xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม‘จักรพรรดิญี่ปุ่น’จึงงดเสด็จฯ‘ศาลเจ้ายาสุกุนิ’ ที่พวกนักชาตินิยมอย่าง‘นายกฯอาเบะ’เคารพสักการะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจค อเดลสไตน์

<i>ศาลาสักการะ ณ สุสานแห่งชาติ ชิโดริงาฟูชิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (ภาพจากวิกิพีเดีย) </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Japan’s ongoing battle over war commemorations
By Jake Adelstein
15/08/2019

ศาลเจ้ายาสุกุนิ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก สืบเนื่องจากการโต้เถียงขัดแย้งกันระหว่างพวกนักชาตินิยมของญี่ปุ่น เฉกเช่นนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ซึ่งนิยมไปเคารพสักการะ โดยเฉพาะในวาระรำลึกผู้วายชนม์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วถูกเกาหลีและจีนประณามว่าคือการยกย่องมุ่งสืบทอดแนวคิดมุ่งรุกรานยึดครองเพื่อนบ้านด้วยกำลังทหาร อย่างไรก็ตาม สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นและสมาชิกในราชวงศ์แล้ว หลายสิบปีที่ผ่านมาจะเสด็จไปยังสุสานอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันน้อยกว่า

วันที่ 15 สิงหาคม 2019 ที่ผ่านมา คือวาระครบรอบ 74 ปีที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นวันที่ทั่วประเทศแสดงความโศกเศร้าอาลัย ทั้งสำหรับผู้ที่จดจำสงครามคราวนั้น และก็ทั้งสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการจดจำ

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ไม่ได้เดินทางไปสักการะที่ศาลเจ้ายาสุกุนิ (Yasukuni Shrine) ซึ่ง ฮิเดกิ โตโจ (Hideki Tojo) พร้อมอาชญากรสงครามคนอื่นๆ อีก 13 คน ที่มีบทบาทรับผิดชอบสำคัญสำหรับยุคสมัยแห่งความวิบัติหายนะของญี่ปุ่น ได้รับการเชิดชูบูชา แต่เขาก็ได้ส่งตัวแทนนำเครื่องเคารพนบไหว้ไปประกอบพิธีที่นั่น

มันยังมีสถานที่อื่นๆ ดีกว่านี้ ซึ่งเขาสามารถที่จะแสดงความไว้อาลัยของเขา ทว่านั่นก็อาจจะเสี่ยงต่อการถูกมองว่าคือสัญญาณของการรู้สึกเสียใจสำหรับความทุกข์ยากของพวกที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อก่อนเคยตกอยู่ใต้การปกครองของแดนอาทิตย์อุทัยแห่งยุคจักรพรรดิ

ทุกๆ ปี ในญี่ปุ่นเป็นต้องเกิดการต่อสู้ประลองกำลังกัน ในเรื่องวิธีการแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตจากสงครามแปซิฟิก (Pacific War) –ทั้งผู้ที่วายชนม์ตามหมู่เกาะต่างๆ ในแปซิฟิก และในป่าดงพงทีบของพม่า, บนเขตเขาในแมนจูเรีย และในหมู่บ้านต่างๆ ของชาวจีน, ตลอดจนในเมืองใหญ่ต่างๆที่ถูกถล่มทิ้งระเบิดและกระทั่งด้วยระเบิดปรมาณูอันร้ายแรงในหมู่เกาะบ้านเกิด— ซึ่งยุติลงเมื่อ 74 ปีก่อนในวันที่ 15 สิงหาคม 1945

สมเด็จพระจักรพรรดิทุกๆ พระองค์ยุคหลังสงคราม รวมไปถึงสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์ ล้วนแสดงความเต็มพระทัยที่จะทรงแสดงความไว้อาลัยแด่ผู้วายชนม์จากสงครามของญี่ปุ่น ทว่าหนึ่งในสถานที่สำคัญซึ่งทรงเสด็จไป ไม่ใช่ศาลเจ้ายาสุกุนิ ที่มีชื่อเสียง –หรือที่จริงควรบอกว่ามีชื่อฉาวโฉ่มากกว่า หากแต่เป็นสุสานแห่งชาติชิโดริงาฟูชิ (Chidorigafuchi National Cemetery)

สองอนุสรณ์สถานของสงคราม สะท้อนสองเรื่องเล่าที่แตกต่าง

บางที ยาสุกุนิ อาจจะเป็นสถานเคารพบูชาซึ่งก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันสูงที่สุดในเอเชีย ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการเสนอเป็นข่าวอย่างกว้างขวางในสื่อมวลชนระดับโลก ทว่า ชิโดริงาฟูชิ เป็นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือแทบไม่มีใคร โดยเฉพาะในต่างประเทศเคยได้ยินเรื่องราวของมันมาก่อน

ศาลเจ้ายาสุกุนิ นั้นก่อตั้งขึ้นโดยสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ (Emperor Meiji) และเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปีในปีนี้ อย่างไรก็ดี มันไม่ใช่เป็นทรัพย์สินของรัฐ ยาสุกุนิเป็นศาลเจ้าในศาสนาชินโตที่ภาคเอกชนเป็นผู้บริหาร โดยมุ่งให้เป็นสถานที่เคารพไว้อาลัยผู้เสียชีวิตนับล้านๆ คนจากสงครามครั้งต่างๆ ของญี่ปุ่น แต่ที่กลายเป็นปัญหาก็คือ อาชญากรสงครามชาวญี่ปุ่นระดับ “คลาส เอ” รวม 14 คน ก็ได้รับการสักการะในฐานะเป็นเทพเจ้า ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ด้วย

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ไมนิชิ ชิมบุง (Mainichi Shimbun) หนังสือพิมพ์ระดับชาติชื่อดังของญี่ปุ่น ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานข่าวชิ้นยาวซึ่งให้รายละเอียดอันเผยให้เห็นว่าทางราชวงศ์ญี่ปุ่นกับศาลเจ้ายาสุกุนิ มีความสัมพันธ์อันย่ำแย่ขนาดไหน ตามรายงานของไมนิชิชิ้นนี้และรายงานข่าวจากที่อื่นๆ ระบุว่า เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทางศาลเจ้ายาสุกุนิ ได้ติดต่อกับสำนักพระราชวัง เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนิน คำตอบที่ได้กลับมาก็คือสมเด็จพระจักรพรรดิจะไม่เสด็จพระราชดำเนินไปอย่างแน่นอน

สุสานแห่งชาติชิโดริงาฟูชิ เป็นสุสานแห่งชาติแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ผู้คนจำนวนมากทั้งในและนอกญี่ปุ่น แทบไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับอนุสรณ์สถานแห่งนี้เอาเลย เนื่องจากมันถูกบดบังอยู่ใต้รัศมีทางเมตาฟิสิกส์และทางการเมืองของยาสุกุนิ ขณะที่พวกฝ่ายขวา, พวกนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าเชิดชูบูชาระบอบจักรพรรดิ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีทั้งหลาย ต่างต้องผ่านการทดสอบความศรัทธาของพวกเขา ด้วยการเดินทางไปสักการะบูชาที่ศาลเจ้าแห่งนี้ ทว่าไม่มีสมาชิกใดๆ ในราชวงศ์ได้เคยเสด็จไปที่นั่นอีกเลยนับตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมา

เอกสารต่างๆ จากผู้ใกล้ชิดกับองค์พระจักรพรรดิโชวะ (Showa Emperor โชวะเป็นชื่อรัชสมัย พระนามของจักรพรรดิองค์นี้คือ ฮิโรฮิโต Hirohito ซึ่งทรงปกครองญี่ปุ่นในช่วงระหว่างและภายหลังสงครามแปซิฟิกอันสร้างความวิบัติหายนะให้ประเทศ โดยที่พวกนักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าใครกันบ้างซึ่งจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ) ระบุว่าพระองค์ทรงขุ่นเคืองยิ่งจากการที่พวกผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อสงครามของญี่ปุ่น ถูกนำเข้าไปรวมอยู่ในบรรดาผู้ได้รับการสักการะบูชาและรำลึกไว้อาลัย ณ ศาลเจ้าแห่งนั้น
<i>บรรดาสมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่น เดินตามพระในศาสนาชินโต (กลาง) ภายหลังประกอบพิธีสักการะในศาลเจ้ายาสุกุนิ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม </i>
ที่สถิตตลอดกาลของบรรดาเทพสงคราม

ยาสุกุนิมีประวัติศาสตร์เรื่อยมาในฐานะเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของลัทธิทหารของญี่ปุ่น (Japanese militarism) (อุดมการณ์ของญี่ปุ่นในยุคจักรวรรดิ ที่ถือว่าการทหารควรครอบงำชีวิตทางการเมืองและทางสังคมของประเทศชาติ และความเข้มแข็งของกองทัพเท่ากับความเข้มแข็งของชาติ –วิกิพีเดีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_militarism) ตามข้อเขียนความยาว 5 ตอนของหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุง (Asahi Shimbun) ว่าด้วยศาลเจ้าแห่งนี้ และตามหนังสือเรื่อง Inquiry Into Yasukuni Jinja (ปี 2001) ศาลเจ้าแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 1869 โดยแต่เดิมมีชื่อเรียกว่าศาลเจ้าโชคอนชา (Shokonsha)

ทีแรกการก่อตั้งศาลเจ้าแห่งนี้ขึ้นมามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกียรติแก่ผู้ซึ่งเสียชีวิตไปจากการสู้รบให้ญี่ปุ่นแห่งยุคจักรวรรดิ อย่างไรก็ตาม ภายหลังสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต เสด็จขึ้นครองราชย์ มันก็กลายเป็นสถานที่สำหรับเชิดชูประกาศเกียรติคุณของสงคราม

“ตอนแรกทีเดียว ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นเรื่องของการสวดมนตร์ส่งวิญญาณผู้ตาย จากนั้นก็เป็นอนุสรณ์สถาน แล้วจากนั้นก็เป็นการรับรองยกย่องของสาธารณชนต่อการรับใช้ประเทศชาติ” ยูกิโอะ โฮริ (Yukio Hori) นักวิชาการว่าด้วยลัทธิชาตินิยมซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่น เขียนเอาไว้เช่นนี้ “ตอนท้ายที่สุด จากการทำให้ผู้วายชนม์จากสงครามกลายเป็น ‘เทพ’ ขึ้นมา มันก็ทำหน้าที่ในการตอกย้ำรับรองเรื่องการเสียชีวิตให้แก่สงคราม และในการทำให้สาธารณชนยอมรับเรื่องนี้”

ขณะที่ญี่ปุ่นแห่งยุคจักรวรรดิบุกพรวดรวดเร็วเข้าไปในดินแดนแมนจูเรียเมื่อช่วงทศวรรษ 1930 ศาสนาชินโตแบบรัฐของญี่ปุ่น (โดยมีจุดรวมศูนย์อยู่ที่ศาลเจ้ายาสุกุนิ) ก็ได้กลายเป็นอุดมการณ์แห่งการปกครองของญี่ปุ่น ไม่ได้แตกต่างอะไรกับลัทธินาซีในเยอรมนี เมื่อมีนักศึกษาชาวคาทอลิก 3 คนจากมหาวิทยาลัยโซเฟีย (Sophia University) ปฏิเสธไม่ยอมไปสักการะที่ศาลเจ้าแห่งนั้นในปี 1932 มันก็กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวระดับชาติ ซึ่งโหมกระพือโดยการติดตามเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์โยมิอูริ จนกระทั่งแทบส่งผลให้มีการปิดมหาวิทยาลัยเอกชนคาทอลิกแห่งนี้ไปทีเดียว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ ttps://www.sophia.ac.jp/eng/aboutsophia/history/u9gsah00000007pn-att/websophiaE40.pdf )

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผลักดันแนวความคิดที่ว่า การสละชีวิตตนเองเพื่อประเทศชาติในสงครามนั้น สามารถทำให้คุณกลายเป็นวีรชน และยกระดับคุณให้ขึ้นสู่สถานะของการเป็นเทพในศาสนาชินโต โดยที่ฝ่ายทหารได้ยกย่องผู้เสียชีวิตจากสงครามในฐานะที่เป็น “เอเร” (eirei วิญญาณวีรชน) ผู้ซึ่งจะมีชีวิตดำรงคงอยู่ไปตลอดกาล และได้รับการยกย่องเชิดชูที่ยาสุกุนิตลอดไป

คุนิโยชิ ทากิโมโตะ (Kuniyoshi Takimoto) อดีตทหารที่ต่อมากลายเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม เป็นนักวิพากษ์ผู้ส่งเสียงดังวิจารณ์ศาลเจ้ายาสุกุนิ และบทบาทที่ศาลเจ้าแห่งนี้แสดงในสงครามแปซิฟิก หนังสือเล่มสุดท้ายของเขาซึ่งมีชื่อว่า ยูอิงอน (Yuigon) และตีพิมพ์เมื่อตอนเขาอายุ 96 ปี เป็นการเสนอมุมมองอันเจ็บแสบและเป็นส่วนตัวต่อญี่ปุ่นในยุคจักรวรรดิ และต่อบทบาทของชินโตในฐานะศาสนาแห่งรัฐ รวมทั้งส่วนซึ่งศาลเจ้ายาสุกุนิแสดงบทบาทเอาไว้

“เราทั้งหมดต่างถูกล้างสมอง” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้ “ในโรงเรียนประถม ถ้าคุณเป็นเด็กชาย คุณก็จะถูกบอกให้ต้องเป็นทหาร โดยถ้าคุณตายไปแบบที่ได้รับการสถิตเอาไว้บูชาในศาลเจ้ายาสุกุนิ มันก็ถือเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด”

ในยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จเช่นนั้น พวกนักเคลื่อนไหวซึ่งต้องสงสัยต่างพากันล้มหายตายจากไปคนแล้วคนเล่าในยามสงัดวังเวงของค่ำคืน และบรรดากิจกรรมระดับชาติทุกๆ อย่างตกอยู่ใต้การกำกับตรวจสอบของรัฐบาล รวมทั้งสถานที่สักการะบูชา อย่างไรก็ตาม ยาสุกุนิยังคงมีสถานะที่ถือว่าพิเศษเอามากๆ กล่าวคือ มันอยู่ใต้การบริหารจัดการโดยตรงของฝ่ายทหารของญี่ปุ่น หัวหน้าพระของศาลเจ้าแห่งนี้ในช่วงระหว่างสงคราม คือ นายพล ทาเกโอะ ซูซูกิ (General Takao Suzuki)

สหรัฐฯนั้นมีความตระหนักเป็นอันดีถึงบทบาทของศาสนาชินโตในฐานะศาสนาแห่งรัฐ ซึ่งได้แสดงเอาไว้ในสงคราม และเมื่อปี 1945 ได้ออกกฤษฎีกาชินโต ที่สั่งให้แยกระหว่างศาลเจ้ากับรัฐออกจากกัน อย่างไรก็ดี ผู้คนซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับสงครามที่ได้เกิดขึ้นมา และพวกนักลัทธิทหารซึ่งไม่ได้รู้สึกสำนักผิดอะไรเลย ต่างยังคงยึดมั่นแน่นเหนียวกับแนวความคิดที่จะทำให้ยาสุกุนิกลายเป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอีกคำรบหนึ่ง

คิชิ โนบุสุเกะ (Kishi Nobusuke) คุณตาของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ (Minister of Munitions) ในระหว่างสงคราม ถูกจับกุมในข้อหาเป็นอาชญากรสงครามเมื่อปี 1945 ทว่าต่อมากลับสามารถหวนคืนสู่อำนาจและได้รณรงค์อย่างกระตือรือร้นเพื่อทำให้ศาลเจ้ายาสุกินิมีฐานะเป็นองค์การของรัฐบาล ถึงแม้ว่าระหว่างที่เขาแสดงบทบาทอันเหี้ยมโหดอยู่ในรัฐหุ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน (รัฐหุ่น “แมนจูกัว” ที่จักรวรรดิญี่ปุ่นอุปโลกน์ขึ้นมาใน “แมนจูเรีย” ซึ่งก็คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน -ผู้แปล) เขาถูกเรียกขานว่าเป็น “ปีศาจร้ายแห่งโชวะ” (The Devil of Showa)

ในปี 1969 พรรคลิเบอรัลเดโมเครติกปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party ใช้อักษรย่อว่า แอลดีพี พรรคการเมืองอนุรักษนิยมซึ่งเป็นรัฐบาลบริหารปกครองญี่ปุ่นแทบจะโดยตลอดนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำพรรคแอลดีพีคนปัจจุบันก็คือ นายกฯอาเบะ -ผู้แปล) ได้ผลักดันให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติ “กฎหมายศาลเจ้ายาสุกุนิ” (Yasukuni Law Bill) เพื่อทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้มีฐานะเป็นองค์การแห่งชาติ ทว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้พ่ายแพ้ไป ภายหลังการประท้วงอย่างใหญ่โตของบรรดาทหารผ่านศึก, ชาวพุทธ, และชาวคริสต์กลุ่มต่างๆ

ช่วงขณะอันลึกลับของศาลเจ้ายาสุกุนิ

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระจักรพรรดิยังคงเสด็จไปยังศาลเจ้าแห่งนี้เพื่อทรงสักการะบูชาตราบจนกระทั่งถึงปี 1975 ต่อจากนั้นมันก็เกิดความเปลี่ยนแปลง

ในเดือนตุลาคม ปี 1978 หัวหน้าพระของศาลเจ้ายาสุกุนิในเวลานั้น นางาโยชิ มัตสึดาอิรา (Nagayoshi Matsudaira) ได้แอบประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งนำเอาป้ายสถิตวิญญาณของอาชญากรสงคราม คลาส-เอ 14 คน โดยคนหนึ่งคือ ฮิเดกิ โตโจ สถาปนิกผู้วางแผนก่อสงครามของญี่ปุ่น ไปประดิษฐานในศาลเจ้า

ในการกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ มัตสึดาอิราพูดออกมาอย่างชัดเจนว่า “ถ้าเราไม่ปฏิเสธทัศนะมุมมองทางประวัติศาสตร์ของศาลพิเศษคดีอาชญากรรมสงครามโตเกียวแล้ว จิตวิญญาณของญี่ปุ่นก็จะไม่มีวันฟื้นชีพขึ้นมาได้” และนี่ก็คือความคิดเห็นที่ยังคงดังก้องสะท้อนอยู่ภายในพรรคแอลดีพีมิได้ขาด ซึ่งไม่ต้องการให้ “ตัดขาดจากระบอบปกครองช่วงสงคราม” (ศาลพิเศษคดีอาชญากรรมสงครามโตเกียว Tokyo War Crimes Tribunal คือศาลพิเศษของฝ่ายสัมพันธมิตรที่จัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามชาวญี่ปุ่น ศาลแห่งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ศาลทหารพิเศษระหว่างประเทศสำหรับภาคตะวันออกไกล International Military Tribunal for the Far East ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/International_Military_Tribunal_for_the_Far_East -หมายเหตุผู้แปล)

สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ได้ทรงแสดงความรังเกียจอย่างแรงกล้าผิดธรรมดา สำหรับการประกอบพิธีที่ทำให้อาชญากรสงครามกลายเป็นเทพขึ้นมาเช่นนี้ ขณะที่พระจักรพรรดิทั้งหลายย่อมไม่ทรงมีเสรีที่จะทรงมีพระราชดำรัสต่างๆ ตามพระทัย แต่พระราชดำริของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตก็ได้รับการบันทึกถ่ายทอดเอาไว้ในบันทึกช่วยจำฉบับหนึ่งโดยอดีตเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังคนหนึ่ง เมื่อตอนที่บันทึกฉบับดังกล่าวได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อปี 2006 อาเบะ ซึ่งเวลานั้นมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ในระบบของญี่ปุ่นจะควบหน้าที่เป็นหัวหน้าโฆษกรัฐบาลเอาไว้ด้วย ถึงกับอยู่ในอาการพูดอะไรไม่ออกทีเดียว

ช่วงปีหลังๆ มานี้ พวกนักลัทธิแก้ (revisionists) ทั้งหลายยังคงพยายามที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับบันทึกช่วยจำฉบับนี้ โดยระบุว่ามันเป็น “ข่าวปลอม” แต่การที่ทางพระราชวงศ์ของญี่ปุ่นยังคงปฏิเสธไม่ไปสักการะที่ศาลเจ้ายาสุกุนิอีกเลยจวบจนถึงเวลานี้ ย่อมเป็นหลักฐานอันชัดเจนอยู่ในตัวเองแล้ว

สถานที่ซึ่งพระจักรพรรดิทรงก้มพระเศียร

แต่กระนั้น พระราชวงศ์ของญี่ปุ่นมิได้หลีกเลี่ยงการไป สุสานแห่งชาติชิโดริงาฟูชิ เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2018 เจ้าชายฮิตาชิ (Prince Hitachi) พระอนุชาของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ได้เสด็จไปเข้าร่วมพิธีรำลึกซึ่งจัดขึ้นที่นั่น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.japantimes.co.jp/news/2006/07/21/national/hirohito-visits-to-yasukuni-stopped-over-war-criminals/#.XVSjsi17EmI)

สุสานแห่งชาติชิโดริงาฟูชิ ตั้งอยู่ห่างเพียงแค่ 1 กิโลเมตรจากทางทิศใต้ของศาลเจ้ายาสุกุนิ ในบริเวณดาวน์ทาวน์ของกรุงโตเกียว สุสานแห่งนี้จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลญี่ปุ่นและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 1959 เพื่อเป็นที่ฝังศพทหารจำนวนมากซึ่งเสียชีวิตไปในต่างแดนช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ในวันนั้น นอกจากสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต เสด็จพระราชดำเนินแล้ว ยังมีนายกรัฐมนตรีคิชิ, , และเอกอัครราชทูตจากอังกฤษ, สหรัฐฯ, และอีก 5 ประเทศ ไปเข้าร่วม รวมทั้งวางพวงมาลาไว้อาลัยผู้วายชนม์ ศพบางศพซึ่งได้รับการบรรจุฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้ นำขึ้นมาจากพื้นที่สังหารห่างไกล โดยคณะผู้แทนของรัฐบาลที่แยกย้ายกันออกไปสืบค้นหาอย่างต่อเนื่องย้อนหลังกลับไปถึงเมื่อปี 1953

ศพเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงทหารหรือบุคลากรที่ให้ความสนับสนุนฝ่ายทหารเท่านั้น แต่ยังมีพลเรือนธรรมดาๆ ด้วย สุสานแห่งนี้จึงกลายเป็นเสมือนกับ “สุสานทหารนิรนาม” (Tomb of the Unknown Soldier) ของญี่ปุ่น และไม่ได้มีการจำแนกว่าเป็นของศาสนาใดหรือนิกายใด

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว พวกกลุ่มอนุรักษนิยมสำคัญๆ ซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นกลุ่มนิปปอน ไคงิ (Nippon Kaigi) กลุ่มล็อบบี้ฝ่ายขวาอิงศาสนาชินโตที่มีอำนาจอิทธิพลสูง ก็ได้พยายามต่อสู้เพื่อยุบเลิกทำลายสถานะของสุสานแห่งนี้

“พวกผู้นำการเมืองของญี่ปุ่น รวมทั้งนายกรัฐมนตรีหลายคน ได้เดินทางไปแสดงความเคารพไว้อาลัยที่ชิโดริงาฟูชิอยู่เป็นประจำ แต่สถานที่แห่งนี้ก็มักถูกตั้งข้อระแวงสงสัยอย่างมากมาย และแม้กระทั่งถูกแสดงอาการเป็นศัตรู จากพวกผู้สนับสนุนศาลเจ้ายาสุกุนิ เพราะพวกเขารู้สึกหวาดกลัวจากการที่สุสานชิโดริงาฟูจิ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายถกเถียงกันบ่อยครั้ง ในฐานะที่เป็นตัวเลือก—และมีความเหมาะสมมากกว่ามีความชอบธรรมสูงกว่า— สำหรับการเป็นสถานที่แห่งการแสดงความไว้อาลัยระดับชาติ โดยพวกนักวิพากษ์วิจารณ์ยาสุกุนิ” ศาสตราจารย์ โคอิชิ นากาโนะ (Professor Koichi Nakano) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโซเฟีย อธิบาย

“ในช่วงหลังสงครามใหม่ๆ มีความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะทำให้ยาสุกุนิได้รับการยอมรับในระดับชาติขึ้นมาใหม่ ทว่าก็ล้มเหลวไปทุกครั้ง ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากมีความขัดแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้แบ่งแยกระหว่างรัฐกับศาสนา”
<i>กลุ่มชายแต่งกายด้วยเครื่องแบบกองทหารจักรพรรดิญี่ปุ่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เดินแถวเข้าศาลเจ้ายาสุกุนิ วันที่ 15 สิงหาคม </i>
คณะบริหารโอบามาประณาม

เมื่อ ชินโซ อาเบะ หวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ในเดือนธันวาคม 2012 ศาลเจ้ายาสุกุนิก็อยู่ในสภาพชื่อเสียฉาวโฉ่ ไม่เพียงแค่ในประเทศจีนที่เป็นตกเหยื่อยุคสงคราม และในเกาหลีใต้ที่เคยเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ตลอดทั่วโลกในวงกว้างขวางออกไปทีเดียว เมื่อ อาเบะ เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิในปี 2013 เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำญี่ปุ่นในเวลานั้น แคโรลีน เคนเนดี้ (Caroline Kennedy) ได้ออกคำแถลงอย่างเจาะจงผิดธรรมดา เพื่อแสดง “ความรู้สึกผิดหวัง”

พวกเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ขณะที่พูดอธิบายขยายภูมิหลัง ได้แจกแจงถึงปฏิกิริยาของฝ่ายสหรัฐฯ ทั้งนี้โดยสาระสำคัญแล้วคือคณะบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้เตือนอาเบะเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านการทูตนี้ ทั้งด้วยการยกตัวอย่างและด้วยการแถลงอย่างเปิดเผย เมื่อตอนที่รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี (John Kerry) และรัฐมนตรีกลาโหม ชัค เฮเกล (Chuck Hagel) ของสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ก็ได้ไปวางพวงมาลาที่ชิโดริงาฟูชิ โดยที่มีการแสดงความเห็นอย่างเป็นทางการว่าที่นั่นเป็นสถานที่ซึ่งมีความใกล้เคียงที่สุดกับสุสานอาร์ลิงตัน (Arlington Cemetery) ของสหรัฐฯ

“มันเหมือนกับโอบามาชี้นิ้วของเขาไปที่แผนที่กรุงโตเกียว บริเวณที่ตั้งของชิโดริงาฟูชิ และบอกกับอาเบะว่า ‘คุณไปที่นี่ ไม่ใช่ยาสุกุนิ’” ศาสตราจารย์นากาโนะ กล่าว “[ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา] อาเบะจึงไม่สามารถที่จะไปสักการะที่ยาสุกุนิอีก ถึงแม้เขายังคงฝากส่งเครื่องไหว้ไปเป็นประจำก็ตามที”

ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโซเฟียผู้นี้กล่าวต่อไปว่า “ในความคิดส่วนตัวของผมแล้ว ชิโดริงาฟูชิควรที่จะได้รับการขยาย เพื่อให้กลายเป็นทางเลือกอย่างเป็นทางการชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา แทนที่ยาสุกุนิ สำหรับการเป็นสถานที่แห่งการแสดงความเคารพและการไว้อาลัยในระดับชาติ แต่ผมไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่ามันจะสามารถกระทำเช่นนี้ได้สำเร็จ ในขณะที่รัฐบาลผสมชุดปัจจุบันยังครองอำนาจอยู่”

นักประวัติศาสตร์ เจฟฟ์ คิงสตัน (Jeff Kingston) ผู้เขียนหนังสือซึ่งจะมีอิทธิพลมากต่องานการศึกษาในเวลาต่อๆ มา เรื่อง Contemporary Japan: History, Politics, and Social Change since the 1980s (ญี่ปุ่นร่วมสมัย: ประวัติศาสตร์, การเมือง, และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตั้งแต่ทศวรรษ 1980) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.amazon.co.jp/Contemporary-Japan-History-Politics-Blackwell/dp/1118315073/ref=sr_1_5?__mk_ja_JP=%E3%82%AB%E3%82%BF%E3%82%AB%E3%83%8A&keywords=Jeff+Kingston&qid=1565831338&s=gateway&sr=8-5) ตั้งข้อสังเกตว่า แม้กระทั่งอาเบะก็ยังต้องเดินทางไปคารวะที่ชิโดริงาฟูชิในวันที่ 15 สิงหาคมปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะรัฐมนตรีได้ลดทอนความสำคัญของการไปแสดงความเคารพดังกล่าว ขณะที่ในปีนี้เขาละเว้นไม่ได้ไปสักการะที่ยาสุกุนิด้วยตนเอง แต่ก็ยังคงฝากส่งเครื่องไหว้ไปเช่นเคย โดยที่ โทโมมิ อินาดะ (Tomomi Inada) อดีตรัฐมนตรีกลาโหมที่เขาคัดเลือกมากับมือ เป็นผู้ที่นำเครื่องไหว้ไปสักการะบูชาแทนตัวเขา

ท่าทีเช่นนี้ไม่ได้เป็นที่ต้อนรับด้วยความยินดีในเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังมีข้อพิพาททางการค้าอยู่กับญี่ปุ่น โดยที่ข้อพิพาทดังกล่าวมีรากเหง้าของปัญหาเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องสงครามยุคจักรวรรดิญี่ปุ่น กล่าวคือ เมื่อปีที่แล้ว ศาลสูงสุดของเกาหลีใต้ตัดสินว่า พวกบริษัทญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชาวเกาหลีที่ถูกกะเกณฑ์บังคับใช้แรงงานในระหว่างสงคราม

นับเป็นความย้อนแย้งเอาการอยู่ เนื่องจากว่าบางทีกระดูกของชาวเกาหลีหลายคนซึ่งเสียชีวิตไปในสงครามคราวนั้นก็ถูกบรรจุเอาไว้ในสุสานชิโดริงาฟูชิด้วย ขณะที่ศาลเจ้ายาสุกุนิไม่เคยตอบเมื่อถูกถามว่าชาวเกาหลีซึ่งสู้รบให้ญี่ปุ่นในสงคราม ได้รับการเคารพยกย่องให้เป็นเทพด้วยหรือไม่

“มันเป็นความจริงที่ว่าชิโดริงาฟูชิไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่มันเป็นสถานที่ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา ตั้งขึ้นมาสำหรับให้เกียรติผู้วายชนม์จากสงคราม โดยไม่ได้มีภาระทางประวัติศาสตร์ของยาสุกุนิ ศาลเจ้ายาสุกุนินั้นคือ กราวด์ซีโร่สำหรับความคิดเห็นที่ไม่มีทางกลับใจเปลี่ยนแปลง ในเรื่องเกี่ยวกับพฤติการณ์อาละวาดไปทั่วเอเชียของญี่ปุ่น มีแผนที่ขนาดใหญ่ของเอเชียซึ่งระบุจำนวนผู้เสียชีวิตชาวญี่ปุ่นในประเทศต่างๆ หลายหลาก แต่ว่ามันไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหยื่อจำนวนนับไม่ถ้วนจากการก้าวร้าวรุกรานของญี่ปุ่นในยุคจักรวรรดิ” คิงสตัน แจกแจง

แล้วทำไมอาเบะและสมาชิกในคณะรัฐมนตรีของเขาจึงยังคงยืนยันที่จะไปสักการะยังศาลเจ้ายาสุกุนิ ?

“[นักการเมือง] จะไปยังยาสุกุนิ ตามเสียงนกหวีดเรียกสุนัขที่เป่าขึ้นมาโดยพวกนักชาตินิยมฮาร์ดคอร์ [อย่างเช่นกลุ่มนิปปอน ไคงิ] ซึ่งเป็นพวกสนับสนุนพรรคลิเบอรัลเดโมเครติกปาร์ตี้ และส่งเสริมการเล่าเรื่องของพวกลัทธิแก้ [พิพิธภัณฑ์ทหารและสงครามของญี่ปุ่น] ยูชูกัน (Yushukan) ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง (ยาสุกุนิ) ก็ต้อนรับการเล่าเรื่องแบบนักลัทธิแก้ ซึ่งลดทอนไม่ให้ความสำคัญกับการปล้นสะดมของญี่ปุ่นและลดทอนความรับผิดชอบของญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็ละเลยไม่เอ่ยถึงเหยื่อชาวเอเชียจำนวนเป็นล้านๆ คนในสงครามรุกรานทั่วเอเชียของญี่ปุ่น” คิงสตันอธิบายกับเอเชียไทมส์

ดอกไม้ในชิโดริงาฟูชิ

สุสานแห่งนี้มีเนื้อที่เกือบๆ 40 เอเคอร์ (ราว 101 ไร่) มีทั้งบริเวณที่เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจี และพืชพรรณชอุ่มงาม ตรงกลางสุสานเป็นที่ตั้งของศาลารูป 6 เหลี่ยม ที่มีหีบศพเซรามิกน้ำหนัก 5 ตันหีบหนึ่งตั้งอยู่ สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตได้ทรงพระราชทานเหยือกทองบรอนซ์ที่มีรูปร่างแบบกาน้ำชาองค์หนึ่ง ให้วางประจำที่ศาลแห่งนี้ ตั้งแต่ที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพ

ที่นี่ไม่ได้มีพิพิธภัณฑ์คอยยกย่องเชิดชูนักรบและกลไกสงครามของญี่ปุ่นใดๆ ตั้งอยู่ข้างๆ บรรยากาศเต็มไปด้วยความขรึมขลังและสงบเงียบ

ทุกๆ วันที่ 14 สิงหาคม สหพันธ์องค์การทางศาสนาใหม่ (Federation of New Religious Organizations) ในญี่ปุ่น จัดพิธีขึ้นที่นี่ โดยใช้ชื่อว่า “สวดมนตร์เพื่อสันติภาพและรำลึกให้แก่เหยื่อของสงคราม” (Prayer For Peace and Memorial For the Victims Of War) เพื่อเรียกร้องให้สงครามทั้งหลายยุติจบสิ้นลง

จวบจนกระทั่งถึงปี 1987 พิธีนี้ยังใช้ชื่อว่า “รำลึกถึงผู้วายชนม์ในสงคราม” (Memorial For Those Who Died In War) แต่ทางสหพันธ์ได้เปลี่ยนชื่อเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นว่า พิธีนี้ไม่ใช่สำหรับผู้ที่เสียชีวิตจากการสู้รบเท่านั้น พวกเขาปรารถนาที่จะทำให้เป็นที่กระจ่างว่า ความปรารถนาที่จะให้บังเกิดสันติภาพนั้น เป็นสิ่งที่ไปไกลเลยโพ้นจากชาติต่างๆ และศาสนาต่างๆ และเพื่อแสดงการรับรู้รับทราบถึงโศกนาฏกรรมของสงครามอย่างเต็มที่

ปีนี้ ซึ่งเป็นการจัดพิธีเป็นครั้งที่ 54 แล้ว มีประชาชนหลายร้อยคนเข้าร่วม

ทากาชิ คุโบะ (Takashi Kubo) พนักงานออฟฟิศเกษียณอายุที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 80 ปีเศษ เดินทางจากเมืองไซตามะ (Saitama) มาแต่เนิ่นๆ ในวันนั้นเพื่อแสดงความเคารพไว้อาลัย “คุณพ่อของผมเสียชีวิตในต่างแดนในสิ่งที่เป็นสงครามไร้สติ ผมจะไม่มีวันเดินทางไปที่ศาลเจ้ายาสุกุนิ –ผมไม่ปรารถนาที่จะไปขอบคุณพวกวายร้ายซึ่งเป็นคนที่ทำให้คุณพ่อผมถูกฆ่า” เขากล่าว

“ทุกๆ คนลืมไปเสียแล้วว่ามีอะไรเกิดขึ้นมาจริงๆ แต่พวกเราบางคนไม่ลืมหรอก ทุกๆ ครั้งที่นายกรัฐมนตรีและพวกบริวารของเขาไปสักการะที่ยาสุกุนิ พวกเขากำลังตัดสินใจเลือกที่จะยกย่องบูชาสงคราม ไม่ใช่แสดงความโศกเศร้าที่เกิดสงคราม พวกเขาควรเดินทางมาที่นี่มากกว่า นี่คือสิ่งที่ผมคิดนะ”

เขาซื้อดอกไม้สีขาวช่อหนึ่งราคา 100 เยน และวางไว้ตรงแท่นบูชาพร้อมกับสวดมนตร์เงียบๆ เขาแวะหยุดช่วงสั้นๆ เพื่ออ่านคำจารึกบนอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2005 คำจารึกนี้เป็นบทกวีของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ก่อน ครั้นแล้วก็จากไปโดยก้าวเดินช้าๆ ไปตามทางเดินปูด้วยก้อนกรวด ภายหลังโบกมือกล่าวคำอำลาอย่างเป็นมิตรแล้ว

บทกวีบทนั้น แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า
Having walked through times
where there was no such Great War
My thoughts go out to
the people who had lived through
these days of cruel hardship.


(ขณะเดินผ่านวันเวลา
ที่ไร้สงครามใหญ่เช่นนั้นอีก
ความคิดของฉันแล่นไปยัง
ผู้คนที่เคยต้องมีชีวิต
ผ่านวันเวลาทุกข์ยากโหดร้ายเหล่านั้น)
กำลังโหลดความคิดเห็น