xs
xsm
sm
md
lg

ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นแซงระยะยาว สัญญาณร้าย ศก.สหรัฐฯ จ่อปากเหว 'Great Recession'!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอพี - อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เกิดภาวะ inverted yield curve (ภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว) ในวันพุธ (14 ส.ค.) ส่งสัญญาณเตือนว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังรออยู่เบื้องหน้า

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีดีดตัวเหนืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีในช่วงต้นของการซื้อขายวันพุธ (14 ส.ค.) ปรากฏการณ์การตลาดที่แสดงให้เห็นว่าพวกนักลงทุนต้องการถือครองพันธมิตรระยะสั้นมากกว่าระยะยาว

ในภาวะปกติแล้วพันธบัตรรัฐบาลที่ระยะยาวกว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น เนื่องจากการลงทุนในระยะยาวมีความเสี่ยงต่างๆ โดยรวมมากกว่า อันเนื่องจากระยะเวลาการถือครองพันธบัตรที่นานกว่า อาทิเช่น ความไม่แน่นอนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดเรื่องแบบนี้ตั้งแต่สหรัฐฯ ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง (Great Recession) และมันอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าพวกนักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอเมริกา

ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ทางการค้าซึ่งมีแววอบอุ่นขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ดันตลาดหุ้นพุ่งขึ้นแรงในวันอังคาร (13 ส.ค.) ถูกลืมเลือนอย่างรวดเร็วในพุธ (14 ส.ค.) ด้วยทันทีที่เปิดตลาด ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงทันควัน 400 จุด

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 1.634% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 1.622% โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เกิดภาวะ inverted yield curve หนสุดท้ายต้องย้อนกลับไปในเดือนธันวาคมปี 2005 หรือ 2 ปีก่อนหน้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง อันเนื่องจากวิกฤตทางการเงิน

ผลการสำรวจพบว่า หลังจากตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เกิดภาวะ inverted yield curve โดยเฉลี่ยราว 22 เดือน เศรษฐกิจสหรัฐฯก็จะเกิดภาวะถดถอยตามมา

ภาวะ inverted yield curve แบบเดียวกับในวันพุธ (14 ส.ค.) เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าภาวะเศรษฐกิจถดถอย 9 ครั้ง ย้อนกลับไปจนถึงปี 1955 อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ได้หมายความว่าภาวะถดถอยกำลังคืบคลานใกล้เข้ามาเสมอไป ด้วยภาวะ inverted yield curve ในปี 1966 ไม่ได้เกิดเศรษฐกิจถดถอยตามมา

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวที่ลดลง เป็นผลจากความกังวลว่าสงครามการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจกัดเซาะการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลลัพธ์ของสงครามการค้าสร้างความกังวลแก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภคจนถึงขั้นเริ่มปรับลดการใช้จ่าย ในขณะที่การใช้จ่ายผ้บริโภคคิดเป็นราว 70% ของกิจการเศรษฐกิจอเมริกา

การปรับลดการใช้จ่ายของภาคธุรกิจและผู้บริโภคอาจนำมาซึ่งวงจรแห่งความเสื่อมทราม บริษัทต่างๆ ปรับลดพนักงาน ซึ่งจะยิ่งก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจมากกว่าเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น