วนวุ่นวายที่บังเกิดขึ้นยังกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะก่อกำเนิดศัตรูใหม่ๆ เป็นต้นว่า พวกไอซิส (ISIS อีกชื่อย่อหนึ่งของกลุ่มรัฐอิสลาม- ไอเอส) สาธารณชนของฝ่ายตะวันตกไม่มีความสามารถที่จะอดทนกับยอดจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตาย การที่พวกเขาปฏิเสธไม่ยอมฟ้องร้องกล่าวโทษเอาผิดการปฏิบัติอันโหดเหี้ยมอำมหิต เมื่อบวกกับความลังเลที่จะปฏิบัติตามแนวทางยุทธศาสตร์ระยะยาว อย่างเช่น การสร้างชาติภายหลังการสู้รบ เหล่านี้คือสัญญาณบ่งชี้ว่า วันเวลาแห่งการเอาชนะสงครามของฝ่ายตะวันตกกำลังหมดสิ้นลงเสียแล้ว
และไม่เพียงแค่ด้านยุทธศาสตร์/ความมั่นคงเท่านั้น ความเชื่อมั่นยังตกวูบเช่นกันในภาคส่วนอื่นๆ กว้างขวางเลยไกลออกไป
ความล้มเหลวทางการเงิน และอุตสาหกรรมการผลิตโยกย้ายไปทางตะวันออก
วิกฤตการณ์ภาคการเงินทั่วโลกปี 2008 (ในเมืองไทยบางทีเรียกขานรู้จักกันในนาม วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ –ผู้แปล) เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความวิบัติหายนะแต่ไม่ได้มีความจำเป็นใดๆ เลย ได้ถูกจุดชนวนขึ้นจากมุมลึกที่สุดภายในหมู่คนร่ำรวยที่สุด ทว่าเป็นภาคส่วนซึ่งมีการติดตามกำกับตรวจสอบอย่างย่ำแย่ที่สุด นั่นคือ การเงินในระดับสูง ความเสียหายทางศีลธรรมที่เกิดขึ้นมานั้นใหญ่โตมโหฬาร วิกฤตการณ์ภาคการเงินทั่วโลกครั้งนี้ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้แก่ความไม่ไว้วางใจในธรรมาภิบาลการปกครองซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากมันคือการบ่อนทำลายความศรัทธาในตัวลัทธิทุนนิยมระดับโลกเองเลยทีเดียว
สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้กันเอาไว้ก็คือ ภาวะช็อกคราวนี้บังเกิดขึ้นท่ามกลางแนวโน้มระยะยาวที่มีขอบเขตกว้างไกลยิ่งกว่ามากมายนัก ได้แก่ การที่ฐานอุตสาหกรรมของฝ่ายตะวันตกกำลังถูกควักถูกปลิ้นออกมาจนว่างเปล่า ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตทั้งหลายพากันผันตัวโยกย้ายไปอยู่ทางตะวันออก สภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดความโกรธแค้นอันคุกรุ่นมาอย่างยาวนาน เป็นความเดือดดาลชนชั้นผู้ทรงอำนาจทางการเมืองซึ่งคอยแต่ส่งเสริมสนับสนุนผลประโยชน์ต่างๆ ของโลกาภิวัตน์ที่เอื้ออำนวยให้แก่ชนชั้นกลาง โดยที่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานมองเห็นเข้าใจกันว่าพวกตนเองคือผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อ
การพลิกผันโยกย้ายเช่นนี้ ไม่ได้ถึงกับเป็นไปหมดทั้งฝ่ายตะวันตก ตัวอย่างเช่น เยอรมนี ยังคงรักษาฐานด้านอุตสาหกรรมการผลิตอันทรงพลังเอาไว้ แทนที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่ภาคบริการด้านต่างๆ กระนั้นมันก็ยังคงมีพลังเพียงพอที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ทั่วทั้งสองฟากข้างมหาสมุทรแอตแลนติก อย่าง ลัทธิทรัมป์ และ เบร็กซิต ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้โดยเนื้อหาสาระแล้วคือพลวัตแห่งการต่อต้านโลกาภิวัตน์นั่นเอง เป็นเรื่องแปลกประหลาดเอาการอยู่ ที่ขบวนการทั้งสองสิ่งนี้ถูกนำโดยพวกผู้นำในวอชิงตันและในลอนดอน ผู้ซึ่งถึงแม้พวกเขาเองเป็นปัจเจกบุคคลผู้มีอภิสิทธิ์สูงลิบลิ่ว แต่กำลังกลับกลายเป็นแชมเปี้ยนผู้ต่อสู้ให้แก่ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน และเชิดชูความใฝ่ฝันที่จะหวนกลับไปสู่วันเวลาอันสดใสในอดีตก่อนหน้ากระแสโลกาภิวัตน์
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มระยะยาวที่อุตสาหกรรมการผลิตมุ่งสู่ตะวันออกเช่นนี้ ก็ทำให้ฝ่ายตะวันตกได้พันธมิตรใหม่ๆ หรือน่าจะเรียกให้ถูกต้องมากกว่าว่า ได้สมาชิกใหม่ๆ
ตะวันตกผันตัวไปตะวันออก – จากนั้น “ตะวันออกที่กลายเป็นตะวันตก” ก็แตกแยกกัน
จากทศวรรษ 1960 ไปจนถึงทศวรรษ 1990 ญี่ปุ่น จากนั้นก็ตามมาด้วยเกาหลีใต้และไต้หวัน ได้แสดงให้เห็นว่า ชนชั้นผู้ใช้แรงงานผู้ทะเยอทะยานของเอเชียสามารถกระทำอะไรได้บ้าง (โดยพึ่งพาอาศัยยุทธศาสตร์ที่เฉียบคมจากการวางแผนอันเหมาะเหม็งเลอเลิศ, การได้รับอำนาจจากการเข้าถึงเทคโนโลยีตะวันตก, และการได้อิสระในการเข้าสู่ตลาดทั่วโลก) การผงาดของเสือแห่งเอเชียเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนแปลงโฉมของเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่การปรากฏขึ้นของชนชั้นกลางชาวเอเชียเหล่านี้ ก็กลายเป็นเพิ่มพลเมืองใหม่จำนวนหลายๆ ล้านให้แก่ประชากรประชาธิปไตยของทั่วโลก
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาได้ยัดเยียดระบอบประชาธิปไตยให้แก่ญี่ปุ่น ส่วนเกาหลีใต้และไต้หวันนั้น ภายหลังการก่อสร้างฐานต่างๆ ทางอุตสาหกรรม, การกำจัดความยากจน, การไต่บันไดแห่งความมั่งคั่งรุ่งเรือง, และการบ่มเพาะฟูมฟักชนชั้นกลางแล้ว พวกเขาก็ได้ไขว่คว้ายึดกุมระบอบประชาธิปไตยเอาไว้อย่างมั่นคง ชาติเหล่านี้ต่างยอมรับนำเอาสิ่งที่โดยเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ทั้งหลายทั้งปวงแล้วคือ ค่านิยม “ตะวันตก” มาปฏิบัติ วิถีการดำเนินชีวิต, เสรีภาพ, และความมุ่งมาดปรารถนาของมนุษย์เงินเดือนในเอเชียตะวันออก เป็นต้นว่าที่เมืองปูซาน ของเกาหลีใต้ ย่อมมีความละม้ายเหมือนกันอย่างมากๆ กับพวกคนงานออฟฟิศในชาติตะวันตกดั้งเดิม อย่างเช่นที่ ไบรตันของอังกฤษ
พิจารณากันในเชิงพาณิชย์ ระบอบประชาธิปไตยเอเชียตะวันออกทั้ง 3 รายนี้ต่างก็เป็นคู่แข่งขันและก็เป็นหุ้นส่วนไปด้วยพร้อมๆ กัน พวกเขากำลังแข่งขันกันและกำลังร่วมมือประสานงานกันในเวลาเดียวกับที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างล้ำลึกในห่วงโซ่อุปทานต่างๆ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้พวกเขาทั้งหมดต่างหลบภัยอยู่ใต้ร่มเงาโล่ป้องกันของอเมริกา ทว่าพวกเขากลับไม่ได้มีความผูกมัดกันเอาไว้ด้วยการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ 4 ฝ่าย ความล้มเหลวเช่นนี้ (การขาดไร้ซึ่ง “องค์การนาโต้แห่งเอเชียตะวันออก” หรือ “ประชาคมทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออก”) เวลานี้ยังกำลังอยู่ในอาการย่ำแย่ลงยิ่งกว่าเดิมอีก
ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เคยมีความสัมพันธ์ทางการพาณิชย์และทางการทูตอย่างเหนียวแน่นมั่นคงจากช่วงทศวรรษ 1960 ไปจนถึงทศวรรษ 1990 แต่หลังจากที่ประเทศหลังกลายเป็นชาติประชาธิปไตยแล้ว ข้อเรียกร้องต้องการใหม่ๆ ก็เผยโฉมขึ้นมาเหนือประเด็นปัญหาเก่าๆ ทางประวัติศาสตร์ โดยโยงใยอยู่กับยุคที่ญี่ปุ่นทำการปกครองคาบสมุทรเกาหลีแบบอาณานิคมตั้งแต่ปี 1910 ถึง 1945 เวลาเดียวกันนั้น เกาหลีใต้ก็ลดการพึ่งพาอาศัยเงินทุน, คำปรึกษาหารือ, และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น พลังความมีชีวิตที่ปรากฏออกมาก็คือ โซลเรียกร้องต้องการคำขอโทษและการชดใช้ความทุกข์ยากต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ขณะที่โตเกียวก็ยืนกรานว่าตนเองได้ดำเนินการชำระและชดใช้ไปเรียบร้อยแล้ว
การพิพาทกันทางประวัติศาสตร์-การทูตอย่างไม่รู้จบเช่นนี้ เวลานี้ได้ก้าวกระโดดอย่างไม่น่ายินดีจากพื้นที่การทูตไปสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจแล้ว ขณะที่สงครามการค้าอันน่ารังเกียจระหว่างสองประเทศนี้กำลังก่อรูปขึ้นมา วาทกรรมที่ออกมาจากกรุงโซลบ่งชี้ว่าการทะเลาะเบาะแว้งกันคราวนี้อาจกลายเป็นการคิดบัญชีกันครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สองประเทศนี้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 1965 ทีเดียว ปัจจุบันยังไม่มีฝ่ายใดทำท่าต้องการที่จดลดทอนความขัดแย้งลงมา ทว่าแม้กระทั่งถ้าหากสถานการณ์นี้สามารถแก้ไขคลี่คลายไปได้ (โดยน่าที่จะมีสหรัฐฯทำหน้าที่เป็นคนกลางคอยไกล่เกลี่ย) ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองก็ยังคงถูกเปรอะเลอะด้วยพิษร้ายเสียแล้ว
เกาหลีใต้นั้นเคยเป็นพลังทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นพลังทางการเมืองเสมอมา ญี่ปุ่นโดยธรรมเนียมแต่เดิมก็เป็นอย่างเดียวกัน ทว่าภายใต้ผู้นำคนปัจจุบัน แดนอาทิตย์อุทัยได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความทะเยอทะยานที่จะแสดงบทบาทอันแข็งกร้าวยืนกรานมากขึ้นในกิจการของโลก โดยเป็นบทบาทซึ่งมั่นใจได้อย่างมากที่สุดว่าจะมีความสอดคล้องประสานกันได้เป็นอย่างดีกับของฝ่ายตะวันตก
แต่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันที่ทะยานขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างโซลกับโตเกียว กำลังส่งผลกระทบทางลบต่อความปรารถนาและความสามารถของพวกเขาในการปฏิบัติการอย่างสอดคล้องประสานกันในทางการทูตหรือในทางการทหาร ความแตกแยกที่แผ่กว้างออกไปทุกทีใน “ฝ่ายตะวันออกที่กลายเป็นตะวันตก” เช่นนี้ต้องถือว่าเป็นปัญหาน่าหนักใจเป็นพิเศษ เนื่องจากยังมีผู้เล่นที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงอยู่อีกรายหนึ่ง ผู้ซึ่งยึดกุมอำนาจทางการพาณิชย์และทางการทหารเอาไว้ในมืออย่างมหาศาล ทว่าไม่ได้เดินไปบนเส้นทางประชาธิปไตยที่หล่อหลอมขึ้นมาโดยพวกที่ก้าวเดินไปบนเส้นทางอุตสาหกรรมรายก่อนๆ
ผู้ท้าทายจากตะวันออก
โมเดล “เสือแห่งเอเชีย” ไม่ได้ถูกเลียนแบบทำซ้ำโดยมังกรที่อยู่ในฝูงแห่งเอเชียตะวันออกตัวนี้ ซึ่งก็คือ ประเทศจีน ที่นั่นไม่ได้มีโครงสร้างทางอำนาจที่เป็นทางเลือกอื่นนอกเหนือจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นผู้ปกครองประเทศ ปรากฏให้เห็นกันเลย
พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถกุมบังเหียนชักนำทุนนิยม ให้สร้างอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างฉลาดหลักแหลม และยิ่งมีความได้เปรียบตามหลักการประหยัดอันเกิดจากขนาด (economy of scale) เป็นพื้นฐานอีกด้วย ทำให้แดนมังกรกลายเป็น “โรงงานของโลก” ขึ้นมา การทะยานขึ้นของจีนยังอาศัยการเร่งตัวจากการพลิกพลิ้วหลบหลีกบรรดาระเบียบกฎเกณฑ์ของโลก ซึ่ง (จวบจนกระทั่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ปรากฏตัวขึ้นมานั่นแหละ) ดูเหมือนไม่มีผู้นำระดับชาติหรือผู้นำบริษัทธุรกิจใดๆ กล้าที่จะตั้งคำถามตั้งข้อกังขา จีนยังอาศัยความมั่งคั่งรุ่งเรืองที่เป็นผลพวงตามหลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในการป้องกันไม่ให้ชนชั้นกลางที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ของตน ตั้งข้อเรียกร้องทางการเมือง (โดยได้รับหนุนหลังจากบทเรียนการใช้ไม้แข็ง ภายหลังกรณีการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน)
ปักกิ่งกำลังใช้เล่ห์เหลี่ยมนำเอาสองปลายสุดของโลกาภิวัตน์มาแข่งขันหักล้างกันเอง ในตลาดโลก ด้วยการอาศัยประโยชน์จากฐานทรัพย์สินที่มีอยู่อย่างแน่นหนา จีนแสดงบทบาทเป็นผู้เล่นทางการพาณิชย์ที่ทะเยอทะยานและนักลงทุนผู้หิวกระหายแต่มีสายตายาวไกล ส่วนภายในประเทศตนเอง จีนปลุกปีศาจแห่งภัยคุกคามจากต่างแดนขึ้นมา ขณะเดียวกับที่เตือนใจสาธารณชนให้หวนรำลึกถึงการเคยถูกหยามหมิ่นด้วยน้ำมือของพวกมหาอำนาจต่างชาติในอดีต ทำการโบกสะพัดแส้แห่งลัทธิชาตินิยมอย่างเผ็ดร้อนและเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก
สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ก็คือ จีนมีเพื่อนและพันธมิตรอยู่รายหนึ่ง ซึ่งได้แก่ รัสเซีย ประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่โตที่สุดในโลกแห่งนี้ตั้งคร่อมอยู่เหนือดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลระหว่างยุโรปกับเอเชีย แต่ศูนย์กลางแห่งแรงดึงดูดของประเทศนี้ยังคงอยู่ที่รัสเซียทางฝั่งยุโรปเสมอมา กระนั้นก็ตามที ถึงแม้มีความถวิลหาอันยาวนานในประวัติศาสตร์ และมีการผูกพันเป็นพันธมิตรยามสงครามกับฝ่ายตะวันตกหลายช่วงหลายตอนในอดีตที่ผ่านมา แต่รัสเซียก็ไม่เคยเลยที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายตะวันตกขึ้นมาอย่างแน่แท้ อันที่จริง ฝ่ายตะวันตกถือว่าพลาดโอกาสอันงดงามที่จะนำเอารัสเซียเข้ามาโอบกอดอยู่ในอ้อมแขน ในระยะช่วงปีแห่งการปกครองประเทศของ บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) ซึ่งเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวายและความวิบัติหายนะ ความล้มเหลวในคราวนั้นสะท้อนให้เห็นจากการก้าวผงาดขึ้นมาของวลาดิมีร์ ปูติน ผู้ซึ่งนำเอาความมีระเบียบร้อยเข้ามาแทนที่ความโกลาหลอลหม่าน และนำเอาความเคารพนับถือตนเองกลับคืนสู่จิตใจของชาวรัสเซีย
กระนั้นก็ตามที แม้กระทั่งเมื่อตอนที่เป็นหุ้นส่วนกันในฐานะที่ต่างเป็นชาวคอมมิวนิสต์ด้วยกัน รัสเซียกับจีนก็ไม่เคยเลยที่จะจับมือร่วมหัวจมท้ายกันอย่างเต็มที่ มีความขัดแย้งกันระหว่างปักกิ่งกับมอสโกตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี (ปี 1950 – 1953) แล้ว และในทศวรรษ 1970 จนถึงทศวรรษ 1980 ปักกิ่งยังจับมือกับวอชิงตันในการปิดล้อมเล่นงานรัสเซีย
อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้หลักการอันเก่าแก่ซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณกาล ที่ว่า “ศัตรูของศัตรูก็คือมิตร” กำลังกลายเป็นกาวใจเชื่อมปักกิ่งกับมอสโกเข้าด้วยกันใหม่อีกครั้ง ทว่าพวกเขาไม่ได้เพียงแค่สามัคคีกันเนื่องจากความไม่ไว้วางใจของฝ่ายตะวันตกเท่านั้น ชาติทั้งสองยังมีส่วนที่จะหนุนส่งเสริมเติมซึ่งกันและกันในหลายๆ ทางอีกด้วย รัสเซียนั้นมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดม มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่หนักแน่นก้าวไกล ขณะที่จีนมีเงินทุน มีเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ และมีอุตสาหกรรมการผลิตที่แน่นหนา รัสเซียนั้นกำลังเผชิญปัญหามีประชากรไม่พอเพียง ทว่าจีนประสบปัญหาในทางตรงกันข้าม
ทั้งสองประเทศยังต่างกำลังนำโดยผู้นำที่เข้มแข็งและมองการณ์ระยะยาว ผู้ซึ่งกำลังสอดใส่ความภาคภูมิใจในประเทศชาติ (และความเป็นชาตินิยม) เข้าไปในหมู่ประชาชนของพวกเขา พวกเขาทั้งคู่ยังต่างเป็นชาติซึ่งมีอารมณ์ความรู้สึกของการเป็นมหาอำนาจขาขึ้น ไม่ใช่ขาลง
ตะวันออก VS ตะวันตก บนกระดานหมากรุกโลก
แล้วโลกอยู่ในสภาพอย่างไรกันล่ะ จากการที่มันพลิกผันไปสู่สิ่งซึ่งเวลานี้กำลังดูเหมือนกับเป็น โลกที่แตกออกเป็น 2 ขั้ว ตะวันออก VS ตะวันตก ในยุคหลังสงครามเย็นอย่างนั้นหรือ ?
ความท้าทายที่กำลังเผชิญหน้าฝ่ายตะวันตกอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ลัทธิก่อการร้ายอันเกิดจากพวกอิสลามิสต์เคร่งจารีตหรอก (ยิ่งเป็น “ตะวันออกที่กลายเป็นตะวันตก” ด้วยแล้ว มันก็ยิ่งมองเห็นได้ว่า ไม่ใช่เช่นนั้นมากขึ้นไปอีก) ยกเว้นแต่ในกรณีที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายสักกลุ่มหนึ่งเกิดไปได้อาวุธมหาประลัยมีฤทธิ์เดชทำลายล้างสูงเอาไว้ในครอบครอง การโจมตีแบบก่อการร้ายย่อมจะไม่สามารถพิชิตใครๆ ได้หรอก ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองที่กว้างไกลออกไปแล้ว มันเป็นเหมือนกับแค่รอยเข็มแทง ทว่าไม่ได้เป็นภัยถึงขนาดคุกคามการดำรงคงอยู่ ลัทธิก่อการร้ายเป็นภัยอันตรายที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตในสังคมอิสลามมากยิ่งกว่าในสังคมฝ่ายตะวันตกนักหนา
ประเด็นปัญหาจริงๆ กลับอยู่ที่การจับมือเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างจีนกับรัสเซียซึ่งดูจะมีความแข็งกร้าวแน่วแน่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งสำหรับจีนด้วยแล้วนี่ดูจะเป็นความจริงแท้ๆ ทีเดียว เห็นได้จากการที่แดนมังกรเข้าลงทุนอย่างมากมายมหาศาลในโลกกำลังพัฒนา , ยืนกรานอย่างแข็งกร้าวในเรื่องการปรากฏตัวในทะเลจีนใต้, และสร้างกำลังทหารที่สามารถเคลื่อนที่ไปรบนอกประเทศ ในเวลาเดียวกัน ถึงแม้มอสโกขาดแคลนอำนาจทางการเงินอย่างที่ปักกิ่งมี แต่ก็สามารถเข้ากันได้เป็นอย่างดี เมื่อมาถึงเรื่องการพัฒนาและการบูรณาการมหาทวีปแห่งยูเรเชีย ในระดับไม่เพียงเป็นแค่แกนพันธมิตรฟากตะวันออก-ฟากตะวันตกเท่านั้น แต่ยังในทิศทางแกนเหนือ (ทะเลอาร์กติก) – ใต้ (ตะวันออกกลาง/เอเชียใต้) อีกด้วย
เวลานี้เกมกำลังอยู่ในช่วงของการดึงดูดล่อใจประเทศต่างๆ ให้เข้าร่วม 1 ใน 2 ค่ายดังกล่าวนี้ และก็มีรัฐจำนวนไม่มากนักจำนวนหนึ่งแสดงท่าทีชัดเจนว่าพร้อมเข้าอยู่ในวงโคจรของรัสเซีย-จีน ได้แก่ อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, และซีเรีย
หากเพ่งพินิจเรื่องภูมิศาสตร์ให้กว้างไกลออกไปอีก ทั้งภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา (sub-Saharan Africa), เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งหมดล้วนแต่อยู่ในเกมการเล่นคราวนี้ จีนกำลังเข้าไปเสาะแสวงใช้ประโยชน์จากพวกทรัพยากรประเภททุน (capital resources) อย่างมากมายมหาศาลในแอฟริกา, พวกทรัพยากรทางเศรษฐกิจ (economic resources) อย่างสำคัญในเอเชียกลางและเอเชียใต้, ขณะเดียวกับที่เสาะแสวงใช้ประโยชน์จากทั้งพวกทรัพยากรประเภททุนและทั้งทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวลาเดียวกัน รัสเซียก็ธำรงรักษาความสัมพันธ์อันเข้มแข็งมาแต่ไหนแต่ไรของตนในเอเชียกลาง
อำนาจแข็ง, อำนาจละมุน, อำนาจหลักแหลม
ความเสื่อมถอยของฝ่ายตะวันตกและ “ฝ่ายตะวันออกที่กลายเป็นตะวันตก” นั้น ยังไม่ใช่เป็นข้อสรุปที่สำเร็จเสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้ว แท้ที่จริงพวกเขายังคงมีความมั่งคั่งรุ่งเรืองและทรงอำนาจในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมีกำลังทหารทันสมัยไฮเทค ยังคงมีสิ่งต่างๆ เป็นอันมากซึ่งพวกเขายังคงทำได้ดี นวัตกรรมทางการพาณิชย์และทางเทคโนโลยี, การศึกษาที่มีประสิทธิภาพ, และแบรนด์ระดับโลก คือ 3 สิ่งในข่ายนี้ ขณะที่อำนาจละมุน (Soft power) เป็นต้นว่า ผลผลิตทางวัฒนธรรม และวิถีการใช้ชีวิตแบบอันเป็นที่มุ่งมาดปรารถนา คือสิ่งที่ 4 ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่ว่า ชาวจีนและชาวรัสเซียผู้มั่งคั่งมีอันจะกินนั้น ย่อมมุ่งหน้าไปสู่โลกตะวันตกอย่างหลีกหนีไม่พ้น ขณะที่ชาวตะวันตกซึ่งบ่ายหน้ามุ่งสู่ตะวันออกนั้นมีน้อยกว่ากันนักหนา
แต่ฝ่ายตะวันออกกำลังแสวงหาหนทางใช้ประโยชน์จาก (สิ่งซึ่งสามารถเรียกว่า) รูปแบบทางอำนาจอย่างใหม่ นั่นคือ “อำนาจแหลมคม” (sharp power) หรือก็คือ สงคราแห่งข้อมูลข่าวสาร/ข้อมูลข่าวสารผิดๆ (information/disinformation warfare) เพื่อการสร้างอิทธิพล เครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศสมัยใหม่คือสิ่งที่ทำให้รูปแบบทางอำนาจเช่นนี้เกิดขึ้นมา โดยรูปแบบในการทำศึกสู้รบกันของอำนาจนี้ปรากฏออกมาหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การสร้างช่องทางสื่อที่ควบคุมโดยรัฐ ไปจนถึงการส่งเสริมสนับสนุนการเล่าเรื่องการบรรยายเรื่องราวแห่งชาติในแบบของฝ่ายตนขึ้นมา และ/หรือ การสร้างข่าวปลอมข่าวเท็จระดับระหว่างประเทศ, การสงวนรักษาพวกนักวิชาการ, นักข่าวนักหนังสือพิมพ์, และบัณฑิตผู้รู้ชาวตะวันตก เพื่อให้ทำหน้าที่หยิบยกเหตุผลโต้แย้งแก้ต่างให้ฝ่ายจีน-รัสเซีย ฯลฯ
อำนาจแหลมคม เป็นสิ่งมีประสิทธิภาพสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากมันพุ่งเป้าเล่นงานส่วนที่เป็นจุดอ่อนแอของฝ่ายตะวันตก ซึ่งได้แก่ การมีความเชื่อมั่นที่หลุดลุ่ยฉีกขาดไปเสียแล้วอย่างน่าเกรงอันตราย ในธรรมาภิบาลการปกครองและสถาบันต่างๆ ของฝ่ายตะวันตกเอง --โดยรวมไปถึงสื่อมวลชนของฝ่ายตะวันตกที่มีเสรีแต่ถูกท้าทายหนักในด้านการเงิน นอกจากนั้นฝ่ายตะวันตกยังไม่สามารถสาดกระสุนตอบโต้กลับไปอย่างสมเนื้อสมเนื้อ ตัวอย่างเช่น จีนได้ก่อตั้งระบบไฟร์วอลล์ (firewall) อันมีประสิทธิภาพในการจำกัดกีดกั้นข้อมูลข่าวสารที่จะไปถึงประชาชนของตน ขณะที่มอสโกก็กำลังพิจารณาแนวความคิดในการล้อมรั้วป้องกันอินเทอร์เน็ตของตนเองจากโลกตะวันตกเช่นเดียวกัน
ท่ามกลางพลวัตอันหลากหลายเหล่านี้ ฝ่ายตะวันตกมีความกล้าหาญ, ความอดทน, ความเชื่อมั่น, ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว, และสายตาอันยาวไกลหรือไม่ ในการธำรงรักษาอิทธิพลและสถานะทางเศรษฐกิจของตนเอาไว้ ท่ามกลางสิ่งซึ่งกำลังก่อตัวให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นทุกที ว่าเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ ระหว่างฝ่ายตะวันตก กับรัสเซียและจีน? เรื่องนี้ไม่มีความกระจ่างชัดเจน
แน่นอนทีเดียวว่า การจบเกมที่ถือเป็นอุดมคติเลยก็คือ การที่จีนและรัสเซียค่อยๆ หันมายอมรับยึดถือในสถาบันและค่านิยมต่างๆ แห่งเสรีภาพซึ่งฝ่ายตะวันตกยึดมั่นเทิดทูนมายาวนาน หากว่ามันเป็นเช่นนั้นได้จริงๆ แล้ว เราก็อาจจะได้เป็นประจักษ์พยานมองเห็นสิ่งที่ ฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) ทำนายเอาไว้เกี่ยวกับ “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ (end of history) แต่ในขณะที่ผลลัพธ์ดังกล่าวดูเหมือนกับว่ามีความเป็นไปได้เมื่อครั้งยุคทศวรรษ 1990 นั้น เวลานี้ปักกิ่งกับมอสโกกลับกำลังดุ่มเดินไปอย่างมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวตามเส้นทางของพวกเขาเอง ทุกวันนี้มันจึงดูห่างไกลออกไปทุกทีที่จะเกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นมาได้
(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)
แอนดรูว์ แซลมอน เป็นผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือของเอเชียไทมส์ ก่อนหน้าเข้าร่วมกับเอเชียไทมส์ งานเขียนของเขาปรากฏอยู่ทั้งทางบีบีซี, ซีเอ็นเอ็น, เดลี่เทเลกราฟ, อินเตอร์เนชั่นแนลเฮรัลด์ทรีบูน, นิวยอร์กไทมส์, เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, เดอะไทมส์, และวอชิงตันไทมส์ ในปี 2010 หนังสือหลายเล่มว่าด้วยสงครามเกาหลีของเขาทำให้เขาได้รับรางวัล “โคเรียนเวฟ” (Korean Wave) จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติของเกาหลีใต้ และในปี 2016 เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น Most Excellent Order of the British Empire จากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2
หมายเหตุผู้แปล
[1] กรณีวอเตอร์เกต (Watergate) คือเหตุอื้อฉาวทางการเมืองระหว่างช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ในสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุการณ์สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ลักลอบโจรกรรมสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต ณ อาคารวอเตอร์เกตคอมเพลกซ์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือนมิถุนายน 1972 ในขณะที่คณะทำงานของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน พยายามปกปิดหลักฐานถึงการข้องเกี่ยวในเหตุโจรกรรมดังกล่าว จนในที่สุดเรื่องอื้อฉาวนี้นำไปสู่การลาออกของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1974 ซึ่งเป็นการลาออกครั้งแรกและครั้งเดียวของประธานาธิบดีในประวัติศาสตร์อเมริกัน เหตุการณ์นี้ยังนำไปสู่การฟ้องร้อง, การไต่สวน, การลงโทษ และการจำคุกบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 43 คน รวมไปถึงคณะทำงานระดับสูงของรัฐบาลนิกสันอีกหลายสิบคน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%95)