xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: ‘ท่องเที่ยว’ฮ่องกงย่ำแย่ กระทั่ง‘ดิสนีย์แลนด์’ยังเจอปัญหา พิษ‘ประท้วง’กำลังส่งผลต่อเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>ผู้ประท้วงฮ่องกงชุมนุมกันแถวๆ สถานีรถไฟใต้ดินคอสเวย์เบย์ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.  ขณะควันจากแก๊สน้ำตาซึ่งตำรวจยิงออกมาเพื่อขับไล่ฝูงชน ลอยคลุ้งอยู่ใกล้ๆ  การประท้วงและการปะทะรุนแรงหลายๆ ครั้งเกิดขึ้นที่คอสเวย์เบย์ ย่านช็อปปิ้งดังบนเกาะฮ่องกง </i>
ห้องพักโรงแรมว่างไม่มีแขกเข้าพำนัก, ร้านรวงต่างๆ ดิ้นรนกันอย่างหนัก, และแม้กระทั่ง “ดิสนีย์แลนด์” ก็ยังเจอปัญหา ระยะเวลาหลายๆ เดือนของการประท้วงในฮ่องกง กำลังส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจของเขตบริหารพิเศษของจีนแห่งนี้ โดยที่ยังไม่มีเค้าลางว่ามันจะจบสิ้นลงเมื่อใด

แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง เพิ่งออกมาเตือนว่า นครแห่งนี้ซึ่งมีฐานะเป็นฮับทางการเงินระหว่างประเทศที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของโลก กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่าทั้งครั้งที่โรคซารส์ (SARS) ระบาดเมื่อปี 2003 ที่ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นอัมพาต และทั้งคราวซึ่งเกิดวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกในปี 2008

“สถานการณ์หนนี้มีความร้ายกาจมากกว่า” เธอบอก “พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจกว่าจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ จะต้องใช้ระยะเวลานานมาก”

ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้เริ่มต้นตรวจนับคำนวณค่าใช้จ่ายความเสียหายอันเกิดจากการชุมนุมเดินขบวนที่ดำเนินมากว่า 2 เดือน ซึ่งปะทุขึ้นด้วยการคัดค้านร่างแก้ไขกฎหมายที่จะเปิดทางให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีน ก่อนจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้น

ตัวเลขต่างๆ ปรากฏให้เห็นกันอย่างชัดเจนมาก อัตราการเข้าพักในโรงแรมลดลงคิดเป็นเปอร์เซนต์ “ตัวเลขสองหลัก” เช่นเดียวกับจำนวนผู้เดินทางมาเยือนฮ่องกงในรอบเดือนกรกฎาคม ยอดการจองของกรุ๊ปทัวร์จากตลาดระยะใกล้ๆ ก็ตกฮวบลงไปถึง 50%

“ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงกำลังนำเอาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนท้องถิ่นตลอดจนเศรษฐกิจของท้องถิ่น ตกเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่น่าวิตกกังวล หรือกระทั่งสถานการณ์ที่อันตรายด้วยซ้ำ” นี่เป็นคำเตือนของ เอดเวิร์ด เหยา รัฐมนตรีฝ่ายพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกง

ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของนครนี้เองกล่าวว่า รู้สึกย่ำแย่เหมือนกับกำลังตกอยู่ท่ามกลางการปิดล้อมของข้าศึก

“ผมคิดว่าสถานการณ์อย่างนี้กำลังสาหัสรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ” เจสัน หว่อง ประธานของสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งฮ่องกง บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี

ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาเลวร้ายมากถึงขนาดพวกบริษัททัวร์กำลังพิจารณาที่จะให้พนักงานหยุดพักไปโดยไม่ได้รับเงินเดือน ขณะที่พวกเขาต้องพยายามกระเสือกกระสนให้รอดพ้นจากพายุร้ายลูกนี้ หว่องกล่าวเตือน

กระทั่ง “ดิสนีย์แลนด์” ยังเจอผลกระทบ

ภาพและคลิปของการปะทะกันอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นทุกทีระหว่างพวกผู้ประท้วงสวมหน้ากากกับตำรวจที่กำลังยิงแก๊สน้ำตาจนควันคลุ้งในถนนสายต่างๆ ของฮ่องกง กลายเป็นข่าวพาดหัวของสื่อทั่วโลก โดยที่พวกผู้ประท้วงประกาศว่ายังจะจัดการชุมนุมเดินขบวนครั้งใหม่ๆ ตลอดเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อกดดันให้ทางการยอมทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขา

โฆษกผู้หนึ่งของคณะกรรมการการท่องเที่ยวฮ่องกง บอกเอเอฟพีว่า จำนวนยอดจองล่วงหน้าในเดือนสิงหาคมและกันยายน “ได้ตกฮวบลงมาอย่างสำคัญ” เป็นการบ่งชี้ว่าความยากลำบากทางเศรษฐกิจยังจะอ้อยอิ่งไม่หายไปไหนตลอดหลายเดือนข้างหน้า

มีหลายๆ ประเทศได้ทยอยออกคำเตือนพลเมืองของพวกตน ให้ระวังการเดินทางเยือนฮ่องกง เป็นต้นว่า สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, และญี่ปุ่น และนี่น่าจะยิ่งเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนให้แก่ปัญหาต่างๆ ซึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้กำลังเผชิญอยู่

ยอดที่ตกลงของจำนวนผู้เดินทางมาเยือน กำลังสร้างความเสียหายให้แก่ สายการบินของฮ่องกงอย่าง คาเธย์ แปซิฟิก ซึ่งถูกบังคับให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินในสัปดาห์ที่แล้วระหว่างเกิดการนัดหยุดงานและนัดปิดกิจการครั้งใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความอลหม่านวุ่นวายขึ้นทั่วทั้งเมือง

แม้กระทั่ง ดิสนีแลนด์ ฮ่องกง ยังได้รับความเสียหายเลย โดยที่ ซีอีโอ บ็อบ อีเกอร์ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “เราได้รับผลกระทบจากการประท้วง”

“แน่นอนที่มันก่อให้เกิดการติดขัดสับสน และนั่นส่งผลถึงการมาเที่ยวที่เรา”
<i>ผู้โดยสารเครื่องบินเดินผ่านผู้ประท้วงจำนวนนับหมื่นซึ่งกำลังนั่งประท้วงอยู่ภายในท่าอากาศยานฮ่องกงเมื่อวันที่ 10 ส.ค.  ทั้งนี้สนามบินฮ่องกงเป็นจุดที่ถูกใช้ในการประท้วงระลอกนี้อยู่หลายครั้ง </i>
ภาคขายปลีกก็ได้รับความกระทบกระเทือนจากจำนวนลดต่ำลงของผู้เดินทางเข้ามาเยือนฮ่องกง ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นพวกที่มุ่งซื้อหาสินค้าปลอดภาษีราคาถูกอกถูกใจ นอกจากนั้นบ่อยครั้งทีเดียวร้านรวงต่างๆ ยังถูกบังคับให้ปิดทำการระหว่างการประท้วง ซึ่งบางครั้งเกิดขึ้นในตอนกลางวัน

พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้ยังกำลังเพิ่มปัญหายุ่งยากซับซ้อนให้แก่เศรษฐกิจฮ่องกง ซึ่งกำลังประสบภาวะถอยหลังอยู่แล้ว จากผลของการตกอยู่ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

มันเป็น “วิบากกรรมสองชั้นซ้อน” สตีเฟน อินเนส หุ้นส่วนบริหารจัดการของแวเลอร์มาร์เกตส์ กล่าวเตือน

“เราเคยมีความคิดกันเสมอมาว่า โอ้ ไม่เป็นไรหรอก เรื่องนี้ก็จะผ่านพ้นไปเหมือนกัน แต่จวบจนกระทั่งถึงตอนนี้ความคิดเช่นนี้ไม่ได้กลายเป็นความจริงขึ้นมาเลย ... และตอนนี้ดูเหมือนกับว่าทุกๆ สุดสัปดาห์เราก็จะต้องรับมือกับการบานปลายขยายตัวที่ออกไปไกลมากขึ้นเรื่อยๆ” เขาบอกกับเอเอฟพี

สยดสยองกว่าที่คาดหมาย

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเคยหล่นลงมากว่า 20% ระหว่างช่วงวิกฤตภาคการเงินปี 2008 เวลานี้ยังคงแข็งแรง

แต่อินเนสเตือนว่า วิกฤตที่บานปลายหยั่งลงลึกขึ้นเรื่อยๆ ครั้งนี้ อาจส่งผลในเรื่องเงินทุนไหลออก

“เงินทองทั้งหมดที่หลั่งไหลจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นตัวสร้างความเฟื่องฟูให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกง ย่อมสามารถที่จะไหลทวนย้อนกลับออกไปได้รวดเร็วพอๆ กับที่มันไหลเข้ามา” เขากล่าว

“เรื่องนี้กำลังจะสร้างความสยดสยองมากยิ่งขึ้นไปอีกสักนิด จากที่พวกเราทั้งหลายไม่ว่าใครก็ตามได้เคยคาดหมายกันเอาไว้”

ภาพเศรษฐกิจโดยรวมของนครแห่งนี้ ห่างไกลจากคำว่าสวยงามนัก แม้กระทั่งก่อนหน้ากระแสการประท้วงระลอกนี้จะเริ่มต้นขึ้นมาด้วยซ้ำ โดยที่อัตราเติบโตหดตัวฮวบฮาบจากระดับ 4.6% เมื่อไตรมาสแรกปี 2018 มาอยู่ที่ 0.6% ในไตรมาสเดียวกันของปีนี้ แถมไตรมาสแรกปี 2019 ถือว่าเป็นไตรมาสที่มีผลงานย่ำแย่ที่สุดในรอบระยะเวลา 1ทศวรรษทีเดียว

จากข้อมูลตัวเลขในเบื้องต้นยังส่อแววว่าไตรมาส 2 ปีนี้จะไม่ได้กระเตื้องดีขึ้นอะไรนักหนา และขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นยังคาดวาดหวังว่าตลอดปีนี้จะทำอัตราเติบโตได้ในช่วง 2-3% แต่พวกแบงก์ใหญ่ๆ ต่างทำนายไปในทางหดหู่กว่านี้

ความย่ำแย่เหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนถึงผลของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนซึ่งมีต่อเศรษฐกิจอย่างฮ่องกง ที่ต้องพึ่งพาอาศัยรายรับจากกระบวนการทางโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก และมีความอ่อนเปราะสูงเมื่อเจอภาวะการค้าตกต่ำ

การประท้วงจะส่งผลกระทบต่ออัตราเติบโตของฮ่องกงสักแค่ไหนกันแน่ๆ ย่อมยังไม่อาจรู้กระจ่างชัดเจนได้ จนกว่าจะล่วงเลยไปถึงช่วงต่อๆ ไปของปีนี้แล้ว กระนั้น มาร์ติน รัสมุสเสน นักเศรษฐศาสตร์ที่ดูเรื่องเศรษฐกิจจีน ณ แคปิตอลอีโคโนมิกส์ ให้ความเห็นว่า วิกฤตคราวนี้น่าจะให้ผลลบหนักอึ้งทีเดียว

“ในตอนเริ่มต้นคราวนี้ มันดูเหมือนค่อนข้างสงบสันติ คุณสามารถพูดได้อย่างนี้เมื่อเปรียบกับการประท้วงระลอกก่อนในปี 2014” เขากล่าว โดยอ้างอิงถึง “ขบวนการร่ม” เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

“มาถึงตอนนี้ พวกเขากลายเป็นมีความสุดโต่งเพิ่มขึ้นมากมาย ดังนั้นเราจึงคิดว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ กำลังจะเริ่มต้นปรากฏความสูญเสียให้เห็นกันแล้ว”

(เก็บความจากเรื่อง Tourism in trouble: Hong Kong demos hit economy ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น