xs
xsm
sm
md
lg

ความบาดหมางภายใน 'ตระกูลลี' ของสิงคโปร์ ยกระดับเป็นการชิงอำนาจทางการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไนล์ โบวี <i>รายงานจากสิงคโปร์ </i>

<i>ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนปัจจุบัน (ขวา) และ ลี เซียน ยาง น้องชายของเขา (ซ้าย) </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Singapore’s Lee family feud gets political
By Nile Bowie, Singapore
12/08/2019

พรรคสิงคโปร์ก้าวหน้า (Progress Singapore Party) ที่เพิ่งประกาศจัดตั้งขึ้นมาใหม่ๆ หมาดๆ อาจทำให้สมาชิกภายในตระกูลลี ซึ่งเป็นผู้ปกครองนครรัฐแห่งนี้มาอย่างยาวนาน กลายมาเป็นคู่แข่งขันชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกันเอง ในการเลือกตั้งซึ่งคาดหมายกันว่าจะจัดขึ้นในปี 2020

ตัน เชง บอค (Tan Cheng Bock) นักการเมืองมากประสบการณ์ และนายแพทย์เกษียณอายุซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 79 ปี เชื่อว่าพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party ใช้อักษรย่อว่า PAP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ปกครองสิงคโปร์มาโดยตลอด และตัวเขาเองก็เป็นสมาชิกพรรคเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษนั้น ได้ “เปลี่ยนแปลง” ไปในทางเลวร้ายเสียแล้ว

ในการกล่าวปราศรัยครั้งสำคัญเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ชายวัย 70 เศษที่บุคลิกยังคงน่าดึงดูดใจและมากด้วยบารมี พูดอธิบายถึงเหตุผลที่ว่าทำไมพรรคการเมืองฝ่ายค้านซึ่งตั้งขึ้นมาหมาดๆ ของเขา จึงกำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสิงคโปร์

“ลีลาท่วงทำนองของรัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว กระบวนการต่างๆ ของรัฐบาลอยู่ในลักษณะเดินหลงทางเสียแล้ว นั่นเป็นเพราะว่าเสาหลัก 3 เสาแห่งธรรมาภิบาลอันดีงาม ซึ่งได้แก่ ความโปร่งใส, ความเป็นอิสระ, และความสามารถในการไล่เรียงเอาผิดได้ นั้น ได้เสื่อมโทรมผุพังลงไปเสียแล้ว” เขากล่าวในพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พรรคการเมืองใหม่ของเขา ซึ่งใช้ชื่อว่า พรรคสิงคโปร์ก้าวหน้า (Progress Singapore Party ใช้อักษรย่อว่า PSP)

พวกนักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อกันว่า พรรคการเมืองใหม่พรรคนี้อาจสร้างผลกระทบใหญ่โตต่อการหย่อนบัตรลงคะแนนของผู้มีสิทธิออกเสียง ท่ามกลางเสียงพูดจากันอึงคะนึงว่าพวกพรรคฝ่ายค้านที่เคยแตกแยกกันหนักของสิงคโปร์ กำลังจัดขบวนกันเป็นกลุ่มพันธมิตรหลวมๆ ขึ้นมา ในหมู่สมาชิกพรรคหลายร้อยคนของ PSP นั้น จำนวนมากคืออดีตผู้ปฏิบัติงานของพรรครัฐบาล เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า พวกชนชั้นนำของสิงคโปร์กำลังบังเกิดความไม่พอใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับทิศทางของรัฐบาลพรรค PAP ในปัจจุบัน

ตัน บรรยายในคำปราศรัยของเขาถึง “ภาวะไม่นิ่งไม่เงียบที่อยู่เบื้องลึกลงไป” ในประเทศชาติ โดยระบุว่า ชาวสิงคโปร์มีความหวาดกลัว ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์เปิดเผยรัฐบาลของพวกเขา ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่กุมอำนาจปกครองประเทศได้อย่างยาวนานที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ประชาชนหวาดกลัวว่า พวกเขาอาจจะต้องตกงาน, ไม่ได้รับการโปรโมตเลื่อนตำแหน่ง, ไม่ได้รับความช่วยเหลือสวัสดิการต่างๆ, การเช่าที่ดินอาคารของพวกเขาอาจเกิดปัญหาขึ้นมา, และพวกเขาอาจจะถูกฟ้องร้อง” เขากล่าว

“ชาวสิงคโปร์พากันร้องทุกข์ด้วยวิธีกระซิบ” เขาระบุ พร้อมกับแสดงความเศร้าใจที่ในนครรัฐแห่งนี้ขาดไร้ซึ่ง “การสนทนาอภิปรายทางการเมืองกันอย่างเปิดเผย” เขากล่าวว่า “ก่อนที่จะพูดอะไรออกมา พวกเขาต้องเหลียวมองไปรอบๆ เพื่อดูว่ามีใครกำลังเงี่ยหูฟังหรือเปล่า และลังเลใจที่จะต้องถกเกียงกันเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล แต่ว่าพวกเรานั้นไม่ควรประพฤติตัวเหมือนกับเป็นนกกระจอกเทศอย่างนี้หรอก เราเอาแต่ก้มเอาศีรษะของเราลงไปซุกในทราย และเสแสร้างทำเป็นว่าไม่ได้มีอะไรผิดปกติเลย”

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าของสิงคโปร์ จะต้องจัดขึ้นมาภายในเดือนมกราคม 2021 เป็นอย่างช้าที่สุด ถึงแม้มีการคาดเก็งกันมากว่ารัฐบาลอาจประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งกันก่อนกำหนดวาระในเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยที่การเลือกตั้งซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น ถูกบางคนบางฝ่ายมองว่าคือการลงประชามติจะรับรองเห็นชอบกับพวกผู้นำรุ่นที่ 4 ของพรรค PAP หรือไม่ โดยที่คาดหมายกันว่าผู้นำรุ่นนี้จะเข้ามาแทนที่นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง วัย 67 ปี ผู้มีแผนการเกษียณก่อนจะมีอายุครบ 70

เรื่องพลิกผันน่าตื่นใจอย่างสำคัญก่อนที่จะมีการจัดเลือกตั้งขึ้นมาก็คือ ลี เซียน ยาง น้องชายผู้มีเรื่องวิวาทกับนายกฯลี ได้ออกมาประกาศเปิดเผยว่าให้ความสนับสนุนพรรค PSP ของตัน ท่ามกลางความบาดหมางภายในครอบครัวหมายเลขหนึ่งแห่งสิงคโปร์ ซึ่งเคยปะทุถึงขั้นต่อสู้กันทางสื่อสังคมให้สาธารณชนรับทราบเป็นช่วงเวลาสั้นๆ

ผู้คนจำนวนมากทีเดียวคาดเก็งกันว่า ลีผู้น้องชายกระทั่งอาจลงสมัครชิงชัยในนามฝ่ายค้าน ทำให้เกิดการแข่งขันหักล้างกันเองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ระหว่างลูกๆ ของ ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์

“ผมเทหมดหัวใจให้ความสนับสนุนหลักการต่างๆ และค่านิยมต่างๆ ของพรรคสิงคโปร์ก้าวหน้า พรรค PAP ทุกวันนี้ไม่ได้เป็น PAP ของคุณพ่อผมอีกต่อไปแล้ว พรรคนี้ได้หลงทางไปเสียแล้ว” น้องชายผู้หมางเมินของนายกฯ เขียนเช่นนี้ในเฟซบุ๊ก เมื่อปลายเดือนที่แล้ว

เซียน ยาง ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รวมทั้งเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทสิงเทล (SingTel) เคยพูดเอาไว้ในปีนี้ว่า ตัน เป็น “ผู้นำที่สิงคโปร์เรียกร้องต้องการ” อย่างไรก็ดี ลีผู้น้องชาย ยังไม่ได้เคยพูดตรงๆ ชัดๆ ว่า ตัวเขาจะลงเล่นการเมืองอย่างเป็นทางการหรือไม่
<i>ตัน เชง บอค ซึ่งขณะนั้นลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสิงคโปร์  โบกไม้โบกมือให้ผู้สนับสนุน ก่อนเริ่มการปราศรัยหาเสียง  (ภาพจากแฟ้ม)  </i>
เซียน ยาง และน้องสาวของเขา ลี เว่ย หลิง กล่าวหาว่าพี่ชายคนโตของพวกเขา “ใช้อำนาจในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างมิชอบ” ในเรื่องการดำเนินการกับบ้านเลขที่ 38 ถนนออกซ์ลีย์ (38 Oxley Road) ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของคุณพ่อคุณแม่พวกเขา และเรื่องนี้ก็กลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งต่อหน้าสาธารณชนระหว่าง 3 พี่น้องขึ้นมา ลี กวน ยู บิดาผู้เป็นรัฐบุรุษแห่งสิงคโปร์ของพวกเขา ที่ถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อปี 2015 ได้เคยประกาศต่อสาธารณชนและระบุในพินัยกรรมของเขาว่า ต้องการให้รื้อบ้านหลังดังกล่าวหลังจากเขาสิ้นชีวิตแล้ว

น้องชายและน้องสาวตระกูลลี กล่าวหาพี่ชายคนโตของพวกเขาว่า ใช้อำนาจของฝ่ายบริหารสั่งการให้อนุรักษ์บ้านหลังนั้นเอาไว้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง ข้อกล่าวหานี้ทางนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2004 ปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่เป็นความจริง เวลานี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการของรัฐบาลขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอนาคตของอสังหาริมทรัพย์ชิ้นนี้ ซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่ประชุมครั้งสำคัญๆ ของพวกผู้นำพรรค PAP รุ่นแรกในช่วงทศวรรษ 1950

“การปรากฏตัวของ ลี เซียน ยาง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลรู้สึกวิตกกังวลมาก หน้าของเขาและชื่อของเขาคือเครื่องเตือนใจอย่างเงียบๆ แต่สม่ำเสมอว่า ครอบครัวลีเกิดการแตกแยกกันแล้ว” ไมเคิล บาร์ (Michael Barr) รองศาสตราจารย์วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส (Flinders University) กล่าว พร้อมพูดต่อไปอีกว่า กรณีถนนออกซ์ลีย์ ได้ “สร้างความแปดเปื้อน” ให้แก่มรดกที่นายกรัฐมนตรีผู้นี้ตั้งใจทิ้งเอาไว้ให้แก่สิงคโปร์

“ข้อความที่บอกว่าพรรค PAP กำลังหลงทาง น่าที่จะมีพลังมาก มันเป็นข้อความง่ายๆ และมันสามารถที่จะดังก้องสะท้อนในผู้คนทุกๆ ช่วงอายุทีเดียว” บาร์แสดงความเชื่อเช่นนี้ “ตันเป็นผู้ที่มีฐานะยอดเยี่ยมมากสำหรับการส่งข้อความนี้ออกมา บางทีเขาอาจจะกำลังมองหวนกลับไปอดีตด้วยแว่นตาสีชมพูก็ได้นะ แต่ผมคิดว่ามันมีความผิดหวังโดยทั่วๆ ไปในสิงคโปร์ เกี่ยวกับรัฐบาลลี”

ทว่า ยังมีผู้เชี่ยวชาญและผู้สังเกตการณ์คนอื่นๆ ซึ่งมองว่า ขณะที่ ตัน เป็นนักการเมืองซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบและมีอิทธิพลบารมีก็จริงอยู่ แต่พรรค PAP ยังไม่น่าที่จะถือว่าพรรค PSP เป็นภัยคุกคามอันสำคัญ โดยที่ต้องไม่ลืมว่า PAP นั้นสามารถครองส่วนข้างมากแบบเด็ดขาดในรัฐสภาเรื่อยมา นับตั้งแต่ที่สิงคโปร์ได้รับเอกราชในปี 1965

ในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย คือเมื่อปี 2015 PAP ชนะได้ที่นั่งในรัฐสภาไป 83 ที่นั่งจากจำนวนทั้งสิ้น 89 ที่นั่ง ภายหลังสามารถกวาดคะแนนโหวตของผู้ออกเสียงไปได้เกือบๆ 70% ของทั้งหมด

“ข้อเท็จจริงที่ว่า ตันสามารถก่อให้เกิดความสนใจและความตื่นเต้น จากการที่เขาก่อตั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคใหม่ขึ้นมาเช่นนี้ ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าชาวสิงคโปร์มีความตระหนักต้องการให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองมีการแข่งขันกันมากขึ้น” ยูจีน ตัน (Eugene Tan) รองศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย ของมหาวิทยาลัยบริหารจัดการสิงคโปร์ (Singapore Management University ใช้อักษรย่อว่า SMU) กล่าวให้ความเห็น

“พรรค PAP ยังคงรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่นของผู้ออกเสียงเอาไว้ได้ในระดับที่ค่อนข้างมีคุณภาพทีเดียว แต่การยืนยันว่า PAP หลงทางเสียแล้ว ก็จะยังคงดังก้องกังวานสำหรับพวกผู้ออกเสียงที่กำลังผิดหวังกับพรรครัฐบาลพรรคนี้ โดยเห็นว่าไม่สามารถรักษามาตรฐานสูงส่งซึ่งวางเอาไว้โดยบรรดาผู้ก่อตั้งพรรค PAP” เขาบอกกับเอเชียไทมส์

“จากการ (ที่ ตัน) เป็นอดีต ส.ส.พรรค PAP ซึ่งได้รับความยกย่องนับถือและเป็นที่นิยมชมชื่น ดังนั้นมันย่อมจะเป็นการมุทะลุเกินไป ถ้าทาง PAP ดูเบาไม่ให้น้ำหนักแก่เขาเมื่อเปลี่ยนมาเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นนี้” นักวิชาการผู้นี้บอก โดยแสดงตัวว่าเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งเห็นว่า ตัน น่าจะทำให้พรรครัฐบาลกังวลได้

ทั้งนี้ ตัน ชนะเลือกตั้ง 6 สมัยติดต่อกันเมื่อครั้งลงแข่งขันในฐานะผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค PAP ในเขตเลือกตั้ง เอเยอร์ ราจาห์ (Ayer Rajah) ตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปี 2006 และขาดเสียงโหวตไปแค่นิดเดียวก็จะสามารถชนะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีไปแล้วเมื่อปี 2011

อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์บางคนยังไม่เห็นว่า พรรค PAP เผชิญการท้าทายที่สาหัสร้ายแรงใดๆ สำหรับการปกครองสิงคโปร์ต่อไปอีก ขณะที่ทางพรรคกำลังเดินหน้าเพื่อให้มั่นใจว่าจะชนะครองเสียงข้างมากในรัฐสภาได้อีกอย่างต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 15 เมื่อคำนึงถึงอุปสรรคเครื่องกีดขวางเชิงสถาบันมากมายหลายหลาก ที่พวกนักการเมืองฝ่ายค้านได้เคยเจอกันมาแล้วในอดีต จนกระทั่งผูกพันให้สิงคโปร์ยังคงรักษาชื่อเสียงในฐานะเป็นหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยในเอเชียซึ่งมีลักษณะอสมมาตร (asymmetrical) สูงที่สุด

“ผมไม่คิดว่าภัยคุกคามประเภทที่เกิดขึ้นมาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านไม่ว่าพรรคใดก็ตามที จะมีความสำคัญอะไรมากมายนักในขั้นตอนนี้” โจโลวัน วัม (Jolovan Wham) นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และผู้ทำงานด้านชุมชน กล่าวแสดงความเชื่อของตนเอง “บางที พรรค PSP อาจถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามมากกว่าพรรคอื่นๆ หน่อยนึง เนื่องจาก ตัน มีเครดิตในขณะอยู่กับพรรค PAP มาก่อน แต่กระนั้นฝ่ายค้านก็ยังคงอ่อนแอมาก เนื่องจากพวกเขาไม่เคยได้อำนาจเลยมาตั้งหลายสิบปีแล้ว”

วัม ยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า พรรค PAP เวลานี้กำลังก้าวไปอย่างสะเปะสะปะ เขาบอกว่า “ปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังประสบอยู่ในเวลานี้นั้น เป็นผลมาจากสิ่งที่คณะผู้นำของ ลี กวน ยู ได้วางเอาไว้ตั้งแต่ตอนโน้นล้ว และปัญหาเชิงระบบชนิดเดียวกันนี้ ขณะนี้ก็ยังคงดำรงอยู่”

“หนังสือพิมพ์ประพฤติตนอย่างกับเป็นจดหมายข่าวของพรรค ส่วนสหภาพแรงงานและองค์การระดับรากหญ้าทั้งหลายก็ยังคงถูกควบคุมเอาไว้ ภาคประชาสังคมจำเป็นต้องเดินย่องๆ หลีกหลบไม่กล้าชนกับรัฐบาลและพรรค (PAP) เนื่องจากกลัวจะถูกแก้เผ็ด มันไม่ได้มีความโปร่งใส และข้อมูลข่าวสารจำนวนมากมายซึ่งควรต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ กลับยังคงถูกเก็บเอาไว้เป็นความลับ เรามีระบอบประชาธิปไตยเพียงแค่โครงสร้าง ทว่าไม่ใช่โดยเนื้อหาสาระ” เขาระบุ

“สำหรับผม การพูดว่าพรรค (PAP) เปลี่ยนไปแล้วนั้นไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าน่าเชื่อถือเอาเสียเลย” วัมบอกเอเชียไทมส์

“สำหรับพวกที่พูดว่า PAP เปลี่ยนไปแล้ว บางทีอาจจะเป็นเพราะพวกเขาไม่รู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจนายกฯคนปัจจุบัน ลี กวน ยู นะ อาจจะเลยใช้อำนาจในทางมิชอบเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องซึ่งผู้คนจำนวนมากยอมรับได้ โดยมองว่าเขาทำเช่นนั้นเนื่องมาจากความเมตตากรุณา และการเห็นแก่ความดีงามที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก ขณะที่วิธีพิจารณาอย่างเดียวกันนี้ สาธารณชนไม่ได้มอบให้แก่ ลี เซียน ลุง” เขาแจกแจง

วัม ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นศาล จากกรณีที่เขาโพสต์ทางเฟซบุ๊กเมื่อเดือนเมษายนที่แล้ว ซึ่งเขาเปรียบเทียบความเป็นอิสระของศาลยุติธรรมสิงคโปร์ กับของประเทศมาเลเซียในเวลาที่พิจารณาคดีซึ่งมีนัยทางการเมือง ทั้งนี้เขาอาจถูกระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี

เซียน ยาง ได้บริจาคเงินเป็นจำนวน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ให้แก่นักเคลื่อนไหวผู้นี้เมื่อเดือนพฤษภาคม เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายทางกฎหมายสำหรับการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีของเขา นอกจากนั้น ลี ผู้น้องชายคนนี้ ยังบริจาคเงิน “เป็นจำนวนที่มีความหมายสำคัญ” ให้แก่บล็อกเกอร์ เหลียง เจ๋อ เฮียน (Leong Sze Hian) ที่ถูก ลีผู้พี่ชาย ฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท สืบเนื่องจากข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่เขาแชร์ลงบนเฟซบุ๊ก

“ผมเห็นว่าเป็นเรื่องเยี่ยมมากที่ ลี เซียน ยาง กำลังแสดงตัวให้การสนับสนุนเยอะแยะแก่ฝ่ายค้าน และแก่ภาคประชาสังคมโดยรวม แต่ผมจะไม่กระตุ้นสนับสนุนให้เขาลงแข่งขันเป็นผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไปสมัยหน้าหรอก” วัม กล่าว

“นี่เป็นเพราะเขาจะถูกวาดภาพว่าเป็นคนที่กำลังแสวงหาตำแหน่ง กระทั่งพร้อมที่จะเล่นงานพี่ชายตัวเอง แทนที่จะเป็นคนซึ่งมีวิสัยทัศน์จริงๆ ในการทำให้สิงคโปร์บังเกิดความก้าวหน้ามากขึ้น และนี่อาจจะทำให้ผู้ออกเสียงพากันถอยห่าง มันจะเป็นการดีกว่ากันมากถ้าหากเราไม่สนับสนุนการปกครองแบบสืบราชวงศ์ไปตลอดกาล และไม่ให้มีสมาชิกอีกคนหนึ่งในตระกูลลี เข้าสู่วงการเมืองกันอีก”

เมื่อถูกซักถามในที่ประชุมแถลงข่าวเดือนที่แล้วว่า มีความเป็นไปได้ไหมที่ เซียน ยาง จะลงแข่งขันในนามพรรค PSP ตันตอบโดยพูดถึง เซียน ยาง วาเป็นเพื่อนมิตรที่ดี และกล่าวต่อไปว่า ตัวเขาเองนั้นยินดีต้อนรับ เนื่องจาก “ปรัชญาความเชื่อของเขาเป็นความเดียวกับของผม และเขาจะไม่ปล่อยให้วาระส่วนตัวของเขาเข้ามาในพรรค PSP ของผม”

หนึ่งในนโยบายต่างๆ ที่ ตัน เสนอขึ้นมา ในพิธีเปิดตัวพรรคใหม่ของเขาก็คือ ข้อเสนอที่จะลดอายุผู้มีสิทธิออกเสียงจาก 21 ปี มาเป็น 18 ปี และข้อเสนอที่จะสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในเวลาที่เกิดความหวาดกลัวกันว่านครรัฐแห่งนี้ทำท่าจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตันกล่าวว่า เรื่องที่มีความสำคัญลำดับสูงสุดสำหรับ PSP ก็คือการสร้างงาน และการดำเนินนโยบายต่างๆ สำหรับคนงานที่ต้องว่างงาน

ตันยังกล่าวในเดือนที่แล้วว่า พรรคของเขามีเจตนารมณ์ที่จะจัดตั้ง “กลุ่มพันธมิตรที่หลวมมากๆ” กับพรรคการเมืองฝ่ายค้านอื่นๆ อย่างเช่นตั้งเป้าหมายที่จะร่วมมือกันหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการต่อสู้แบบ 3 ฝ่ายในเวลามีการเลือกตั้ง (การชิงชัยตำแหน่ง ส.ส ในเขตเลือกตั้งหนึ่งๆ ที่มีผู้สมัครฝ่ายรัฐบาลคนหนึ่ง กับผู้สมัครของฝ่ายค้านตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปแข่งขันกัน) แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า พรรคผู้ใช้แรงงาน (Workers’ Party ใช้อักษรย่อว่า WP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวของสิงคโปร์เวลานี้ซึ่งมีที่นั่งอยู่ในรัฐสภา หรือพรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Party ใช้อักษรย่อว่า SDP) ที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรนักหากดูจากผลการเลือกตั้ง จะแสดงบทบาทอย่างไรบ้างในกลุ่มพันธมิตรดังที่ว่านี้

มุสตาฟา อิซซุดดีน (Mustafa Izzuddin) นักวิเคราะห์การเมือง ซึ่งทำงานที่สถาบันเอเชียใต้ศึกษา (Institute of South Asian Studies) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore ใช้อักษรย่อว่า NUS) กล่าวถึงการก่อตั้งแนวร่วมขึ้นมาว่า “คือบททดสอบ PSP และ ตัน เชง บอค เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถสามัคคีกับประดาพรรคฝ่ายค้านซึ่งมีความแตกต่างกันเหลือเกินได้หรือไม่ และบางทีถ้าจะให้เยี่ยมไปเลย ก็คือลงแข่งขันในการเลือกตั้งภายใต้ป้ายรณรงค์หาเสียงอันหนึ่งอันเดียวกัน”

“อย่างไรก็ดี พูดย่อมง่ายกว่าทำ เนื่องจากความได้เปรียบอย่างท่วมท้นแต่ไหนแต่ไรมาของพรรคซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ และเนื่องจากความอ่อนแออย่างต่อเนื่องเรื่อยมาของพวกฝ่ายค้านทางการเมือง การที่พรรค PSP จะชนะได้ที่นั่งมากกว่าใครในการเลือกตั้งทั่วไปนั้น พวกเขาไม่สามารถเพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเท่านั้นหรอก แต่ยังต้องป่าวร้องทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเชื่อถือในหลักนโยบายของพรรค PSP เอง ในเรื่องการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการปกครองประเทศ” เขากล่าว

การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่ากำลังหลงทาง ถือเป็น “การส่งข้อความที่เตะตาและมีประสิทธิภาพ” มุสตาฟาบอก เขากล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม แค่นี้ “ยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะสร้างรอยโหว่ขึ้นในฐานะความเหนือกว่าอย่างสุดๆ ของพรรคที่เป็นรัฐบาล เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง” เขาพูดต่อไปว่า คุณภาพของพรรคการเมืองและผู้สมัครของพรรค จะเป็นตัวตัดสินว่า สิงคโปร์อยู่ในอารมณ์หรือไม่ที่จะเข้าสู่วงจรแห่งการเลือกตั้งในแบบที่พรรคต่างๆ จะต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

“ถ้า PSP สามารถที่จะเติบโตเข้มแข็งขึ้นไปเริ่อย ๆ และสามารถเสนอภาวะความเป็นรัฐบุรุษ (statesmanship) ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการสามัคคีพวกพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีความผิดแผกกันให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มแนวร่วมหลวมๆ การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในสิงคโปร์ก็ย่อมจะมีการแข่งขันชิงชัยกันเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตเป็นอันมาก” เขากล่าวกับเอเชียไทมส์
กำลังโหลดความคิดเห็น