xs
xsm
sm
md
lg

‘แคชเมียร์’ระอุคุกรุ่น อินเดียกวดขันปิดตายเมืองสำคัญ กลัวชุมนุมประท้วงใหญ่ใน‘วันอีด’

เผยแพร่:   โดย: สำนักข่าวรอยเตอร์/เอเจนซีส์

ชาวแคชเมียร์เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอินเดีย ภายหลังพิธีละหมาดเนื่องในวันอิดิลอัฎฮา ที่มัสยิดในเมืองศรีนคร เมื่อวันจันทร์ (12 ส.ค.) ถึงแม้ทางการอินเดียประกาศใช้มาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวอันเข้มงวดกวดขัน
Indian authorities lock down Kashmir's major city on Eid holiday
By Zeba Siddiqui and Fayaz Bukhari, Reuters
12/08/2019

กำลังกึ่งทหารและตำรวจของอินเดีย ต้องใช้มาตรการจำกัดต่างๆ อย่างเข้มงวดกวดขันในศรีนคร เมืองใหญ่ที่สุดของแคว้นแคชเมียร์ ในช่วงวันอิดิลอัฎฮา ของชาวมุสลิม เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ คัดค้านการที่นิวเดลียกเลิกสิทธิปกครองตนเองด้านต่างๆ ของดินแดนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้

กองกำลังความมั่นคงของอินเดียยังคงใช้มาตรการเข้มงวดกวดขันในศรีนคร (Srinagar) จนเมืองใหญ่ที่สุดของแคว้นแคชเมียร์แห่งนี้อยู่ในสภาพถูกปิดตายเป็นส่วนใหญ่เมื่อวันจันทร์ (12 ส.ค.) ซึ่งเป็นเทศกาลอิดิลอัฎฮา (Eid al-Adha) ของชาวมุสลิม ทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะป้องกันไม่ให้มีการประท้วงใหญ่ใดๆ เพื่อคัดค้านการตัดสินใจยกเลิกสิทธิพิเศษต่างๆ ของดินแดนในเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้

ในแคชเมียร์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อีกทั้งยังมีปากีสถานกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์พิพาทช่วงชิงกับอินเดียด้วยนั้น เวลานี้กำลังมีความรู้สึกหงุดหงิดผิดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อความเคลื่อนไหวของนิวเดลีในสัปดาห์ที่แล้วที่ยกเลิกสิทธิปกครองตนเองด้านต่างๆ ของรัฐจัมมูและแคชเมียร์นี้ รวมทั้งการยกเลิกข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่ชาวรัฐนี้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในรัฐ

ที่ศรีนครเมื่อวันจันทร์ (12 ส.ค.) มีประชาชนหลายร้อยคนซึ่งพากันตะโกนคำขวัญต่อต้านอินเดีย ทะลักออกมาสู่ถนนสายต่างๆ ภายหลังเข้าร่วมพิธีละหมาดในย่านซูระ (Soura) อันเป็นจุดที่เคยเกิดการชุมนุมเดินขบวนใหญ่ในวันศุกร์ (9 ส.ค.) มาแล้ว แต่พวกเจ้าหน้าที่ได้เข้าปิดล้อมพื้นที่แถวนี้เอาไว้อย่างหนาแน่น และพยายามทำให้การประท้วงอยู่แต่ในระดับท้องถิ่นเท่านั้น

“เราต้องการเสรีภาพ เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน” เป็นคำกล่าวของ อาซิฟะ (Asifa) หญิงวัย 18 ปีซึ่งอยู่ในหมู่ผู้ทำการประท้วงภายหลังพิธีละหมาด ณ สถานบูชาแห่งจินับ ซาฮิบ (shrine of Jinab Sahib) ในย่านซูระ

“โมดี(นายกรัฐมนตรีอินเดีย) กำลังโกหกประชาชนของเขาว่า การยกเลิกสถานะพิเศษของแคชเมียร์เป็นเรื่องดีสำหรับเรา” เธอกล่าว “เราจะต่อต้านเรื่องนี้ไปจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของพวกเรา”

เสียงของพวกผู้ประท้วงที่กำลังตะโกนคำขวัญต่อต้านอินเดียและฝักใฝ่ปากีสถานดังขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เสียงของเฮลิคอปเตอร์หลายลำก็คำรามก้องอยู่เหนือศีรษะ ทั้งนี้มีอากาศยานเช่นนี้อย่างน้อย 3 ลำซึ่งเคลื่อนตัวอยู่เหนือเมืองศรีนครเพื่อคอยตรวจตราเฝ้าระวัง

ผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายเล่าด้วยว่า ในช่วงวันอาทิตย์ (11 ส.ค.) และเช้าวันจันทร์ (12) ได้เกิดเหตุขว้างก้อนหินใส่พวกกองกำลังความมั่นคงขึ้นมาเป็นพักๆ

เรื่องนี้ กระทรวงมหาดไทยของอินเดียได้ออกคำแถลงยอมรับว่า “มีเหตุการณ์ขว้างปาก้อนหินอยู่บ้าง โดยแต่ละเหตุการณ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน” พร้อมกับเสริมว่ามันอยู่ “ในระดับที่ไม่มีความสำคัญอะไร”

คำแถลงบอกอีกว่า ตำรวจได้ขับไล่พวกผู้ประท้วง โดยที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสำคัญแค่ 1 หรือ 2 คน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดมากกว่านี้ พวกเจ้าหน้าที่มีอำนาจหลายรายยังยืนยันว่าไม่ได้มีเหตุยิงปืนใส่กองกำลังความมั่นคงแต่อย่างใด

มัสยิดใหญ่ๆ บางแห่งปิด

พวกผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์อยู่ในหมู่ประชาชนจำนวนมากที่ถูกสกัดเอาไว้ตามด่านตรวจ และไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่หลายๆ ส่วนของเมืองศรีนครในวันอาทิตย์ (11 ส.ค.)

“ในศรีนคร เนื่องจากคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่อาจมีพวกผู้ก่อการร้าย, พวกหัวรุนแรง, และกลุ่มที่เป็นอันตราย กำลังพยายามก่อกวนความสงบเรียบร้อยของสาธารณชน จึงมีการประกาศข้อจำกัดต่างๆ อันสมเหตุสมผลในเรื่องการชุมนุมผู้คนขนาดใหญ่ๆ ตามพื้นที่อ่อนไหวทั้งหลาย” คำแถลงของกระทรวงมหาดไทยอินเดียระบุ

คำแถลงกล่าวด้วยว่า ประชาชนยังคงไปรวมกันเป็นจำนวนมากๆ ในมัสยิดต่างๆ ในแคชเมียร์เมื่อวันจันทร์ (12 ส.ค.) อย่างไรก็ตาม มัสยิดและศาสนสถานสำคัญๆ ในรัฐนี้จำนวนมาก รวมทั้งมัสยิดจาเมีย (Jamia Masjid mosque) ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และมีพื้นที่บรรจุผู้คนได้มากกว่า 30,000 คนนั้น ปรากฏว่าปิดไม่ได้ให้สาธุชนเข้าไปละหมาด ทั้งนี้สาธุชนทั้งหลายได้รับคำชักชวนให้ไปละหมาดกันในมัสยิดขนาดย่อมๆ ลงมา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ถิ่นที่พักอาศัยของพวกเขา

เรื่องนี้ แหล่งข่าวรัฐบาลอินเดียในนิวเดลีรายหนึ่งอธิบายว่า “มีมัสยิดบางแห่งที่ไม่ได้เปิด นี่เป็นเพราะทางฝ่ายบริหารมีความคิดเห็นว่า มีสถานการณ์ที่อ่อนไหวกับเรื่องการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย”

สำหรับการควบคุมปิดกั้นการสื่อสารโทรคมนาคม ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยในวันจันทร์ (12 ส.ค.) เป็นวันที่ 8 ซึ่งผู้คนไม่สามารถเข้าอินเทอร์เน็ตตามปกติได้ ขณะที่โทรศัพท์ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์พื้นฐาน ก็ต่อสายไปไหนไม่ได้

กล่าวได้ว่า ในทางเป็นจริงแล้วสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้มีข้อมูลข่าวสารที่เป็นอิสระใดๆ ปรากฏออกมาจากสถานที่แห่งไหนๆ ในหุบเขาแคชเมียร์ (Kashmir Valley) ยกเว้นจากศรีนครเท่านั้น

เวลาเดียวกัน พวกผู้นำท้องถิ่นและนักเคลื่อนไหวจำนวนรวมกว่า 300 คน ยังคงถูกคุมขังกักตัวไว้ในรูปแบบต่างๆ
เจ้าหน้าที่ความมั่นคงอินเดียยืนรักษาการณ์บนถนนที่กลายเป็นถนนร้าง ระหว่างการใช้มาตรการจำกัดต่างๆ ในวันอิดิลอัฎฮา ที่เมืองศรีนคร
ร้านค้าพากันปิด

ชาวบ้านชาวเมืองหลายรายบอกว่า บรรยากาศความเงียบเชียบตามถนนสายต่างๆ ในเมืองศรีนครก่อนหน้าถึงเทศกาลอิดิลอัฎฮา คราวนี้ ไม่ได้เหมือนกับประสบการณ์ที่พวกเขาเคยผ่านมาเอาเลย แม้กระทั่งจุดซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดของศรีนคร อย่างเช่น จัตุรัส ลัล ชอว์ค (Lal Chowk) ปีก่อนๆ เต็มไปด้วยผู้คน แต่ในปีนี้กลับว่างเปล่า

ร้านค้าต่างๆ พากันปิด โดยที่บานปิดและกำแพงของร้านรวงเหล่านี้ถูกพ่นสีเขียนข้อความต่อต้านอินเดีย เป็นต้นว่า “กลับไปอินเดีย กลับไปซะ” และ “เราต้องการเสรีภาพ”

พวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทั้งที่เป็นกำลังกึ่งทหารและกำลังตำรวจ เวลาสนทนากับเหล่านักข่าวของรอยเตอร์ ต่างกล่าวถึงมาตรการจำกัดเข้มงวดต่างๆ โดยเรียกว่า “เคอร์ฟิว” ขณะที่จุดยืนอย่างเป็นทางการของอินเดียคือ มีการประกาศใช้มาตรการจำกัดต่างๆ แต่ไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว

มาตรการจำกัดที่ใช้ในศรีนครเวลานี้ ถือเป็นความเข้มงวดกวดขันที่สุดเท่าที่เมืองนี้เคยประสบมา เจ้าหน้าที่กองกำลังกึ่งทหาร 2 คนบอกกับรอยเตอร์ในวันจันทร์ (12 ส.ค.)

กำลังตำรวจและทหารซึ่งจำนวนมากสวมชุดปราบจลาจลอันหนักอึ้ง ถูกส่งไปประจำตามถนนที่บรรยากาศเงียบเชียบ โดยที่มีการตั้งด่านตรวจเพิ่มเติมตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืน อีกทั้งมีการนำเอาลวดหนามออกมาวางมากขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องกีดขวาง

การตัดสินใจเพิ่มมาตรการจำกัดให้เข้มงวดมากขึ้นนี้ บังเกิดขึ้นในการประชุมระหว่างปลัดของรัฐ ซึ่งเป็นข้าราชการสูงสุดของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ กับพวกผู้บริหารพื้นที่และนายตำรวจต่างๆ เมื่อวันอาทิตย์ (11 ส.ค.) เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับอาวุโสผู้หนึ่งบอกกับรอยเตอร์

“มีการตัดสินใจกันว่าจะต้องประกาศมาตรการจำกัดต่างๆ ในวันอีด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชุมนุมซึ่งอาจกลายเป็นเหตุรุนแรงขึ้นมา”

คำขวัญฝักใฝ่ปากีสถาน

ผู้หญิงจำนวนมากอยู่ในกลุ่มผู้คนที่กำลังหลั่งน้ำตา ระหว่างที่มีการตะโกนคำขวัญว่า “เราต้องการเสรีภาพ” ในช่วงพิธีละเหมาด

“มีการประท้วงขนาดเล็กๆ ที่จำกัดอยู่แต่ในท้องถิ่นอยู่บ้างเหมือนกัน โดยที่เป็นการประท้วงซึ่งมักเกิดเป็นกิจวัตรอยู่แล้วในสถานที่สองสามแห่ง” คำแถลงของกระทรวงมหาดไทยบอก “นี่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่เคยรู้จักกันเลยในจัมมูและแคชเมียร์ในอดีตที่ผ่านมา”

พวกผู้คนในแคชเมียร์ได้เคยเตือนเอาไว้ว่า ทางการจะต้องเจอปฏิกิริยาโต้กลับคัดค้าน หากมีการลิดรอนอำนาจปกครองตนเองไปจากดินแดนแห่งนี้ ซึ่งมีพวกนักรบอิสลามิสต์ทำศึกต่อต้านการปกครองของอินเดียมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 50,000 คน

ทางด้านปากีสถานได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีอยู่กับอินเดีย รวมทั้งระงับการค้าระหว่างกัน ด้วยความเดือดดาลต่อความเคลื่อนไหวล่าสุดของนิวเดลีคราวนี้

รัฐบาลปากีสถานได้ขอร้องพลเมืองของตนให้เฉลิมฉลองเทศกาลวันอีดปีนี้ “ในลักษณะเรียบๆ ง่ายๆ” เพื่อแสดงความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชาวแคชเมียร์ ผู้ซึ่งเวลานี้พำนักอาศัยอยู่ทางฝั่งซึ่งอยู่ในความควบคุมของอินเดีย นอกจากนั้นยังมีผู้สวดอ้อนวอนโดยอุทิศให้แก่ชาวแคชเมียร์ในอินเดียอีกด้วย

“ชาตินิยมฮินดูเหมือนกับนาซีของฮิตเลอร์

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย แห่งพรรค ภารติยชนะตะ (Bharatiya Janata Party ใช้อักษรย่อว่า BJP) ซึ่งมีแนวทางชาตินิยมฮินดู ได้รณรงค์มานานแล้วให้ยกเลิกสิทธิพิเศษต่างๆ ของแคชเมียร์อันมีระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมองว่ามันเป็นมาตรการพะเน้าพะนอชาวมุสลิมซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

พรรคบีเจพี และแม้กระทั่งผู้นำระดับสูงของฝ่ายค้านบางคน ได้แสดงความยินดีต้อนรับการตัดสินใจให้ดูดซับแคชเมียร์เข้าสู่อินเดียอย่างสมบูรณ์ และมาตรการนี้ยังทำให้โมดีได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ

แต่การตัดสินใจเช่นนี้ของอินเดียจุดชนวนให้เกิดความโกรธเกรี้ยวในปากีสถาน โดยที่นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน ออกมาเรียกร้องเมื่อวันอาทิตย์ (11 ส.ค.) ว่า ถ้าประชาคมระหว่างประเทศเอาแต่ยืนดูเฉยๆ ขณะที่ลัทธิชาตินิยมฮินดูของอินเดียแพร่กระจายเข้าไปในดินแดนแคชเมียร์ที่ผู้คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมแล้ว มันก็เหมือนกับการที่โลกเคยพะเน้าพะนอฮิตเลอร์ เมื่อช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ดินแดนแคชเมียร์ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนซึ่งอินเดียกับปากีสถานเข้าปกครองฝ่ายละส่วน นับตั้งแต่ที่ 2 ประเทศนี้ได้รับเอกราชเมื่อปี 1947 พวกเขายังเคยทำสงครามกันมาแล้ว 2 ครั้งเนื่องจากข้อพิพาทช่วงชิงดินแดนซึ่งเคยเป็นอดีตราชอาณาจักรแห่งนี้

นายกฯข่านทวิตเมื่อวันอาทิตย์ (11 ส.ค.) ว่า “อุดมการณ์ของลัทธิฮินดูเป็นใหญ่เหนือคนอื่นๆ (Hindu Supremacy) ก็เหมือนๆ กับลัทธิคนอารยันเป็นใหญ่เหนือคนอื่นๆ ของพวกนาซี (Nazi Aryan Supremacy) มันจะไม่ยุติ” แค่ในแคชเมียร์

ข่านซึ่งเรียกความเคลื่อนไหวคราวนี้ของอินเดียว่าเป็น “แนวความคิด เลเบินส์เราม์ (Lebensraum) ของฮิตเลอร์ในเวอร์ชั่นของพวกนักลัทธิฮินดูเป็นใหญ่เหนือคนอื่นๆ” ซึ่งจะนำไปสู่ “การปราบปรามชาวมุสลิมในอินเดีย และถึงที่สุดก็จะนำไปสู่การพุ่งเป้าหมายเล่นงานปากีสถาน”

“ความพยายามนี้คือการมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรของแคชเมียร์ โดยผ่านการล้างเผ่าพันธุ์” เขาทวีตเอาไว้เช่นนี้ “คำถามคือ: โลกจะแค่เฝ้ามองและคอยพะเน้าพอนอเหมือนที่พวกเขาเคยทำกับฮิตเลอร์ที่มิวนิคหรือไม่?”

เขาระบุอ้างอิงอย่างเจาะจงเป็นพิเศษถึงขบวนการราษฏรีย สวยัมเสวก สังฆ์ (Rashtriya Swayamsevak Sanghใช้อักษรย่อว่า RSS) ซึ่งเป็นขบวนการอาสาสมัครนักชาตินิยมฮินดูสุดโต่ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นพ่อแม่ของพรรคบีเจพีของโมดี

ข่านยังโทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่านในวันอาทิตย์ (11 ส.ค.) โดย “เป็นส่วนหนึ่งในการติดต่อกับผู้นำต่างๆ ของโลกเพื่อหารือเรื่องสถานการณ์แคชเมียร์” คำแถลงที่ออกโดยสำนักงานของนายกรัฐมนตรีปากีสถานระบุ

“ชาวมุสลิมของแคชเมียร์จักต้องสามารถใช้สิทธิและผลประโยชน์ต่างๆ ตามกฎหมายของพวกเขา เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสันติภาพ” คำแลงนี้อ้างคำพูดของรูฮานี

พวกเจ้าหน้าที่ปากีสถานบอกว่า ข่านยังจะเดินทางเยือนดินแดนแคชเมียร์ส่วนที่อยู่ใต้การควบคุมของปากีถสานในสัปดาห์นี้ เพื่อแสดงถึงความสมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียวกัน

ชาวแคชเมียร์เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอินเดีย ภายหลังพิธีละหมาดเนื่องในวันอิดิลอัฎฮา ที่มัสยิดในเมืองศรีนคร เมื่อวันจันทร์ (12 ส.ค.) ถึงแม้ทางการอินเดียประกาศใช้มาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวอันเข้มงวดกวดขัน
ไม่มีบรรยากาศของเทศกาลเฉลิมฉลอง

นอกจากที่ศรีนครแล้ว สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นักเคลื่อนไหวท้องถิ่นผู้หนึ่งเผยว่า ในดินแดนลาดัก (Ladakh) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ก็เต็มไปด้วยความตึงเครียดเช่นกัน โดยที่มีผู้ประท้วงหลายสิบคนเข้าร่วมการชุมนุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี (8 ส.ค.) , ศุกร์ (9), และเสาร์ (10) และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 10 คนจากกองกำลังความมั่นคงอินเดียซึ่งใช้แก๊สน้ำตาและไม้กระบองเข้าปราบปราม

ในอีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านชาวเมืองในแคชเมียร์ที่อินเดียควบคุมอยู่ พากันพูดว่าพวกเขาต้องดิ้นรนหนักในการตระเตรียมเพื่อต้อนรับเทศกาลอีด เนื่องจากถูกจำกัดด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยอันเข้มงวดกวดขัน

คุณแม่รายหนึ่งซึ่งบอกชื่อของเธอแค่ว่า ราเซีย (Razia) เล่าว่าเธอพยายามอธิบายให้ลูกสาวของเธอฟังว่า เธอไม่สามารถซื้อหาเสื้อผ้าใหม่ๆ ให้แก่ลูกสาวเพื่อฉลองวาระนี้ได้ ส่วนสามีของเธอก็กลัดกลุ้มเรื่องการหาเลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอด

“วันอีดอะไรแบบนี้?” หญิงวัย 45 ปีผู้นี้กล่าวที่ศรีนคร

“พวกเรากระทั่งไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปข้างนอก สามีของฉันเป็นแรงงานรับจ้างรายวัน ซึ่งหาเงินไม่ได้เลยในช่วง 8 วันที่ผ่านมา”

พ่อค้าแกะรายหนึ่งในตลาดแห่งหนึ่งของศรีนคร ซึ่งให้ชื่อของเขาว่า มักบูล (Maqbool) กล่าวว่าจำนวนคนที่ซื้อสัตว์เพื่อให้ฆ่าสังเวยสำหรับฉลองเทศกาลวันอีด ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ และตัวเขาจากที่วาดวังจะ “ทำกำไรก้อนโต” ก็กลายเป็น “ขาดทุนใหญ่” ในปีนี้

เมื่อวันจันทร์ (12 ส.ค.) แทบไม่มีสัญญาณใดๆ ของความเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองเอาเสียเลย โดยที่ชาวศรีนครจำนวนมากกล่าวว่า พวกเขาจะยกเลิกพิธีฆ่าสัตว์สังเวย ตามแบบแผนการเฉลิมฉลองวันอีดปกติที่เคยทำกันมา เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มีความรู้สึกว่ากำลังเฉลิมฉลองเอาเลย

“เรากำลังฉลองอะไรล่ะ? ฉันไม่สามารถโทรศัพท์พูดคุยกับญาติๆ ของฉันเพื่ออวยพรวันอีด นอกจากนั้นพวกเรายังไม่สามารถออกไปข้างนอกเพื่อซื้อข้าวของ ดังนั้น นี่มันเป็นการฉลองอะไรกันล่ะ?” เป็นคำถามอง อานีซา ชาฟี (Aneesa Shafi) หญิงสูงอายุซึ่งกำลังเดินเข้ามัสยิดแห่งหนึ่งในย่านบาร์ซุลลา (Barzulla) ของศรีนคร

(ข้อเขียนชิ้นนี้ ยังได้ข้อมูลบางส่วนจากเรื่อง India to keep Kashmir on lockdown over Eid By Jalees Andrabi | Nasir Jaffry ในเอเชียไทมส์ https://www.asiatimes.com/2019/08/article/india-to-keep-kashmir-on-lockdown-over-eid/)
กำลังโหลดความคิดเห็น