xs
xsm
sm
md
lg

‘รัสเซีย’กับ ‘จีน’สำแดงความร่วมมือประสานงานทางยุทธศาสตร์ในเอเชีย-แปซิฟิก

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

<i> (ภาพจากแฟ้ม) เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ ตู-95 เอ็มเอส ของรัสเซีย (บน) และ เอช-6 ของจีน (ล่าง) </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Militaries of Russia, China getting closer
By M. K. Bhadrakumar
31/07/2019

รัสเซียกับจีนต่างฝ่ายต่างส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ของตนออกตรวจการณ์ร่วมครั้งแรก เป็นการตอกย้ำความร่วมมือประสานงานกันทางยุทธศาสตร์ของมอสโกกับปักกิ่ง

แม่พิมพ์ต้นแบบใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์อันน่าตื่นใจชิ้นหนึ่ง ได้บังเกิดขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อกองทัพอากาศและอวกาศ (Aerospace Force) ของรัสเซีย กับ กองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA Air Force) ของจีน ได้ดำเนินการตรวจการณ์ทางอากาศร่วมครั้งแรกในภูมิภาคนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/defense/1069966) การจับมือรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสม่ำเสมอและไม่ค่อยเป็นที่รู้สึกกันเท่าใดนัก ทว่าในทางเป็นจริงแล้วมันกำลังดำเนินไปอย่างล้ำลึก

รัสเซียกับจีนกล่าวอ้างอยู่เป็นประจำว่า การทำความตกลงกันของพวกเขาไม่ได้มีลักษณะเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหาร และก็ไม่ได้พุ่งเป้าหมายเพื่อคัดค้านประเทศฝ่ายที่สามใดๆ ทั้งสิ้น กระนั้นก็ตามที ความเข้ากันได้ทางเคมีของความสัมพันธ์นี้ก็กำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดแผกไปจากเดิมอย่างใหญ่โต โดยมีต้นตอมาจากการตัดสินใจอย่างมีจิตสำนึกของผู้นำระดับท็อปของทั้งสองประเทศ

สิ่งที่เรียกขานว่าเป็น การตรวจการณ์ร่วม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมคราวนี้ มีเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบตูโปเลฟ ตู-95เอ็มเอส (Tupolov Tu-95MS strategic bomber) ของรัสเซียเข้าร่วม ขณะที่ทางฝ่ายจีนมีเครื่องบินเอช-6 เค (H-6K) ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์เช่นเดียวกัน เครื่องบิน ตู-95เอ็มเอส ซึ่งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ตั้งสมญาให้ว่า The Bear (เจ้าหมี) เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ใช้เครื่องยนต์ใบพัด 4 เครื่อง และมีแพลตฟอร์ตติดตั้งขีปนาวุธซึ่งสามารถบรรทุกขีปนาวุธร่อนเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ (สเตลธ์) แบบใหม่ นั่นคือ เคเอช-101/102 (Kh-101/102 stealth cruise missile) ของรัสเซีย โดยที่ขีปนาวุธแบบนี้ใช้อุปกรณ์วิทยุ-เรดาร์ และระบบนำทางค้นหาเป้าหมายซึ่งอิงอยู่กับระบบ “กลอนาสส์” (GLONASS) หรือระบบนำทางทั่วโลกด้วยดาวเทียมของรัสเซีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/GLONASS) เดอะแบร์เคยเป็นไอคอนที่จริงแท้แน่นอนอย่างหนึ่งของยุคสงครามเย็น เนื่องจากมันสามารถดำเนินภารกิจทางด้านการตรวจการณ์ทางทะเลและการเล็งเป้าหมายให้แก่เครื่องบินชนิดอื่นๆ รวมทั้งให้แก่พวกเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ ขณะที่ตัวมันเองก็เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดซึ่งมีความสามารถรอบตัว รวมทั้งสามารถทิ้งระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์ได้

เครื่อง เอช-6เค ของจีน เป็นเวอร์ชั่นเดอะแบร์ที่นำไปออกแบบเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างมากมายแล้ว มันมีศักยภาพที่จะบรรทุกขีปนาวุธร่อนชนิดยิงจากอากาศได้ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เอช-6เค ทำให้จีนมี “สมรรถนะโจมตีทางอากาศพิสัยไกลที่จะต้องคอยคำนึงถึง” ด้วยยุทโธปกรณ์นำวิถีที่มีความแม่นยำ รัสเซียกับจีนต่างส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ ตู-95เอ็มเอส หรือ เอช-6เค ฝ่ายละ 2 ลำ ออกมาเข้าร่วมการตรวจการณ์ทางอากาศคราวนี้
<i> (ภาพจากแฟ้ม) เครื่องบิน เอ-50 ของรัสเซีย </i>
การปฏิบัติการร่วม

ตามคำแถลงของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย การตรวจการณ์ทางอากาศเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ดำเนินไปตาม “เส้นทางเหนือทะเลญี่ปุ่นและทะเลจีนตะวันออกตามที่ได้วางแผนการเอาไว้” คำแถลงบอกด้วยว่า การตรวจการณ์ทางอากาศร่วมเช่นนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์รัสเซีย-จีนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และยกระดับของปฏิสัมพันธ์ระหว่างกองทัพของประเทศทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขยายสมรรถนะของพวกเขาเพื่อการปฏิบัติการร่วม

ประเด็นสำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือ คำแถลงของฝ่ายรัสเซียระบุว่า เป้าหมายอีกประการหนึ่งของการตรวจการณ์ร่วมครั้งนี้คือ “เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ทั่วโลกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุว่า เครื่องบินทหารเพื่อการบัญชาการและควบคุมแบบ เอ-50 (A-50 command and control military aircraft) ของรัสเซีย ในขณะที่ติดตามการตรวจการณ์ทางอากาศของรัสเซียกับจีนอยู่นั้น ได้เข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone ใช้อักษรย่อว่า ADIZ) ของเกาหลีใต้รวม 2 ครั้งด้วยกัน โดยที่โสมขาวระบุว่าได้ส่งเครื่องบินขับไล่ไอพ่นของตนขึ้นฟ้า และได้ยิงเตือนเป็นจำนวน 360 นัดบริเวณพื้นที่ข้างหน้าก่อนที่เครื่องบิน เอ-50 ของรัสเซียจะเคลื่อนผ่าน โดยที่อากาศยานแบบนี้คือเครื่องบินติดตั้งระบบเตือนภัยและควบคุมทางอากาศ (Airborne Warning and Control System ใช้อักษรย่อว่า AWACS) ซึ่งไม่ได้ติดอาวุธ แต่ออกแบบมาเพื่อการเฝ้าติดตามและสังเกตการณ์

ทำไมรัสเซียกับจีนจึงดำเนินการตรวจการณ์ทางอากาศร่วมครั้งแรกอย่างชนิดที่ไม่เคยกระทำกันเช่นนี้มาก่อน เหนือหมู่เกาะขนาดเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นพิพาทช่วงชิงกันอยู่ โดยที่ฝ่ายเกาหลีเรียกชื่อหมู่เกาะนี้ว่า ด็อคโด (Dokdo) ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นขนานนามว่า ทาเกชิมะ (Takeshima)? เรื่องนี้ยังคงไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจน

ทว่าสิ่งซึ่งมองเห็นกันได้ก็คือ มันเป็นการสบประมาทสหรัฐฯ ซึ่งมีสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นมาไม่ถึง 2 เดือนหลังจากที่เพนตากอนเผยแพร่เอกสาร “รายงานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific Strategy Report) ซึ่งประกาศอย่างชัดเจนลงรายละเอียดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของอเมริกาที่จะปิดล้อมจำกัดวงจีนกับรัสเซียกันทั้งคู่ โดยที่เรียกจีนว่าเป็น “มหาอำนาจลัทธิแก้” (a Revisionist Power) และเรียกรัสเซียว่า “ตัวแสดงเป็นผู้ร้ายที่กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่” (a Revitalized Malign Actor) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://media.defense.gov/2019/Jul/01/2002152311/-1/-1/1/DEPARTMENT-OF-DEFENSE-INDO-PACIFIC-STRATEGY-REPORT-2019.PDF )
<i>แผนที่เส้นทางบินของภารกิจตรวจการณ์ร่วมรัสเซีย-จีน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2019 </i>
แผนการร่วมมือประสานงานกัน

โฆษกอย่างเป็นทางการของกระทรวงกลาโหมจีน พันเอก อู๋ เชียน (Colonel Wu Qian) ได้ออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ดังนี้: “ผมใคร่ที่จะย้ำว่า จีนกับรัสเซียกำลังมีปฏิสัมพันธ์กันในความร่วมมือประสานงานกันทางยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุมทุกๆ ด้าน ภารกิจการตรวจการณ์ร่วมนี้ก็อยู่ในปริมณฑลของความร่วมมือประสานกันงานดังกล่าว และมีการดำเนินการกันภายในกรอบโครงของแผนการร่วมมือประสานงานกันประจำปีระหว่างบรรดาหน่วยงานกลาโหมของทั้ง 2 รัฐ มันไม่ได้พุ่งเป้ามุ่งเล่นงาน ‘รัฐที่สาม’ อื่นๆ ใดๆ ทั้งสิ้น

“ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติเพื่อการตรวจการณ์ร่วมทางยุทธศาสตร์นี้ ทั้งสองฝ่ายจะมีการตัดสินใจในเรื่องนี้บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือทวิภาคี ภายใต้การบัญชาการทางยุทธศาสตร์ของประมุขแห่งรัฐ (ของ 2 ประเทศ) กองทัพของทั้งชาติจะพัฒนาความสัมพันธ์ของพวกเขาไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนกันและกัน, เคารพในผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน, และพัฒนากลไกแห่งความร่วมมือประสานงานที่จะตอบสนองจุดประสงค์นี้”


เป็นที่ชัดเจนว่าคำแถลงของฝ่ายจีนนั้นมีเนื้อหาที่เป็นการยืนกรานอย่างหนักแน่นยิ่งกว่าคำแถลงของฝ่ายรัสเซียอีก โดยพรรณนาถึงการตรวจการณ์ร่วมว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ความร่วมมือประสานงานกันทางยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุมทุกๆ ด้าน” ระหว่างประเทศทั้งสอง และน่าจะดำเนินต่อเนื่องไปในอนาคต ขณะที่พวกเขา “สนับสนุนกันและกัน, เคารพในผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน, และพัฒนากลไกแห่งความร่วมมือประสานงานที่จะตอบสนองจุดประสงค์นี้”

ฝ่ายมอสโกยังบอกด้วยว่า การตรวจการณ์ร่วมครั้งแรกสุดเท่าที่เคยมีมาของเครื่องบินพิสัยไกลในแปซิฟิกคราวนี้ คือการเริ่มต้นของโครงการที่มีขอบเขตกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มพูนความสามารถในการทำงานร่วมกันของฝ่ายทหารรัสเซียและฝ่ายทหารจีน โดยที่โปรแกรมซึ่งจัดวางกันเอาไว้แล้วนี้มีขอบเขตระยะเวลาอย่างน้อยที่สุดก็ตลอดช่วงที่ยังเหลืออยู่ของปีนี้

ไม่ว่ารัสเซียหรือจีนต่างก็ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนในกรณีพิพาททางทะเลชิงหมู่เกาะด็อคโด/ทาเกชิมะ ในทะเลจีนตะวันออก อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเขาออกตรวจการณ์ร่วม มันก็มีลักษณะที่เลียนแบบคล้ายคลึงอย่างน่าประหลาดใจกับการปฏิบัติการเพื่อสำแดง “เสรีภาพในการเดินเรือ” (freedom of navigation” operations หรือ FONOPs) ของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้ สหรัฐฯนั้นมีการปรากฏตัวทางทหารอย่างใหญ่โตในเอเชีย-แปซิฟิก ทว่าต้องแสดงบทบาทเป็นแค่เพียงผู้สังเกตการณ์ที่ไม่มีประโยชน์ โดยไม่สามารถที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ซึ่งต่างก็เป็นพันธมิตรของอเมริกัน ขณะที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เองก็ไม่สามารถทำอะไรนอกจากคอยประท้วงและตำหนิติเตียนรัสเซียกับจีนอยู่ด้านข้างๆ เท่านั้น

การอ้างกรรมสิทธิ์ที่ขัดแย้งกัน

ความหมายในเชิงสัญลักษณ์ต้องถือว่าน่าตื่นตาตื่นใจ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ จอห์น โบลตัน (John Bolton) ผู้ซึ่งเดินทางไปเยือนกรุงโซล 1 วันหลังจากการบินข้ามหมู่เกาะพิพาทแห่งนั้นของเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียและของจีน ได้พูดกระตุ้นแนะนำเกาหลีใต้และญี่ปุ่นให้ทำงานร่วมกัน ท่ามกลางความกังวลด้านความมั่นคงที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ

ในอีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมคราวนี้ก็รังแต่จะเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ที่ขัดแย้งกันเหนือหมู่เกาะดังกล่าวของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ในระหว่างเกิดเหตุคราวนี้ มีรายงานเครื่องบินไอพ่นเกาหลีใต้ 18 ลำ และเครื่องบินจากกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นอีกราว 10 ลำ ได้ถูกส่งไปยังพื้นที่บริเวณนั้น ญี่ปุ่นซึ่งยืนยันว่าหมู่เกาะที่เวลานี้อยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายเกาหลีใต้นั้นเป็นกรรมสิทธิของตนเอง ได้แสดงท่าทีเช่นนี้อีกด้วยการแถลงว่าโซลไม่ควรที่จะตอบโต้การบินเข้ามาของเครื่องบินรัสเซีย เพราะมันเป็นหน้าที่ของโตเกียวต่างหาก เวลาเดียวกันนั้น โฆษกของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้แถลงในวันที่ 24 กรกฎาคมว่า ทัศนะเช่นนี้ของญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง

ในความเป็นจริงแล้ว ทัศนะความคิดเห็นประการหนึ่งมีอยู่ว่า จีนกับรัสเซียกำลังพยายามหาประโยชน์จากความแตกร้าวนี้ และทำการทดสอบความเป็นหุ้นส่วนทางด้านความมั่นคงของโซลกับโตเกียว โทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นคาดเดาว่า ภารกิจร่วมของรัสเซียกับจีนครั้งนี้ อาจจะวางแผนเพื่อดึงดูดให้เครื่องบินของเกาหลีใต้และของญี่ปุ่นบินขึ้นมา ด้วยจุดประสงค์ในด้านการรวบรวมข่าวกรอง

แต่ไม่ว่าจะเนื่องจากเหตุผลทางไหนก็ตามที รัสเซียกับจีนน่าที่จะมุ่งตอกย้ำว่า จากการเดินหน้าบรรจบรวมตัวกันของพวกเขาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กองทัพของพวกเขาทั้ง 2 ประเทศมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนิน “ความร่วมมือประสานงานกันทางยุทธศาสตร์” อย่างกระตือรือร้นในย่านตะวันออกไกล ซึ่งเป็นบริเวณที่สหรัฐฯกำลังเริ่มต้นติดตั้งประจำการสมรรถนะด้านการป้องกันขีปนาวุธระดับก้าวหน้า

สำหรับจีนด้วยแล้ว จังหวะเวลาตอนนี้ยังมีความสำคัญเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาถึงการที่สหรัฐฯเสนอขายอาวุธล็อตใหม่ให้ไต้หวัน

ในส่วนของทั้งรัสเซียและจีนนั้น ภาคตะวันออกไกลยังกำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นทุกที ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป เนื่องจากมันกำลังกลายเป็นปากทางไปสู่เส้นทางทะเลด้านเหนือ (Northern Sea Route) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tinyurl.com/y245l7g2) อันเป็นเส้นทางขนส่งทางทางทะเลที่ประเทศทั้งสองกำลังร่วมกันพัฒนา เพื่อต่อเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเลียบไปแนวชายฝั่งไซบีเรียและดินแดนภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย

ข้อเขียนชิ้นนี้ผลิตขึ้นด้วยความร่วมมือกันของ “นิวสคลิก” (Newsclick) และ “โกลบทรอตเตอร์” (Globetrotter) อันเป็นโครงการหนึ่งของสถาบันสื่อมวลชนอิสระ (Independent Media Institute) ซึ่งเป็นผู้ที่จัดส่งให้แก่ทางเอเชียไทมส์

ข้อเขียนชิ้นนี้ยังเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก
กำลังโหลดความคิดเห็น