(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Huawei to invest US$800 mn in Brazilian factory
By DM Chan
15/08/2019
หัวเว่ยจะลงทุน 800 ล้านดอลลาร์ (ราว 24,650 ล้านบาท) ในโรงงานแห่งใหม่ที่เมืองเซาเปาลู ประเทศบราซิล รวมทั้งให้สัญญาจะลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในประเทศต่างๆ ซึ่งพร้อมให้ความเป็นธรรมแก่บริษัท
หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่เทคสัญชาติจีน จะลงทุนเป็นจำนวน 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24,650 ล้านบาท) ในโรงงานแห่งใหม่ที่เมืองเซาเปาลู (Sao Paolo) ประเทศบราซิล ขณะที่บริษัทเพิ่มความพยายามอย่างหนักในละตินอเมริกา เพื่อเป็นการชดเชยที่ถูกกีดกันออกจากตลาดสหรัฐฯ “บิสิเนสอินไซเดอร์” (Business Insider) เว็บไซต์ข่าวอเมริกันที่เชี่ยวชาญข่าวการเงินและธุรกิจ รายงาน
เทพเทคโนโลยีการสื่อสารของจีนรายนี้ หยั่งรากลงลึกพอสมควรอยู่แล้วในบราซิล โดยที่ได้ดำเนินกิจการในประเทศนี้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี และว่าจ้างพนักงานราว 2,000 คนในโรงงานผลิตอุปกรณ์เครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในเซาเปาลู ขณะเดียวกัน ข่าวการลงทุนใหม่ๆ ก้อนโตนี้ก็ปรากฏออกมาท่ามกลางการรณรงค์ต่อต้านคุกคามไม่หยุดหย่อนของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทั้งสกัดกั้นไม่ให้พวกบริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับหัวเว่ย และกดดันให้ประเทศต่างๆ แบนหัวเว่ย
ตามรายงานของ โอโกลโบ (O Globo) สื่อด้านข่าวชื่อดังของบราซิล ระบุว่า เพื่อที่จะเร่งรัดการสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สาย 5 จี ขึ้นในแดนแซมบ้า หัวเว่ยจึงกำลังวางแผนให้สอดรับกับการประมูลคลื่นความถี่ 5 จีของบราซิลซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนมีนาคมหน้า โดยบริษัทยังวางแผนจะผลิตสมาร์ทโฟน 5 จี ในโรงงานใหม่แห่งนี้
บราซิลในปัจจุบันมีฐานะเป็นตลาดสมาร์ทโฟนใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ประเทศใหญ่ในละตินอเมริการายนี้ยังจัดเก็บภาษีนำเข้าอย่างหนักจากสมาร์ทโฟน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พวกผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจำนวนมาก เป็นต้นว่า ซัมซุง, แอลจี และโนเกีย ต่างเข้าไปสร้างโรงงานในบราซิล
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ก็รบเร้ารัฐบาลทั้งหลายทั่วโลกให้ปิดประตูไม่ต้อนรับหัวเว่ย โดยอ้างเหตุผลที่ว่าอุปกรณ์ของบริษัทจีนรายนี้ อาจมีจุดอ่อนทำให้รัฐบาลจีนแอบสอดแนมทำจารกรรม
(ถึงแม้สหรัฐฯ เองไม่เคยแสดงหลักฐานอันน่าเชื่อถือยืนยันเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็ถูกโต้แย้งว่าจากสิ่งที่ได้ถูกเปิดโปงกันมาในอดีต รวมทั้งกรณีการแฉของ เอดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) สิ่งที่ชัดเจนยิ่งกว่าก็คือ หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯนั้นสามารถเจาะเข้าอุปกรณ์สื่อสารของบริษัทอเมริกันอย่างซิสโก้ (Cisco) เพื่อสอดแนมล้วงความลับอย่างกว้างขวาง - ผู้แปล)
ทว่าแม้มีแรงบีบคั้กดดันจากสหรัฐฯ รองประธานาธิบดีอามิลตง โมเรา (Hamilton Mourao) ของบราซิล ก็เพิ่งแถลงเมื่อไม่นานมานี้ว่า ประเทศของเขาไม่มีแผนการใดๆ ที่จะจำกัดธุรกิจของหัวเว่ยในบราซิล รวมทั้งไม่สั่งห้ามบริษัทจีนรายนี้เข้าสู่ธุรกิจการสร้างเครือข่าย 5 จี
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro) ของประเทศนี้ซึ่งขึ้นชื่อลือชาเรื่องมีพฤติการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ทำนายล่วงหน้าได้ ยังอาจที่จะแสดงตัวต่อต้านคัดค้านอารมณ์ความรู้สึกต่อแดนมังกรในแง่บวกเช่นนี้ และหันมาเดินตามการนำของสหรัฐฯ ทั้งนี้โบลโซนารูประกาศตัวเองว่าเป็น “ประธานาธิบดีผู้ฝักใฝ่นิยมอเมริกา” และบอกเรื่อยมาว่าเขาต้องการมีความสัมพันธ์อันผูกพันใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับสหรัฐฯ
สำหรับหัวเว่ยนั้น เวลานี้ได้ไปทำความตกลงให้สัญญาลงทุนเป็นจำนวนเงินรวมหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานใหม่ๆ และสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ตลอดจนสร้างงานเป็นพันเป็นหมื่นตำแหน่ง ในประเทศทั้งหลายซึ่งให้ความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจแก่แบรนด์หัวเว่ย
ตัวอย่างเช่น ในอิตาลี หัวเว่ยประกาศแผนการที่จะลงทุน 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเวลา 3 ปีจากนี้ไป และจะสร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมา 1,000 ตำแหน่ง แต่เรียกร้องให้ประเทศยุโรปรายนี้มีความเป็นธรรมในการดำเนินการเพื่อสร้างเครือข่าย 5 จีของอิตาลีขึ้นมา อันเป็นการเสนอแนะแบบแทบไม่ปิดบังอำพรางว่า อิตาลีควรจะต้องอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยในเครือข่ายสื่อสารเจเนอเรชั่นหน้าซึ่งจะสร้างขึ้นมานี้ด้วย
ส่วนที่โปแลนด์ บริษัทแถลงว่าจะใช้จ่ายเงินร่วมๆ 3,000 ล้าน ซวอตือ (sloty) (ประมาณ 789 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยระบุด้วยว่าการลงทุนนี้จะขึ้นอยู่กับบทบาทของหัวเว่ยในการสร้างเครือข่าย 5จี ในประเทศยุโรปตะวันออกแห่งนี้
ในอเมริกาใต้นั้น หัวเว่ยเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ตามหลัง ซัมซุง, โมโตโรลา และแอปเปิล โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 8% ทั้งนี้ตามข้อมูลของ สแตทเคาน์เตอร์ (Statcounter)
ตลาดอุปกรณ์สื่อสารไร้สายของบราซิล ถูกจับตามองว่ามีโอกาสในการทำรายรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ตัวเลขยอดจำหน่ายเมื่อนับเป็นเครื่องได้ตกต่ำลงมา สืบเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจมหภาคก็ตามที โดยตามข้อมูลตัวเลขของ ไอดีซี (IDC) รายรับจากยอดขายโทรศัพท์มือถือในบราซิลในไตรมาสแรกปี 2019 โตขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การมีโรงงานในท้องถิ่นสามารถช่วยให้ผู้ผลิตมือถือรายนี้ลดราคาผลิตภัณฑ์ของตนลงได้ เนื่องจากไม่ต้องขนส่งอุปกรณ์จากพวกโรงงานของตนในประเทศจีน เรื่องนี้น่าจะเพิ่มเสน่ห์ให้แก่สมาร์ทโฟนของบริษัทขึ้นอีกมาก ในตลาดบราซิลที่มีความอ่อนไหวต่อเรื่องราคา
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ทีมผู้บริหารของหัวเว่ยได้เปิดเผยแผนสำรอง “แพลน บี” ของบริษัท สำหรับอนาคตของยักษ์เทเลคอมจีนรายนี้
ริชาร์ด หยู (Richard Yu) ซีอีโอธุรกิจกลุ่มของหัวเว่ย (Huawei’s Business Group) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รีบเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ของหัวเว่ย ซึ่งใช้ชื่อว่า ฮาร์โมนีโอเอส (HarmonyOS) รายงานของนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ระบุ
ฮาร์โมนี ไม่ใช่เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับโทรศัพท์มือถือ ที่จะเข้าแทนที่ แอนดรอยด์ ทว่ามันถูกออกแบบมาสำหรับทำงานบนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ อย่างกว้างขวางหลายหลาก ตั้งแต่ แทบเลต ไปจนถึงโทรศัพท์ทั้งหลาย สมาร์ทวอตช์ ไปจนถึงรถยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยที่ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของมันก็คือ มันเป็นระบบปฏิบัติการแบบโอเพน-ซอร์ซ (open-source)
นี่หมายความว่า พวกโรงงานผู้ผลิตฝ่ายที่ 3 ทั้งหลาย ซึ่งต้องการให้มั่นใจว่า บรรดาอุปกรณ์ “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” (Internet of Things) ของพวกเขาจะพูดจาติดต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ สามารถที่จะนำเอา ฮาร์โมนี ไปปรับใช้ได้โดยสะดวก รายงานของฟอร์บส์บอก
ขณะที่มีการยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่า พวกอุปกรณ์ของหัวเว่ยที่วางตลาดอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้นว่า สมาร์ทโฟน หัวเว่ย พี 30 โปร ยังคงสามารถที่จะได้รับอัปเดตระบบปฏิบัติการมือถือเวอร์ชั่นหน้าของกูเกิล นั่นคือ แอนดรอยด์ คิว (Android Q) แต่มันไม่มีความกระจ่างเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอุปกรณ์รุ่นอนาคตต่อๆ ไปของหัวเว่ย
ทางหัวเว่ยเองนั้นพูดชัดๆ มากๆ ว่า บริษัทไม่ได้ต้องการละทิ้งแอนดรอยด์ โดยย้ำหลายครั้งว่าต้องการที่จะทำงานกับพวกพาร์ตเนอร์อเมริกันของตนต่อไป การเปลี่ยนไปใช้ฮาร์โมนีจะบังเกิดขึ้นมา ก็ต่อเมื่อหัวเว่ยถูกห้ามไม่ให้ใช้แอนดรอยด์