A Sino-Russian firewall against US interference
By M. K. Bhadrakumar
11/08/2019
หลังจากจีนกล่าวหาสหรัฐฯกับอังกฤษว่าปลุกปั่นให้เกิดการประท้วงขึ้นในฮ่องกง ส่วนรัสเซียก็ประท้วงอเมริกายุยงหนุนหลังการประท้วงในมอสโก โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแดนหมีขาวได้ออกมาแถลงว่า มอสโกกับปักกิ่งกำลังหารือกันในเรื่องการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศทั้งสอง
จีนแถลงกล่าวหาสหรัฐฯกับอังกฤษอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ว่ากำลังปลุกปั่นกระตุ้นให้เกิดการประท้วง “ฝักใฝ่ชื่นชอบประชาธิปไตย” ขึ้นในฮ่องกง ปักกิ่งยังหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาว่ากล่าวตักเตือนผ่านช่องทางการทูต โดยกำลังเรียกร้องว่าหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯควรยุติการยุแหย่และส่งเสริมให้กำลังใจพวกผู้ประท้วงในฮ่องกง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายปรากฏขึ้นตามสื่อ โดยเป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่า ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองในสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯประจำฮ่องกง ผู้มีชื่อว่า จูลี เอียเดห์ (Julie Eadeh) กำลังพูดคุยสนทนาในห้องล็อบบี้ของโรงแรมหรูหราของฮ่องกงแห่งหนึ่ง กับพวกผู้นำนักศึกษาซึ่งมีบทบาทเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในขบวนการฝักใฝ่ประชาธิปไตยของฮ่องกง
วอชิงตันได้ตอบโต้โดยแสดงความขุ่นเคืองที่มีการเปิดเผยตัวตนบทบาทของจูลี่ เธอผู้นี้ดูเหมือนเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในการจัดดำเนินการให้เกิด “การปฏิวัติสี” (colour revolutions) ขึ้นในประเทศอื่นๆ มาแล้ว โดยที่มีการเปิดโปงกันว่า เธอเกี่ยวข้องพัวพันกับการวางแผนกลอุบายที่มี “พฤติการณ์มุ่งล้มล้างบ่อนทำลาย” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
โกลบอลไทมส์ (Global Times หนังสือพิมพ์แทบลอย์ดแนวชาตินิยม ซึ่งอยู่ในเครือของ เหรินหมินรึเป้า หรือ พีเพิลส์ เดลี่ ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน -ผู้แปล) ได้เขียนบทบรรณาธิการเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้อย่างปวดแสบปวดร้อน โดยมีตอนหนึ่งกล่าวดังนี้:
“คณะบริหารสหรัฐฯกำลังบทบาทอันน่าอัปยศอดสูในการจลาจลที่เกิดขึ้นในฮ่องกง วอชิงตันแสดงความสนับสนุนการประท้วงเหล่านี้อย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน และไม่เคยประณามความรุนแรงที่พุ่งเป้าหมายเล่นงานตำรวจเลย สถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯในฮ่องกงกำลังเพิ่มฝีก้าวในการเข้าแทรกแซงโดยตรงในสถานการณ์ของฮ่องกง คณะบริหารสหรัฐฯปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นในฮ่องกง ในหนทางที่สหรัฐฯได้เคยใส่ฟื้นเติมเชื้อไฟให้แก่ ‘การปฏิวัติสี’ ในที่อื่นๆ มาแล้วทั่วโลก” (ดูเพิ่มเติมได้ที่http://www.globaltimes.cn/content/1160904.shtml)
การกล่าวหาของจีนนี้มีเหตุผลฟังขึ้นหรือไม่? เคน โมค (Ken Moak) นักวิชาการ, นักเศรษฐศาสตร์, และผู้เขียนงานวิชาการซึ่งมีชื่อเสียงโดดเด่นชาวแคนาดา เพิ่งเขียนเอาไว้ในเอเชียไทมส์เมื่อเร็วๆ นี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.asiatimes.com/2019/08/opinion/why-china-claims-us-uk-behind-hk-protests/) โดยชี้ประเด็นอย่างคมคายว่า การประท้วงเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนอย่างอุดมสมบูรณ์ และการจัดส่งกำลังบำรุง หรือ โลจิสติกส์ ของพวกเขา ตลอดจนการจัดองค์การของพวกเขา ก็กำลังสิ้นเปลืองทรัพยากรในขนาดขอบเขตที่ “มีเพียงพวกรัฐบาลต่างชาติ หรือปัจเจกบุคคลผู้มั่นคั่งร่ำรวยซึ่งอาจจะทำกำไรจากมันได้” เท่านั้น จึงจะสามารถกระทำเช่นนี้ได้ เขายังให้รายละเอียดกรณีต่างๆ ในอดีตซึ่งอังกฤษและอเมริกันได้เคยใช้ความพยายามเพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของจีน
โมค คาดการณ์ว่า สหรัฐฯยังจะมีการปฏิบัติการมุ่งล้มล้างบ่อนทำลาย “อย่างดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้น” เพื่อเล่นงานจีนต่อไปอีกในอนาคตข้างหน้า
อันที่จริงแล้ว พวกสายที่คอยชักใยกระตุ้นยุยง กำลังคอยปรับกำลังคอยดัดขนาดขอบเขตของการประท้วงอยู่แทบทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นต้นว่า ด้วยการเผาธงชาติจีน และด้วยการเข้าปิดท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง แผนการเล่นก็คือต้องบังคับให้ปักกิ่งเข้าแทรกแซงเพื่อที่ “น้ำท่วมใหญ่” จะได้ไหลทะลักตามมา เป็นต้นว่า การแทรกแซงของฝ่ายตะวันตก, ฯลฯ
จากการที่เทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย 5 จี กำลังเพิ่งจะเริ่มผลิบานชูช่อ เวลานี้จึงเป็นช่วงโอกาสอันงดงามสำหรับสหรัฐฯที่จะบีบคั้นนำเอาเหล่าพันธมิตรตะวันตกของตนมาเข้าแถวจัดขบวนในการบอยคอตต์คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจใส่จีน ขณะที่พวกประเทศอย่างเช่น เยอรมนี และอิตาลี ซึ่งมีความผูกพันทางการค้าและการลงทุนที่เฟื่องฟูเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กับจีน แสดงความรังเกียจไม่ต้องการเข้าไปร่วมขบวนต่อต้านปักกิ่งของวอชิงตัน
ฟรานเชสโก ซิสซี (Francesco Sisci) นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนชาวอิตาลีผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี รวมทั้งเป็นผู้ติดตามเฝ้าสังเกตการณ์จีนโดยตั้งฐานอยู่ในปักกิ่งมาอย่างยาวนาน ได้เขียนเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า ในความเป็นจริงแล้วฮ่องกงเป็น “วาล์วนิรภัย” (safety valve) ของปักกิ่ง และการทำให้มันติดขัดสามารถที่จะก่อให้เกิดภาวะขาดอากาศหายใจในทั่วทั้งระบบของจีนขึ้นมาได้ ซิสซีเปรียบเทียบฮ่องกงว่าเป็นเสมือน “อุปกรณ์สำหรับใช้ลดความผันผวนวูบวาบในระหว่างการเปลี่ยนถ่าย” (compensation chamber), เป็นวาล์วนิรภัยที่ติดตั้งอยู่ระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบปิดของจีนแผ่นดินใหญ่ กับระบบเศรษฐกิจแบบเปิดของส่วนอื่นๆ ของโลก” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.settimananews.it/politica/wearing-out-china-safety-valve-hong-kong/)
ถ้าหากจีนสามารถเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ได้ตามที่มีความปรารถนาอันมากมายล้นพ้น แต่ยังคงรักษาระบบเศรษฐกิจของตนให้ปิดเอาไว้ได้แล้ว มันก็เป็นเพราะว่าจีนมีฮ่องกง ซึ่งมีความเปิดกว้างอ้าซ่าอย่างที่สุด และยังทำหน้าที่เป็นตลาดการเงินที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ถ้าหากเกิดมีการทะลักหนีหายของเงินทุนขนาดใหญ่โต สืบเนื่องมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงแล้ว การจัดทำดำเนินการทางการเงินต่างๆ ของจีนในอนาคตก็จะต้องกระทำผ่านพวกประเทศซึ่งตนเองไม่สามารถเข้าควบคุมทางการเมืองได้ ดังที่ซิสซีเขียนเอาไว้ว่า “สถานะปัจจุบันของฮ่องกงสามารถช่วยเหลือปักกิ่งในการซื้อเวลา แต่ประเด็นปัญหายิ่งยวดที่สุดก็ยังคงเป็นสถานะของจีนเอง สถานะแห่งการมีช่วงเวลาที่จีนสามารถจะอยู่ทั้งภายในและภายนอกระบบการพาณิชย์ของโลกได้ เรื่องนี้ตอบขอบคุณสถาปัตยธรรมอันสลับซับซ้อนของข้อตกลงพิเศษฉบับต่างๆ ที่เวลานี้กำลังหมดอายุหมดประสิทธิภาพลงไปเรื่อยๆ”
พูดกันอย่างง่ายๆ ก็คือ ความไม่สงบในฮ่องกงกำลังกลายเป็นแผ่นแม่แบบของวิธีการสร้างแรงกดดันบีบคั้นสูงสุดที่สหรัฐฯจะใช้ในการทำลายโมเมนตัมแห่งการเจริญเติบโตของจีน และการที่จีนจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งรายหนึ่งในด้านเทคโนโลยีระดับโลกแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 ของสหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.foxnews.com/media/gordon-chang-trump-tariffs-china) พวกมือทำงานด้านจีนผู้ทรงอิทธิพลในสหรัฐฯ เวลานี้ต่างกำลังเปิดขวดแชมเปญกันแล้ว ด้วยความคาดคำนึงอย่างปลาบปลื้มยินดีว่า “การปฏิวัติกำลังปรากฏตัวขึ้นมาในอากาศในฮ่องกงแล้ว” –และมันจะเป็นหลักหมายแสดงถึง “จุดจบของลัทธิคอมมิวนิสต์บนแผ่นดินจีน” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nationalinterest.org/feature/hong-kong-it%E2%80%99s-now-revolution-71491)
คราวนี้มาพูดกันถึงรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นเหตุบังเอิญหรือความจงใจก็ตามที กองไฟกองเล็กๆ กำลังถูกจุดขึ้นมาเช่นกันตามท้องถนนสายต่างๆ ของกรุงมอสโกในช่วงหลังๆ มานี้ และมันกำลังทำท่าแผ่ขยายเพื่อให้กลายเป็นการประท้วงอย่างสำคัญที่มุ่งเล่นงานโจมตีประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bbc.com/news/world-europe-49305129) ถ้าหากร่างแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนคือเหตุผลข้ออ้างสำหรับความปั่นป่วนวุ่นวายที่ฮ่องกงแล้ว เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของเมืองมอสโก (Moscow Duma) ก็ดูเหมือนเป็นชนวนสำหรับการประท้วงที่รัสเซีย
คล้ายๆ กับการที่ในฮ่องกงมีความไม่พึงพอใจทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นเชื้อเดิมอยู่แล้ว ในแดนหมีขาวนั้น ความนิยมชมชื่นในตัวปูตินได้ลดต่ำลงระยะหลังๆ มานี้ ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการที่เศรษฐกิจรัสเซียอยู่ในอาการชะงักงัน
ในทั้งสองกรณีนี้ วาระของฝ่ายอเมริกันคือมีความต้องการอย่างโจ่งแจ้งเปิดเผย ที่จะก่อให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง” นี่อาจจะก่อให้เกิดความประหลาดใจกันอยู่มาก เนื่องจากคณะผู้นำของจีนและคณะผู้นำของรัสเซียเวลานี้ดูเหมือนมีความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง ความชอบธรรมเป็นที่ยอมรับของพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งมีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นเลขาธิการใหญ่ และความนิยมชมชื่นในตัวปูติน ยังคงอยู่ในระดับซึ่งเป็นที่อิจฉาริษยาของพวกนักการเมืองไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดในโลก ทว่าหลักการแนวคิดของ “การปฏิวัติสี” นั้น ไม่ได้สร้างขึ้นมาบนหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
การปฏิวัติสี คือการมุ่งหาทางโค่นล้มระบบระเบียบทางการเมืองที่ตั้งมั่นอยู่แล้ว และมันไม่ได้มีความสัมพันธ์กับเรื่องความสนับสนุนของมวลชนด้วย การปฏิวัติสี คือการทำรัฐประหารยึดอำนาจโดยอาศัยเครื่องมือวิธีการอื่นๆ มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องประชาธิปไตยเอาเลยด้วยซ้ำ การเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งรัฐสภาในยูเครนเมื่อเร็วๆ นี้ได้ เปิดโปงให้เห็นชัดเจนว่า การปฏิวัติสีซึ่งเกิดขึ้นในยูเครนเมื่อปี 2014 นั้น เป็นการก่อกบฎยึดอำนาจซึ่งประเทศนี้กำลังบอกปัดปฏิเสธ
แน่นอนทีเดียวว่า จะต้องเป็นเดิมพันที่สูงเอามากๆ เมื่อมาถึงเรื่องการสั่นคลอนเสถียรภาพของจีนและรัสเซีย มันจะต้องเกี่ยวข้องกับดุลอำนาจทางยุทธศาสตร์ของโลกอย่างชัดเจน ไม่มีทางลดน้อยลงกว่านี้ได้เลย ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่จะปิดล้อมจำกัดวงรัสเซียและจีนทั้ง 2 ประเทศนั้น คือสาระสำคัญของโครงการศตวรรษอเมริกันใหม่ (New American Century project) –ซึ่งก็คือการหาท งทำให้สหรัฐฯยังคงครองฐานะเป็นเจ้าในทั่วโลกต่อไปตลอดทั้งคริสต์ศตวรรษที่ 21
สหรัฐฯเล่นพนันโดยวางเดิมพันในข้างที่ว่า มอสโกกับปักกิ่งจะถูกบีบคั้นอย่างหนักหน่วงเมื่อต้องรับมือเผชิญหน้ากับกับภูติผีปีศาจของการปฏิวัติสี และนั่นก็จะทำให้พวกเขาตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยว ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากว่าระบอบปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจทั้งหลายเป็นระบอบที่กีดกันฝ่ายอื่นๆ อยู่แล้วโดยธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเป็นปริมณฑลการเมืองภายในประเทศของพวกเขาเองซึ่งพวกเขาถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ชนิดล่วงละเมิดมิได้ แม้กระทั่งเพื่อนสนิทที่สุดหรือพันธมิตรรู้ใจกันที่สุดก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ล่วงล้ำกล้ำกรายเข้าไป
ตรงนี้แหละซึ่งมอสโกเพิ่งสร้างเซอร์ไพรซ์อันน่าเกลียดน่าชังให้วอชิงตัน โดยที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย มาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) แถลงที่กรุงมอสโกเมื่อวันศุกร์ (9 ส.ค.) ว่า รัสเซียกับจีนควรที่จะแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลข่าวสารว่าด้วยเรื่องที่สหรัฐฯแทรกแซงกิจการภายในของพวกเขาสองประเทศ เธอถึงกับโบกธงส่งสัญญาณว่า มอสโกนั้นตระหนักรับทราบเรื่องที่จีนแถลงเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯแทรกแซงอะไรต่างๆ ในกิจการฮ่องกง และปฏิบัติต่อข้อมูลข่าวสารในเรื่องนี้ “ด้วยความเคร่งเครียดจริงจังเป็นอย่างยิ่ง”
“ยิ่งไปกว่านั้น ดิฉันคิดว่ามันน่าจะเป็นการถูกต้องและเป็นประโยชน์ที่จะแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลข่าวสารดังกล่าวโดยผ่านทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ” ซาคาโรวาแถลง พร้อมกับเสริมว่าฝ่ายรัสเซียและฝ่ายจีนจะหารือกันในประเด็นนี้ในเร็ววันนี้ เธอบอกอีกว่าหน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯกำลังใช้เทคโนโลยีเพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพทั้งของรัสเซียและของจีน
ก่อนหน้านั้นในวันศุกร์ (9 ส.ค.) เดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้เรียกหัวหน้าฝ่ายการเมืองของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำมอสโก ทิม ริชาร์ดสัน (Tim Richardson) มาพบ และยื่นหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการให้เขารับทราบ โดยเป็นการประท้วงเรื่องที่สหรัฐฯส่งเสริมสนับสนุนให้มีการชุมนุมของฝ่ายค้านอย่างผิดกฎหมายในกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-russia-politics-usa/russia-accuses-us-of-meddling-over-publication-of-protest-map-idUSKCN1UZ0UT)
จริงๆ แล้ว มอสโกมีประสบการณ์มากกว่าปักกิ่งนักหนาในเรื่องการสยบการปฏิบัติการปิดลับหลบๆ ซ่อนๆ ของหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ เรียกได้ว่า เรื่องนี้เป็นเครื่องหมายแสดงคุณภาพแห่งความชำนิชำนาญและความเชี่ยวชาญ ตลอดจนความเหนียวแน่นยืดหยัดของระบบรัสเซียซึ่งผ่านมาแล้วทั้งยุคสงครามเย็นตลอดทั้งยุค แล้วยังระยะ “หลังโซเวียต” (post-Soviet) ที่ตามหลังมาอีก ในรัสเซียนั้น ไม่เคยมีอะไรทำนองเดียวกับความปั่นป่วนวุ่นวายที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง (ปี 1989) หรือฮ่องกง (ปี 2019) ที่จุดชนวนโดยหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ บังเกิดขึ้นมาเลย
ข้อความที่มอสโกส่งไปถึงปักกิ่งนั้นเปิดเผยและตรงไปตรงมา –นั่นคือ “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” ไม่ต้องสงสัยเลย ประเทศทั้งสองมีการปรึกษาหารือกัน และก็ต้องการให้ส่วนอื่นๆ ของโลกได้รับรู้รับทราบ ที่จริงแล้วข้อความที่โฆษกซาคาโรวา ส่งผ่านออกมาก –ว่าด้วยกำแพงไฟร์วอลล์ร่วมเพื่อต่อต้านการแทรกแซงของสหรัฐฯ— ต้องถือว่ามีความสำคัญในระดับการก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่ มันเป็นการยกระดับความเป็นความเป็นพันธมิตรระหว่างรัสเซียกับจีนขึ้นไปสู่ระดับใหม่ในทางคุณภาพ เป็นการสร้างพื้นฐานสนับสนุนทางการเมืองอีกประการหนึ่งของความมั่นคงปลอดภัยร่วมกัน
(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://indianpunchline.com/a-sino-russian-firewall-against-us-interference/)
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก